AHEAD.ASIA พาคุณไปทำความรู้จักกับ Startup ทั้ง 5 ที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกมนุษย์ โดยอ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดในช่วงต้นปี 2018
#5
SpaceX
21,000 ล้านเหรียญ
SpaceX เป็นบริษัท Startup ผลิตยานพาหนะ และขนส่งทางอวกาศที่ Elon Musk ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 โดยใช้เงินลงทุนส่วนตัวที่เขาได้จากการขาย PayPal ที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้นให้กับ Ebay ซึ่งจุดประสงค์ในการก่อตั้ง SpaceX ของ Elon นั้นมาจากจุดประสงค์หลักสองประการคือ ลดค่าใช้จ่ายของการเดินทางในอวกาศ และช่วยในการไปตั้งรกรากที่ดาวอังคารของมนุษย์ให้สำเร็จ
การที่ Elon Musk เติบโตขึ้นมาในช่วงที่สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตแข่งขันกันเป็นเจ้าอวกาศนั้นส่งผลให้ Elon คลั่งไคล้เรื่องนี้เอามากๆ แต่ถึงจะเป็น Passion ที่ชัดเจนของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่าง Musk การที่จะเชื่อว่าเขาจะก้าวจากการทำระบบจ่ายเงินออนไลน์ไปทำจรวดนั้นมันดูเหลือเชื่อเกินไปหน่อย ซึ่งแม้แต่ Investor คู่บุญของเขาอย่าง Stephen T. Jurvetson ยังขยาดที่จะลงทุนใน SpaceX เพราะเสี่ยงเกินไปมาก
ซึ่งหนทางของ SpaceX ก็เต็มไปด้วยอุปสรรคจริงๆ เพราะ Elon Musk ต้องเจอกับเรื่องมากมายตั้งแต่ตอนที่บินไปมอสโคว์ในปี 2001 เพื่อขอซื้อจรวด ICBM แต่กลับถูกหัวหน้าทีมออกแบบจรวดของรัสเซียถ่มน้ำลายใส่หน้า เพราะมองว่าเขาเป็นเด็กอ่อนหัดที่ไม่มีความรู้เรื่องจรวด แต่กลับมาเพ้อเจ้อถึงการไปอวกาศในฐานะบริษัทเอกชน ซึ่งเขาก็ไม่ยอมแพ้กลับไปอีกครั้งพร้อมอดีต CIA ทำให้ทางมอสโคว์ยอมที่จะพูดคุยกับเขาอย่างจริงจัง แต่ก็เรียกราคาแพงถึง 8 ล้านเหรียญ ซึ่ง Musk ไม่ตกลงเพราะมองว่าแพงเกินไปเยอะ ซึ่งระหว่างนักเครื่องบินกลับบ้านนั่นเอง ที่เขาคิดวิธีการสร้างจรวดด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าออก
นอกจากนี้ การทดลองปล่อยจรวดในช่วงแรกของเขาก็ล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงครั้งหนึ่งที่หากว่าเขาล้มเหลว SpaceX จะล้มละลาย เพราะไม่มีเงินที่จะมาทำการทดลองต่อ เนื่องจาก Musk ใช้เงินที่ได้จากการขาย PayPal ไปทำนู่นทำนี่หมดแล้ว และจะให้หา Investor รายใหม่ ก็ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้ ต่างจาก Tesla และ SolarCity ที่จับต้องง่ายและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า แต่ปรากฏว่าการทดลองปล่อยจรวดครั้งนั้นประสบความสำเร็จ ทำให้เขาสามารถหาเงินลงทุนเพิ่มเพื่อมาพัฒนาต่อจนสามารถได้รับสัญญาจ้างมูลค่ามหาศาลจาก NASA จนทำให้สถานะทางการเงินของ SpaceX ดีขึ้นอีกครั้ง
แต่ก็แลกมาด้วยการที่นักบินอวกาศที่เคยเหยียบดวงจันทร์มาแล้วอย่าง Neil Armstrong และ คนอื่นๆ ฮีโร่ในวัยเด็กของ Musk ออกมาต่อต้านสัญญาของ NASA เพราะเชื่อว่าการจ้างเอกชนอย่าง SpaceX อาจทำให้ความปลอดภัยต่อนักบินอวกาศลดลง ซึ่งนั่นเป็นครั้งเดียวที่เราเห็น Elon Musk ออกมาสัมภาษณ์ทั้งน้ำตา เพราะเจ็บปวดที่ฮีโร่ในวัยเด็กกลายมาเป็นคนที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามในความพยายามที่เขาจะนำความน่าตื่นเต้นของการที่มนุษย์ตัวเล็กๆ ท้าทายอวกาศ อันเป็นแรงบันดาลใจให้เขามีวันนี้ กลับมาให้เด็กสมัยนี้ได้เติบโตขึ้นมาพร้อมๆกันอีกครั้ง
ซึ่งวันนี้เวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า Falcon ของ SpaceX สามารถทำสิ่งที่ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกไม่ว่าจะเป็น สหภาพโซเวียต หรือ สหรัฐอเมริกา ทำสำเร็จมาก่อน ด้วยการยิงจรวดขึ้นไปในอวกาศ และสามารถกลับมาลงจอดอีกครั้งได้ในตำแหน่งที่ต้องการ ทั้งบนบก บนแพกลางน้ำ หรือแม้แต่พร้อมกันสองอัน นั่นทำให้ Startup ที่ชื่อ SpaceX ของผู้ชายที่ชื่อ Elon Musk ไม่เพียงแต่เป็น 1 ใน 5 ของ Startup ที่มีมูลค่าสูงสุด แต่ยังเป็นหนึ่งใน Startup ที่ตื่นเต้นที่สุดอีกด้วย
#4
Airbnb
31,000 ล้านเหรียญ
Airbnb คือ Startup ที่ทำธุรกิจด้านแชร์ที่พักที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องพักในโรงแรมเสมอไป โดยจุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพรายนี้ เกิดขึ้นเพราะ Brian Chesky และ Joe Gebbia อยากหาเงินมาจ่ายค่าเช่าห้องพักของตัวเอง จนนำไปสู่การแชร์ห้อง ก่อนได้ Nathan Blecharczyk มาช่วยเขียนเว็บไซต์ จนกลายมาเป็น Airbnb ที่มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการแล้วกว่า 150 ล้านคนในปัจจุบัน
ในสถานการณ์จนตรอก Brian Chesky และ Joe Gebbia มองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นในช่วง ซาน ฟรานซิสโก มีการจัดงานคอนเฟอเรนซ์ในแวดวงนักออกแบบพอดี ทั้งคู่สังเกตเห็นว่าที่พักในละแวกใกล้บริเวณจัดงานนั้นถูกจองจนหมดเกลี้ยง จนเป็นที่มาของไอเดียในการเปิดแฟลตของตัวเองให้คนอื่นเข้ามาพัก และจ่ายค่าเช่าแทน
ทั้งคู่ซื้อที่นอนแบบเป่าลมมาสามตัว พร้อมข้อเสนอไม่ซับซ้อน คือที่พักพร้อมอาหารเช้า ในราคาคืนละ 80 ดอลลาร์ จนเป็นที่มาของชื่อ airbedandbreakfast.com ที่จะถูกย่อเหลือ Airbnb ในเวลาต่อมา การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหนนี้ได้ผล มีลูกค้ามาลองใช้บริการสามราย จนทั้งคู่ตัดสินใจที่จะทำธุรกิจนี้เป็นเรื่องเป็นราว พร้อมชวน Nathan Blecharczyk โปรแกรมเมอร์มือดีที่เป็นรูมเมทสมัยเรียนมาร่วมงานด้วย
ในช่วงแรกทั้งหมดปรับแผนธุรกิจไปเป็นบริการหารูมเมทมาช่วยแชร์ค่าที่พัก ก่อนจะพบว่า Roommates.com นั้นชิงไอเดียนี้ไปใช้ก่อนแล้ว จนต้องกลับมาปัดฝุ่น Airbed and Breakfast ให้เดินหน้าต่อ
ปัญหาคือในครั้งถัดๆมา การเปิดห้องให้คนแปลกหน้าเข้ามาพักแบบนี้ไม่ได้รับความสนใจ เพราะขนาดลงทุนไปเปิดตัวใน SXSW งานคอนเฟอเรนซ์ใหญ่ในเมืองออสติน ที่รวบรวมคนจากวงการภาพยนตร์, เพลง และนวัตกรรม กลับมีผู้จองแค่ 2 รายเท่านั้น – และหนึ่งในนั้น ก็คือตัว Chesky เองส่วนการนำไอเดียในเสนอให้ Angel Investor เพื่อขอระดมทุนเพิ่มนั้น ผลปรากฎว่า 8 รายปฏิเสธจะให้ทุน และหนักกว่าคืออีก 7 ราย ไม่สนใจจะคุยกับทั้งสามคนด้วยซ้ำ
แต่ทั้งสามคนยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เมื่อรู้ว่า Barack Obama จะเดินทางมาปราศรัยในงาน Democratic National Convention ที่เดนเวอร์ ซึ่งคาดว่าจะมีคนราว 8 หมื่นมาร่วมฟัง ผู้ก่อตั้งทั้งสามคนลอนช์เว็บไซต์โฉมใหม่ของ Airbed and Breakfast ก่อนงานจะเริ่มขึ้นสองสัปดาห์ และมีคนมาลงชื่อมากถึง 800 ราย แต่หลังจากลองคำนวณค่าใช้จ่ายดูแล้ว โมเดลนี้แทบไม่ทำกำไรให้กับบริษัท
ทำให้ทั้งสามคนต้องแก้ปัญหา เพื่อหารายได้เข้าบริษัทด้วยการนำซีเรียลที่ซื้อไว้บริการลูกค้าในตอนเช้า มาทำกล่องใหม่ในชื่อ Obama O’s และ Cap’n McCain’s ซึ่งเป็นการเกาะกระแส และด้วยความที่ Brian Chesky และ Joe Gebbia เป็นนักออกแบบอยู่แล้ว ส่งผลให้ซีเรียลรุ่นลิมิเต็ด ราคากล่องละ 40 ดอลลาร์ ขายได้มากถึง 800 กล่อง ช่วยต่ออายุให้บริษัทไปได้อีกครั้ง
แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ กล่องซีเรียล ที่พวกเขาทำมันเพื่อแก้ปัญหาเหมือนตอนเริ่ม Startup นี้เพื่อหาเงินจ่ายค่าเช่า ดันไปสะดุดตา Paul Gram ที่เสนอตัวเข้ามาถือหุ้นส่วนหนึ่งในบริษัท พร้อมนำไอเดียธุรกิจนี้ ไปขัดเกลาต่อที่ Y Combinator ให้ธุรกิจของ Airbed and Breakfast ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งเรื่องหน้าตาของเว็บไซต์ รวมถึงชื่อที่ตัดทอนจนเหลือ Airbnb เพราะของเดิมฟังดูเยิ่นเย้อเกินไป รวมถึงโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนจากให้ลูกค้าจ่ายเงินกับเจ้าบ้าน มาเป็นการบริหารเงินค่าเช่าทั้งหมด แลกกับค่าคอมมิชชั่น จนทำให้ Airbnb กลายมาเป็น Startup ที่เราคุ้นเคย และสามารถเติบโตและทำกำไรได้สำเร็จ
#3
Xiaomi
46,000 ล้านเหรียญ
Xiaomi (เสี่ยวมี่) สตาร์ทอัพอีกตัวจากแดนมังกรที่เราอาจจะคุ้นเคยกันในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคเจ้าใหญ่ของจีนที่มาแรงมากจนได้รับฉายาว่าเป็น Apple แห่งโลกตะวันออก
Xiaomi เป็นคำในภาษาจีนแปลว่า “เมล็ดข้าวน้อย” นั้นก่อตั้งโดย Lei Jun อดีตซีอีโอของ Kingsoft ในเดือนเมษายนปี 2010 โดยมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งในช่วงแรกเริ่มนั้นพวกเขาเป็นบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ ก่อนที่จะออกแบบและพัฒนา Mi1 สมาร์ทโฟนรุ่นแรกของบริษัทจนสำเร็จ และออกวางตลาดในเดือนสิงหาคมปี 2011
หลังจากวางตลาด ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาก็ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีคุณภาพสูสีกับคู่แข่งแต่มีราคาที่ถูกกว่า ซึ่งเป็นแนวคิดที่บรรดาผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพรายนี้ตั้งใจไว้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าของคุณภาพดีไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับราคาที่แพงเสมอไป ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่ Startup รายนี้ใช้คือขายบนช่องทางออนไลน์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
ความน่าสนใจของ Xiaomi คือเป็น Startup ที่ได้รับเงินลงทุนจำนวนมาก จากบริษัทใหญ่ๆอย่าง Temasek Holdings หรือ Qualcomm ตั้งแต่วันที่เริ่มก่อตั้ง แต่นั่นเป็นเพราะผู้ก่อตั้งทั้ง 7 คนของพวกเขาล้วนแต่เป็นบุคลากรระดับท็อป เช่น รองประธาน หัวหน้าแผนก Product Manager จากบริษัทอย่าง Google, Motorola รวมทั้งยังมีอาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารหน่วยงานทางด้านเทคโนโลยีของรัฐ เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนจาก Startup เบอร์ 3 ของโลกว่า ในช่วงเริ่มต้นนั้น นักลงทุนจะตัดสินใจจากผู้ร่วมก่อตั้งเป็นหลักว่าน่าลงทุนหรือไม่
#2
Didi Chuxing
56,000 ล้านเหรียญ
ก่อตั้งขึ้นโดย Cheng Wei อดีตเซลส์ขายโฆษณาระดับผู้จัดการของ Ant Financial บริษัทลูกของ Alibaba ที่ปัจจุบันเป็น CEO ของบริษัท ที่มีปัญหาในการเรียกรถเหมือนกับ Travis Kalanick คือการประสบปัญหาในการเรียกแท็กซี่ โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้เขาตัดสินใจก่อตั้ง Didi Dache ที่หมายถึง Didi Taxi Calling ในปี 2012 นั่นเอง
