Navigator vs Explorer ปฐมบทสงครามเบราเซอร์

การเปิดตัว Quantum เวอร์ชั่นล่าสุดของ Mozilla Firefox คือความพยายาม เพื่อกระตุ้นให้ตลาดเว็บเบราเซอร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมดถูกยึดครองไปแล้วโดย Chrome ของ Google

แต่หากย้อนกลับไปเมื่อสองทศวรรษก่อน จะพบว่าการขับเคี่ยวเพื่อชิงความเป็นผู้นำในตลาดเว็บเบราเซอร์นั้น เต็มไปด้วยความเข้มข้น จนสามารถใช้คำว่า ‘สงคราม’ ได้อย่างไม่ขัดเขิน

เพราะมันจบลงด้วยความบอบช้ำของทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ชนะ ที่สุดท้ายก็ไม่อาจรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งไว้ได้จนถึงปัจจุบันอยู่ดี

เว็บเบราเซอร์ตัวแรกของโลกถูกเขียนขึ้นโดย ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) ในชื่อ WorldWideWeb และเปลี่ยนเป็น Nexus ในปี 1991 ก่อนที่เบราเซอร์ตัวอื่นๆจะถูกเขียนและทยอยปล่อยตามมาหลังจากนั้น

และเบราเซอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคแรกสุด คือ Mosaic ที่มีผู้พัฒนาสู่ท้องตลาดด้วยกันหลายราย

หนึ่งในนั้น คือ NCSA Mosaic ของ มาร์ค อันเดรสเซน (Marc Andreesen) ซึ่งปัจจุบัน คือผู้ก่อตั้ง VC Andreessen Horowitz

ขณะนั้น อันเดรสเซน ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับ NCSA (National Center for Supercomputing Applications) หรือศูนย์การประยุกต์ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติของสหรัฐฯ

NCSA Mosaic ยังถือเป็นต้นแบบของเว็บเบราเซอร์อื่นๆที่ถูกพัฒนาถึงปัจจุบัน เพราะต่อมา อันเดรสเซน ได้แยกตัวจาก NCSA มาร่วมกับ เจมส์ คลาร์ก (James H.Clark) ก่อตั้ง Netscape Communications Corporation พร้อมเปิดตัว Netscape Navigator เบราเซอร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษที่ 90

ขณะที่ในเดือนพฤษภาคม 1995 บิล เกตส์ (Bill Gates) ที่เคยมองข้ามพลังของอินเตอร์เน็ต ก็เปลี่ยนความคิดใหม่ หลังเห็นว่ามันจะมีความสำคัญโดยตรงต่ออนาคตของบริษัท จนเป็นที่มาของข้อความที่ส่งถึงพนักงานทุกคนของ Microsoft เพื่อย้ำเตือนเรื่องนี้

และไม่กี่เดือนหลังจากนั้น Internet Explorer (IE) เวอร์ชั่น 1.0 ก็ถูกปล่อยออกมา โดยเป็นการซื้อลิขสิทธิ์ NCSA Mosaic มาพัฒนาต่อในแนวทางของตนเอง และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเบราเซอร์ยุคแรกในช่วงกลางทศวรรษที่ 90

ยุคนั้น ตลาดเว็บเบราเซอร์มีการแข่งขันกันสูง แต่ละค่ายต่างพัฒนาและใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆในผลิตภัณฑ์ของตนตลอด แต่ Netscape ก็ยังครองส่วนแบ่งตลาดไว้ได้เกือบทั้งหมด คือราว 72% ในปี 1997 ขณะที่ Microsoft ยังมีส่วนแบ่งเพียง 18% เท่านั้น

ว่ากันว่า หลังเปิดตัว IE 4.0 ได้ไม่นาน Microsoft ตั้งใจทำ public stunt ด้วยการนำโลโก้ ‘e’ ขนาดใหญ่ไปวางที่สนามหญ้าบริเวณหน้าออฟฟิศของ Netscape

แต่ก็ถูกตอบโต้การนำตุ๊กตาไดโนเสาร์ที่เป็นมาสคอตของ Netscape ไปวางทับ พร้อมแปะกระดาษเย้ยว่า Netscape 72 Microsoft 18 ตอกย้ำความแตกต่างของทั้งสองบริษัทในเรื่องส่วนแบ่งการตลาด

จนเมื่อ Microsoft ซึ่งพร้อมกว่าแทบทุกด้านในเรื่องทรัพยากร ตัดสินใจรวม IE ไว้เป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการ Windows กลยุทธ์นี้จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในสงครามเบราเซอร์ยุคแรก

เพราะคอมพิวเตอร์ในโลกกว่าร้อยละ 90 ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows อยู่แล้ว การมัดรวม IE ไว้ด้วยกัน เท่ากับเป็นการตัดทางเลือกของผู้บริโภคโดยปริยาย

ส่วนแบ่งตลาดที่เคยเป็นของ Netscape จึงค่อยๆถดถอยลงเรื่อยๆ จนสุดท้าย ต้องตกลงขายกิจการให้กับ AOL ในปี 1998 ที่ราคา 4,200 ล้านดอลลาร์

สงครามเบราเซอร์ยุคแรกจึงจบลงด้วยชัยชนะของ Microsoft ที่ครองตลาดได้มากถึง 96% ในช่วงต้นศตวรรษใหม่

แต่ชัยชนะดังกล่าว ก็ย้อนกลับมาส่งผลเสียต่อ Microsoft เช่นกัน เมื่อบริษัทถูกหน่วยงานรัฐยื่นฟ้องข้อหาผูกขาดการตลาด เมื่อปี 1998 และยืดเยื้ออยู่หลายปี กว่าจะยอมความกันได้ในปี 2002

เกตส์ ซึ่งเหนื่อยล้าจากคดีความดังกล่าว ก็ตัดสินใจลงจากตำแหน่งซีอีโอ เพื่อเปิดทางให้ สตีฟ บอลเมอร์ (Steve Ballmer) มารับช่วงการบริหารต่อ

และยิ่งเมื่อปราศจากคู่แข่งสำคัญ การพัฒนาของ IE ก็พลอยหยุดชะงักไปโดยปริยาย เห็นได้จากการที่บริษัทปล่อยตัวอัพเดทของ IE 6.0 ออกมาอีกเพียงครั้งเดียว ระหว่างปี 2001-2006

ส่วนผู้พ่ายแพ้อย่าง Netscape นั้นไม่ได้หายไปจากสารบบซะทีเดียว เพราะในช่วงปลายของการแข่งขัน บริษัทตัดสินใจเปิดโค้ดของตนเป็น open source สำหรับคนทั่วไปนำไปพัฒนาต่อ

จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Mozilla Foundation องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่พัฒนา Firefox เบราเซอร์ที่จะเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดกับ IE ในสงครามเบราเซอร์ยุคที่สองนั่นเอง

เรียบเรียงจาก

The True Story of the Internet: Browser Wars

Browser Wars Part 1: When Netscape Met Microsoft

Netscape: the web browser that came back to haunt Microsoft

THE NEXUS BROWSER

Long antitrust saga ends for Microsoft 

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
1
Shares
Previous Article

หุ้น Razer ประเดิมตลาดฮ่องกงสุดร้อนแรง

Next Article

'จีเอ็มโอ-แซด คอม' เปิดตัวยิ่งใหญ่ ก้าวสู่ผู้นำเทรดหุ้นออนไลน์

Related Posts