เริ่มต้นและปิดฉากไปแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำหรับ XXIII Olympic Winter Games ‘พย็องชัง 2018’ มหกรรมกีฬาฤดูหนาวของมวลมนุษยชาติ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จด้วยดี สร้างความประทับใจให้กับแทบทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
หลากหลายประเด็นซึ่งเป็นที่จับตา สามารถผ่านไปได้โดยไร้ข้อขัดแย้งกวนใจ นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งยวดของทั้งเจ้าภาพและ IOC
ในมุมของความก้าวหน้า ‘พย็องชัง 2018’ ยังถูกขนานนามว่าเป็น ‘หลักหมุดแห่งเทคโนโลยี’ เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งของโลกและของเกาหลีใต้หลายต่อหลายเจ้า ระดมกันงัดเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการแข่งขัน
และนั่นทำให้เราต้องบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการ ที่นี่ ตรงนี้…
กว่าจะเป็น ‘พย็องชัง 2018’

ด้วยความที่เป็น ‘เมืองหนาว’ ตั้งอยู่ในเขตภูเขาแทแบ็ก (Taebaek Mountains) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาหลีใต้ อุณหภูมิเฉลี่ยเพียง 7-8 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี และยังมีฤดูหนาวอยู่ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. ของทุกปี ทำให้ Pyeongchang County อำเภอแห่งจังหวัดคังว็อน (Gangwon-do) มั่นใจว่าตัวเอง ‘มีดี’ มากพอจะเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูหนาวได้
พย็องชัง เคยยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ อลป. ฤดูหนาวมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน เริ่มต้นในปี 2010 ต่อด้วย 2014 ซึ่งพ่ายแพ้ให้แก่ แวนคูเวอร์, แคนาดา และ โซชี, รัสเซีย ตามลำดับในการลงคะแนนรอบสุดท้าย ก่อนจะมาประสบความสำเร็จได้รับเลือกเอาในหนล่าสุดนี้ โกยคะแนนโหวต 63 เสียง เอาชนะ มิวนิค, เยอรมนี (25 เสียง) และ อันซี, ฝรั่งเศส (7 เสียง) คว้าสิทธิ์เป็นเจ้าภาพไปครองในพิธีการเมื่อปี 2011
ในหน้าประวัติศาสตร์โอลิมปิกฤดูหนาว 23 ครั้ง พย็องชัง ถือเป็นชาติในทวีปเอเชียแห่งที่ 3 เท่านั้นที่ได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพ ถัดจาก ซัปโปโร, ญี่ปุ่น ในปี 1972 และ นางาโนะ, ญี่ปุ่น ปี 1998 ซึ่งหนก่อนที่นางาโนะ ก็ทิ้งช่วงนานถึง 20 ปีด้วยกัน
การได้รับเลือกจาก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ตั้งแต่ปี 2011 มาแล้ว ทำให้ พย็องชัง มีเวลาเตรียมความพร้อมนานถึง 7 ปี ภายใต้การผลักดันจาก Kim Jin-sun อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดคังว็อน หมู่บ้านนักกีฬาก็ถูกสร้างขึ้นทัน ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2012 จนได้รับคำชมจากบอร์ด IOC ถึงความคืบหน้าที่ดีเยี่ยม เช่นเดียวกับตอนกลางปีเดียวกันนั้นที่มีการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมต่อระหว่างพย็องชังกับกรุงโซลด้วย
อีกสิ่งสำคัญที่ฝ่ายจัดฯไม่พลาด คือการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ และโปรโมต ‘พย็องชัง 2018’ ให้ประชาชนทั้งประเทศได้ตื่นตัวเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ จนเป็นที่มาของโครงการ ‘PyeongChang WINNERS’ เมื่อปี 2014 รวบรวมบรรดานักศึกษาแดนโสมขาว เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร, บทความ, คลิปวิดีโอ ผ่านสื่อต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงเว็บไซต์ทางการของพย็องชัง 2018 เอง
สำหรับสนามแข่งขัน พย็องชัง ได้วางเอาไว้แบบ 2+3 นั่นคือสนามแข่งขันหลัก 2 แห่ง คือ Alpensia Sports Park ศูนย์แข่งกีฬากลางแจ้ง และ Gangneung Olympic Park ศูนย์แข่งกีฬาในร่ม
ส่วนสนามแบบ Stand-alone อีก 3 แห่ง ได้แก่ Bogwang Snow Park, Jeongseon Alpine Centre และ Kwandong Hockey Centre ใช้แข่งกีฬาเฉพาะเช่นสกี, สโนว์บอร์ด หรือฮ็อกกี้น้ำแข็ง
หนึ่งในสัญญาณที่บอกว่า ‘พย็องชัง 2018’ จะเป็นมหกรรมกีฬาแห่งความล้ำยุค ก็คือขั้นตอนการวิ่งคบเพลิงเป็นเวลา 101 วันทั่วประเทศเกาหลีใต้ ช่วงเดือน ธ.ค. 2017 ที่ปรากฏว่าเจ้าภาพใช้ ‘หุ่นยนต์’ มาเป็นหนึ่งในผู้วิ่งคบเพลิงโอลิมปิกครั้งนี้ด้วย
Hubo หุ่นยนต์จาก Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) ในแทจ็อน คือหุ่นยนต์ที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของโอลิมปิก ด้วยการเป็นหุ่นรูปร่างเสมือนมนุษย์ตัวแรกที่ได้วิ่งคบเพลิง เป็นระยะ 150 เมตร ก่อนจะใช้ ‘มือสว่าน’ เจาะกำแพงส่งคบเพลิงผ่านช่องไปยังมนุษย์ — โดยนัยคือก้าวข้ามกำแพงสำคัญของมวลมนุษยชาติ
“โพรมิธิอุสเคยมอบไฟให้มนุษย์ บัดนี้คือยามที่มนุษย์มอบไฟให้หุ่นยนต์บ้างแล้ว”
แข่งอะไรกัน

92 ประเทศเข้าร่วม ใช้เวลาโรมรัน 2 สัปดาห์ ใน 102 ประเภทของ 15 ชนิดกีฬา ทำให้เป็นครั้งแรกที่โอลิมปิกฤดูหนาวมีการชิงเหรียญทองมากกว่า 100 เหรียญ ซึ่งประกอบด้วย
• สกีอัลไพน์ (ชิง 11 เหรียญทอง)
• ทวิกีฬาฤดูหนาว สกีครอสคันทรี-ยิงปืนไรเฟิล (11)
• รถเลื่อนหิมะบอบสเล (3)
• สกีครอสคันทรี (12)
• เคอร์ลิง (3)
• ฟิกเกอร์สเก็ต (5)
• สกีฟรีสไตล์ (10)
• ฮ็อกกี้น้ำแข็ง (2)
• รถเลื่อนหิมะ ลูจ (4)
• สกีครอสคันทรี-สกีกระโดด (3)
• สเก็ตลู่สั้น (8)
• เลื่อนน้ำแข็ง (2)
• สกีกระโดด (4)
• สโนว์บอร์ด (10)
• สปีดสเกตติ้ง (14)
สำหรับนักกีฬาทีมชาติไทย ได้สิทธิ์เข้าร่วมชิงชัยเป็นจำนวน 4 คน
1) มาร์ค (มรรค) จันเหลือง สกีครอสคันทรีชาย
2) คาเรน จันเหลือง สกีครอสคันทรีหญิง
3) นิโคลา ซาโนน สกีอัลไพน์ชาย
และ 4) อเล็กเซียร์ อาริสรา เซนเคล สกีอัลไพน์หญิง
ส่วนชาติที่มีนักกีฬาเข้าแข่งขันมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น มีมากถึง 124 คน ซึ่งนับว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโอลิมปิกฤดูหนาว ขณะที่นักกีฬาจากรัสเซียถูกแบนจาก IOC ด้วยข้อกล่าวหาว่ารัฐให้การสนับสนุนนักกีฬาใช้สารกระตุ้น ทำให้ไม่สามารถลงแข่งในนาม ‘ทีมชาติรัสเซีย’ ได้ แม้จะเปิดให้ลงแข่งในฐานะ ‘นักกีฬาโอลิมปิกจากรัสเซีย’ (Olympic Athletes from Russia) ก็ยังจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดอย่างเข้มงวด
ที่เป็นประเด็นถูกจับตาจากทั่วโลก คือท่าทีของ ‘เกาหลีเหนือ’ ว่าจะเป็นอย่างไรในสถานการณ์ทางการเมืองที่ล่อแหลม
ผลออกมากลายเป็นภาพน่าประทับใจ เมื่อท่านผู้นำ Kim Jong-un ตอบรับคำเชิญจาก Do Jong-hwan รัฐมนตรีกีฬาเกาหลีใต้ ด้วยการเปิดไฟเขียวให้นักกีฬาเกาหลีเหนือเข้า ‘รวมทีม’ กับทางฝั่งนักกีฬาเกาหลีใต้ ลงแข่งฮ็อกกี้น้ำแข็งประเภทหญิงในฐานะทีมเดียวกัน (รวมไปถึงยังมีนักกีฬาเกาหลีเหนือประเภทต่างๆ เข้าร่วมแข่งขันอีก 10 คน)
ที่สำคัญ ในพิธีเปิดการแข่งขันเมื่อ 9 ก.พ. ยังถือเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งด้วย เมื่อสองเกาหลีเดินเข้าสู่สนามด้วยธงรวมชาติ ‘ประเทศเกาหลี’ Korean Unification Flag ไม่ได้แบ่งแยกเป็นเกาหลีเหนือหรือเกาหลีใต้แต่อย่างใด
เป็นอีกครั้งที่กีฬาช่วยลดความขัดแย้ง สานสัมพันธ์สองประเทศบ้านพี่เมืองน้องที่แตกหักกันมานาน
ผู้ชนะแห่งพย็องชัง

คงพูดได้ว่าถ้าไม่มี อลป. งวดนี้ ภาพของการปรองดอง Korea United ก็ไม่รู้จะเกิดขึ้นได้ที่ไหนเมื่อไหร่
ไม่สำคัญไปกว่าการเข้าร่วม – ฮ็อกกี้น้ำแข็งทีมหญิงเกาหลี (ที่มีนักกีฬาเกาหลีใต้ 23 คน, เกาหลีเหนือ 12 คน) ลงแข่ง 5 นัดตลอดรายการ… และแพ้มันทั้ง 5 เกม
รอบแรก แพ้สวิตเซอร์แลนด์ 0-8, แพ้สวีเดน 0-8 และแพ้ญี่ปุ่น 1-4 จากนั้นรอบจัดอันดับ 5-8 พวกเธอแพ้สวิตเซอร์แลนด์ 0-2 และสุดท้าย นัดชิงอันดับเจ็ด ก็แพ้สวีเดน 1-6
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลการแข่งขันจะออกมาไม่ดี เมื่อสองเงาเกาหลีเพิ่งจะได้มารวมตัวกันซ้อมก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่มต้นได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ (ประกาศยืนยันการรวมทีมเมื่อ 20 ม.ค.) เท่านั้น และถึงแม้จะแพ้ในทุกเกม เสียงปรบมือและการ Standing Ovation ให้พวกเธอก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องนับ ‘ทีมเชียร์พิเศษ’ ที่ทางการเกาหลีเหนือส่งมายึดพื้นที่บนอัฒจันทร์แต่อย่างใด
“เราอาจทำผลงานได้ไม่ดี แต่ที่ทำให้ฉันประทับใจคือความสัมพันธ์ที่มีภายในทีมของเรา” Sarah Murray โค้ชของทีมฮ็อกกี้เกาหลี (ชาวเกาหลีใต้เชื้อสายอเมริกัน) กล่าว “หลังจากการซ้อมมื้อสุดท้าย นักกีฬาของเรา 8 คนจากฝั่งเหนือ กับอีก 5 คนจากฝั่งใต้ โผเข้ากอดกันและถ่ายรูปด้วยกัน กีฬาทำลายกำแพงทุกอย่างลง”
แพ้รวด ไม่ได้เหรียญจากโอลิมปิก แต่ก็มีข่าวตามมาภายหลังว่าพวกเธออาจจะถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Nobel สาขาสันติภาพในปีนี้!