แต่ในช่วงแรก Didi ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ขับแท็กซี่ เพราะใหม่เกินไปและปกติก็มีผู้โดยสารเรียกตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งทางแก้ของ Cheng จึงต้องจ้างผู้โดยสารให้เรียกแท็กซี่ด้วยแอพนี้ เพื่อให้เกิดการรับรู้ในหมู่คนขับว่ามีบริการนี้อยู่
กระทั่งปลายปี 2012 พายุหิมะในจีนทำให้ผู้โดยสารจำนวนมาก หันมาเรียกรถผ่าน Didi มากขึ้นจน Tencent Holdings หันมาสนใจ และร่วมลงทุนด้วยเงินถึง 15 ล้านดอลลาร์ พ่วงด้วยการใช้ Wechat แอพพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้งานเหยียบพันล้านคน ช่วยโปรโมทอย่างหนักทำให้ แอพเรียกลดของจีนรายนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
จนเมื่อปี 2014 Uber ซึ่งได้รับทุนจาก Baidu ( คู่แข่งของ Alibaba และ Tencent) เข้ามารุกตลาดจีนทำให้การแข่งขันในตลาดเรียกรถของประเทศจีนเป็นไปอย่างดุเดือด Didi Dache ( Tencent ) จึงตัดสินใจควบรวมเข้ากับ Kuaidi Dache ( Alibaba ) แอพคู่แข่งซึ่งได้ทุนจาก Alibaba Group และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Didi Kuaidi ในช่วงต้นปี 2015 ก่อนเปลี่ยนอีกครั้งเป็น Didi Chuxing ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน
หลังจากขับเคี่ยวกันอยู่นาน Uber เห็นว่าไม่สามารถเอาชนะในสงครามครั้งนี้ได้ จึงเริ่มต้นเจรจาสงบศึกกัน และจบลงด้วยการที่ Didi Chuxing เข้าซื้อกิจการของ Uber China เมื่อ 1 สิงหาคมปีที่แล้ว โดยนักลงทุนของ Uber China จะได้ถือหุ้นของ Didi ราว 20% แทน ขณะที่ Didi Chuxing ก็ได้เงินลงทุนเพิ่มจากบริษัทอย่าง Apple, Mubadala จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ Softbank ของญี่ปุ่น ที่เชื่อกันว่าอยู่เบื้องหลังการสงบศึกกับ UBER จน Didi Chuxing กลายมาเป็น Startup เบอร์สองที่มีมูลค่าราว 1,800,000 ล้านบาทในปัจจุบัน
#1
Uber
68,000 ล้านเหรียญ
Startup ที่เป็นแอพลิเคชั่น Ridesharing เบอร์หนึ่งของโลกที่เราคุ้นเคยกันดี ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2009 โดย Travis Kalanick และ Garret Camp โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซานฟรานซิสโก และให้บริการใน 80 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย
แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะยังขาดทุนต่อเนื่อง ไม่สามารถทำรายได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ กอรปกับ CEO และผู้ก่อตั้งอย่าง Travis Kalanick เผชิญมรสุมต่อเนื่อง จนต้องยอมถอยให้บอร์ดบริหารแต่งตั้ง Dara Khosrowshahi อดีต CEO ของ Expedia เอเยนต์ท่องเที่ยวออนไลน์เจ้าใหญ่มานำทัพแทน
แต่ในเรื่องเงินๆทองๆ ดูเหมือนว่า Uber จะยังแข็งแกร่ง จากการที่มีผู้ร่วมลงทุนหลากหลาย โดยมีรายสำคัญๆอย่าง Goldman Sachs และ Morgan Stanley สองสถาบันการเงินชื่อดัง, บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติอินเดีย TATA, Baidu บริษัทอินเตอร์เน็ตรายใหญ่จากจีน, กองทุนของประเทศซาอุดิอาระเบีย และล่าสุด Softbank บริษัทอินเตอร์เน็ตของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งโดย Masayoshi Son ที่ลงทุนสองรอบที่ผ่านมาถึงเกือบ 10,000 ล้านเหรียญ ส่งผลให้ Uber ยังคงครองแชมป์ Startup ที่มีมูลค่าสูงสุดอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังไม่เคยทำกำไรสำเร็จได้ซักครั้ง ตั้งแต่ก่อตั้งมา
อ่านเรื่องราวของ Uber เพิ่มเติมได้ที่ >>>
Uber บนถนนขรุขระ / สำรวจคู่แข่งรอบโลก Uber
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน