แม้ผลกระทบจากอี-คอมเมิร์ซจะยังส่งผลไม่ชัดเจนนักกับธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรา
แต่ในสหรัฐนั้น Amazon รวมถึงร้านค้าออนไลน์อื่นๆ คือตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดีที่ทำให้ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Brick-and-mortar) ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือมอลล์ต่างๆ อย่างน้อยราว 6,700 แห่งต้องปิดตัวลงในปี 2017 และต้นปี 2018 เมื่อความสะดวกสบายของการช้อปหน้าจอทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมาก ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องออกจากบ้านไปเลือกซื้อของอีกต่อไป
และนี่คือเชนร้านค้าปลีก 15 รายในสหรัฐ ที่ไม่อาจต้านกระแส disrupt ในยุคของอีคอมเมิร์ซ จนต้องยกธงขาวยอมแพ้ไปในปีที่ผ่านมา
#15
Perfumania
Perfumania ร้านค้าปลีกน้ำหอมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ต้องยื่นเรื่องขอล้มละลายในเดือนสิงหาคม และมีแผนปิดสาขา 64 จากทั้งหมด 226 แห่งทั่วประเทศ พร้อมขอเจรจากับเจ้าของสถานที่เพื่อแก้ไขสัญญาเช่าใหม่
นอกจากนี้ ยังได้ทำการซื้อคืนหุ้นสามัญทั้งหมดในราคาหน่วยละ 2 ดอลลาร์ เพื่อเปลี่ยนสถานะจากบริษัทมหาชนกลับเป็นบริษัทเอกชน และเตรียมหันไปลงทุนในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซแทน
#14
Vitamin World
แม้จะมีสถิติว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่หันมาบริโภคอาหารเสริมมากขึ้น แต่ร้านค้าปลีกสินค้าในกลุ่มนี้ กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เพราะผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อทางออนไลน์เป็นหลัก เห็นได้จากราคาหุ้นของบริษัทมหาชนอย่าง GNC และ Vitamin Shoppe ที่ตกลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ Vitamin World ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนก็อยู่ในข่ายเช่นกัน จนต้องยื่นเรื่องล้มละลายต่อศาล เมื่อเดือนกันยายน และอยู่ระหว่างเจรจายกเลิกสัญญาเช่าสาขาต่างๆกับเจ้าของอาคาร
#13
Aerosoles
เชนร้านค้าปลีกรองเท้าสุภาพสตรีรายนี้ เป็นอีกรายที่ต้องยื่นเรื่องขอพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเป็นผลกระทบจากแทรฟฟิคในมอลล์ต่างๆทั่วประเทศที่ลดลง จนต้องปิดสาขาถึง 74 จากทั้งหมด 78 แห่ง โดยเหลือไว้เฉพาสาขาเรือธงใน นิวยอร์ค และ นิวเจอร์ซีย์ ไว้เท่านั้น
ฝ่ายบริหารของบริษัทเผยว่าที่ผ่านมานั้น ได้รับข้อเสนอจากนักลงทุนอย่างน้อยสองราย แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทว่าก็ยังต้องรับฟังข้อเสนออื่นๆที่น่าสนใจต่อไป
#12
Gander Mountain
ร้านค้าปลีกอุปกรณ์เอาท์ดอร์และเครื่องกีฬารายนี้ ยื่นเรื่องล้มละลายตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม พร้อมประกาศจะปิดทำการทั้ง 126 สาขา ก่อนจะถูกช้อนซื้อทรัพย์สินทั้งหมด โดย Camping World ในราคา 390 ล้านดอลลาร์ และมีแผนจะกลับมาเปิดให้บริการอย่างน้อย 57 สาขา
#11
Rue21
ร้านค้าปลีกแฟชั่นที่เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่นรายนี้ ต้องปิดสาขาอย่างน้อย 400 แห่ง จากทั้งหมด 1,100 แห่ง หลังยื่นเรื่องขอพิทักษ์ทรัพย์ในเดือนพฤษภาคม เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว จากการแข่งขันที่สูง แต่แทรฟฟิกในห้างกลับลดลง
จนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทสามารถลดจำนวนสาขาลงได้ถึง 420 แห่ง และพ้นสถานะล้มละลายในที่สุด ซึี่งส่วนหนึี่งเป็นผลมาจากผลประกอบการในไตรมาสที่สองที่ดีขึ้น
#10
True Religion
แม้แต่แบรนด์ระดับพรีเมียมที่ David Beckham เลือกใช้อย่าง True Religion ก็หนีไม่พ้นปัญหานี้ จนต้องยื่นขอล้มละลายไปเมืื่อเดือนกรกฎาคม ก่อนหาข้อสรุปในการประนอมหนี้ และพ้นสถานะดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยไม่เพียงแต่ลดภาระหนี้สินลงเท่านั้น แต่ยังขยายเวลาในการชำระออกไปเป็นปี 2022 ด้วย
#9
Gordmans
เชนห้างสรรพสินค้ารายนี้ ที่มีกว่า 100 สาขาใน 22 รัฐทั่วประเทศ ประสบปัญหาแบบเดียวกับ Sears, J.C. Penney และ Macy’s ที่ต้องปิดสาขาไปนับสิบแห่ง รวมถึงดาวน์ไซซ์องค์กรในรอบปีที่ผ่านมา
ขณะที่อาการของ Gordmans นั้นอาจจะหนักกว่ารายอื่นๆ คือต้องขายสาขาครึ่งหนึ่งที่มี คือ 50 แห่ง ให้กับ Stage Stores เชนดีพาร์ทเมนท์สโตร์คู่แข่ง และปิดอีก 50 สาขาที่เหลือ เพราะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว
#8
BCBG Max Azria
แบรนด์แฟชั่นสตรีรายนี้ ประสบปัญหาต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อประกาศปิดสาขา 120 แห่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม ก่อนยกธงขาวยอมแพ้ในเดือนพฤษภาคม และถูกซื้อกิจการไปโดย Marquee ที่มีแบรนด์ในเครืออย่าง Body Glove, Bob Sherman, Bruno Magli ฯลฯ เมื่อเดือนสิงหาคม ในราคา 108 ล้านดอลลาร์
#7
Payless ShoeSource
เชนร้านค้าปลีกรองเท้าลดราคาที่คนไทยรู้จักดีรายนี้ ต้องสั่งปิดสาขาในสหรัฐ ไปไม่ต่ำกว่า 900 แห่ง จากทั้งหมด 4,400 แห่งทั่วโลก และยื่นเรื่องขอล้มละลายในเดือนเมษายน อันเป็นผลจากสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท ที่ถูก Moody’s จัดให้อยู่ในกลุ่ม Negative
แต่หลังจากสามารถลดภาระหนี้สินไปได้ราว 400 ล้านดอลลาร์ Payless ก็พ้นจากสถานะดังกล่าวได้สำเร็จ เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา
#6
Wet Seal
ย้อนกลับไปในปี 2015 Wet Seal เคยล้มละลายมาแล้วหนหนึ่ง เนื่องจากไม่สามารถหานักลงทุนเข้ามาซื้อกิจการได้ ขณะที่เมื่อช่วงต้นปีนี้ บริษัทก็ต้องปิดสาขาทั้งหมด พร้อมยื่นเรื่องต่อศาลเป็นครั้งที่สองในรอบสองปี
ปัจจุบัน กิจการของ Wet Seal นั้นถูกประมูลไปโดย Gordon Brothers และเปลี่ยนสถานะจากร้านค้าปลีกไปเป็นการขายสินค้าออนไลน์แทน
#5
The Limited
The Limited ประสบปัญหาเดียวกับคู่แข่งอย่าง Wet Seal เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จนต้องปิดสาขาทั้ง 250 แห่งลง ในเดือนมกราคม พร้อมยื่นเรื่องล้มละลายในสัปดาห์ถัดมา
จากนั้นในเดือนตุลาคม The Limited ก็กลับมาอีกครั้ง ในรูปแบบออนไลน์เท่านั้น หลังจาก Sycamore Partners เข้ามาซื้อกิจการไปในราคา 26.75 ล้านดอลลาร์
#4
Gymboree
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชนร้านค้าปลีกเสื้อผ้าเด็ก Gymboree เร่งขยายตัวมากเกินไป เพื่อแข่งขันกับ Children’s Place แต่ผลลัพธ์ไม่ดีอย่างที่หวัง เมื่อราคาหุ้นของอีกฝ่ายพุ่งสูงขึ้นถึงสามเท่าตัว จนมีมูลค่ากว่า 2,400 ล้านดอลลาร์
ขณะที่สถานการณ์ของ Gymboree ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน กลับตรงกันข้าม
ทั้งต้องยื่นคำร้องขอพิทักษ์ทรัพย์ในเดือนมิถุนายน ตามด้วยการปิดสาขา 350 แห่ง จากทั้งหมด 1,280 แห่ง ก่อนจะเคลียร์หนี้สิน จนพ้นสถานะล้มละลายได้เมื่อเดือนกันยายน ซึ่ง Daniel Griesemer CEO ของบริษัทหวังว่าจากนี้สถานการณ์จะดีขึ้นเป็นลำดับ
#3
Hh gregg
ย้อนกลับไปในปี 2010 Hh gregg เคยมียอดขายสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ แต่กลยุทธ์การตัดราคากันเองระหว่างร้านค้าปลีก รวมถึงการตัดสินใจขยายสาขาออกไปจนเกินความจำเป็น กลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่
เพราะเมื่ออี-คอมเมิร์ซเริ่มได้รับความนิยม ผู้คนจำนวนมากก็เลือกความสะดวกเป็นหลัก ส่งผลให้บริษัทต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องสถานที่ ทั้งที่ยอดขายเริ่มลดลงเรื่อยๆในแต่ละปี จนสุดท้ายก็เข้าสู่ภาวะล้มละลายในเดือนมีนาคม และเกือบต้องปิดกิจการลง แต่หลังจากได้เจ้าของใหม่ บริษัทก็ปรับรูปแบบมาเน้นการขายออนไลน์เป็นหลักแทน
#2
Radio Shack
ในยุคก่อนจะมีอินเตอร์เน็ต Radioshack คือเบอร์หนึ่งในธุรกิจค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ด้วยความที่ยึดมั่นกับรูปแบบการทำธุรกิจเดิมๆจนเกินไป ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
เมื่อผู้คนค้นพบว่าการซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นสะดวกกว่า ยอดขายของบริษัทก็ค่อยๆลดลงต่อเนื่อง และการประกาศล้มละลายเมืื่อเดือนมีนาคม ก็นับเป็นครั้งที่สองถัดจากเมื่อปี 2015 อีกด้วย
จากนั้นในเดือนพฤษภาคม บริษัทก็ต้องปิดสาขาลงอีกกว่าหนึ่งพันแห่ง เหลือสาขาในความดูแลของบริษัทเพียง 70 แห่ง และอีก 500 แห่งที่เป็นของดีลเลอร์
แม้ชื่อของ Radioshack จะยังอยู่ แต่ก็เหลือแค่เปลือกนอกที่ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตอีกต่อไป
#1
Toys ‘R’ Us
นี่คือกรณีศึกษาที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก เพราะย้อนกลับไปในยุค 80 และ 90 Toys ‘R’ Us คือร้านค้าของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับยักษ์ใหญ่อื่นๆที่ปล่อยให้ Amazon.com เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดไป แทนที่จะดำเนินการด้วยตัวเอง
อีกหนึี่งความผิดพลาดของ Toys ‘R’ Us คือการเซ็นสัญญา exclusive กับ Amazon เมื่อปี 2000 โดยที่อีกฝ่ายยังเปิดโอกาสให้ร้านค้าอื่นๆเข้ามาวางขายสินค้าในหน้าเว็บไซต์อยู่นานหลายปี กว่าจะมีการฟ้องร้องเพื่อยกเลิกสัญญาดังกล่าวกันในปี 2004
ท้ายที่สุด บริษัทก็ต้องเข้าสู่สภาวะล้มละลาย ด้วยหนี้ิสินกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ แม้จะไม่กระทบกับสาขาอื่นๆในยุโรปและเอเชีย แต่ Toys ‘R’ Us ก็ต้องปิดสาขาต่างๆทั่วประเทศจำนวนมากในเดือนกันยายน หรือไม่กี่เดือนก่อนช่วงเวลาช้อปปิ้งของขวัญสำหรับเทศกาลปีใหม่
เรียบเรียงจาก
15 Retailers That Went Bankrupt in 2017
สำหรับสตาร์ทอัพ และใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน