ธุรกิจ Ride-hailing ในไทย ยังเติบโตต่อเนื่อง และไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การแข่งขันระหว่าง Grab กับ Uber อีกต่อไป เมื่อ Line ฟีเจอร์แชทยอดนิยมโดดเข้าร่วมวงด้วยอย่างเต็มตัว ในชื่อ Line Taxi เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่บ้านเราได้รู้จักกับธุรกิจบริการร่วมเดินทาง (Ride-hailing) พร้อมกับการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น GrabTaxi ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ก่อนที่ Uber หนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจนี้จากซาน ฟรานซิสโก จะเข้ามาสมทบในปีถัดมา
แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ให้บริการทั้งสองรายจะถูกต่อต้านจากผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะกลุ่มเดิมเป็นระยะ เนื่องจากเห็นว่ามีการนำรถส่วนตัวมาใช้งานผิดลักษณะ เช่นเดียวกับภาครัฐที่ยังไม่ได้แก้ไขกฎหมายใดๆเพื่อรับรองธุรกิจนี้
แต่ความนิยมในการใช้งานของผู้บริโภคกลับเติบโตสวนทางขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัญหาดั้งเดิมของรถสาธารณะ โดยเฉพาะการปฏิเสธผู้โดยสารด้วยเหตุผลต่างๆ ที่กลายเป็นเปิดช่องให้ธุรกิจ Ride-hailing เข้ามาอุดช่องว่างตรงนี้แทน
ผลสำรวจคนหนุน Ride-hailing
ในการทำวิจัยเชิงสำรวจ โดยสถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) จากตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ จำนวน 1,210 ตัวอย่าง ระหว่าง 1-12 กันยายน ที่ผ่านมา
พบว่าร้อยละ 89.55 ของกลุ่มตัวอย่าง เคยใช้บริการ Ride-hailing เฉลี่ย 2 ครั้งต่อสัปดาห์
และร้อยละ 70.31 เห็นด้วยกับการนำรถโดยสารส่วนตัวมาเป็นรถสาธารณะ เพื่อช่วยในการเดินทาง และไม่เพิ่มจำนวนรถบนถนน
นอกจากนี้ ร้อยละ 82.05 เห็นด้วยว่ารัฐควรสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้น และเปิดเสรีในการให้บริการอย่างแท้จริง
แม้กลุ่มตัวอย่างจะถือเป็นแค่ส่วนหนึ่งของประชากรทั้งหมด แต่มุมมองที่แสดงออก ก็น่าจะชี้ให้เห็นแนวโน้มความต้องการรถโดยสารที่เพิ่มขึ้นในกรุงเทพมหานคร จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 1 แสนคัน เมื่อเทียบกับรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีมากถึง 5.5 ล้านคัน
มุมมองหลังพวงมาลัย
จากมุมมองด้านสถิติของผู้ใช้บริการ ทีมงาน AHEAD.ASIA ได้มีโอกาสพูดคุยกับแหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ขับบางราย* เพื่อสอบถามมุมมองเพิ่มเติมต่อธุรกิจนี้ และได้ขออนุญาตในการนำมาใช้แล้ว
(*แหล่งข่าวขอใช้สิทธิ์ไม่เปิดเผยชื่อในที่นี้ ทั้งข้อมูลและความเห็นที่ระบุเป็นของแหล่งข่าว ไม่ใช่ของผู้เขียน หรือกองบรรณาธิการ AHEAD.ASIA)
แหล่งข่าวรายแรกเป็นผู้ขับรถสาธารณะ (แท็กซี่ส่วนบุคคล เขียว-เหลือง) ที่เลือกใช้แอพพลิเคชั่น Ridesharing ในการรับงานจากผู้โดยสาร ทั้ง GrabTaxi และ Uber
แหล่งข่าวรายนี้ เปรียบเทียบให้ฟังว่า Grab นั้นยังเป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่มากกว่า ในฐานะผู้เข้ามาบุกเบิกตลาดในไทยก่อน และเติบโตอย่างรวดเร็วจากแคมเปญสมาชิกหาสมาชิกเพิ่ม
เมื่อคนรู้จักมาก ก็จะเป็นตัวเลือกแรกๆที่ใช้งานก่อนเมื่อหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา นอกจากนี้ ส่วนแบ่งของรายได้ที่หักไปก็น้อยกว่า (20 บาท)
