Amazon ส่อละเมิดสิทธิ์ หลังใช้สายรัดข้อมือจับความเคลื่อนไหวพนักงาน

Amazon ประสบความสำเร็จในการจดสิทธิบัตรสายรัดข้อมือที่สามารถจับตรวจความเคลื่อนไหวของผู้ใส่ เพื่อเตรียมนำมาใช้กับกลุ่มพนักงานในบริษัท กว่า 8,000 รายในชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา ขณะที่หลายฝ่ายเล็งเห็นว่าการกระทำดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่รายนี้ มีแผนใช้สายรัดข้อมือดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ในระบบการทำงานในคลังสินค้า บริเวณกลางแจ้ง และเรือบรรทุกสินค้า โดยอธิบายไว้ในเอกสารสิทธิบัตร ว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดเวลาในการวางสินค้าเข้าคลัง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามาก และเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าอยู่ในจุดที่ถูกต้อง

 

ภาพจำลองการใช้งานสายรัดข้อมือของพนักงาน Amazon

หลักการทำงานของสายรัดข้อมือดังกล่าว คือจะตรวจจับการเคลื่อนที่และตำแหน่งการวางมือของคนงานผ่านคลื่นอัลตราโซนิค ว่าอยู่ในจุดที่ถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าไม่ถูกต้อง ก็จะส่งสัญญาณเตือนผ่านระบบสั่นไหวอัตโนมัติที่ติดตั้งไว้ว่าสินค้าถูกวางอยู่ผิดตำแหน่ง

 

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายที่มองว่าการนำระบบนี้มาใช้นั้นเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพนักงาน และอาจเป็นช่องโหว่ให้ข้อมูลส่วนตัวอื่นๆรั่วไหลออกไป หากระบบถูกเจาะ

“ผู้จ้างกำลังทำให้พนักงานของพวกเขากลายเป็นเหมือนหุ่นยนต์มากขึ้น” ศาสตราจารย์ Lori Andrews จากสถาบันเทคโนโลยี Chicago-Kent College of Law กล่าว และชี้ว่าปัญหาหนึ่งคือการที่พนักงานส่วนใหญ่มองข้ามเรื่องนี้ไป โดยหากว่าบริษัทถูกเจาะข้อมูลแล้ว ข้อมูลต่างๆ ที่เก็บจากพนักงาน ทั้งลักษณะการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมต่างๆ ก็อาจถูกขโมยไปได้ และอาจส่งผลกระทบกับตัวพนักงานในทางใดทางหนึ่ง

“คุณอาจเจอปัญหาในการทำประกันชีวิตขึ้นมาได้ หากพวกเขาพบว่าคุณมีประวัติการซื้อขนมขบเคี้ยวอย่างสม่ำเสมอ”

สำหรับ Amazon ใช้เวลาถึง 2 ปีเพื่อให้สิทธิบัตรการใช้สายรัดข้อมือผ่านการอนุมัติ และพวกเขายืนยันว่าสิ่งนี้ไม่ได้สร้างขึ้นด้วยเจตนาเพื่อตรวจจับพฤติกรรมของพนักงาน แต่เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานและช่วยให้พนักงานมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

 

AHEAD TAKEAWAY

อันที่จริง การใช้สายรัดข้อมือในบริษัทต่างๆ ไม่นับว่าเป็นเรื่องใหม่นัก ที่ผ่านมามีการใช้ Fitbits กับพนักงานของบางที่ เพื่อช่วยในการดูแลขสุขภาพ หรือบริษัทผลิตตู้สินค้าหยอดเหรียญในวิสคอนซิน ก็มีการฝังไมโครชิปลงในตัวพนักงานมาแล้ว เพื่อเป็นตัวรายงานการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในสำนักงาน หรือชำระเงินค่าอาหารในโรงอาหารของบริษัท

ขณะที่ในกรณีสายรัดข้อมือของ Amazon ถูกตีความว่าหมิ่นเหม่ต่อการล้ำเส้นสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป เพราะนั่นหมายถึงการเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของพนักงานระหว่างเวลาทำงานไว้แทบทั้งหมด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัทมากนัก

เนื่องจากที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซก็ถูกโจมตีในเรื่องการใช้งานพนักงานหนักมาโดยตลอด (บางแห่งว่ากันว่าพนักงานในคลังสินค้าต้องทำงานถึง 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) จนส่งผลต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งหากใครไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็จะถูกไล่ออก

ขณะที่พนักงานดีเด่นของบริษัท ก็ถูกเรียกในเชิงเสียดสีว่า Amabots เพราะสามารถทำตัวกลมกลืนเข้ากับระบบได้ราวกับเป็นครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์

 

AHEADER’S THOUGHT

การเก็บข้อมูลบุคคลผ่านอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆนั้น กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง และหนนี้ก็เช่นกัน เพราะในมุมมองของผู้อ่าน AHEAD.ASIA นั้น ข้อมูลทั้งหลายจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้


อ่านเพิ่มเติม

Google แอบเก็บข้อมูลตำแหน่งผู้ใช้งานมือถือ Android แม้ไม่ใส่ซิม

 

เรียบเรียงจาก

Amazon wristbands could track workers’ hand movements: ‘Employers are increasingly treating their employees like robots’

Is Amazon planning to track its employees? Patent is granted for an ultrasonic wristband that can monitor a worker’s movements

Amazon wins a pair of patents for wireless wristbands that track warehouse workers

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

ม.โตเกียวสร้าง Electronic Skin ตรวจจับโรคหัวใจ

Next Article

ปศุสัตว์สหรัฐยื่นเรื่องเปลี่ยนคำเรียก "เนื้อสัตว์เทียม"

Related Posts