ในวันที่เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญให้โลกเราหมุนเร็วขึ้น
ใครจะคิดว่า Amazon.com หรือ Alibaba จะทำให้ร้านค้าปลีกที่เคยพลุกพล่าน กลายเป็นร้างผู้คน
หรือแพลตฟอร์มที่ไม่มีคอนเทนท์ของตัวเอง อย่าง Facebook หรือ YouTube จะดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้เข้าไปเสพเนื้อหาได้อย่างที่เป็นอยู่
ในอนาคตอันใกล้ บางที ห้องเรียนซึ่งเคยเป็นจุดศูนย์กลาง ระหว่างครูอาจารย์กับนักเรียน อาจไม่มีอีกต่อไปก็ได้
เพราะถูกแทนที่ด้วยสื่อกลางแบบใหม่ที่เชื่อมโยงผู้เรียนกับผู้สอนเข้าด้วยกัน
ทีมงาน AHEAD.ASIA มีโอกาสได้พูดคุยถึงเรื่องนี้
กับคุณริชชี่ ชวัล เจียรวนนท์ นักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งทีมชาติไทย และทายาทตระกูลเจียรวนนท์ ในฐานะซีอีโอบริษัทสแนปอาส์ค (ประเทศไทย) จำกัด สตาร์ทอัพสาย edtech ที่อาสาเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ให้เด็กไทยเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป
ประสบการณ์เรียนเฉพาะบุคคล
จุดเริ่มต้นจริงๆของ Snapask นั้นเกิดขึ้นที่ฮ่องกง เมื่อ ทิโมธี หยู ติวเตอร์ออนไลน์ ค้นพบว่าจริงๆแล้ว เด็กไม่ได้ต้องการเรียนทางวิดีโอ
แต่อยากได้ใครซักคนมาช่วยตอบคำถามในการเรียน อยากให้ใครมาช่วยอธิบายเฉพาะสิ่งที่เค้าไม่เข้าใจ
“ก็เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่าปัญหาของห้องเรียนออนไลน์ หรือสื่อกลางอื่นๆที่เด็กเดี๋ยวนี้ ใช้ในการหาคำตอบของการบ้าน มันเป็น static answer คือไม่ได้ปรับให้เข้ากับเด็กคนนั้น” คุณริชชี่ เริ่มด้วยการอธิบายถึง painpoint ซึ่งเป็นที่มาของ สแนปอาส์ค (ฮ่องกง) ให้ทีมงาน AHEAD.ASIA ฟัง
ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มที่จะสร้างประสบการณ์เรียนรู้เฉพาะบุคคล (personalized experience) ให้แก่เด็ก เพื่อจะได้สนุกกับการเรียนมากขึ้น
นั่นคือฟีเจอร์แรกและฟีเจอร์หลักของ สแนปอาส์ค คือ Q&A ที่เปิดให้เด็กๆส่งคำถามเข้ามาได้ จากนั้นระบบจะทำการแมตชิ่ง คำถามกับติวเตอร์ที่พร้อมให้คำตอบ
“จะเป็นคำถามการบ้านหรือคำถามเตรียมสอบก็ได้ แล้วเราจะ match กับติวเตอร์ให้ภายในหนึ่งนาที แต่จริงๆแค่ 15 วินาที ก็แมตช์ได้แล้ว
จากนั้น ติวเตอร์ก็จะมาพูดคุยถามตอบกับเด็กๆ” คุณริชชี่ อธิบายหลักการเบื้องต้นของสแนปอาส์ค ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกที่ฮ่องกงตั้งแต่ปี 2016
และได้รับความนิยมจนขยายไปยังหกประเทศ ตามด้วย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น โดยที่ไทยก็เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไป เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
Uber ฉบับ edtech
ระบบแมตชิ่งของ สแนปอาส์ค นั้น เปรียบไปแล้วก็คล้ายกับ Uber ที่เป็น sharing economy เช่นกัน
ต่างกันตรงที่ Uber เป็นการแชร์จากออนไลน์สู่ออฟไลน์ ส่วน สแนปอาส์ค เป็น fully online experience โดยตรง
และการจับคู่คำถามกับผู้ตอบนั้น ก็จะยึดจากแรงกิ้งของติวเตอร์ที่เหมาะสมกับคำถามนั้นๆเป็นหลัก
เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆจะได้คำตอบตรงตามความต้องการมากที่สุด
“เราเป็น data first company หลัก ๆ คือเราจะหาติวเตอร์ที่ตรงกับความต้องการของเด็กที่สุด
อย่างที่ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ เค้าจะเน้นติวเตอร์ที่มาจากโรงเรียนชั้นนำ มีประสบการณ์การสอนมาก่อน ภายในแอพ ก็จะมี rating system ที่จะวัดว่าติวเตอร์คนไหนมีผลงานเป็นยังไง และในหนึ่งคำถามก็จะมีแค่ติวเตอร์ที่มีแรงกิ้งดีที่สุดมาตอบเพียงคนเดียว”
“จริง ๆ ลูกค้าของเราไม่ใช่แค่เด็ก แต่ติวเตอร์ก็เป็นเหมือนลูกค้าของเราเหมือนกัน
เราจะพยายามช่วยให้ติวเตอร์พร้อมสำหรับการตอบคำถามนั้น ๆ คือจะเห็นก่อนว่าคำถามนั้นเป็นยังไง เค้าสามารถตอบได้รึเปล่า ถ้าตอบไม่ได้ ก็จะ skip ไป”
สำหรับการคัดเลือกติวเตอร์นั้น คุณริชชี่ ยืนยันว่าการันตีคุณภาพได้ในระดับหนึ่ง
เพราะเน้นติวเตอร์จาก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำ อาทิเช่น จุฬาลงกรณ์ เกษตรศาสตร์ มหิดล ธรรมศาสตร์ ลาดกระบัง เป็นต้น
“เราจะคัดเลือกโดยขอให้เขาส่ง transcript มาก่อน และลองทดสอบใน beta test เพื่อให้แน่ใจว่าติวเตอร์เหล่านี้สามารถสื่อสารกับเด็กได้ มีความใจเย็นพอที่จะรับฟังคำถาม และอธิบายให้เด็กเข้าใจ เพื่อให้ได้ตรงนี้ เราก็จะเรียกติวเตอร์มานั่งคุยกัน”
ขณะเดียวกัน ก็จะมีการวัดผลงานของติวเตอร์แต่ละคนตามมาตรฐานของบริษัท ติวเตอร์ก็จะต้องรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ โดยจะมาสรุปอีกครั้งตอนสิ้นเดือนพร้อมกับจ่ายค่าแรงให้
“นอกจากเรื่องรายได้ ผมว่าอีกเรื่องที่ติวเตอร์น่าจะชอบก็คือเค้าจะมีอิสระในการทำงาน จะทำที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องไปนัดเจอกับเด็กตามร้านกาแฟ แบบนั้นมีค่าเดินทาง ต้องซื้อกาแฟในร้านด้วยถึงจะนั่งได้ แต่ด้วยระบบนี้เค้าจะนั่งทำงานที่ไหนก็ได้”
กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นลูกค้าของ สแนปอาส์ค คือเด็กมัธยมต้นและมัธยมปลาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าจะมีคำถามเกี่ยวกับการเรียนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมปลายที่ไม่ได้ต้องโฟกัสที่การเรียนอย่างเดียว ยังต้องเตรียมตัวสอบในระดับมหาวิทยาลัย แต่คุณริชชี่ก็ยืนยันว่ามีแผนจะขยายต่อไปยังกลุ่มอื่นๆด้วย
“ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากจะขยายไปถึงระดับเด็กประถม หรือเด็กในโรงเรียนนานาชาติด้วย แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราก็จะทำตรงนี้ให้ดีที่สุด และก็ค่อยๆหาติวเตอร์มาเสริมในระบบ”
บริการของ สแนปอาส์ค จะเริ่มต้นจากลักษณะ freemium คือถามได้ฟรีสองคำถาม
และถ้าแนะนำให้เพื่อนมาลองใช้งาน ก็จะได้ถามเพิ่มสองคำถามต่อเพื่อนหนึ่งคน โดยจำนวนสูงสุดที่แนะนำเพื่อนได้คือสิบคน
และหากประทับใจในบริการ ก็สามารถซื้อ token pack เป็นแพ็คคำถาม 5 ข้อ ราคา 179 บาท ส่วน 10 คำถามอยู่ที่ 319 บาท และสุดท้ายคือแพ็คถามได้ไม่อั้น อยู่ที่ 2,100 บาทต่อเดือน
ตีโจทย์การศึกษาไทยยุค 4.0
ในฐานะที่เป็นสตาร์ทอัพสาย edtech ทีมงาน AHEAD.ASIA เลยถือโอกาสขอความเห็นจากคุณริชชี่ ว่าการศึกษาในบ้านเรานั้นเป็นอย่างไรแล้ว
และคำตอบที่ได้ก็คือ การขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
“ผมว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็เป็นความพยายามที่จะปรับรูปแบบการศึกษาใหม่ ให้เป็น problem-based มากขึ้น
ให้เด็กหาความรู้ด้วยตัวเอง และรัฐก็จะนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนตรงนี้ แต่ ณ ปัจจุบัน ผมยังคิดว่าเรามีแหล่งความรู้ไม่มากพอ และก็ยังไม่เข้าใจเด็กจริงๆ จนกลายเป็นการสร้างงานให้เด็กเพิ่มมากกว่า”
“เพราะถ้าลองไปคุยกับเด็กจริงๆ เค้าจะบอกว่าตอนนี้งานเค้าเยอะเกินไปแล้ว อย่างเด็กมัธยมปลาย ก็ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพิ่มอีก
เราเลยคิดว่าถ้ามีเทคโนโลยีมาอุดช่องว่างตรงนี้ ก็จะตอบโจทย์ pain point ของเด็กได้ และผมก็เชื่อว่า Snapask ของเราตอบโจทย์ตรงนี้ได้แน่นอนครับ”
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า