GRiD Compass: ต้นแบบแล็ปท็อปยุคปัจจุบัน

ทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทำงานทั่วไปเรียบร้อย ด้วยขนาดกะทัดรัด พกพาง่าย แต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ

แต่ไม่ว่า เทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปจะล้ำหน้าไปมากขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

คือดีไซน์ของตัวเครื่องที่เรียกกันว่า clamshell (เปลือกหอย) ที่เป็นการพับประกบหน้าจอกับตัวคีย์บอร์ด จากการออกแบบโดย Bill Moggridge ปรมาจารย์ชาวอังกฤษ ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970

 

 

จุดเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์แบบพกพานั้น เกิดขึ้นไล่หลังคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (เดสค์ท็อป) ไม่นาน และหนึ่งในรุ่นบุกเบิกที่มีการผลิตขึ้น ก็คือ Xerox NoteTaker ที่พัฒนาโดย Xerox PARC ในปี 1976

หน้าตาของ NoteTaker นั้น คล้ายกับการนำมอนิเตอร์ขนาดเล็ก ฝังเข้าไปในเคสบรรจุตัวโปรเซสเซอร์และอุปกรณ์อื่นๆ โดยมีคีย์บอร์ดที่แยกส่วนออกมาทำหน้าที่เป็นฝาปิดเพื่อเก็บเวลาไม่ใช้งาน

ดูผิวเผินยังมีความเป็นเดสค์ท็อป มากกว่าแล็ปท็อปที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน และมาพร้อมกับน้ำหนักถึง 22 กิโลกรัม

สุดท้าย Xerox ก็ไม่ได้ผลิต NoteTaker อย่างเป็นทางการ มีเพียงตัวต้นแบบสิบเครื่องเท่านั้นที่ถูกสร้างขึ้น ก่อนคอนเซปต์นี้จะถูกนำไปใช้โดยบริษัท Osbourne Computer ที่ผลิต Osborne 1 สำหรับวางขายอย่างเป็นทางการ ในปี 1981

 

 

ขณะที่อีกหนึ่งแนวคิดจาก Xerox PARC ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับแล็ปท็อปในยุคปัจจุบัน มากกว่า ก็คือ Dynabook คอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก ที่ดีไซน์โดย Alan Kay ในปี 1972

ย้อนไปเมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้ว ไอเดียตั้งต้นของ Dynabook ถือว่าล้ำสมัยมาก เพราะเป็นการรวมทั้งมอนิเตอร์และคีย์บอร์ดไว้ด้วยกัน ในขนาด 9″ x 12″ จนดูคล้ายกับแท็บเล็ท มากกว่าแล็ปท็อป

แต่สุดท้าย โปรเจกต์นี้ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไอเดียของ Kay นั้นล้ำหน้าเกินกว่าที่เทคโนโลยียุคนั้นจะทำได้ กระทั่งถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ และดัดแปลงให้ใช้งานได้จริงโดย Bill Moggridge ในปี 1979

 

Moggridge ซึ่งจบการศึกษาจาก Central School of Art and Design จัดเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงระดับหนึ่ง และมีผลงานมากมาย อาทิ ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ใช้ในโรงพยาบาล เครื่องปิ้งขนมปังของ Hoover UK ฯลฯ ซึ่งหลายชิ้นได้รับเลือกให้ขึ้นปกนิตยสารด้านการออกแบบในสหราชอาณาจักรด้วย

จนเมื่อย้ายไปตั้งบริษัท ID Two ในพาโล อัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย เจ้าตัวจึงได้รับการติดต่อจาก GRiD Systems ให้ออกแบบคอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ซึ่งยังไม่แพร่หลายในยุคนั้น

Moggridge นำไอเดียของ Dynabook ที่ทั้งจอมอนิเตอร์และคีย์บอร์ดถูกรวมเป็นชิ้นเดียวมาดัดแปลง โดยแยกเป็นสองส่วนและให้พับประกบเข้าหากันได้เมื่อไม่ใช้งาน จนกลายเป็นต้นกำเนิดของอุปกรณ์พกพาแบบ clamshell และเป็นดีไซน์ที่ยังถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

GRiD Compass 1101 คือแล็ปท็อปรุ่นแรกที่ผลิตเพื่อวางขายโดยใช้แนวคิดนี้ ในปี 1983 ในเวลาไล่เลี่ยกับ Sharp PC-5000 และ Gavilan SC แต่เป็นดีไซน์ของ GRiD Systems ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร

เดิมกลุ่มเป้าหมายของ GRiD Compass 1101 คือผู้บริหารองค์กรที่ต้องการความคล่องตัวในการทำงาน แต่ด้วยความที่พกพาง่าย (น้ำหนักเพียง 4.5 กิโลกรัม หรือราวๆ 1 ใน 5 ของ NoteTaker เท่านั้น) ทำให้มันถูกเลือกใช้โดยกองทัพสหรัฐ รวมถึงองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ด้วย

กระทั่งดีไซน์ clamshell กลายเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ Moggridge จนเจ้าตัวได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งแล็ปท็อปโดยปริยาย

ในช่วงปลายของชีวิต Moggridge ผันไปเป็นที่ปรึกษาให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงเป็นผู้อำนวยการให้กับ National Design Museum ที่นิวยอร์ค ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ขณะอายุได้ 69 ปี เมื่อ 8 กันยายน 2012

นอกจากผลงานดีไซน์แล้ว Moggridge ยังมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย หนึ่งในนั้นคือ Clive Grinyer นักออกแบบอาวุโสของ Roberts Weaver Group ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนสนิท และพี่เลี้ยงของ Jony Ive สุดยอดนักออกแบบแห่งยุค ในช่วงที่ Ive มาฝึกงานที่ RWG นั่นเอง

 

เรียบเรียงจาก

Bill Moggridge: The Innovative Designer of the First Laptop!!!

The GRiD Compass of Bill Moggridge

RIP Bill Moggridge, design father of the laptop

The Dynabook of Alan Kay

 

ติดตาม #Breakfast4Brain ได้ทุกเช้าตรู่วันจันทร์ถึงศุกร์ที่เพจ AHEAD ASIA
.
หากถูกใจอย่าลืมกดแชร์ กดไลค์ คอมเมนท์ แนะนำติชม กดติดดาว หรืออะไรที่สบายใจเพื่อให้กำลังใจทีมงาน AHEAD.ASIA หาเรื่องราวดีๆมาให้คุณรู้ เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

Amazon ปฏิวัติค้าปลีกเสื้อผ้าออนไลน์ 'ลองก่อนซื้อ'

Next Article

8 มหาเศรษฐีหน้าใหม่วงการไอที

Related Posts