Jeff Bezos ยังไม่ละความพยายามในการนำ Amazon บุกตลาดเอเชีย ด้วยการทุ่มเงินกว่า 5,500 ล้านดอลลาร์ ตั้งเป้าขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของอินเดีย ที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนให้ได้ หลังพลาดหวังในการตีตลาดจีนมาแล้วครั้งหนึ่ง
ที่่ผ่านมา Amazon เคยพยายามตีตลาดในเอเชีย โดยพุ่งเป้าไปที่จีนเป็นแห่งแรก แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังยึดมั่นกับเจ้าตลาดอย่าง Alibaba และ JD.com
ขณะที่ อินเดีย ซึ่งเป็นเป้าหมายรองลงมานั้น ก็เริ่มเข้ามาทำธุรกิจตั้งแต่ปี 2012 แล้ว โดยมี Amit Agarwal ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลภาพรวม ซึี่งจนถึงปัจจุบัน ได้มีการลงทุนไปแล้วกว่า 5,500 ล้านดอลลาร์ ในการวางโครงสร้างต่างๆ
ไล่ตั้งแต่ระบบเครดิตสำหรับชาวอินเดียโดยไม่ต้องพึ่งบริการของธนาคาร, สร้างแอพพลิเคชั่นที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับโทรศัพท์มือถือสเป็กต่ำ และระดมสินค้าเข้าสู่คลังออนไลน์นับหมื่นชิ้น
กระนั้น พวกเขาก็ต้องแย่งชิงตลาดกับเจ้าถิ่นอย่าง Flipkart และปัญหาการที่อินเดียเป็นประเทศที่มีชุมชนแยกย่อยหลายแห่ง ซึ่งเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนเข้าไม่ถึง เช่นเดียวกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ ทำให้ Amazon ต้องใช้เวลาศึกษาตลาดอยู่นาน มีการเปิดเผยว่าพวกเขาทุ่มถึง 3 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2017 เพื่อลงทุนกับแนวทางขนส่งสินค้า, การสร้างระบบจ่ายเงินดิจิทัล และสร้างโกดังเก็บสินค้า
“ในโลกตะวันตก ผู้บริโภคจะสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ภายหลังได้รับแค็ตตาล็อกสินค้าออนไลน์” Agarwal กล่าว “แต่ที่อินเดีย เราต้องสร้างทุกอย่างจากรากฐาน และมากกว่าครึ่งของการลงทุนของเรา ใช้ไปกับการสร้างอาคารศูนย์ส่งสินค้า, โกดัง หรืออะไรประเภทนั้น”
Agarwal เผยต่อว่าปัจจุบัน Amazon ของอินเดีย มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการแล้วกว่า 150 ล้านราย และมีสินค้าให้เลือกกว่า 160 ล้านชนิด จากผู้ผลิตกว่า 3 แสนราย และบริษัทยังเดินเครื่องธุรกิจ ด้วยการสร้างศูนย์กระจายสินค้าถึง 41 แห่ง รวมถึงสร้างโปรแกรม ‘I Have Space’ รองรับการสร้างโกดังขนาดเล็ก 17,500 แห่งใน 255 เมืองด้วย
Amazon ยังมีการทำสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์กับร้านค้าปลีกในชุมชน ด้วยการให้พนักงานของร้านเป็นผู้ให้ความรู้ในการช้อปปิ้งออนไลน์แก่บรรดาลูกค้า ทั้งยังช่วยเปรียบเทียบราคาของสินค้าแต่ละชิ้นด้วย
ขณะที่ระบบการจ่ายเงินซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากเครดิตการ์ดไม่เป็นที่นิยมในอินเดียนั้น ก็ปรับปรุงด้วยการให้บริการในหลายรูปแบบ เช่น จ่ายเงินปลายทาง, ทำเครดิต, ผ่อนศูนย์เปอร์เซ็นต์ และในปีที่แล้วก็มีการเปิดตัวกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล Amazon Pay มาให้บริการด้วย
ด้าน Jeff Bezos ก็เสริมว่าการทำธุรกิจของ Amazon ในอินเดีย ณ ปัจจุบัน ยังนับเป็น “ก้าวแรก” เท่านั้น และ “เราจะอยู่ที่นี่ไปอีกเป็นร้อยปี”
AHEAD TAKEAWAY
แม้จะเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐอย่างเต็มรูปแบบ (มูลค่าซื้อขายของ Amazon ในปี 2016 เพียงรายเดียว สูงกว่าค้าปลีกแบบดั้งเดิมรวมกันด้วยซ้ำ) แต่การจะบุกตลาดในอีกซีกโลก ไม่ใช่เรื่องง่าย
สิบปีที่แล้ว Amazon เข้าเทกโอเวอร์กิจการของ joyo.com และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Amazon.cn แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่อาจชิงส่วนแบ่งตลาดในจีนได้ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้น ก็ไม่ต่างจากยักษ์ใหญ่ในโลกตะวันตกอื่นๆ เช่น Uber ที่ก้าวข้ามกำแพงเจ้าถิ่นไม่สำเร็จ
ทางเลือกถัดมา คือการมองหาตลาดอื่นๆ เช่นใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประชากรราว 600 ล้านคน (เมื่อ Amazon รุกคืบ SEA)
หรือตลาดใหญ่อันดับสอง รองจากจีน อย่าง อินเดีย ซึ่งเทียบกันแล้ว น่าจะมีปัญหาเรื่องการกีดกันทางการค้าน้อยกว่า เห็นได้จากการที่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่าง Facebook (WhatsApp เปิดตัวระบบจ่ายเงิน P2P ในอินเดีย) Grab (Grab ฮุบสตาร์ทอัพอินเดีย เสริมระบบชำระเงิน) หรือ IBM (อินเดีย: บ้านหลังที่สองของ IBM) เข้าไปบุกเบิกตลาดในช่วงที่ผ่านมา
แม้อาจเป็นเรื่องไม่ง่าย เมื่อการช็อปปิ้งออนไลน์ ชีวิตที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่ง ยังเป็นเรื่องเข้าถึงยากในหลายพื้นที่ของอินเดีย แต่ Amazon ก็เตรียมตัวมาดี มียุทธศาสตร์หลายอย่างมารองรับ
แม้จะยังคาดเดายากว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่หลังทุ่มทุนไปแล้วกว่า 5.5 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่หากตีตลาดได้ตามที่คาดหวังขึ้นมา ก็มีแต่ได้กับได้
หากทำสำเร็จ การคาดการณ์ที่ว่า Amazon จะกลายเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีมูลค่าทะลุหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในอนาคตอันใกล้ ก็คงไม่ไกลเกินความจริง
เรียบเรียงจาก
After losing China, Jeff Bezos really wants to win in India
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน