Google Maps ไม่ละเลยผู้พิการ ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ Wheelchair Accessible เพื่อช่วยระบุเส้นทางการใช้รถโดยสารสาธารณะ พร้อมระบุตำแหน่งที่ตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกตามสถานีต่างๆ สำหรับผู้ใช้งานวีลแชร์ และรถเข็นเด็ก โดยเฉพาะแล้ว
ฟีเจอร์ดังกล่าวนั้น ใช้งานในลักษณะเดียวกับการใช้ Google Maps สำหรับการเดินทางทั่วไป โดยผู้ใช้งานวีลแชร์ หรือครอบครัวที่มีรถเข็นเด็ก ซึ่งต้องเดินทางโดยรถสาธารณะ เพียงเลือกปลายทาง จากนั้นจึงค่อยกดคำสั่ง options และเลือก Wheelchair Accessible เพื่อเช็กว่าเส้นทางที่ใช้นั้น บริเวณใดบ้างที่มีการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวก
Google ระบุว่าได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานจราจรท้องถิ่น เพื่อให้ได้ข้อมูลแม่นยำที่สุดสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ พร้อมกล่าวว่าออปชั่นนี้จะสามารถช่วยเหลือผู้พิการทั่วโลกได้ในหลักล้านราย ให้เข้าถึงการเดินทางสาธารณะได้ง่ายกว่าเดิม
Google จะเปิดให้บริการใน 6 เมืองใหญ่ ประกอบด้วย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, นิวยอร์ค กับ บอสตัน สหรัฐอเมริกา, โตเกียว ในญี่ปุ่น, เม็กซิโก ซิตี้ ของเม็กซิโก และซิดนี่ย์ ในออสเตรเลีย จากนั้นจะทยอยเพิ่มเติมเส้นทางของเมืองอื่นๆต่อไป
Rio Akasaka ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Google Maps แถลงว่า “Google Maps สร้างขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถออกเดินทางได้ทั่วโลก เข้าถึงเส้นทางที่ถูกต้อง ทั้งการใช้รถยนต์, จักรยาน และการเดินเท้า แต่ในใจกลางเมืองหลายแห่ง บริการรถสาธารณะอย่างรถบัสหรือรถไฟคือเป็นวิธีที่ดีที่สุดของการเดินทาง และนั่นทำให้เกิดความท้าทายของผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์หรือรถเข็นลักษณะต่างๆ”
“ที่ผ่านมา ข้อมูลเกี่ยวกับสถานีหรือเส้นทางสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ อาจไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายนัก และเพื่อการทำให้การโดยสารรถสาธารณะเป็นเรื่องของทุกคนอย่างแท้จริง วันนี้เราจึงอยากนำเสนอระบบ Wheelchair Accessible เพื่อช่วยให้ผู้ใช้รถเข็นสามารถเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น”
AHEAD TAKEAWAY
สิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณะสำหรับผู้พิการ เป็นเรื่องที่หลายประเทศไม่ละเลย โดยเฉพาะการออกแบบทางเท้าและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรถเข็น อาทิ barrier-free หรือ wheelchair accessible
อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ ก็ยังมีช่องว่างอยู่ เช่นการปราศจากเทคโนโลยีที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกผู้ใช้งานรถเข็นและวีลแชร์ในการเดินทาง
Google Maps เพื่อให้คนกลุ่มนี้ สามารถใช้บริการรถสาธารณะได้สะดวกขึ้น จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่จะมีการพัฒนาต่อไปในอนาคต
เมื่อมองย้อนกลับมาที่บ้านเรา เรื่องเหล่านี้ ก็ดูเหมือนจะยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบจากผู้เกี่ยวข้อง
อย่าว่าแต่แอพพลิเคชั่นบอกตำแหน่ง – เพราะแม้แต่สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนกลุ่มนี้ ยังไม่พร้อมด้วยซ้ำ
นับจากปี 2538 ที่กลุ่มคนพิการรวมตัวร้องเรียนให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับ BTS หรือสี่ปีก่อนการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
กว่าที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาให้ กทม. และ BTS “ต้อง” ติดตั้งลิฟต์และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับผู้พิการนั้น ก็กินเวลานานถึง 20 ปีด้วยกัน
สามปีผ่านไปจนถึงปัจจุบัน แม้จะเป็นผู้ชนะในชั้นศาล กลุ่มคนพิการก็ยังคงต้องรอให้ลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวก ติดตั้งจนครบตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาไว้ต่อไปโดยไม่มีการระบุชัดเจนว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่
จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ จึงต้อง “ทุบ” ประตูกระจกสถานีอโศก เพื่อให้โลกรู้
เรียบเรียงจาก
Google adds wheelchair accessibility info to transit maps
Introducing “wheelchair accessible” routes in transit navigation
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน