Zuckerberg รับ Facebook ทำพลาด-ตั้ง 3 มาตรการแก้ไข

Mark Zuckerberg CEO และผู้ก่อตั้ง Facebook ชี้แจงเป็นครั้งแรก หลังเกิดประเด็นร้อนกรณี Cambridge Analytica ดึงข้อมูลผู้ใช้กว่า 50 ล้านราย ไปเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2016 ยอมรับเป็นความผิดพลาดของบริษัท พร้อมย้ำจะเพิ่มความเคร่งครัดกับการสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการอย่างเต็มที่ ด้วยมาตรการหลักสามข้อ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำขึ้นอีกในอนาคต

สถาบันวิจัย Cambridge Analytica เป็นต้นเหตุให้ข้อมูลผู้ใช้งาน Facebook กว่า 50 ล้านคน รั่วไหลระหว่างแคมเปญหาเสียงของ Donald Trump จนก่อให้เกิดวิกฤตความไว้เนื้อเชื่อใจในกลุ่มผู้ใช้งาน เกิดแคมเปญยกเลิกการใช้งาน #DeleteFacebook ในทวิตเตอร์ ทั้งยังทำให้ Facebook สูญเสียมูลค่าทรัพย์สินรวมไปถึงกว่า 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ด้วยกัน

 

โพสต์สเตตัสยอมรับผิด

ด้าน Zuckerberg ที่ไม่ได้ออกมาชี้แจงใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย นับแต่มีข่าวรั่วไหลออกมา ได้โพสต์สเตตัสเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสองสัปดาห์ว่า“ผมต้องการแชร์ความคืบหน้ากรณี Cambridge Analytica ทั้งสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว และสิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไปในอนาคต เพื่อจัดการกับปัญหาที่เราถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นนี้”

“เความรับผิดชอบของเราคือการดูแลข้อมูลของคุณ และหากเราไม่สามารถทำได้ตามนั้น เราก็ไม่คู่ควรที่จะให้บริการคุณ ช่วงที่ผ่านมา ผมได้พยายามทำความเข้าใจว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้อย่างไร และทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก”

“ข่าวดีก็คือ เราได้ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อป้องกันเหตุเช่นนี้ไปบ้างเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาด และมีอีกหลายอย่างที่เราต้องทำ และเราจำเป็นต้องทำมันให้ดีขึ้น ซึ่งนี่คือลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้”

“ในปี 2007 เราเริ่มให้บริการ Facebook ซึ่งตามแนวทางคือช่วยให้คนสามารถแบ่งปันแอพต่างๆ กับสังคมได้มากขึ้น สามารถแสดงวันเกิดของเพื่อนๆ ให้คุณเห็น ให้รู้ว่าเพื่อนของคุณอยู่ตรงไหนของแผนที่ ตลอดจนเห็นรูปของพวกเขาเชื่อมต่อกับเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งข้อมูลต่างๆ”

“ถึงปี 2013 Aleksandr Kogan นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Cambridge สร้างแอพลิเคชั่นตัวนึงขึ้นมา และมีผู้ติดตั้งแอพของเขาราว 300,000 ราย โดยที่แอพนี้ดึงข้อมูลของผู้ติดตั้งและเพื่อนๆ กลับไปให้ Kogan ทำให้นักวิจัยจาก Cambridge สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนๆของผู้ใช้งานแอพของเขา รวมกว่าหลายสิบล้านราย”

“ในปี 2014 เพื่อป้องกันการใช้ในทางที่ผิด เราได้เปลี่ยนการเข้าถึงข้อมูลของแอพลิเคชั่นอย่างสิ้นเชิง แอพลิเคชั่นของ Kogan จึงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนๆ ของผู้ติดตั้งแอพได้อีก เว้นแต่ว่าจะให้ความยินยอมเท่านั้น Facebook ยังกำหนดให้ผู้พัฒนาแอพลิเคชั่น ต้องได้รับความยินยอมจากเราก่อน ในกรณีที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นการป้องกันแอพลิเคชั่นอื่นๆ ที่คล้ายกับแอพของ Kogan ไม่ให้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานมากเกินความจำเป็นอีกต่อไป”

“จนปี 2015 เราทราบจากสื่ออย่าง The Guardian ว่า Aleksandr Kogan ได้ปล่อยข้อมูลของผู้ใช้งานคนอื่น ที่เขาได้มาจาก Cambridge Analytica ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับนโยบายของเราที่ไม่อนุญาตให้ผู้พัฒนาแอพลิเคชั่น เผยแพร่ข้อมูลของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นเราจึงดำเนินการแบนแอพพลิเคชั่นของ Kogan บนแพลตฟอร์มทันที และเรียกร้องให้ Kogan และ Cambridge Analytica ให้การรับรองอย่างเป็นทางการว่าได้ลบข้อมูลทั้งหมดออกไปแล้ว ซึ่งพวกเขาก็ได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ”

“จากนั้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้ทราบจาก The Guardian, The New York Times และ Channel 4 ว่า Cambridge Analytica อาจจะยังไม่ได้ลบข้อมูลตามยืนยัน เราจึงแบนพวกเขาออกจากทุกการบริการของเราทันที Cambridge Analytica อ้างว่าพลบข้อมูลทั้งหมดออกไปแล้ว และตกลงที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยบริษัทที่เราว่าจ้าง ทั้งเราเองก็ยังจะทำงานร่วมกับหน่วยงานเพื่อสืบสวนเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นด้วย”

 

วางมาตรการ3ข้อดูแลผู้ใช้งาน

ในโพสต์ัดงกล่าว CEO วัย 33 ยังเผยถึงมาตรการสำคัญ 3 ข้อที่จะนำมาใช้เพื่อสร้างมารฐานความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ Facebook มากขึ้นกว่าเดิม

“มันไม่ใช่แค่ปัญหาความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเรา, Kogan และ Cambridge Analytica แต่ยังส่งผลถึงความเชื่อมใจระหว่าง Facebook กับผู้คนที่แชร์ข้อมูลกับเราและหวังจะให้เราปกป้องมันด้วย ซึ่งเราจำเป็นต้องแก้ไข ในกรณีนี้ เรามีการดำเนินการไปแล้วเมื่อปี 2014 เพื่อกู้ศรัทธาและความเชื่อใจของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มกลับคืนมา แต่ก็ยังมีสิ่งที่เราต้องดำเนินการเพิ่มเติม และเหล่านี้คือมาตรการที่ผมจะนำมาใช้เป็นลำดับถัดไป”

 

  • จะดำเนินการตรวจสอบแอพทั้งหมดที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานในระบบ ก่อนเปลี่ยนแปลงนโยบายของแพลตฟอร์มครั้งใหญ่เมื่อปี 2014 และจะตรวจสอบทุกๆ แอพที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย จะมีการสั่งแบนนักพัฒนาที่ไม่ตกลงเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทันที และถ้าพบนักพัฒนานำข้อมูลไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ก็จะสั่งแบน พร้อมแจ้งไปยังผู้ใช้งานแอพดังกล่าวทุกคน รวมถึงคนที่ถูก Kogan นำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดด้วย
  • จะจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของนักพัฒนา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดในทุกกรณี เช่น จะลบการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานจากนักพัฒนาออก ถ้าไม่ได้ใช้แอพนั้นติดต่อกันเกิน 3 เดือน และจะลดข้อมูลที่ต้องมอบให้กับตัวแอพเมื่อลงชื่อเข้าใช้งาน ให้เหลือแค่ชื่อผู้ใช้ ภาพโปรไฟล์ และอีเมลเท่านั้น พร้อมกำหนดให้นักพัฒนาทุกรายต้องเซ็นสัญญาเพื่อขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวและโพสต์ของผู้ใช้ โดยจะมีการเพิ่มเติมรายละเอียดมากขึ้นในอีก 2-3 วันข้างหน้า
  • ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป จะย้ายเครื่องมือจากหน้าตั้งค่าความเป็นส่วนตัวมาไว้บนหน้า News Feed แทน เพื่อแสดงข้อมูลว่าแอพใดบ้างที่ได้ใช้งาน เพื่อให้ง่ายต่อการยกเลิกใช้งานแอพเหล่านั้น ความจริงแล้วเรามีเครื่องมือนี้อยู่แล้วในหน้าการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว  

Zuckerberg ยอมรับว่าตนคือคนที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมย้ำว่าเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับ Cambridge Analytica ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป โดยจะเรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้ เพื่อพัฒนา Facebook ต่อไป พร้อมทิ้งท้ายว่าจะมีการให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับสื่อต่างๆอีกครั้งในอนาคต

 

อ่านโพสต์แถลงการณ์ของ Zuckerberg ฉบับเต็มได้ที่นี่

 

 

อ่านเพิ่มเติม

Snowden สับโซเชียลมีเดียลวงโลก – ผู้ก่อตั้ง WhatsApp ประกาศเลิกใช้ Facebook

 

AHEAD TAKEAWAY

หลังจากเงียบมานานในกรณีประเด็นร้อน Mark Zuckerberg ก็ออกแถลงการณ์เป็นครั้งแรก โดยยอมรับถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเผยถึงทิศทางของการสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยที่จะนำมาใช้อย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ก็อาจเป็นเรื่องยากอยู่ดีที่ Facebook จะกอบกู้ศรัทธาของผู้ใช้จำนวนหนึ่งกลับมาได้ เมื่อแคมเปญ #DeleteFacebook กำลังแพร่กระจายเป็นวงกว้าง

เป็นเรื่องน่าจับตาว่าในระยะยาว สิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบกับ Facebook หนักหนาขนาดไหน และการออกมาตรการต่างๆ มาแก้ลำของ Zuckerberg จะประสบผลสำเร็จหรือไม่อย่างไร

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

Uber จ่อพ้นผิดคดีชนคนตาย, Toyota ยังสั่งแบนทดสอบรถ

Next Article

YOU ARE WHAT YOU READ #20 : MARC ANDREESSEN

Related Posts