แต่ก็มีหลายเรื่องที่ทำให้แหล่งข่าวรายนี้ไม่ประทับใจเท่าที่ควร คือวิธีการสื่อสารพนักงานของ Grab กับผู้ขับที่ขาดความประนีประนอม เมื่อเทียบกับ Uber
แหล่งข่าวรายเดิมระบุว่าแม้จะชาร์จแพงกว่า (ราว 20-25%) แต่กลับรู้สึกประทับใจ Uber ในหลายๆเรื่อง เริ่มตั้งแต่การใช้คำเรียกผู้ขับว่าพาร์ทเนอร์ แทนที่จะเรียกว่า ‘คนขับรถ’และการตอบคำถามก็ชัดเจนกว่า พร้อมรับฟังความเห็นต่างๆเพื่อนำไปปรับปรุง รวมถึงมีโปรโมชั่นประกันรายได้อีกด้วย
ส่วน LINE TAXI นั้น ในช่วงที่มีการพูดคุย เพิ่งเปิดให้ดาวน์โหลดและลงทะเบียนได้ไม่นาน แหล่งข่าวจึงยังไม่ได้ทดลองใช้งาน
ทีมงาน AHEAD.ASIA ยังได้มีโอกาสคุยกับแหล่งข่าวอีกรายที่นำรถป้ายดำมาให้บริการ ในลักษณะของการทำงานแบบพาร์ทไทม์ เพื่อหารายได้เสริมหลังเลิกงาน ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่าธุรกิจนี้ทำรายได้ให้เธอมากกว่าการทำ OT ในงานประจำด้วยซ้ำ
และเมื่อถามถึงความเห็นเชิงเปรียบเทียบระหว่างทั้งสองบริษัท ก็ได้คำตอบคล้ายๆกับแหล่งข่าวรายแรกว่า Uber กำลังพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ และเริ่มได้ใจผู้ขับมากขึ้น จากบริการสนับสนุนที่ดี และการประกันรายได้
เมื่อ Uber จับมือแท็กซี่
จะเห็นว่าเมื่อเทียบกัน Uber ดูจะมีกลยุทธ์ที่พลิกแพลงกว่า เพราะเมื่อภาครัฐยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ ค่ายบิ๊กเนมจากซาน ฟรานซิสโก ก็หาทางประนีประนอมกับแท็กซี่เจ้าถิ่นมากขึ้น
ด้วยการเปิดโอกาสให้แท็กซี่ส่วนบุคคลเข้ามาร่วมด้วยได้ ผ่านบริการที่เรียกว่า Uberflash ที่จะมีทั้งรถส่วนบุคคลและแท็กซี่เขียว-เหลืองคละกันไป
แต่เสียงตอบรับจากผู้ใช้บริการบางราย ก็ยังไม่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้มากนัก เพราะการเลือกใช้ Uber มักมาพร้อมกับความคาดหวังที่จะได้นั่งรถส่วนบุคคลที่มาพร้อมกับความสะอาด และบุคลิกของผู้ขับที่ต่างจากคนขับแท็กซี่อาชีพ
LINE TAXI มาทีหลัง ยังต้องลุ้น
ด้านผู้มาทีหลังอย่าง Line Taxi แม้ก่อนหน้านี้จะมีการเปิดตัวด้วยการเซ็น MOU กับเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ไปตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการทำแคมเปญเพื่อประชาสัมพันธ์มากนัก
ขณะที่ Line Taxi Driver ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับคนขับ แม้จะมีการดาวน์โหลดไปแล้วระดับหนึ่ง แต่เสียงตอบรับจากผู้ใช้งานจำนวนหนึ่ง ยังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมอยู่
ซึ่งก็คงต้องให้เวลาในการปรับตัวซักระยะ ว่าสุดท้าย Line จะใช้ข้อได้เปรียบในการเชื่อมโยงกับแอพพลิเคชั่นหลักที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากอยู่แล้วได้ขนาดไหน รวมถึงจุดขายในการคิดส่วนแบ่งค่าบริการเพียง 10 บาท ซึ่งถือว่าต่ำสุดในบรรดาผู้ให้บริการด้วยกัน
เพราะหากพิจารณาจากมุมมองของผู้ขับหลายราย ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีผู้ให้บริการรายใดที่ครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับผู้โดยสารที่ไม่ได้ยึดติดกับค่ายไหน ขอเพียงได้รับความสะดวกและปลอดภัยเป็นหลัก ซึี่งเท่ากับว่าสมรภูมิ Ridesharing นี้ ยังเปิดกว้างอยู่มาก
อ่านเพิ่มเติม
Uber vs Taxi:โลกหมุนเร็ว รัฐต้องหมุนตาม
Dara Khosrowshahi ซีอีโอคนใหม่หลังพวงมาลัย Uber
สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน