Ubi societas, ibi ius
ที่ใดมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย
วันนี้ผมประเดิมเขียนบทความแรกให้คอลัมน์ใน AHEAD.ASIA ก็ขอเริ่มต้นด้วยภาษิตละตินโบราณที่นักกฎหมายชอบใช้กันเสียหน่อย แต่ไม่ต้องกังวลว่าบทความของผมจะโบราณเหมือนภาษิตนี้นะครับ
แต่สิ่งที่ผมต้องการสื่อก็คือ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใด สมัยใด มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายได้ เพราะกฎหมายจะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมนั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขนั่นเอง
แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันที่หลายคนที่มีความฝันอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และหันมาทำสตาร์ทอัพกันมากขึ้น กฎหมายก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
สตาร์ทอัพขนาดใหญ่หลายเจ้าก็ประสบกับปัญหาด้านกฎหมาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารว่าจะจัดการยังไง
ทำให้มันถูกต้องดีไหม ?
หรือจะหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำผิดต่อไป แล้วคอยหาทางหนีทีไล่เป็นครั้ง ๆ ไปดี
แต่บางเจ้าก็ให้สัมภาษณ์ว่า “เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพียงแต่กฎหมายไม่รองรับรูปแบบการทำธุรกิจของเราเท่านั้นเอง” (แต่แบบนี้นักกฎหมายเรียกว่าผิดครับพี่)
เมื่อเราหลีกเลี่ยงกฎหมายไม่ได้ แล้วทำไมสตาร์ทอัพหลายอันถึงทำผิดกฎหมายล่ะ
จริง ๆ ก็มีหลายสาเหตุนะครับ แต่ผมว่าที่สำคัญสุด 3 ข้อก็คือ
1. สตาร์ทอัพไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย
อาจจะดูเหมือนกำปั้นทุบดินไปหน่อย แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง เพราะคนจะเริ่มธุรกิจสตาร์อัพส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ 2-3 คน มาร่วมตัวกันสร้างสรรค์ไอเดีย แล้วก็ลงมือทำธุรกิจกันเลย
ซึ่งตามหลักการแล้ว 2-3 คนนั้นก็จะเป็น สายธุรกิจ ออกแบบ และเขียนโปรแกรม ไม่ค่อยมีนักกฎหมายรวมอยู่ในกลุ่มด้วยหรอกครับ เพราะชื่อเสียงของนักกฎหมายส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นพวกหัวสี่เหลี่ยม ขาดไอเดียสร้างสรรค์
แต่ถ้าจะให้ไปจ้างที่ปรึกษากฎหมายก่อนจะลงมือทำ ก็ไม่รู้จะหาเงินจากไหนมาจ่ายค่าที่ปรึกษา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่เป็นบ้านเกิดของสตาร์ทอัพมากมายนั้น ค่าทนายแพงหูฉี่เพราะเขาคิดกันเป็นรายชั่วโมงทีเดียว
สตาร์ทอัพส่วนใหญ่เลยเริ่มต้นจากการลงมือทำไปก่อน แล้วค่อยว่ากัน
2. สตาร์ทอัพมุ่งครอบครองเขตแดนที่ไม่มีกฎหมาย
การทำสิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนนั้น หลายครั้งอาจหมายถึงสิ่งเหล่านั้นไม่มีกฎหมายไหนครอบคลุม
ซึ่งความจริงแล้ว Accelerator บางเจ้าใช้กฎหมายเป็นตัวชี้วัดด้วยซ้ำ ว่าสตาร์ทอัพที่ทำนั้นใหม่จริงหรือเปล่า เพราะถ้าใหม่สุดๆจริงๆ ต้องยังไม่มีกฎหมายครอบคลุม เพราะโดยธรรมชาติแล้ว กฎหมายจะออกตามหลังเสมอ
และหลายครั้งการจะออกกฎหมายแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลา และความรอบคอบในการพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสุดท้ายที่ผมมองว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้สตาร์ทอัพไม่ถูกกฎหมาย
3. สตาร์ทอัพแข่งขันกันด้วยความเร็วในการครอบครองตลาด
จากความเข้าใจของผมปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายของสตาร์ทอัพ คือความรวดเร็ว
โดยเฉพาะในแง่ของการเข้าครองตลาดนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากจริงๆ
เพราะในวันที่โลกเชื่อมต่อกันหมดนั้น คนมากมายมีไอเดียเหมือนกันเต็มไปหมด
ดังนั้นมันจึงมักไปวัดกันที่ใครทำไอเดียให้เป็นจริงได้ก่อน ครองตลาดได้ก่อน
ดังนั้นหลายครั้งแม้สตาร์ทอัพจะรู้ตัวว่ามีโอกาสที่จะผิดกฎหมาย แต่มันก็กลายเป็น Do or Die Decision
จะรอให้เขียนกฎหมาย หรือแก้กฎหมายเสร็จก็อาจจะตายก่อนมีโอกาสทำถูกน่ะสิครับ
แล้วคำถามก็คือ ปัญหาการทำผิดกฎหมายของสตาร์ทอัพจะแก้ไขอย่างไรล่ะ
ผมขอตอบเลยว่าคงไม่สามารถแก้ไขได้ 100% หรอกครับ
แต่ในบางธุรกิจที่กระทบกับเงิน ๆ ทอง ๆ ของคนส่วนใหญ่ ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายก็เริ่มปรับตัวรับมือกับสตาร์ทอัพแล้ว โดยใช้ตำราที่ว่า “ต่อต้านไม่ได้ ก็เข้าร่วมมันเสียเลย”
นั่นก็คือการเปิด Regulatory Sandbox ให้เหล่าสตาร์ทอัพได้มาทดลองฝีมือภายใต้การดูแลอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ ของหน่วยงานกำกับทางกฎหมาย
อย่างในไทย 3 หน่วยงานหลักอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำกับดูแลธนาคาร ก.ล.ต. ที่กำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ รวมถึง คปภ. ที่กำกับดูแลบริษัทประกัน ก็ได้มีการเปิด Regulatory Sandbox ให้เหล่าสตาร์ทอัพฝีมือดีหรือผู้ประกอบการที่อยากทำตัวเป็นสตาร์ทอัพได้ทดลองไอเดียใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ โดยไม่ต้องไปสนใจหรือคำนึงถึงข้อกฎหมายระหว่างที่อยู่ในโครงการเลย
ซึ่งรูปแบบการเปิด Regulatory Sandbox นี้ ผมถือว่าเป็นการจัดการปัญหาการทำผิดกฎหมายของสตาร์ทอัพที่ดีรูปแบบหนึ่งเลย เพราะเป็นการปรับตัวเข้าหากันของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายสตาร์ทอัพก็เข้ามาบอกปัญหาหรือข้อจำกัดของกฎหมายเดิมให้ฟัง ส่วนฝ่ายกำกับดูแลตามกฎหมาย ก็ยอมยกเว้นข้อกฎหมายเหล่านั้นให้ช่วงเวลาที่ร่วมทดลองทำ หากได้ผลออกมาดี ก็ไปหาทางแก้กฎหมายให้มันถูกต้องในภายหลัง
แต่ก็ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะมีคนบังคับใช้กฎหมายเข้าใจหัวอกคนทำสตาร์ทอัพแบบนี้ แล้วถ้าเราเป็นสตาร์อัพที่ไม่มี Regulatory Sandbox เราควรจะต้องทำอย่างไรล่ะ
ตอบง่าย ๆ เลยครับ ถ้ามันโตถึงจุดนึงแล้ว คุณก็ต้องจ้างนักกฎหมายมาช่วยให้คำปรึกษาและปรับรูปแบบให้มันถูกต้องตามกฎหมายไงครับ
ถ้ายังไม่มีเงินจ้าง ก็ลองหาเพื่อนเป็นนักกฎหมายดูก็ได้ครับ ค่าจ้างอาจจะถูกลง แต่ถ้าอยากจ่ายถูกกว่านั้นอีก ไม่ใช่ให้หานักกฎหมายเป็นแฟนนะครับ แต่ที่ผมเคยเห็นก็คือ ให้หุ้นลมกับเพื่อนนักกฎหมายไปเลยครับ ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างวันนี้ แถมเขายังช่วยให้คำปรึกษาแบบเต็มที่อีกด้วย เพราะใครเป็นหุ้นแล้ว ก็คงอยากให้ธุรกิจประสบความสำเร็จไปด้วยกันใช่ไหมครับ
เพราะผมมองว่ากฎหมายไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการทำสตาร์ทอัพของคุณนะครับ
แต่ถ้าใครอยากมีเพื่อนเป็นนักกฎหมายแบบผม ก็ติดตามอ่านและพูดคุยกันได้ที่คอมเมนท์ใต้โพสต์นี้ของแฟนเพจ AHEAD.ASIA หรือ แฟนเพจของผมนะครับ Lawinspiration
หรือจะแบ่งหุ้น (ไม่)ลมให้ ผมก็ยินดีรับนะครับ 555
Our Columnist:
ดร.พีท พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย