Media Fun Facts ขับเคลื่อนภาคีรับมือข่าวลวงโลกออนไลน์

โครงการ “ศสป.” เดินหน้าร่วมขับเคลื่อนภาคีพันธมิตร จัด Workshop เชิงปฏิบัติการระบบป้องปรามสื่อร้าย-ขยายสื่อดีในโลกออนไลน์ Media fun facts มุ่งหวังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางยุคดิจิทัลให้ประชาชนรู้ทันและรับมือข่าวปลอม

 

ขับเคลื่อนภาคีสร้างภูมิคุ้มกันต้านข่าวปลอม

ที่ห้องประชุม Big co-working space ถนนพระราม 9 กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โครงการเครือข่ายศูนย์รับแจ้งและติดตามผ่านช่องทางระบบสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เพื่อการส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์และป้องปรามสื่อที่ไม่ปลอดภัย (ศสป.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดกิจกรรม Workshop เชิงปฏิบัติการเครือข่ายภาคี ผ่านเครื่องมือ ‘Media Fun Facts ป้องปรามสื่อร้าย ขยายสื่อดี’ โดยมี นาย อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมบรรยายในประเด็น “รู้ทันและรับมือกับข่าวปลอมในโลกออนไลน์”

พร้อมด้วยตัวแทนจากภาคีเครือข่ายร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเรียนรู้ใช้งานระบบปฏิบัติการป้องปรามสื่อร้าย ขยายสื่อดี Media Fun Facts โดยมีภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชนที่เข้าร่วมใช้ระบบและแลกเปลี่ยนความเห็น อาทิ ผู้แทนจากเครือข่ายปฏิรูปนักศึกษา, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, องค์กรเครือข่ายพัฒนาสิทธเด็กและการปกป้องคุ้มครองเด็กภาคเหนือ (OCN), มูลนิธิชุมชนไท, สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, เว็บข่าวนวัตกรรมดิจิทัล Ahead Asia, สำนักข่าว CRI ประจำประเทศไทย เป็นต้น

 

 

นายอดิศักดิ์ ผู้รู้ในวงการสื่อและปัจจุบันก่อตั้งแพลตฟอร์มข่าวภูมิภาคออนไลน์ 77kaoded.com กล่าวว่า ข่าวทุกวันนี้มีความแตกต่างจากในอดีต เนื่องจากในอดีตจะเป็นการส่งสารแบบทางเดียว ไม่มีความซับซ้อน ขณะที่ข่าวในปัจจุบันมีการสื่อสารหลากหลายช่องทาง และย้อนกลับไปมา ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ ส่งผลให้ไม่มีคนร้องเรียนสื่อฯ เพื่อตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนออกสู่สังคม

“ความจริงแล้วการสร้างระบบจัดการหรือตรวจสอบข้อมูลข่าวสารยังเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งทุกวันนี้ได้มีข่าวปลอมออกมาเพื่อหวังผลประโยชน์ โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับอาหารเสริมและสุขภาพ พบว่าผู้ผลิตบางรายตั้งใจปล่อยข่าวออกมาเพื่อหวังขายผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้ที่หวังดีคิดว่าเป็นเรื่องจริงจึงเกิดการส่งต่อข้อมูลกันออกไป เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายต่อสังคมไม่น้อย และที่สำคัญข้อมูลเหล่านี้ไม่มีผู้ทำหน้าที่เช็กความถูกต้องว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่”

“การทำโครงการและระบบ Media fun facts ขึ้นมา เพื่อช่วยกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร โดยสมาชิกภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน จึงถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก เพราะปัจจุบัน การที่จะจัดการ หรือแก้ไขปัญหาข่าวปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีการร่วมมือกัน หากพบข่าวปลอมจะต้องมีการแจ้งและหยุดแชร์ต่อ ในขณะเดียวกันก็มีการตรวจสอบว่าข่าวใดที่มีประโยชน์ และเป็นข่าวจริง ก็ต้องช่วยกันแชร์ต่อ เพื่อเพิ่มจำนวนของข้อมูลที่ดีในระบบ”

“ทางฝ่ายรัฐเองก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือในด้านงบประมาณ หรือทางด้านนโยบายต่าง ๆ ที่สามารถสร้างชลประทานทางข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลใดไม่ดีต้องถูกระบายออก ให้ข้อมูลที่ถูกต้องสามารถไหลเวียนได้ในทิศทางที่ถูกต้อง อาจจะต้องมีการเพิ่มบทลงโทษ หรือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์แก่สังคมให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้คนทราบข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำต่าง ๆ ในคอมพิวเตอร์น้อยมาก” นายอดิศักดิ์ กล่าว

 

ต้องสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน

 

 

น.ส.อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ประธานเครือข่ายปฏิรูปนักศึกษา หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม กล่าวแลกเปลี่ยนมุมมองว่า ทุกวันนี้องค์ความรู้ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ภูมิทัศน์สื่อก็เปลี่ยนแปลงไป ใครก็สามารถเป็นสื่อได้จากมือถือที่อยู่ในมือ

ดังนั้น สิ่งที่สามารถเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาข่าวปลอมได้ดีที่สุด นอกเหนือจากเครื่องมือที่ใช้กลั่นกรองอย่างระบบ media fun facts แล้ว คือ การสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้คนให้สามารถใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ หากนำทั้งสองอย่างมาใช้ควบคู่กันจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการคัดกรองข้อมูล

อีกประเด็นที่จะต้องพิจารณาได้แก่เครื่องมือที่เป็นตัวกลั่นกรองว่าอะไรดีหรือไม่ดี เราอาจต้องมองย้อนกลับไปว่าใครเป็นผู้นิยามคำว่าร้ายหรือดี เพราะการสร้างตัวกลั่นกรองข้อมูลควรผ่านการคิด หรือความคิดเห็นจากคนหลายภาคส่วนร่วมกัน เพื่อนิยามว่าสิ่งไหนดีหรือสิ่งไหนร้าย ซึ่งจะเป็นทางที่ดีที่สุดในการตรวจสอบข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากในโลกออนไลน์ปัจจุบัน

แนะเผยแพร่ชุดความรู้สกัดข้อผิดพลาด

 
น.ส.ณัชวลัย สุวรรณฑัต ตัวแทนจากมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เสนอว่าควรเพิ่มการสร้างฐานข้อมูลความเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพที่มักจะมีการแชร์ต่อในเรื่องซ้ำ ๆ ตามฤดูกาล จึงควรมีชุดความรู้ที่ถูกต้องเผยแพร่ออกไปก่อนที่ข้อมูลผิด ๆ จะถูกแชร์ออกไปเป็นวงกว้าง หรือให้ผู้เชี่ยวชาญ แพทยสภา ออกมาให้ความรู้ที่ถูกต้อง
ไม่ใช่ว่ามีข่าวลวงออกมาแล้วค่อยมาตามแก้ทีหลัง เพราะอาจไม่ทันการ เนื่องจากประชาชนได้เชื่อข้อมูลลวงเหล่านั้นไปเสียแล้ว อีกทั้งอยากให้มีเครื่องมือหรือวิธีการใดก็ได้ ที่จะทำให้เยาวชนหรือประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะด้าน สามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดจริงหรือลวง เนื่องจากแต่ละคนมีความเชื่อและวิจารณญาณไม่เท่ากัน

ย่อยความรู้ด้านกฎหมายให้เข้าใจง่าย

 

นายพิชิต ไพศาลโอภาส จาก มูลนิธิชุมชนไท แสดงความเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่จะสามารถทำให้ประชาชนแยกแยะได้ว่าข้อมูลใด จริงหรือลวงนั้น คือ การให้ความรู้ด้านกฎหมาย เรื่องสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายคอมพิวเตอร์ โดยผ่านช่องทางภาคีเครือข่ายภาคีมาช่วยเผยแพร่ข้อมูล หรือนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟฟิกเพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย
ระบบ media fun facts ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยตรวจสอบว่าข้อมูลใดจริงหรือลวง เมื่อทดลองใช้แล้วถือว่าง่ายเพียงแค่แจ้งผ่านระบบเข้ามา จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะไปตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป พร้อมเสนอทางโครงการฯ ให้เพิ่มช่องทางผ่านแอปพลิเคชั่น รวมถึงใช้การตลาดเข้ามาเสริม เพื่อให้เครื่องมือเหล่านี้เข้าถึงประชาชนได้ทุกระดับมากที่สุด นอกจากนี้ หากได้รับความร่วมมือจากค่ายมือถือต่าง ๆ ในการส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชน กรณีพบข้อมูลที่ร้ายแรงก็จะเป็นการดี รวมถึงควรเพิ่มช่องทางกลุ่มไลน์สำหรับภาคีเครือข่ายที่จะมาร่วมกันตรวจสอบด้วย

 

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

 

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

Stephen Hawking เสียชีวิตแล้วในวัย 76

Next Article

ฝรั่งเศสจ่อฟ้อง Google, Apple ข้อหาทำสัญญามัดมือชกสตาร์ทอัพ

Related Posts