A.I. vs MANKIND เมื่อมนุษย์พ่ายปัญญาประดิษฐ์

ย้อนกลับไปในอดีต เราอาจรู้จักคำว่า A.I. หรือ ปัญญาประดิษฐ์ จากนิยายไซไฟ มากกว่าสื่อต่างๆ แต่ในเวลาไม่นานนัก หลายคนอาจพบว่าเทคโนโลยีนี้ ขยับเข้ามาใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ชนิดใช้คำว่า “หายใจรดต้นคอ” ก็คงไม่ผิดอะไร

ไม่นานมานี้ Jeff Bezos แห่ง Amazon เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่านี่คือ “ยุคทอง” ของ A.I.

เมื่อในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Machine Learning และ A.I. ได้รับการพัฒนาจนมีศักยภาพเพียงพอ ที่จะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจ หน่วยงานรัฐ สถาบันหรือองค์กรต่างๆได้แล้ว

พัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ (รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ) ดูจะเป็นไปตามแนวคิดของ Gordon Earl Moore วิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ชาวอเมริกัน ที่เคยกล่าวไว้เมื่อห้าสิบปีก่อน ว่า “จำนวนทรานซิสเตอร์ในชิปคอมพิวเตอร์จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกๆ ปี” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “Moore’s Law”

และพลังประมวลผลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆนี่เอง ที่มีส่วนผลักดันให้เทคโนโลยีที่ดูเหมือนไกลตัวอย่างปัญญาประดิษฐ์ มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในช่วงสองสามปีหลังสุด จนคนจำนวนไม่น้อย เริ่มหวั่นไหวถึงประเด็น “Rise of the Machines” อย่างที่เคยเกิดในภาพยนตร์หรือนิยายไซไฟขึ้นมาแล้วจริงๆ

และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่ “มนุษย์พ่ายแพ้ต่อสิ่งประดิษฐ์” ที่เราสร้างขึ้นมาเอง…

 

#Alpha Go เซียน..หมากล้อม

ในบรรดาปัญญาประดิษฐ์ที่โด่งดังที่สุดในโลก ต้องนับรวม Alpha Go ผลงานของ Deep Mind บริษัทในเครือ Google เอาไว้ด้วย เมื่อสามารถเอาชนะ Ke Jie นักเล่นโกะอันดับหนึ่งของโลกชาวจีนได้สำเร็จ จนหนุ่มวัย 20 ปี ยังยอมรับว่าอีกฝ่ายเป็นนักเล่นหมากล้อมที่สมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะเหนือ Ke Jie ก็ถือเป็นการแข่งขันหมากล้อมครั้งสุดท้ายของ Alpha Go แล้ว เพราะถือว่าทำได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ทีมพัฒนาตั้งไว้ และจะหันไปพัฒนาอัลกอริธึมใหม่ๆ เพื่อช่วยนักวิทยาศาสตร์ แก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนกว่า

ขณะที่ข้อมูลการเล่นหมากล้อมของ Alpha Go ทั้ง 50 เกม ก็จะถูกนำมาเผยแพร่ เพื่อให้นักเล่นหมากล้อม นำไปศึกษา เรียนรู้วิธีคิดและการวางแผนต่อไป เนื่องจากหลายๆกลยุทธ์นั้น ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่โดยปัญญาประดิษฐ์ ทั้งที่หมากล้อมเป็นเกมที่มนุษย์เล่นกันมากว่าสามพันปีแล้ว

ขณะที่ Alpha Zero จากทีมผู้พัฒนาเดียวกัน ก็ใช้เวลาหัดเล่นหมากรุกด้วยตัวเองเพียง 4 ชั่วโมง แต่สามารถเอาชนะโปรแกรมเล่นหมากรุกที่ดีที่สุดอย่าง Stockfish ได้สำเร็จ

 

#Watson นักวิเคราะห์ สารพัดเรื่อง

เมื่อช่วงต้นปี 2017 หนังสือพิมพ์ ไมนิจิ ของญี่ปุ่น รายงานว่า บริษัทประกันภัย Fukoku Mutual Life Insurance Company มีแผนเลิกจ้างพนักงานในแผนกประเมินราคาสินไหม 34 ราย หรือคิดเป็น 30% ของทั้งหมด เพื่อเปิดทางให้นำ “Watson” ซึ่งพัฒนาโดย IBM มาทำงานแทน

Watson ซึ่งได้ชื่อมาจากผู้ก่อตั้ง IBM “Thomas J. Watson” จะรวบรวมข้อมูลต่างๆจาก Big Data เช่นข้อมูลใบรับรองแพทย์ และข้อมูลอื่นๆ ของผู้ถือกรมธรรม์ มาใช้พิจารณาจ่ายเงินแก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้สูงถึง 140 ล้านเยนต่อปี

ความยอดเยี่ยมของ Watson ไม่ได้หยุดอยู่แค่การประเมินสินไหม…

เพราะความสามารถในการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ทำให้ธุรกิจชั้นนำทั่วโลก กว่า 19 แห่ง ตกลงนำ Watson ไปใช้ ไล่ตั้งแต่ แข่งขันในควิซโชว์ ช่วยตัดไฮไลท์เทนนิสวิมเบิลดัน เป็นสมองให้รถยนต์ไร้คนขับของ General Motors คิดแคมเปญโฆษณาในโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่การวินิจฉัย และเสนอแนวทางรักษาโรค

ซึ่งปัจจุบัน โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ Bumrungrad International ก็นำ Watson มาใช้ เพื่อพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

 

#Simplex กองทุน สมองกล

ในแง่ของการลงทุน ยิ่งใช้อารมณ์น้อยเท่าไหร่ ยิ่งได้เปรียบ เหมือนที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ Simplex Equity Futures Strategy Fund ของญี่ปุ่น ซึ่งใช้ AI ทำการซื้อขายฟิวเจอร์แบบ 100% ทำผลงานได้ดีกว่ากองทุนแบบดั้งเดิมทั่วไป A.I. ตัวนี้ถูกพัฒนาขึ้น โดย Yoshinori Nomura อดีตนักศึกษาปริญญาโทด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ โดยใช้เวลานานถึง 3 ปี

การใช้ A.I. ของ Simplex ต่างไปจากการใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลสถิติเชิงตัวเลขเพราะปัญญาประดิษฐ์ สามารถพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา อันเป็นผลจาก machine learning ทาง Simplex เพิ่งเริ่มนำ A.I. มาใช้ในเดือนเมษายน 2016 และมีส่วนช่วยให้กองทุนเติบโตขึ้น 1.9% แล้วในเวลาเพียงสี่เดือน

อันที่จริง Simplex ไม่ใช่กองทุนเดียวที่อาศัยปัญญาประดิษฐ์ในการซื้อขาย แม้แต่ในบ้านเรา ก็มีสตาร์ทอัพที่นำ AI มาใช้ในการลงทุนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น Ava Advisor หรือ StockRadars ข้อมูลจาก Eurekahedge บริษัทเก็บสถิติผลตอบแทนของกองทุน ระบุว่ากองทุนที่ใช้ A.I. ในปัจจุบัน ทั้ง 12 กองทุนทั่วโลก มีผลตอบแทนเฉลี่ยเกือบ 7% ในปี 2016 เลยทีเดียว

 

#A.I. นักเขียน

ทีมวิจัยจาก Future University Hakodate ภายใต้การดูแลของ อาจารย์ Hitoshi Matsubara ได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ให้มีแนวคิดคล้ายมนุษย์ และเขียนนวนิยายได้เอง ที่สำคัญคือสามารถผ่านเข้ารอบแรก ในการประกวดเขียนนิยายระดับชาติ Nikkei Hoshi Shinichi Literary Award ซึ่งมีนิยายส่งเข้าประกวดมากถึง 1,450 เรื่อง

ด้วยผลงานที่มีชื่อว่า Konpyuta ga shosetsu wo kaku hi – The Day A Computer Writes A Novel

ด้าน Satoshi Hase นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย ได้ให้ความเห็นว่าเรื่องสั้นของ A.I. ตัวนี้ มีโครงเรื่องที่น่าสนใจ แต่การอธิบายลักษณะตัวละคร ยังมีจุดที่ติดขัดอยู่บ้าง

นอกจากเขียนแล้ว Heliograf ปัญญาประดิษฐ์ของ The Washington Post ก็สามารถทำหน้าที่คัดกรองข่าวสารที่มีปริมาณข้อมูลมากมายได้ พร้อมกับเขียนข่าวขึ้นใหม่ด้วยภาษาแบบเดียวกับมนุษย์ ส่วน A.I. ที่พัฒนาโดย Alibaba นั้น ยังสามารถทำความเข้าใจตัวอักษร และชุดคำของมนุษย์ได้ด้วยตัวเอง และสามารถทำคะแนนในการ ทดสอบการอ่าน Stanford Question Answering Dataset (SQuAD) ได้คะแนนสูงสุดที่ 82.44 คะแนน หรือ Wibbitz ของ USA Today นั้น ยังสามารถเตรียมวิดีโอข่าวสั้นได้ด้วยตัวเอง ด้วยการเขียนสคริปต์ เลือกรูปหรือวิดีโอ และลงเสียงด้วยตัวเองได้อีกด้วย

 

#Amazon Go ค้าปลีก ปัญญาประดิษฐ์

แม้แต่เรื่องค้าปลีก งานหลายประเภทที่เคยเป็นของมนุษย์ ก็ส่อแววจะต้องเสียให้กับเครื่องจักรจริงๆแล้ว

เมื่อ Amazon ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ กลับมารุกตลาดค้าปลีก ด้วย Amazon Go ร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะ ที่ควบคุมทุกอย่างผ่านปัญญาประดิษฐ์ โดยหน้าที่ของ A.I. ในร้าน คือการควบคุมระบบต่างๆ

โดยเฉพาะการเชื่อมต่อสินค้ากับเซนเซอร์จับสัญญาณนับร้อยตัวทั่วบริเวณ ทำให้การหยิบสินค้าทุกชิ้นจะผ่านการบันทึกและประมวลผลเพื่อคิดราคา หรือ A.I. จาก Baidu อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่จากจีน ที่สามารถดูแลระบบจัดสต็อคสินค้าแทนผู้จัดการร้านได้แล้ว

ที่สำคัญคือ สามารถทำกำไรเพิ่มให้กับร้านค้าเป็นจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ และลดจำนวนสินค้าส่วนเกินได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน

 

#The Next Rembrandt ศิลปะ จากอนาคต

งานศิลป์กับเครื่องจักร มักถูกมองเป็นสองสิ่งที่อยู่กันคนละขั้ว แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน สามารถรวมสองสิ่งเข้าด้วยกันได้อย่างสนิท จนแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญอาจแยกไม่ออก

เมื่อภาพวาด ‘Rembrandt’ ที่นำออกแสดงที่อัมสเตอร์ดัม เมื่อเร็วๆนี้ ไม่ใช่ผลงานจากฝีพู่กันของ Rembrandt van Rijn แต่อย่างใด…. หากเป็นผลงานของการผสมผสานเทคโนโลยี 3D printing, facial recognition และแน่นอน… AI “The Next Rembrandt” นั้นเป็นโปรเจกต์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของธนาคาร ING และ Microsoft กับเอเจนซี่โฆษณา J. Walter Thompson

โดยใช้ระยะเวลา 18 เดือน ในการสอนอัลกอริทึมให้เรียนรู้สไตล์ของจิตรกรเอกชาวดัตช์ ผ่านภาพวาดทั้ง 346 ภาพ และมีจุดหมายที่การสร้างงานศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นมา ในสไตล์ของ Rembrandt

ไม่ใช่แค่การวาดภาพ ศิลปะอีกแขนงอย่างดนตรีก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับ AI เป้าหมายของโครงการ คือวิจัยและพัฒนา AI ผ่านการเรียนรู้ฐานข้อมูลดนตรีจำนวนมหาศาล เพื่อแยกแยะความแตกต่างของดนตรีแต่ละแนว หาความเหมาะสม และเทคนิคในการตอบสนอง

โดยมีปลายทางคือ การประพันธ์เพลงร่วมกับมนุษย์ หรือด้วยตัวมันเอง

ความสามารถของ Flow Machines นั้นทำได้หลากหลาย

ตั้งแต่เรียบเรียงเพลง Ode to Joy ของ Beethoven ให้ออกมาในสไตล์ของศิลปินต่างๆ เช่น The Beatles, Ennio Morricone หรือบอสซาโนวา ฯลฯ หรือแม้แต่การแต่งเพลงที่เป็นออริจินอล จนสามารถรวมเป็นอัลบั้มของตัวเองได้ ในชื่อ All Of Life Is Stories

ฉะนั้น ศิลปินทั้งหลายอย่าเพิ่งวางใจว่าคุณคือผู้อยู่รอดจากสงครามครั้งนี้

 

#คนที่..แพ้ ก็ต้องดูแลตัวเอง

ผลวิจัยของที่ประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (WEF) ในปีที่ผ่านมา คาดว่า AI จะเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานของมนุษย์กว่า 5 ล้านตำแหน่ง ใน 15 ประเทศ ภายในปี 2020 แต่แม้จะมีความกังวลในเรื่องนี้เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมา มนุษย์ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถพัฒนาตัวเองต่อได้ หลังเสียงานไปให้กับเครื่องจักรต่างๆ ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

Autor and Solomons ได้วิเคราะห์ข้อมูลแรงงานของประเทศในกลุ่ม OECD พบว่า อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น จะมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนั้นน้อยลง โดยคนจะย้ายไปทำงานอุตสาหกรรมอื่นแทน

Jack Ma แห่ง Alibaba มองว่าเราจะต้องรีบปฏิรูปการศึกษาใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า มนุษย์จะมีความแตกต่างในตัวมากพอ จนไม่สูญเสียทุกอย่างให้กับเครื่องจักรไป

ลองดูคลิป >> ต้องปฏิรูปการศึกษา ถ้าไม่อยากแพ้ AI 

ส่วน Elon Musk ก็เตือนไว้ว่านักวิทยาศาสตร์อาจจะจมลึกลงไปกับงานที่ตัวเองกำลังทำโดยอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบอันสลับซับซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น

แต่ Musk ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันเรื่องนี้

พร้อมนำเสนอแนวทางอื่น อาทิ universal basic income หรือ UBI (การที่รัฐบาลหรือภาคสาธารณะแจกเงินให้กับประชาชนเป็นรายได้คงที่ไม่ว่าประชาชนคนนั้นจะมีงานทำหรือไม่ก็ตาม)

ไม่ว่าท้ายที่สุด การมาของ A.I. จะเป็นภัยต่อมนุษย์จริงหรือไม่ ทว่า สิ่งหนึ่งที่มนุษย์เราทำได้ ก็คือจะต้องปรับตัว และนั่นหมายถึง ในอนาคตเราคงจะไม่ได้เห็นรูปแบบการทำงานแบบเดิมอีกต่อไป

 

#พร้อมหรือยัง…มนุษย์ทั้งหลาย??

แล้วคุณล่ะ….คิดว่าตัวเองพร้อมแค่ไหน ในการรับมือกับโลกที่ปัญญาประดิษฐ์กำลังรุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็ว แล้วคิดว่าท้ายที่สุด จะเหลืองานอะไรให้มนุษย์อย่างเราๆทำบ้างในอนาคต

 

อ่านเรื่องอื่นๆของ AI ที่น่าสนใจได้ตามลิงค์เหล่านี้

AI เป็นภัยต่อคนจริงหรือ? มัสก์ หรือ ซัค ที่ ฉัตรวุฒิ วิริยะสุธี Cognitive scientist เห็นด้วย

นิวซีแลนด์สร้าง SAM นักการเมือง AI คนแรกของโลก

Alibaba ไปไกลใช้ AI เลี้ยงหมู

Huawei ทดสอบใช้ AI ของ Mate 10 Pro ขับรถได้

7-11 ไทยเตรียมติดตั้ง AI ตรวจจับใบหน้าลูกค้า

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

เปิดใจผู้สร้าง 'เสียง' ของ Stephen Hawking

Next Article

Grab ฮุบกิจการ Uber อาเซียนแล้ว-ดึง Dara Khosrowshahi ร่วมบอร์ด

Related Posts