เผยผู้ใช้สมาร์ททีวีเสี่ยงถูกดูดข้อมูลใช้งาน

Consumer Reports ระบุ สมาร์ททีวีกว่า 1 ล้านเครื่องทั่วโลก มีช่องโหว่ขนาดใหญ่ ที่เปิดให้ผู้ผลิตสามารถดึงข้อมูลการใช้งานต่างๆของผู้ชมกลับไปได้ เช่นเดียวกับปัญหาการรักษาข้อมูลสำคัญต่างๆที่อาจถูกมิจฉาชีพแฮ็กไปใช้งาน

องค์กรเพื่อผู้บริโภคซึ่งไม่แสวงผลกำไรอย่าง Consumer Reports เผยรายงานล่าสุด หลังนำสมาร์ททีวีจากแบรนด์ชั้นนำ 5 ราย ประกอบด้วย Samsung, LG, Sony, TCL และ Vizio มาทำการวิจัย และพบว่าทุกแบรนด์นั้นสามารถแทร็คย้อนหลังได้ว่าผู้บริโภคเลือกรับชมอะไรไปบ้าง และมีอย่างน้อยสองแบรนด์ที่มีปัญหาเรื่อง cyber security ซึ่งหมายถึงแฮ็กเกอร์ สามารถเจาะเข้าสู่ระบบสมาร์ททีวีของ Samsung และ TCL เพื่อออกคำสั่งในลักษณะต่างๆ ที่ผู้ใช้ไม่ได้ต้องการ เช่นปรับเพิ่มเสียง, ติดตั้งแอพใหม่, เปลี่ยนช่องสถานี หรือเปิดคอนเทนท์บางตัวเพื่อจุดประสงค์บางอย่างใน YouTube โดยไม่ได้รับคำยินยอมจากเจ้าของเครื่อง

นอกจากทั้งสองแบรนด์ที่ถูกระบุแล้ว แบรนด์ที่ใช้แพลตฟอร์มของ Roku TV เช่น Philips, RCA, Hisense, Hitachi, Insignia และ Sharp รวมถึงอุปกรณ์สตรีมมิ่งของ Roku เอง ก็อยู่ในข่ายเสี่ยงเช่นกัน

งานวิจัยฉบับนี้ ยังพบว่าข้อมูลการรับชมของผู้ใช้ จะถูกเก็บกลับไปอย่างสม่ำเสมอ และรายงานไปยังผู้ผลิตและ/หรือพาร์ทเนอร์ของบริษัทผู้ผลิต ภายใต้เทคโนโลยี Automated Content Recognition (ACR) ซึ่งระบบนี้แม้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถรับชมกลุ่มรายการโปรดลักษณะเดียวกันได้ง่ายขึ้น แต่ก็จะถูกใช้เพื่อการเผยแพร่โฆษณาสู่ผู้ชมโดยตรง รวมไปถึงเมื่อผนวกรวมข้อมูลนี้กับพฤติกรรมการใช้งานในแง่อื่นๆ แล้ว ก็จะกลายเป็นรายงานที่ถูกขายต่อไปยังผู้ผลิตรายอื่นๆ ด้วย

“หลายปีมาแล้วที่ผู้ใช้ทราบดีว่าเมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์หรือใช้สมาร์ทโฟนแล้ว มันจะถูกเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งาน แต่ผมไม่คิดว่าจะมีหลายคนที่ทราบว่าโทรทัศน์ที่กำลังดู ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน” Justin Brookman ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิและเทคโนโลยีของสหภาพผู้บริโภค และตัวแทนของ Consumer Reports กล่าว

Consumer Reports ยังเสริมว่าผู้ใช้สามารถปิดระบบ ACR ได้ รวมถึงจำกัดข้อมูลที่จะถูกส่งกลับไปยังผู้ผลิต ด้วยการตั้งค่าสมาร์ททีวีใหม่อีกครั้ง และอ่านรายละเอียดของข้อตกลงต่างๆ ให้ชัดเจน

ด้าน Roku ชี้แจงว่ารายงานชิ้นนี้ของ Consumer Reports เป็นการตีความที่ผิดพลาด และระบบของพวกเขา “ไม่มีอันตรายกับความปลอดภัยของผู้ใช้” เช่นเดียวกับโฆษกของ TLC ที่ยืนยันว่า “ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้ เป็นเป้าประสงค์หลักของเราเสมอมา”

 

AHEAD TAKEAWAY

ความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคนั้นเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน แต่คนจำนวนมากมักมองข้ามไป เหมือนที่เมื่อไม่นานมานี้ Google เคยถูกตำหนิเรื่องการแอบเก็บข้อมูลตำแหน่งผู้ใช้งานโทรศัพท์แอนดรอยด์

ขณะที่รัฐบาลเยอรมัน ก็เลือกที่จะแบนสินค้าประเภทสมาร์ทวอทช์สำหรับเด็ก เพราะมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเครื่องมือในการจารกรรมข้อมูล

Art Kraiwin CEO ของ AHEAD.ASIA เคยมีโอกาสพูดคุยกับ Reuven Aronashvili กรรมการบริหาร และ ผู้ก่อตั้ง (CEO & Co-Founder) Prosecs บริษัทให้คำปรึกษาด้านการรักษาความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ตสัญชาติอิสราเอล ที่มีลูกค้าใหญ่ๆ อย่าง Google, Apple, GE, Phillips ฯลฯ ถึงเรื่องนี้

และประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือจุดอ่อนที่สุดคืออุปกรณ์ส่วนตัวประเภทสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ซึ่งเรามักมองข้ามไปนั่นเอง

นอกจากประเด็นเรื่องแฮ็กเกอร์แล้ว อีกคำถามที่น่าสนใจก็คือการที่บริษัทผู้ผลิตต่างๆนำข้อมูลที่ส่งกลับไปนั้นไปขายต่อเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองอีกที นั้นเป็นเรื่องที่สมควรทำหรือไม่ และสุดท้าย ทางเลือกของผู้บริโภคอย่างเราๆท่านๆจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อเรื่องที่ควรเป็นส่วนตัว กลับไม่ส่วนตัวอีกต่อไป ต่อให้เราไม่ได้โพสต์อะไรลงในโซเชียลมีเดียก็ตาม

 

เรียบเรียงจาก

Your smart TV is watching you watching TV, Consumer Reports finds

Samsung and Roku Smart TVs Vulnerable to Hacking, Consumer Reports Finds

Your smart TV may be prey for hackers and collecting more info than you realize, ‘Consumer Reports’ warns

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

WhatsApp เปิดตัวระบบจ่ายเงิน P2P ในอินเดีย

Next Article

สื่อญี่ปุ่นสุดล้ำใช้ AI สรุปข่าวออกจอ

Related Posts