Shinano Mainichi Shimbun หนังสือพิมพ์เก่าแก่ของญี่ปุ่น ทดลองนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) มาใช้เป็นเครื่องมือในการคัดกรองและสรุปข่าวสารเพื่อนำขึ้นเผยแพร่ทางหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งผู้ผลิตอ้างว่าจะมีความฉับไวและแม่นยำในการนำเสนอมากกว่าการใช้แรงงานมนุษย์
Shinano Mainichi Shimbun หรือ ‘The Shinmai’ นำเทคโนโลยี AI จาก Fujitsu Laboratories ผู้ให้บริการ IT รายใหญ่ที่สุดของประเทศ มาสรุปข่าวสารที่ได้จากผู้สื่อข่าวในหลากหลายสาขา โดยมีกำหนดเผยแพร่ทางเคเบิ้ลทีวี ในเดือน เม.ย. นี้
ปัจจุบัน แรงงานคนสามารถสรุปข่าวขนาด 150 ตัวอักษรได้ประมาณ 60 ชิ้นต่อวัน หรือคิดเฉลี่ยเป็นจำนวน 3-5 นาทีต่อข่าว ซึ่ง Fujitsu ยืนยันว่าปริมาณข่าวจะเพิ่มขึ้นได้อีก หากนำ AI มาใช้ผลิตชิ้นงาน ซึ่งจะมีความแม่นยำในการจับประเด็นเนื้อหามากกว่าด้วย
AI ที่สามารถทำความเข้าใจได้ทั้งข่าวภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ ตัวนี้ ประกอบด้วยระบบประมวลผลชุดคำและการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ซึ่งจะแบ่งแยกข่าวแต่ละข่าวออกเป็นย่อหน้า พร้อมกับคิดคำนวณให้คะแนนแต่ละย่อหน้า ตามลำดับความสำคัญ ก่อนนำมาผนวกรวมกันเป็นข่าวสั้นครบถ้วนใจความ
ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนานั้น Fujitsu ป้อนข้อมูลของข่าวกว่า 2,500 ชิ้นลงไป เพื่อให้ระบบเรียนรู้และเตรียมความพร้อมก่อนนำมาใช้งานจริงกับสื่อเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1873 และมีฐานบัญชาการอยู่ที่จังหวัดนากาโน่รายน้
“คลื่นลูกที่สามของ AI กำลังกลายเป็นเทรนด์ของโลก และตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะใช้มันไปเพื่อการพัฒนาขั้นตอนการทำงานของหนังสือพิมพ์” Hiroshi Misawa กรรมการผู้จัดการของ The Shinmai กล่าว

AHEAD TAKEAWAY
มีการพิสูจน์มาอย่างต่อเนื่องว่า AI มีความสามารถในการอ่านเขียนไม่ด้อยไปกว่ามนุษย์
ไม่ว่าจะการแต่งนิยายเรื่องสั้นเข้าแข่งขันและสามารถผ่านเข้ารอบได้ ที่ญี่ปุ่น เมื่อปี 2016 หรือการทดสอบการอ่านจับใจความจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้คะแนนเหนือกว่าค่าเฉลี่ยของมนุษย์ ช่วงปลายปีที่แล้ว
และล่าสุด ก็คือการที่ The Shinmai นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในตำแหน่งสรุปและคัดกรองข่าวสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึี่งของงานบรรณาธิการนั่นเอง
หรือแม้แต่งานผู้ประกาศข่าวก็ไม่เว้น เพราะเมื่อเร็วๆนี้ มีรายงานว่าทางมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประสบความสำเร็จในการสร้างหุ่นยนต์ผู้ประกาศข่าว Erica ที่มีรูปร่างหน้าตาแบบมนุษย์จริงๆ อีกทั้งยังสามารถอ่านข่าวทั้งภาษาญ๊่ปุ่นและอังกฤษได้อย่างชัดเจน
อีกทั้งยังถูกสร้างให้มีอารมณ์ความรู้สึกร่วม ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ชนิดที่ Hiroshi Ishiguro ผู้อำนวยการสถาบันหุ่นยนต์อัจฉริยะของม.โอซาก้า ถึงกับนิยามว่า Erica นั้น มี “จิตวิญญาณ” ในตัวเลยทีเดียว
Erica นั้น ก็มีกำหนดอ่านข่าวออกอากาศเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายนนี้เช่นกัน
หากการผลักดันครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยโอซาก้าไปได้สวย คนทำสื่อที่ยังยึดมั่นถือมั่นกับวิธีคิดแบบเดิมๆ ก็มีโอกาสจะถูก disrupt ได้ในซักวัน
AHEADER’S THOUGHT
กรณีนี้อาจเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ ว่าการนำเสนอข่าวที่ดี ควรตรงไปตรงมาแบบ AI หรือใส่อารมณ์เพื่อเข้าถึงได้ง่าย ในแบบของมนุษย์ ซึ่งผู้อ่าน AHEAD.ASIA ก็มองว่าทั้งสองแง่มุม มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
เรียบเรียงจาก
A newspaper in Japan is using AI to summarize news stories to get them out quicker
AI-based story-summarizing system to debut at Japanese newspaper
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน