iPrice ผู้ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยผลการศึกษาพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศไทย พบว่ายังคงใช้บริการของ Lazada เป็นหลัก ขณะเดียวกัน ก็มี engagement กับแฟนเพจใน Facebook สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง มาเลเซีย และ เวียดนาม
Lazada ครองใจนักช้อปไทย – Facebook มี engagement สูง
ผลการศึกษาดังกล่าว มีขึ้นใน 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยพบว่า Lazada ซึ่งเข้ามาทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 5 ปีแล้ว ด้วยเงินทุนที่หนาและการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สามารถขยับขึ้นมาครองความเป็นเจ้าตลาด ในทั้ง 3 ประเทศได้
ซึ่งจากการศึกษา traffic ของยักษ์ใหญ่ 5 อันดับในแต่ละประเทศนั้น พบว่าไทยและมาเลเซียถูก Lazada ครองกว่า 50% แต่การผูกมัดดังกล่าว ก็อาจทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่น้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าและบริการตามไปด้วย ในทางกลับกัน แม้ยอด traffic ของ Lazada ในเวียดนาม จะสูงเกือบ 20% เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ก็ยังมีคู่แข่งรายอื่นๆที่มีค่าเฉลี่ยมากกว่า 10% อีกหลายราย แสดงให้เห็นว่าในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเวียดนาม มีตัวเลือกที่หลากหลายกว่า และเข้าข่าย perfect competition ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภค
นอกจากนี้ ข้อมูลจากการศึกษาโดย iPrice ร่วมกับบริษัท Socialbakers พบว่าคนไทยมี engagement กับแฟนเพจใน Facebook สูงกว่าคนในมาเลเซียและเวียดนาม เห็นได้จากพฤติกรรมที่นิยมกดไลค์ กดแชร์ และคอมเมนต์โพสต์ที่ทางเว็บเพจได้นำเสนอ โดยมีคะแนน Interaction per 1 K fan อยู่ที่ 237.6 ส่วนในมาเลเซียมีคะแนนอยู่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น (109)
โดย Interaction per 1000 fans ที่ใช้เป็นเครื่องมือวัดผล engagement นี้ คิดจากค่าเฉลี่ยตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2559 – ไตรมาส 2 ปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 237.6, มาเลเซีย 109 และเวียดนาม 208.9
ผู้บริโภคไทยยังไว้ใจห้างร้านมากกว่า
สำหรับพฤติกรรมในตลาดอีคอมเมิร์ซที่น่าสนใจของทั้งสามประเทศนั้น จะพบว่า มาเลเซีย จะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโปรโมชั่นของสินค้ามากที่สุด และเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับราคา (price-sensitive) มาก จากการศึกษาโดย Nielsen’s Global Survey พบว่า 95% ของนักช้อปมาเลเซียตั้งใจค้นหาโปรโมชั่นและดีลก่อนซื้อสินค้าทุกครั้ง
ขณะที่คนไทย แม้จะค้นหาข้อมูลออนไลน์มากขึ้น แต่ยังเดินทางไปห้างสรรพสินค้าเพื่อทดสอบสินค้าและซื้อสินค้าจากหน้าร้านอยู่ คิดเป็น 69% ของการสำรวจที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ด้วยเหตุผลต่างๆ อาทิ ต้องการทดสอบสินค้าก่อนซื้อ ไม่เชื่อระบบการซื้อขายออนไลน์ ไม่เชื่อถือระบบการจัดส่ง แต่ไว้ใจห้างร้านและพนักงานที่สามารถพบเจอในชีวิตจริงมากกว่า
ส่วนพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ ผู้บริโภคชาวไทยส่วนหนึี่งยังมีปัญหาเรื่องกำแพงภาษา เนื่องจากเว็บไซต์ต่างชาตินิยมใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง ทำให้ผู้ซื้อไม่สะดวกใจที่จะทำธุรกรรมที่ยุ่งยากในภาษาที่ตัวเองไม่ถนัด ผิดกับชาวมาเลเซียซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางอยู่แล้ว จึงมีเพียง 3% เท่านั้นที่ระบุว่ามีปัญหาด้านภาษาเวลาซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บต่างชาติ
อี-คอมเมิร์ซในไทยยังโตได้อีก
Google และ Temasek ได้จัดทำการศึกษาตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียน และคาดการณ์ว่าในอีก 8 ปีนับจากนี้ (พ.ศ. 2568) ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยจะโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเติบโต 29% ต่อปี จนมีขนาดใหญ่กว่าในมาเลเซียและเวียดนาม โดยจะขึ้นเป็นที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซียด้วย ซึ่งประเทศไทยจะมีขนาดอยู่ที่ 11.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีย 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนาม 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน ทั้งสองบริษัทก็ได้ทำการสรุปว่าตัวเลขการเติบโตนี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเข้าถึงตัวเลือกที่มีมากขึ้น และคุณภาพของสินค้าและบริการที่ดีขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากร้านค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซจะต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
ขอบคุณข้อมูลจาก ipricethailand.com
สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน