แกะกล่องบทเรียน Washbox24 ลุยสิงคโปร์ และมาเลเซีย

การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย และมันยิ่งท้าทายขึ้นเมื่อคุณเป็นสตาร์ทอัพ

ทีมงาน AHEAD.ASIA จึงหาโอกาสนั่งลงพูดคุยกับคุณบอนด์ นิธิพนธ์ ไทยานุรักษ์ CEO และ Founder ของ Washbox24 สตาร์ทอัพที่มุ่งแก้ปัญหาการซักผ้าของคนกรุงฯ ที่วันนี้ธุรกิจที่เจ้าตัวสร้างขึ้นมา เติบโตไปไกลกว่าจุดตั้งต้น จนถึงสิงคโปร์ และมาเลเซีย

 

คิดนอกกล่องเรื่องซักผ้า…ด้วยกล่อง 

 

 

คุณบอนด์ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า Washbox24 เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2013 ตอนที่เขายังเป็นพนักงานออฟฟิศ และประสบปัญหาเรื่องการซักผ้า ทั้งไม่มีเวลาซักเอง จะส่งร้านซักก็มีเวลาเปิดปิดที่เป็นอุปสรรค หรือบางครั้งเสื้อผ้าตัวโปรดก็สูญหาย

จนเมื่อเดินทางไปเห็นล็อคเกอร์ฝากของที่ประเทศญี่ปุ่น จึงคิดขึ้นว่า ทำไมไม่มีใครนำล็อคเกอร์แบบนี้มาใช้กับธุรกิจซักรีดบ้าง เพราะน่าจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้ เนื่องจากคนสามารถนำผ้ามาส่งซัก หรือมารับผ้าที่ซักเสร็จ ที่ล็อคเกอร์ได้ตลอดเวลา

 

สร้างเอง เพราะไม่ได้อย่างใจ

 

 

ถึงอย่างนั้น ก่อนไอเดียของคุณบอนด์ จะแก้ปัญหาเรื่องซักผ้าของคนเมืองได้ตามตั้งใจ เขาก็ต้องแก้ปัญหาของตัวเองให้ได้ก่อน เมื่อพบว่าล็อคเกอร์ที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้น ถ้าไม่แพงเกินไป ก็ไม่ได้สเป็คตามต้องการ ทำให้เขาตัดสินใจออกแบบ และผลิตล็อคเกอร์ขึ้นเอง

เพื่อให้ล็อกเกอร์ของ Washbox24 เหมาะกับธุรกิจซักรีดมากกว่าของเดิมที่มีอยู่

และที่สำคัญ … “กล่อง” ที่คุณบอนด์ออกแบบขึ้นในวันนั้น ได้กลายมาเป็นสิ่งสำคัญช่วยให้เขาขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้ในวันนี้

 

สัญญาณ จากต่างแดน

หลังจากก่อตั้ง Washbox24 และฟันฝ่าสร้างธุรกิจได้ประมาณ 2 ปี คุณบอนด์เริ่มได้รับอีเมลจากประเทศต่างๆ เพื่อชวน หรือขอซื้อธุรกิจของเขาไปเปิดบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือประเทศที่ไม่น่าจะรู้จักธุรกิจของเขา เช่น อุซเบกิสถาน กาตาร์ และอีกหลายประเทศ

ซีอีโอของ Washbox24 จึงตัดสินใจเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อหาโอกาส และความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจ ซึ่งตรงนี้เองที่เขาย้ำกับทีมงาน AHEAD.ASIA ว่า

การเข้าใจตลาดที่เราต้องการไปทำธุรกิจให้ลึกซึ้ง เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้เขาออกเดินทางไปเห็นของจริงก่อนตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจแล้ว ก็ต้องเดินทางไปกลับอีกหลายรอบ

เช่นเดียวกับการมีหุ้นส่วนทางธุรกิจ ( Business Partner ) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆ ของประเทศที่เราจะไป ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน

 

พาร์ทเนอร์ที่แตกต่าง…แต่เติมเต็ม

 

 

กรณีของของคุณบอนด์นั้น การขยายธุรกิจไปประเทศสิงคโปร์เกิดขึ้นจากการจับมือกันระหว่าง Washbox24 บริษัทสตาร์ทอัพรุ่นใหม่จากประเทศไทย กับฝั่งสิงคโปร์ Astoria หนึ่งในบริษัทซักรีดที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1947

โดยการจับมือของทั้งสองบริษัทเป็นไปในรูปแบบกิจการร่วมค้า ร่วมกันลงทุน (Joint Venture) ซึ่งสำหรับซีอีโอหนุ่มรายนี้ นี่เปรียบเสมือนการเติมเต็มซึ่งกันและกัน

Astoria ที่เชี่ยวชาญและดำเนินธุรกิจซักรีดมาอย่างยาวนาน ขณะที่ Washbox24 ก็ช่วยเพิ่มคุณค่าและความสามารถในการบริการลูกค้า เพื่อให้เหมาะกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น เป็นคำตอบที่ใช่ ในการขยายธุรกิจ

 

คำตอบที่หลากหลายของ Washbox24 

“ดีมากๆ” คือ คำตอบ ของคุณบอนด์ เมื่อถูกถามถึงธุรกิจในสิงคโปร์ เขาเล่าต่อว่าในวันนี้ Washbox24 มีจุดให้บริการในสิงคโปร์มากกว่า 10 แห่ง ครอบคุมสถานที่สำคัญๆอย่างตึก SunTech ที่เต็มไปด้วยออฟฟิศของคนรุ่นใหม่ ที่น่าจะมีปัญหาเช่นเดียวกับเขา

แม้จะพอใจสิ่งที่ตัวเองทำในสิงคโปร์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การทำอะไรให้ “ดีมากๆ” จะมีแค่วิธีเดียวเท่านั้น เพราะในมาเลเซียอีกหนึ่งประเทศที่เขาเข้าไปทำธุรกิจ นิธิพนธ์ ไทยานุรักษ์ กลับเลือกทางที่ต่างไป

 

ขายนวัตกรรม ให้แปะป้ายตามใจชอบ

การทำธุรกิจที่ประเทศมาเลเซียของ Washbox24 ไม่ได้เป็นรูปแบบร่วมลงทุนเหมือนที่สิงคโปร์ แต่ คุณบอนด์ เลือกขายกล่องของ Washbox24 ให้บริษัทที่นั่นไปจัดการ ทำตลาดเอาเองในลักษณะ “White Label” ภายใต้แบรนด์ EziPod 

การออกแบบกล่องขึ้นเองตั้งแต่วันแรกๆ เพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง นำไปสู่สิทธิบัตร (Patent) ที่เสมือนเป็นนวัตกรรมของตัวเอง นำไปสู่ความได้เปรียบและโอกาสที่มากกว่าในการขยายกิจการไปยังต่างประเทศ

น่าคิดไม่น้อยว่าถ้าวันที่ก่อตั้ง Washbox24 คุณบอนด์พอใจกับของที่มีในตลาดซะแล้ว เส้นทางในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศของสตาร์ทอัพรายนี้ จะแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่หรือไม่

 

ความแตกต่าง ที่ต้องตีโจทย์ให้แตก

 

 

แม้จะเลือกใช้วิธีที่ต่างกัน แต่ซีอีโอรายนี้ก็อธิบายว่า ไม่ได้หมายความว่าวิธีไหนจะดีกว่ากันไปซะทั้งหมด การเข้าใจถึงความแตกต่างและตีโจทย์ให้ถูกต้องต่างหากที่สำคัญ โดยทั้ง “White Label” และ “Joint Venture” ล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

กรณี “White Label” นั้น ข้อดีคือได้เงินทันที แต่ในระยะยาวจะไม่ได้แบรนด์ เพราะเขาเอาของคุณไปติดฉลากใหม่

ขณะ “Joint Venture” ต้องใช้เงินลงทุนเอง ถ้าเงินลงทุนน้อยก็จะโตช้า เงินที่จะได้คืนก็ไม่เร็วเท่า White Label แต่ได้แบรนด์ของเรา เป็นธุรกิจของเราเอง

ซึ่งคุณบอนด์แนะนำว่าในตลาดที่เรามั่นใจ หรือมีแนวโน้มดี เช่น มีกำลังซื้อสูงกว่า สัดส่วนกำไรมากกว่า ( High Margin ) การขยายธุรกิจแบบ “Joint Venture” น่าจะเป็นคำตอบ แต่ในตลาดที่ไม่มั่นใจขนาดนั้นการ “White Label” เพื่อให้ได้เงินเข้ามาทันทีก็อาจจะเหมาะสมกว่า

แต่สุดท้ายไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ซึ่งอดีตพนักงานออฟฟิศกว่า 10 ปีอย่างเขามองว่า การมีประสบการณ์ ในการทำงานมาก่อนจะช่วยได้มาก

 

กราบงามๆให้งานประจำ

คุณบอนด์ ยอมรับว่าประสบการณ์ในฝ่ายที่ดูแลการควบรวมกิจการ ( Merge and Acquisition ) กับ KPMG และประสบการณ์ทำงานต่างประเทศด้านการวิจัยตลาด กับ Tesco ที่ประเทศอังกฤษมีส่วนช่วยเขาอย่างมากในการทำสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในวันที่พยายามขยายไปต่างประเทศ

“การเข้าไปในตลาดใหม่ๆนั้นต้องเข้าใจ ต้องทำวิจัยการตลาด ซึ่งประสบการณ์ที่ผมเคยทำวิจัยตลาดมาก่อนช่วยผมได้เยอะมาก ขณะที่การ Joint Venture กันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่เอกสารสัญญาก็เป็นพันๆหน้าแล้ว ถ้าเป็นคุณเป็นเด็กจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์เลย ไม่เคยผ่านตามาบ้าง นี่ยากมากเลยนะ แทบจะไม่มีทางทำได้”

แต่ถ้าไม่มีประสบการณ์แล้วอยากทำจริงๆ การหาคนมีประสบการณ์มาร่วมทีม หาพี่ๆที่ปรึกษา หาเมนทอร์ที่มีประสบการณ์มาช่วยแนะนำ ก็เป็นทางออกที่คุณบอนด์เห็นว่าเหมาะสม

 

พร้อมแล้วไป…อาจไวกว่า

 

 

เมื่อถูกถามว่าควรจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเมื่อไหร่นั้น ผู้ก่อตั้ง Washbox24 ให้ความเห็นว่า อย่างน้อยๆ ก็ในตอนที่คุณสามารถพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถทำให้ธุรกิจคุณเติบโต และบริหารจัดการได้อย่างดีในประเทศตัวเองซะก่อน แล้วค่อยมาคิดถึงการขยายไปยังต่างประเทศก็ไม่สาย

เพราะในวันที่ Washbox24 เริ่มคิดถึงการขยายไปต่างประเทศอย่างจริงจังนั้น พวกเขามีจุดให้บริการในประเทศไทยร่วม 70 แห่งแล้ว

เพราะในวันที่คุณพร้อมจริงๆแล้ว มันอาจไม่ใช่แค่ “การขยายไปยังต่างประเทศ” เท่านั้น แต่อาจรวมถึง “การขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ”

เหมือนบริการล่าสุด MoveBox 24 จุดบริการรับ-ส่งพัสดุด่วน 24 ชั่วโมง ที่เขาจับมือกับบริษัทขนส่ง Kerry Express เพื่อให้บริการส่งสินค้าไปที่ล็อคเกอร์ที่จุดอื่นๆ หรือส่งถึงบ้านทั่วประเทศ

ทำให้ คุณบอนด์ นิธิพนธ์ ไทยานุรักษ์ CEO และ Founder ของ Washbox24 ยืนยันเสมอว่าสตาร์ทอัพที่เขาสร้างขึ้นเติบโตเกินกว่าแค่ธุรกิจซักรีด ก้าวเข้าสู่ธุรกิจ โลจิสติกส์ เรียบร้อย

 

AHEAD.ASIA คือสำนักข่าวเจาะลึกด้านนวัตกรรม และธุรกิจ
อย่าลืมกดติดตามเพจและคอมมูนิตี้ของเรา สำหรับเรื่องล้ำๆ และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

เทนเซ็นต์ เปิดตัว “WeChat Official Account”  แพลตฟอร์มเพื่อธุรกิจ รุกตลาดจีน

Next Article

1 ทศวรรษอุปกรณ์ปฏิวัติการอ่าน Amazon Kindle

Related Posts