แม้จะเพิ่งดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศมาได้เพียงห้าปี แต่บทบาทของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ทั้งในประเทศและในเวทีโลกกลับได้รับการยกย่องอย่างสูง ด้วยแนวคิด “สังคมนิยมแบบจีนสำหรับยุคใหม่” ที่ได้รับการบรรจุลงในธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
นอกจากคุณสมบัติต่างๆที่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำแล้ว
อีกหนึ่งเรื่องที่ประธานาธิบดีสีฯ ใช้พัฒนาตนเองมาตลอด ก็คือการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่ต้องหยุดเรียนกะทันหัน เพราะถูกส่งไปเป็นอาสาสมัครในต่างเมือง
ผู้คนในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ เคยกล่าวเอาไว้ว่า ในช่วงที่ท่านใช้ชีวิตในชนบทนั้น ท่านอ่านหนังสือเป็นประจำ และแต่ละเล่มนั้น “หนาเท่าอิฐ” เลยทีเดียว
แม้กระทั่งในปัจจุบัน ประธานาธิบดีสีฯ ก็ยังมีนิสัยรักการอ่าน และมักหาโอกาสอ่านหนังสือเป็นประจำในเวลาว่าง
และนี่คือหนังสือ 10 เล่มที่มีส่วนหล่อหลอมความคิดของท่านให้เป็นอย่างในปัจจุบัน
The Story of Yue Fei
พูดถึง The Story of Yue Fei หลายคนอาจไม่รู้จัก
แต่ถ้าบอกว่านี่คือเรื่องราวของ งักฮุย คนที่ชอบอ่านประวัติศาสตร์ หรือนิยายจีน น่าจะร้องอ๋อกันเป็นแถว
เพราะ งักฮุย คือหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ ผู้ถูกใส่ความจากศัตรูทางการเมืองจนต้องโทษประหารชีวิต
ประธานาธิบดีสีฯ เล่าว่าท่านอ่านนิทานภาพเรื่องนี้ตั้งแต่อายุห้าหรือหกขวบ และเหตุการณ์ในเรื่องที่ประทับใจที่สุด คือตอนที่แม่ของงักฮุยสลักอักขระจีน 4 ตัว กลางแผ่นหลังลูกชาย
ตัวอักษรทั้งสี่นั้นประกอบด้วย 精忠報國 จิงจงเป้ากว๋อ หรือ ซื่อตรง ภักดี ล้างแค้น เพื่อชาติ
ห้าคัมภีร์ขงจื๊อ
ในการขึ้นปราศรัยแต่ละครั้ง ประธานาธิบดีสีฯ มักอ้างอิงถึงเรื่องราวหรือประโยคอมตะจากห้าคัมภีร์ขงจื๊อบ่อยครั้ง
ขงจื๊อ เป็นนักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของชาวจีน รวมถึงเอเชียตะวันออก ต่อเนื่องมานานกว่า 20 ศตวรรษ ด้วยการเขียนตำราต่างๆไว้มากมาย ในจำนวนนั้น ก็คือ ห้าคัมภีร์ หรือ อู่จิง ประกอบด้วย
คัมภีร์บทกลอน (ซือจิง หรือ Shi Jing) คัมภีร์พิธีการในราชสำนัก (ซูจิง หรือ Shang Shu) คัมภีร์โหรา (อี้จิง หรือ Yi Jing) คัมภีร์มรรยาท (หลี่อี๋ หรือ Li Yi) และคัมภีร์ประวัติศาสตร์ (ชุนชิว Chun Qiu)
ซานเอี๋ยน “สามคติ”
ประธานาธิบดีสีฯ เป็นอีกคนที่เคยผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายอย่างการปฏิวัติวัฒนธรรม (ระหว่างปี 1966-1976)
ด้วยความที่ สี จ้งชุน บิดาของท่านมีแนวคิดขัดแย้งกับประธานเหมา เจ๋อตุง ทำให้ท่านสี จิ้นผิง ที่เคยมีชีวิตอย่างสะดวกสบายในวัยเด็ก ต้องถูกส่งตัวไปอาศัยอยู่ในค่ายแรงงาน ณ หมู่บ้านเหลียงเจียเหอ มณฑลส่านซี เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตในชนบทนานถึงเจ็ดปี
หนึ่งในวิธีที่ช่วยให้ท่านผ่านช่วงเวลายากลำบากนั้นมาได้ คือการอ่านประมวลเรื่องสั้นชื่อ “ซานเอี๋ยน” หรือ สามคติ (SanYan) เขียนโดย เฝิงเมิ่งหลง
ทั้งสามเล่มคือ “อู้สื้อหมิงเอี๋ยน” (YuShiMingYan คติแจ้งชาวโลก) “จิ่งสื้อทงเอี๋ยน” (JingShiTongYan คติเตือนชาวโลก) และ “สิ่งสื้อเหิงเอี๋ยน” (XingShiHengYan คติปลุกชาวโลก) ใช้ภาษาร่วมสมัยที่เรียบง่าย และตีแผ่วิถีชีวิตแบบชาวเมืองในช่วงปลายราชวงศ์หมิง หรือค.ศ. 1574-1646
Long March
Long March หรือ การเดินทัพทางไกล เป็นคำที่ได้จากการล่าถอยจากมณฑลเจียงซีทางตอนใต้ของประเทศ ขึ้นสู่มณฑลส่านซีทางเหนือ เป็นระยะทางกว่า 12,500 กิโลเมตร ของกองทัพพรรคมคอมมิวนิสต์จีน นำโดยเหมา เจ๋อตุง และโจว เอินไหล ระหว่างการสู้รบกับกองทัพรัฐบาลจีนที่นำโดย เจียง ไคเช็ก
และเป็นการนำทัพครั้งนี้เองที่ทำให้ เหมา ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รายอื่นๆ ก่อนยกทัพกลับมาต่อสู้และขับไล่ เจียง ไคเช็ก ไปยังไต้หวัน และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ในปี 1949
หนังสือเล่มนี้ เป็นการบันทึกเหตุการณ์และมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด จนแม้แต่ประธานาธิบดีสี ยังต้องเป็นฝ่ายเข้าไปขอจับมือกับ Wang Shuzeng ผู้เขียน ระหว่างงานสัมมนาเกี่ยวกับนวนิยายและศิลปะ ในเดือนตุลาคม เมื่อปี 2014 พร้อมบอกกับอีกฝ่ายว่า “นี่คือหนังสือที่ผมจะแนะนำให้ทุกคนอ่าน”
The Lantern Bearer
นอกจาก Wang Shuzeng แล้ว นักเขียนร่วมสมัยอีกคนที่ ประธานาธิบดีสีฯ ชื่นชอบ ก็คือ Jia Pingwa เจ้าของผลงานอย่าง Que Opera ที่ได้รับรางวัล Mao Dun Literature Prize ในปี 2009 และ Ruined City ซึ่งมีเนื้อหารุนแรงจนถูกสมาคมสิ่งพิมพ์ของรัฐ แบนนานกว่า 17 ปีด้วยกัน
แต่หนังสือของ Jia ที่ประธานาธิบดีสีฯ ชื่นชอบมากที่สุด และยกขึ้นมาพูดคุยกับนักเขียนผู้นี้ ระหว่างงานดังกล่าว ก็คือ The Lantern Bearer หรือ Dai Deng (带灯)
Faust และงานอื่นๆของ เกอเธ่
ประธานาธิบดีสีฯ รู้จักงานของนักเขียนฝั่งตะวันตกตั้งแต่ก่อนยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ท่านอ่านงานของ เกอเธ่ “The Sorrows of Young Werther” เป็นครั้งแรกตอนอายุ 14
และอ่าน Faust ช่วงที่ถูกส่งตัวไปยังค่ายแรงงาน ซึ่งท่านชื่นชอบเรื่องนี้ ถึงขนาดลงทุนเดินเป็นระยะทางถึง 15 กิโลเมตร เพื่อไปยืมจากเจ้าของเลยทีเดียว
What Is to Be Done?
ผลงานของ Nikolai Chernyshevksky นักปรัชญาการเมืองชาวรัสเซีย คือหนังสืออีกเล่มที่ประธานาธิบดีสีฯ ได้อ่านในช่วงที่ถูกส่งตัวไปยังค่ายแรงงาน
ด้วยแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้ ท่านเลือกที่จะไม่ย่อท้อต่อความลำบากที่เกิดขึ้น ทั้งเลือกนอนบนเตียงที่ไม่มีฟูก เดินออกจากบ้านในวันที่หิมะตกหนัก และอาบน้ำเย็นจัด เพื่อฝึกฝนจิตใจให้แข็งแกร่ง
War and Peace
อีกหนึ่งในเล่มโปรดที่ท่านยืมจากครูมาอ่าน ระหว่างอยู่ในค่ายแรงงาน ก็คือ War and Peace หรือ “สงครามและสันติภาพ” นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของ Leo Tolstoy นักประพันธ์ชาวรัสเซีย (ฉบับแปลไทยในบ้านเรา มีทั้งที่แปลจากภาษารัสเซียโดยตรงของ พลตรี หลวงยอดอาวุธ และแปลจากหลากหลายสำนวนภาษา โดยคุณวิภาดา กิตติโกวิท)
The Old Man and The Sea
งานอมตะของ Ernest Hemingway เล่มนี้ สร้างความประทับใจให้ประธานาธิบดีสีฯมาก ถึงขนาดลงทุนเดินทางไปยังสถานที่ที่นักเขียนระดับตำนานชาวอเมริกันอ้างอิงไว้ในหนังสือถึงสองแห่งด้วยกัน
The Old Man and The Sea มีฉบับแปลไทย ทั้งในชื่อ เฒ่าผจญทะเล แปลโดย วิทย์ ศิวะ
Les Miserables
“งานเขียนชั้นดีต้องสามารถปลุกเร้าผู้อ่านได้” คือคำนิยมที่ประธานาธิบดีสีฯ มีให้แก่หนังสือเล่มนี้ ที่เล่าเรื่องราวเกียวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส
เหตุการณ์ที่เจ้าตัวชื่นชอบที่สุดนั้น คือตอนที่บาทหลวงมิริเอล กระตุ้นให้ ฌอง วัลฌอง ประพฤติตนให้ดีกว่าเดิม
Les Miserables หรือ “เหยื่ออธรรม” มีฉบับแปลไทยหลายเวอร์ชั่น ทั้ง “เหยื่ออธรรม” โดยคุณจูเลียต “ตรวนชีวิต” ซึ่งเป็นฉบับย่อ โดย คุณสุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์, คุณธีรา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา และคุณพูลสุข ตันพรหม และ “เหยื่ออธรรม ฉบับสมบูรณ์” โดยคุณวิภาดา กิตติโกวิท
เรียบเรียงจาก
Books on president Xi Jinping’s shelves
ติดตาม YOU ARE WHAT YOU READ ตอนก่อนๆ ได้ที่นี่
*หรือเสิร์ชด้วยการพิมพ์ You are what you read ในช่องเครื่องมือค้นหาหน้าเว็บไซต์
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า