นอกจากนั้น ก็ยังมีสิทธิ์ที่สองเงาเกาหลีจะได้รวมทีมกันต่อใน อลป. ฤดูหนาวครั้งหน้า ‘ปักกิ่ง 2022’ ด้วย “เราควรให้พวกเขาไปต่อหรือเปล่า และผมคิดว่า ทำไมจะไม่ได้ล่ะ?” Rene Fasel ประธานสหพันธ์ฮ็อกกี้น้ำแข็งนานาชาติ (International Ice Hockey Federation’s – IIHF) เผย “ผมคิดว่ามันจะเป็นเรื่องดีเลยที่จะรักษาความเป็นทีมเกาหลีเอาไว้ต่อในโอลิมปิกที่ปักกิ่ง ปี 2022 สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณของสันติภาพ และเราหวังว่ามันจะคงอยู่ต่อไป”
ด้านบทสรุปผู้ชนะ ‘เจ้าเหรียญทอง’ แห่งพย็องชัง 2018 ผลเป็น นอร์เวย์ เฉือนชนะ เยอรมนี เพียงปลายก้อย
ทั้ง นอร์เวย์ และ เยอรมนี ต่างก็โกยเหรียญทองไปได้เท่ากัน 14 เหรียญ ดังนั้นการตัดสินก็คือจำนวนเหรียญพระรองที่ตามมา ซึ่งปรากฏว่า นอร์เวย์ ได้ทั้งเหรียญเงินและทองแดงมากกว่า รวมทั้งหมดเป็น 39:31 จึงเป็นอันว่านอร์เวย์ขึ้นเท่นหมายเลข 1 ของ อลป. ฤดูหนาวหนนี้ (และเป็นการสานต่อความยอดเยี่ยมได้จากครั้งก่อนที่โซชี ซึ่งพวกเขาเป็นเบอร์ 2 รองจากเจ้าภาพรัสเซียเท่านั้น)
นอร์เวย์เป็นเจ้าเหรียญทอง ตามด้วย เยอรมนี, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา, ฮอลแลนด์, สวีเดน ส่วนเจ้าภาพ เกาหลีใต้ ก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ กวาดไป 5 เหรียญทอง, 8 เหรียญเงิน, 4 เหรียญทองแดง เข้าป้ายมาเป็นอันดับ 7 ของรายการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อกวาดตามองโดยรอบแล้ว บางที ‘ผู้ชนะแห่งพย็องชัง’ ก็อาจไม่ใช่ทั้งตัวแทนนักกีฬาทีมหนึ่งทีมใด ไม่ใช่ประเทศหนึ่งประเทศใด และไม่ใช่ทั้งเจ้าภาพ
แต่คือชัยชนะของ ‘เทคโนโลยี’ ล้ำยุคล้ำสมัย ที่ถูกประโคมเข้าอวดสายตาชาวโลกโดยพร้อมเพรียงกัน นั่นต่างหาก
มหกรรมกีฬาสุดล้ำ

ถัดจากการวิ่งคบเพลิงของหุ่นยนต์ Hubo แล้ว ก็ถึง Showcase ของพิธีเปิดการแข่งขัน พย็องชัง 2018 อย่างเป็นทางการ ในวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. ณ Pyeongchang Olympic Stadium
นอกจากการเดินขบวนของนักกีฬา 92 ชาติ (91 ขบวน – ขบวนสุดท้ายคือเกาหลีเหนือรวมเกาหลีใต้), การเปิดเพลงฮิตต่างๆ เช่น Gangnam Style (Psy), Likey (Twice), Fantastic Baby (Big Bang), DNA (BTS), Red Flavor (Red Velvet) ประกอบ และการเปลือยท่อนบนโชว์กล้ามล่ำไม่หวั่นลมหนาวของผู้นำขบวนนักกีฬาตองก้าแล้ว ก็ยังมีไฮไลท์ที่การโชว์ขึ้นบิน ‘โดรน’ ครั้งประวัติศาสตร์ 1,218 ตัว
โดรน Shooting Star ของ Intel ที่เคยขึั้นแสดงในช่วงฮาล์ฟไทม์โชว์ของ Super Bowl มาแล้ว จำนวน 1,218 ตัว ขึ้นบินพร้อมกันและมีการแปรขบวนจากไฟ LED ที่ติดตั้งบนตัวโดรน ออกมาเป็นภาพต่างๆ เช่นนก, นักสโนว์บอร์ด, สัญลักษณ์ 5 ห่วงโอลิมปิก
เสียอย่างเดียว… ในสนามไม่ได้มีการโชว์โครนบินแต่อย่างใด ที่จะเห็นก็เพียงผู้ชมทางบ้าน เป็นการบันทึกเทปช่วงซ้อมนำมาเปิดผ่านการถ่ายทอดสดเพียงเท่านั้น แผนที่จะนำขึ้นบินโชว์ในระหว่างพิธีเปิดจริงถูกระงับไปโดยฝ่ายจัดฯ ในแทบจะวินาทีสุดท้าย
แม้จะมีการเปิดเผยสาเหตุที่ระงับการโชว์สดว่าเป็นพราะหวั่นเกรงถึงความปลอดภัยของผู้ชมในสนาม (ว่าโดรนบางตัวอาจตกหล่นขึ้นมา ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวจัด -11 องศาฯ) แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าคำสั่งระงับที่ว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับ ‘Cyber Attack’ ที่พวกเขาโดนเข้าจังๆ ในวันเปิดการแข่งขันนั่นเอง
เพราะกันไว้ดีกว่าแก้ – Cyber Attack ซึ่งไม่ทราบที่มา (ลือว่าเป็นรัสเซีย ตอบโต้คำสั่งแบนนักกีฬาของพวกเขา) ปล่อยมัลแวร์ ‘Olympic Destroyer’ เข้าสู่ระบบของฝ่ายจัดฯ จนเว็บไซต์ทางการของพย็องชัง 2018 ล่มลง, ผู้ชมไม่สามารถเข้าถึงบัญชีที่ลงทะเบียนไว้ได้, ไม่สามารถดาวน์โหลดตั๋วเข้าชมเกมเพื่อปรินท์ได้, สัญญานอินเทอร์เน็ตไวไฟมีปัญหา ระบบถ่ายทอดของโทรทัศน์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
Olympic Destroyer ทำให้ฝ่ายจัดต้องใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมงเพื่อปราบปราม นำระบบกลับมาใช้งานได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง และโชคดีที่ความเสียหายไม่มากมายนัก ไม่มีข้อมูลใดที่ถูกขโมยไป การโจมตีครั้งนี้เพียงเพื่อ ‘ป่วนงาน’ เท่านั้น
พิธีเปิดผ่านพ้นไปด้วยดี Cyber Attack ก็ถูกจัดการระงับความเสียหายได้เป็นผลสำเร็จ แล้วถัดจากนั้นก็คือ Showcase นวัตกรรมความไฮเทคทั้งหลายแหล่ ตลอดทัวร์นาเมนต์ระยะ 17 วัน ดังนี้
• เจ้าภาพใช้หุ่นยนต์ 85 ตัว เข้าเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร เช่นงานตอบคำถามให้ข้อมูลที่ได้ถึง 4 ภาษาคือ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น และอังกฤษ
• หุ่นยนต์จำนวนหนึ่งจาก LG ติดตั้งที่สนามบินอินชอน กรุงโซล ให้บริการข้อมูลการเดินทางและสแกนบอร์ดดิ้งพาส สามารถสื่อสารได้หลากหลายภาษาเช่นกัน และส่วนหนึ่งเป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาด
• รถไฟความเร็วสูงที่สร้างเสร็จช่วงปลายปี 2017 สามารถนำพาผู้คนเดินทางจากกรุงโซลไปสู่พย็องชังด้วยเวลาเพียง 69 นาที (จะใช้เวลา 3 ชั่วโมงถ้าเดินทางด้วยรถยนต์) ที่ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
• Alibaba Group ใช้ระบบประมวลผล Cloud Computing เข้าเป็นระบบปฏิบัติการหลักในการดูแลและจัดการสิ่งต่างๆ ของทัวร์นาเมนต์ มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่ Gangneung Olympic Park เพื่อใช้ Big Data ไปกับทั้งการจัดการแข่งขัน, นักกีฬา และผู้เข้าร่วมชม, บริการ SmartPass ระบบลงทะเบียนอัจฉริยะ เพื่อการเข้าถึงข้อมูลการแข่งขัน แผนที่การเดินทางและพยากรณ์อากาศ, ใช้เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยและรับมือกับฝูงชน, ใช้ Deep Machine Learning สำหรับนักกีฬาในการฝึกซ้อม ช่วยในเรื่องการนอนหลับ โภชนาการ หรืออื่นๆ, เก็บข้อมูลและถ่ายทอดข้อมูลการแข่งขัน ไปจนถึงการคำนวณเพื่อกำหนดพิกัดสนามแข่งขันในขั้นตอนเตรียมความพร้อมของเจ้าภาพ
• Intel ร่วมกับ KT ผู้ให้บริการสื่อสารของเกาหลีใต้ เปิดใช้ระบบเครือข่าย 5G โดยทางฝั่ง Intel มีการนำเสนอแนวทางการรับชมการแข่งขันด้วยวิธีใหม่ เช่นการตั้งซุ้มถ่ายทอดสดสกีครอสคันทรีด้วย 5G, บริการถ่ายทอดสดสตรีมมิ่งความเร็วสูง (Super-Fast Video Streaming) และมีการใช้ความละเอียดสูงถึง 4K และ 8K
• เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับจาก Hyundai เปิดให้ผู้คนได้ทดสอบการใช้รถรุ่น Nexo SUV ภายหลังผ่านการทดลองเป็นระยะยาวและใช้เวลาหลายชั่วโมงบนถนนสาธารณะด้วยการขับจากกรุงโซลมาถึงเมืองพย็องชัง โดยเครือข่ายสื่อสารภายในรถที่ Hyundai ก็คือ 5G จาก KT
• Hyundai ยังให้บริการชัตเติลบัสรับส่งระหว่างสนามแข่งขันกับสถานที่ต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีที่มีการจดจำใบหน้าของคนขับ และส่งสัญญาณเตือนเมื่อคนขับออกอาการหลับใน
• Samsung นำเอาเทคโนโลยี Virtual-Reality มาใช้กับการถ่ายทอดการแข่งขันสโนว์บอร์ดและสกี
• KT นำกล้องเข้าติดตั้งบนหมวกกันน็อกของนักกีฬา เพื่อให้บริการถ่ายทอดสดแบบพิเศษ First-Person Perspective สร้างประสบการณ์แปลกใหม่แก่ผู้ชม
• สถาบันวิจัย Electronics and Telecommunications Research Institute ของเกาหลีใต้ จับมือกับผู้ผลิตซอฟท์แวร์ Hancom Interfree สร้าง ‘GenieTalk’ แปลภาษาเกาหลีไปเป็นภาษาต่างๆ จำนวน 29 ภาษา
• ใช้โดรนช่วยในการตรวจตราพื้นที่ รักษาความปลอดภัยตลอดรายการ
• มีการจัดแข่งรายการพิเศษ ‘Edge of Robot: Ski Robot Challenge’ นำหุ่นยนต์ 8 ทีมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ มาแข่งสกี ชิงเงินรางวัล 10,000 ดอลลาร์ฯ
• Panasonic ติดตั้งจอโปรเจ็กเตอร์ยักษ์ความสว่าง 30,000 ลูเมน จำนวน 82 ตัว ทั้งในสนามแข่งขัน, สนามจัดพิธีเปิดและปิด และบริเวณ Olympic Park
• VISA ให้บริการระบบชำระเงิน Cashless ในหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการผลิตถุงมือ NFC-enabled payment ป้องกันความหนาวในอุณหภูมิติดลบ และเมื่อลูกค้าต้องการจ่ายเงินก็ไม่ต้องหยิบเงินสดหรือการ์ดใดใดในกระเป๋าออกมา เพียงแตะเซนเซอร์ NFC ที่ติดอยู่บนหลังมือ เข้ากับเครื่องจ่ายเงินได้ทันที
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการใช้เทคโนโลยีกับนักกีฬาโดยตรง อาทิ
• Samsung SmartSuit ชุดซ้อมสำหรับนักกีฬาสปีดสเก็ตของฮอลแลนด์ มีเซนเซอร์ที่สามารถบอกความเคลื่อนไหวทั้งตัวและสถิติของนักกีฬาแบบเรียลไทม์ให้กับโค้ช โดยสามารถใช้ซอฟต์แวร์จากสมาร์ทโฟนวิเคราะห์ท่าทางระหว่างแข่งขัน และแนะนำท่าที่ดีขึ้น เพื่อให้โค้ชส่งข้อความสู่นักกีฬาผ่านระบบสั่นที่ข้อมือของนักกีฬา
• หมวกกันน็อกที่ลดแรงกระแทกที่ความเร็วสูงของนักแข่งสกี MIPs Helmets มีระบบ Multi-directional Impact ออกแบบมาให้หมวกเข้าล็อกของศีรษะนักแข่ง เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวของหมวกระหว่างการกระแทก
• เสื้อเกราะ Dainese Airbags เดิมทีถูกออกแบบมาสำหรับนักแข่งมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก Moto GP แต่นำมาใช้ใน อลป. ครั้งนี้สำหรับนักกีฬาหลายประเภท โดยชุดมีเซนเซอร์ทั้งหมด 7 จุด หากเซนเซอร์จับความเคลื่อนไหวได้ว่านักกีฬากำลังเสียหลักและพุ่งชนบางสิ่ง ถุงลมจะกางออกในทันทีและกลายสภาพใหญ่ขึ้นเท่ากับตัวของ Hulk เพื่อป้องกันแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้น
• Strobe Glasses จาก Vima สำหรับนักสกีของสหรัฐอเมริกา ใช้ฝึกซ้อม ช่วยในการเพิ่มโฟกัสให้มากกว่าแว่นป้องกันทั่วไป และยังเสริมสมรรถภาพให้กับดวงตาข้างที่ไม่ถนัด
• Mach 39 ชุดสูทของนักสปีดสเก็ต จาก Under Armour สร้างขึ้นจากวัสดุพื้นผิว 3 ชนิด ลดแรงเสียดทานจากอากาศได้มากเป็นพิเศษ
…เหล่านี้คือทั้งหมดที่ทำให้ CNN ขนานนามพย็องชัง 2018 ว่าเป็น ‘The most high-tech Olympics ever’
ไม่เคยมีมาก่อนที่โอลิมปิก หรือแม้กระทั่งทัวร์นาเมนต์กีฬาใดใดในประวัติศาสตร์โลก จะอัดแน่นไปด้วยนวัตกรรมความไฮเทคแบบที่ ‘พย็องชัง 2018’ เป็น
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ เทคโนโลยีล้ำๆ เหล่านี้ที่มาปรากฏตัวในพย็องชัง…
จัดเป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ เท่านั้น
ถัดจากนี้
ว่าไปแล้ว เทคโนโลยีล้านแปดแห่งพย็องชัง 2018 ก็จัดเป็นเพียง ‘ประตูบานแรก’ ของการก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 สำหรับชาวโลก
ทั้งเครือข่าย 5G, รถยนต์ไร้คนขับ, ระบบประมวลผลคลาวด์, การถ่ายทอดสดด้วยความคมชัดสูง หรือกระทั่ง Virtual-Reality, การใช้งานหุ่นยนต์ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน, การใช้โดรนเป็นเครื่องไม้เครื่องมือหลัก, เทคโนโลยีหลากรูปแบบที่ใช้กับนักกีฬา ฯลฯ และ ฯลฯ
พย็องชัง 2018 หนนี้ เป็นเพียงการทดลองใช้แบบเต็มกำลัง เพื่อที่จะ ‘ปูทาง’ ไปยังการใช้งานแบบเต็มรูปแบบกว่านี้ จัดหนักจัดเต็มกว่านี้ ในมหกรรมกีฬาครั้งถัดๆ ไป
ไม่ว่าจะ พาราลิมปิกฤดูหนาว 2018 ในพย็องชังเอง ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 9-18 มี.ค. นี้, โอลิมปิก ฤดูร้อน ‘โตเกียว 2020’, โอลิมปิก ฤดูหนาว ‘ปักกิ่ง 2022’ หรือจะก้าวข้ามไปยังฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ และการแข่งขันกีฬาทัวร์นาเมนต์อื่นใดในสเกลระดับโลก
มั่นใจได้เลยว่าความล้ำยุคล้ำสมัยจะตามติดต่อเนื่องไม่เว้นวรรคแน่
Rob Topol ผู้จัดการทั่วไปของธุรกิจ 5G แห่ง Intel ยืนยันว่าการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นทดลองใช้จริงเท่านั้น ก่อนจะนำไปใช้อย่างแพร่หลายเป็นลำดับถัดไป “ผู้คนยังไม่เข้าใจนักว่า 5G สามารถทำอะไรได้ แต่คุณจะได้เห็นการเข้ามาแสดงบทบาทสำคัญของเครื่องจักรกล และ 5G จะไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของสมาร์ทโฟนในกระเป๋าของคุณอีกต่อไป” และยังแย้มว่าการทำให้หมู่บ้านนักกีฬากลายเป็น Smart City ตัวอย่าง คือเป้าหมายของ Intel สำหรับทัวร์นาเมนต์ถัดๆ ไป
ขณะที่ UBS นิยามพย็องชัง 2018 ไว้ว่าเป็น “จุดเริ่มต้นของความน่าตื่นเต้นที่เป็นไปได้ในการเปิดรับข้อมูลดิจิทัลและการใช้ 5G ในอนาคต และยังเป็นการยืนยันข้อสันนิษฐานว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นจริงได้เร็วกว่าที่ใครๆ คิด”
ชัดเจนว่ายิ่งโลกหมุนไปเร็วเท่าไหร่ เทคโนโลยีก็ยิ่งไปไวเท่านั้น
จึงน่าตื่นเต้นยิ่งนักสำหรับอนาคตแห่งโอลิมปิก (และอีกหลายมหกรรม)
ว่าเมื่อพย็องชัง 2018 ‘ล้ำ’ ได้ขั้นนี้แล้ว ถัดจากนี้จะ ‘ล้ำขั้นกว่า’ ได้ขนาดไหน.
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน