Spotify บริการสตรีมมิ่งมิวสิกยักษ์ใหญ่จากสวีเดน ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาแล้ว โดยแม้เรื่องของมูลค่าจะเป็นข้อมูลลับไม่ถูกเปิดเผยโดยบริษัท แต่สื่อคาดว่าการเปิดขายหุ้นสู่สาธารณะ (Initial Public Offering – IPO) ครั้งนี้ มีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ฯ ทีเดียว
แม้จะเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นฟังเพลงยอดนิยมอันดับ 1 ของโลก มียอดผู้ใช้บริการกว่า 159 ล้านราย โดย 7 ล้านรายในนั้นยังเป็นสมาชิกแบบเสียค่าใช้จ่าย ทว่าที่ผ่านมา Spotify กลับต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุนมาตลอด โดยเฉพาะในปี 2017 ที่ขาดทุนย่อยยับถึงราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ด้วยกัน
ปัญหาขาดทุนนับเป็นประเด็นใหญ่ของ Spotify แม้รายได้ของบริษัทเมื่อเทียบกับปี 2016 แล้วจะขยับขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 2.95 พันล้านดอลลาร์ฯ มาเป็น 5 พันล้านดอลลาร์ฯ ก็ตาม
ด้วยปัญหาทางสภาพคล่องดังกล่าว ทำให้ Spotify เลือกระดมทุนผ่านการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยมีทั้ง Goldman Sachs, Morgan Stanley และ Allen & Company เป็นที่ปรึกษา และพวกเขาต้องรอเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนจะต้องทำการ road show ดังนั้นจึงนับว่าเดือน มี.ค. นี้นับเป็นเดือนแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบริษัท
หุ้น IPO ของ Spotify ที่ใช้ชื่อย่อว่า SPOT ถูกคาดหมายว่าจะสามารถทำราคาได้สูงสุดที่ 132.5 ดอลลาร์ ต่อหนึ่งหน่วย ซึ่งก็จะทำให้มูลค่าโดยรวมของบริษัทขยับขึ้นไปอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์์
ทั้งนี้ ปัจจุบัน Spotify มีผู้ถือหุ้นหลักประกอบด้วย ซีอีโอ Daniel Ek ถือครองเป็นจำนวน 25.7%, Tencent 7.5%, Tiger Global 6.9%, Sony Music 5.7% และ Technology Crossover Ventures 5.4%
AHEAD TAKEAWAY
แม้จะเป็นเบอร์ 1 ของแอพพลิเคชั่นสตรีมมิ่งเพลง มีผู้ใช้บริการมากกว่า Apple Music เกินกว่าหนึ่งเท่าตัว แต่ด้วยการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ เช่นค่าลิขสิทธิ์เพลง ก็ทำให้ Spotify ต้องเผชิญปัญหาขาดทุนอยู่แทบทุกปี ปี 2017 ที่ผ่านมาอาการหนักถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ฯ
ฉะนั้น แม้อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ Spotify เต็มใจนัก (เมื่อพวกเขาก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2006 แต่เพิ่งเข้า IPO ปีนี้) แต่การเปิดขายหุ้นสู่สาธารณะก็เป็นทางออกที่ดีสำหรับการระดมทุนเข้าช่วยบริษัท
และยังนับเป็นเรื่องน่าจับตาว่าหลังจากการทำ IPO นี้แล้ว จะส่งผลอย่างไรต่อรูปแบบการบริการและแนวทางของบริษัทมากแค่ไหน
เรียบเรียงจาก
Spotify files for its unusual IPO
Music streaming service Spotify files to go public, lost $1.5 billion last year
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน