19 พฤศจิกายน เป็นวันครบรอบสิบปีที่ Amazon เริ่มจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับอ่านอีบุ๊ค (e-readers) ‘Amazon Kindle’ ที่ยังคงเป็นหนึ่งในสินค้าหลักของบริษัทมาจนปัจจุบัน
แม้ในปี 2004 Amazon จะเริ่มขยายจากการค้าปลีกหนังสือออนไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆแล้ว แต่ Jeff Bezos ก็ยังให้ความสำคัญกับร้านค้าปลีกหนังสือออนไลน์เช่นเดิม
ที่เพิ่มเติม คืิอความเชื่อที่ว่าอีบุ๊คจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ จนเป็นที่มาของการลงมือสร้าง e-readers ‘ที่ดีที่สุดในโลก’ ตั้งแต่ยังไม่มีคู่แข่งด้วยซ้ำ
“ผมไม่รู้ว่าทำไมผู้คนต้องรอดาวน์โหลดหนังสือนานถึงห้านาที วิสัยทัศน์ของเราในการสร้าง Kindle คือเราอยากให้หนังสือทุกเล่ม ทั้งที่ยังตีพิมพ์อยู่ หรือเลิกตีพิมพ์แล้ว สามารถหาอ่านได้ใน 1 นาที และค่าเฉลี่ยในการดาวน์โหลดหนังสือหนึ่งเล่มของเรา (ผ่าน Kindle) อยู่ที่ 23 วินาที”
ชื่อของ Kindle ตั้งโดย Michael Cronan และ Karin Hibma ที่ปรึกษาด้านแบรนด์ มีความหมายว่า ‘การจุดไฟ’ เป็นอุปมาอุปมัยสำหรับการอ่านในการจุดประกายความคิดของผู้คน และผลิตโดย Lab126 บริษัทลูกของ Amazon
Kindle รุ่นแรกที่วางตลาด เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 ไม่ใช่แค่ e-reader รุ่นแรกของบริษัท แต่ยังนับเป็นรุ่นแรกของโลกด้วย ตัวเครื่องมาพร้อมกับจอขนาด 6 นิ้ว และเทคโนโลยี E Ink ให้ความรู้สึกคล้ายอ่านหนังสือบนหน้ากระดาษ และหน่วยความจำภายใน 250 MB ช่องเสียบ SD การ์ดสำหรับเพิ่มความจุ ลำโพงและช่องเสียบหูฟังสำหรับฟังออดิโอไฟล์
และจุดเด่นที่สุดคือการเชื่อมต่อ 3G (เฉพาะในสหรัฐ) เพื่อค้นหาและดาวน์โหลดหนังสือจาก Kindle Store ได้โดยไม่เสียค่าบริการเพิ่ม เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของ Bezos ว่าลูกค้าต้องสามารถเลือกหาหนังสือที่ต้องการได้ทุกที่ ทุกเวลา
แม้จะมีราคาสูงถึง 399 ดอลลาร์ และยังเป็นของใหม่มากในเวลานั้น แต่ Kindle รุ่นแรก กลับได้รับความนิยม จนขายหมดในเวลาเพียง 5 ชั่วโมงครึ่ง และขาดตลาดนานถึงห้าเดือน
ขณะที่ Amazon เติบโตขึ้นเรื่อยๆ Kindle รุ่นใหม่ๆก็ถูกพัฒนาควบคู่กันไป พร้อมเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ๆ และได้รับความนิยมจากผู้อ่านชาวอเมริกันมากขึ้น รวมถึงการนำเสนอในรูปแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทดีไวซ์อื่นๆ สวนทางกับยอดขายของ ‘หนังสือเล่ม’ ที่ค่อยๆถดถอยลงตามเวลาที่ผ่านไปเช่นกัน
เพราะในปี 2010 ก็มีรายงานว่า Amazon มียอดดาวน์โหลดอีบุ๊คแซงหน้าหนังสือปกแข็งได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ส่วนข้อมูลจาก Nielsen Bookscan ก็ระบุว่ายอดขายหนังสือในสหรัฐ ดร็อปลงจากเดิม 9% ต่อเนื่องในปี 2011 และ 2012
แม้ในระยะหลัง จะมีรายงานว่ายอดขายของ ‘หนังสือเล่ม’ กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังห่างไกลจากยุครุ่งเรืองที่สุดได้อีก เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Kindle ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะ Amazon ไม่ได้เพียงแค่พัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น แต่ยังสร้างช่องทางใหม่ๆในการเชื่อมต่อระหว่าง ‘ผู้เขียน’ กับ ‘ผู้อ่าน’ ขึ้นโดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์ด้วย
นั่นคือ Kindle Direct Publishing ที่เปิดให้นักเขียนโนเนม สามารถนำเสนอผลงานของตนใน Kindle Store และถือลิขสิทธิ์ในส่วนที่เป็นอีบุ๊คไว้ได้
หนึ่งในนักเขียนที่เลือกใช้วิธีนี้ ก็คือ Andy Weir ผู้เขียน The Martian ที่เคยวางขายนิยายเล่มนี้ในราคา 99 เซนต์ ก่อนที่ตัวหนังสือจะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ในเวลาต่อมา
ไม่ใช่เพียงแค่ Kindle Direct Publishing แต่บรรดาสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก รวมถึงนักเขียนอิสระต่างๆ ก็เริ่มเห็นช่องทางที่จะสร้างงานของตัวเอง และนำเสนอแก่ผู้อ่านในรูปแบบของอีบุ๊คมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
เห็นได้จากตัวเลขจดทะเบียน ISBN เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ ระหว่างปี 2010-2015 ที่มีอัตราก้าวกระโดดสูงถึง 375% จาก 152,978 เป็น 727,125 เล่ม แสดงให้เห็นว่ายังมีหนังสือใหม่ๆที่ถูกนำเสนอสู่ผู้อ่านมากขึ้นผ่านรูปแบบใหม่ สวนทางกับการถดถอยของสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่หลายราย
ความสำเร็จของ Kindle ถือเป็นการจุดกระแสของอีบุ๊คให้คู่แข่งรายอื่นๆ ตัดสินใจเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อแชร์ตลาดนี้บ้าง แต่ในภาพรวม Amazon ที่ให้บริการได้พร้อมกว่าทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ก็ยังเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ เพราะข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่าบริษัทถือครองส่วนแบ่งการตลาดของอีบุ๊คเกินกว่า 80% ด้วยกัน
และยังไม่มีแนวโน้มจะหยุดลงง่ายๆ เพราะในรอบหลายปีที่ผ่านมา บริษัทยังเดินหน้ากว้านซื้อบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง มาไว้ในความครอบครอง อาทิ Audible ยักษ์ใหญ่ด้านออดิโอบุ๊ค Comixology ร้านคอมมิคแบบดิจิทัล หรือแม้แต่ Goodreads โซเชียลเน็ตเวิร์คสำหรับนักอ่าน
ไม่ว่ายังไง ‘หนังสือเล่ม’ นั้นไม่มีทางหายไปจากสารบบ เพราะยังเป็นตัวเลือกที่นักอ่านจำนวนมากพึงพอใจ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอีบุ๊คนั้นเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของนักอ่านมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน
จากการจุดประกายโดย Amazon และ Kindle ตั้งแต่วันที่ไม่มีใครคิดว่าเราจะเลือกอ่านหนังสือจากสิ่งที่ไม่ใช่หนังสือนั่นเอง
Better be AHEAD
#AHEADASIA
เรียบเรียงจาก
A decade of Amazon Kindle
.
Jeff Bezos loves his Amazon Kindle
.
AMAZON SELLS MORE E-BOOKS THAN HARDCOVERS
.
Big, Bad, Wide & International Report: covering Amazon, Apple, B&N, and Kobo ebook sales in the US, UK, Canada, Australia, and New Zealand
ติดตาม #Breakfast4Brain ได้ทุกเช้าตรู่วันจันทร์ถึงศุกร์ที่เพจ AHEAD ASIA
หากถูกใจอย่าลืมกดแชร์ กดไลค์ คอมเมนท์ แนะนำติชม กดติดดาว หรืออะไรที่สบายใจเพื่อให้กำลังใจทีมงาน AHEAD.ASIA หาเรื่องราวดีๆมาให้คุณรู้ เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน