ชื่อของ Zhang Ruimin อาจไม่เป็นที่รู้จักเท่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่หลายราย แต่หากเอ่ยชื่อบริษัท Haier แล้ว น้อยคนนักที่จะไม่เคยได้ยินชื่อ เพราะนี่คือหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในการให้สัมภาษณ์กับ Strategy Business Zhang ยังได้แนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการหลายเล่ม ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจวิธีคิดของเขาได้ดียิ่งขึ้น และนี่คือหนังสือห้าเล่มที่หล่อหลอมตัวตนของสุดยอด CEO ผู้นี้
#5
Built to Last: Successful Habits of Visionary Companies (1994)
โดย Jim Collins and Jerry Porras
Zhang ยกหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาพูด เมื่อถูกถามถึงเรื่องความสำเร็จในระยะยาว ในมุมมองของเจ้าตัว ความท้าทายสำคัญสำหรับคนระดับผู้นำคือการรักษาจิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการไว้ให้ได้ ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภายในองค์กรนั้นมีกฎระเบียบ และข้อจำกัดมากมาย เพื่อให้พนักงานปฏิบัติตาม
ในหนังสือเล่มนี้ Collins และ Porras เปรียบ CEO ว่าเปรียบเสมือน ‘ผู้บอกเวลา’ (time tellers) นั่นคือคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการจะยังคงอยู่ตราบใดที่ CEO คนนั้นๆยังดำรงตำแหน่งที่บริษัท
แต่ Zhang เชื่อว่า CEO ‘ที่ดีที่สุด’ ควรจะก้าวไปไกลกว่านั้น คือการเป็น ‘ผู้สร้างนาฬิกา (clock builders) นั่นคือการสร้างบริษัทที่ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ด้วยจิตวิญญาณผู้ประกอบการ แม้ผู้ก่อตั้งหรือ CEO คนสำคัญจะไม่อยู่แล้ว
“องค์กรจะต้องวิวัฒนาการไปสู่ระบบที่ยืนได้ด้วยตัวเอง และไม่ยึดติดกับใครคนใดคนหนึ่ง”
#4
The Long Tail: Why the Future of Business Is Selling Less of More (2006)
#3
Makers: The New Industrial Revolution (2012)
โดย Chris Anderson
เมื่อถูกถามถึงเรื่องทฤษฎีบริหารจัดการที่มีอิทธิพลต่อทิศทางของ Haier มากที่สุด จากผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป มาสู่การผสมผสานนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ Zhang เลือกหนังสือสองเล่มนี้ของ Anderson ที่เป็นนักเขียนคนโปรดขึ้นมาอธิบาย
“ในยุคของอินเตอร์เน็ต ทุกบริษัทจะต้องผลิตสินค้าให้มีราคาถูก และเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายที่สุด” Zhang
Zhang ไม่เพียงนำแนวคิดของ Anderson มาใช้เท่านั้น แต่ยังเคยเชิญมาเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของบริษัท และขึ้นพูดในหัวข้อ Maker–the new industry revolution ให้พนักงานของ Haier ฟัง เมื่อ 17 มีนาคม 2014 อีกด้วย
#2
Here Comes Everybody: The Power of Organizing Without Organizations (2008)
โดย Clay Shirky
นอกจากหนังสือทั้งสองเล่มของ Anderson แล้ว Here Comes Everybody ของ Shirky ก็เป็นอีกเล่มที่มีส่วนสำคัญต่อทิศทางของ Haier โดยเฉพาะการยกเลิกโครงสร้างองค์กรแบบดั้งเดิม
Zhang ยกตัวอย่างโครงสร้างองค์กรแบบดั้งเดิมที่เป็นทรงปิระมิด โดยคนที่ทำหน้าที่ดูแลฝ่ายขาย จะต้องบริหารตั้งแต่ระดับประเทศ ไล่เรียงลงมาสู่ระดับจังหวัด และเมือง แต่ในปัจจุบันที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เขาจึงเลือกปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้เป็นแพลทฟอร์มแนวราบ และไม่รวมศูนย์ โดยจะแบ่งเป็นหน่วยเล็กๆที่ประกอบด้วยคนจำนวนเจ็ดคนหรือน้อยกว่าทำหน้าที่ดูแลทุกอย่างในเขตความรับผิดชอบของตัวเองแทน เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน
#1
Business Cycles: A Theoretical, Historical, and Statistical Analysis of the Capitalist Process (1939)
โดย Joseph Schumpeter
หนังสือคลาสสิคของ Schumpeter เล่มนี้ คือที่มาของแนวคิดด้านนวัตกรรมของ Haier ซึ่ง Zhang สรุปไว้ส้ันๆในประโยคเดียวว่า “ไม่เลือกเดินบนทางเพียงเส้นเดียว”
Zhang ลงลึกในรายละเอียดเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า “ในการทำธุรกิจ บริษัทของเราและคู่แข่ง ต่างก็สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่เหมือนกันได้ ความท้าทายในเรื่องนวัตกรรม คือการหาวิธีใหม่ๆเพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นจากทรัพยากรเหล่านั้น (พรสวรรค์/เงินทุน/วัตถุดิบ ฯลฯ)”
“มันก็เหมือนโป๊กเกอร์ ทุกคนถือไพ่จากสำรับเดียวกัน สิ่งสำคัญมันขึ้นกับวิธีเล่นของคุณต่างหาก”
*You are what you read เป็นซีรีส์ที่เกิดขึ้น หลังทีมงานมีโอกาสได้พูดคุยกับนักคิด และคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์ และเห็นว่าต่างก็มีจุดเชื่อมเดียวกัน คือพื้นฐานจากการเป็นนักอ่านมาก่อน
พื้นที่นี้ จึงจะเป็นการรวบรวมหนังสือดีที่คนเหล่านี้เคยอ่าน และยืนยันว่าควรมีไว้ประดับสมอง ทั้งจากการค้นคว้าโดยทีมงาน หรือจากการสัมภาษณ์โดยตรง โดยจะอัพเดทตอนใหม่ทุกเย็นวันพุธ
หากมีข้อแนะนำ สามารถคอมเมนท์ได้ในเพจ AHEAD.ASIA และอย่าลืมกด like เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกเรื่องที่ทำให้เราทุกอยู่ข้างหน้าพร้อมๆกัน