เปิดใจผู้สร้าง ‘เสียง’ ของ Stephen Hawking

Table of Contents Hide
  1. คุณเข้ามาเป็นช่างเทคนิคของ Stephen Hawking ตั้งแต่ปี 2006 อะไรคือสิ่งแรกที่คุณต้องทำเมื่อเริ่มต้นงานนี้?
  2. เสียงของ Stephen ค่อนข้างมีเอกลักษณ์มาก ซึ่งคุณบอกว่ามันทำให้เป็นปัญหาในการเก็บรักษาไว้?
  3. ทำไมคุณถึงไม่อัพเดตมันด้วยเสียงสังเคราะห์ล่ะ?
  4. ที่จริงแล้ว Stephen ใช้วิธีอย่างไรเพื่อสื่อสาร?
  5. แล้วสมมุติว่าถ้าวันหนึ่ง เขาไม่อาจขยับแก้มได้ขึ้นมาล่ะ?
  6. เขารู้สึกตื่นเต้นกับเทคโนโลยีใหม่ที่อาจจะถูกติดตั้งให้เขาสื่อสารได้ดีขึ้นหรือเปล่า?
  7. คุณกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ช่วยของ Stephen Hawking ได้อย่างไร?
  8. เทคโนโลยีอะไรที่ใช้กับเขา?
  9. Stephen ต้องทำอย่างไรเพื่อจะเปล่งเสียง?
  10. เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้เขาพูดได้เร็วขึ้นหรือเปล่า?
  11. การที่ Intel เข้าช่วยเหลือเป็นผลมาจากการคุยกันโดยตรงระหว่าง Stephen กับ Gordon Moore ใช่ไหม?
  12. คุณต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นวางบนตักเลยหรือเปล่าตอนที่นั่งเครื่องบินเดินทางมาหาเขา?
  13. ถือว่าเทคโนโลยีของพวกคุณประสบความสำเร็จไหม?
  14. เมื่อทีมงานของ Intel ที่ดูแลเขาล้วนแต่อยู่ในสหรัฐอเมริกา แล้วใครจะเป็นคนดูแลหากว่าคอมพิวเตอร์เกิดปัญหาขึ้นมา?
  15. ครอบครัวของคุณคิดอย่างไรกับการที่คุณได้ทำงานร่วมกับ Stephen Hawking?

14 มีนาคม 2018 จะถูกจดจำไปตลอด ว่านี่คือวันที่โลกต้องสูญเสียสุดยอดนักฟิสิกส์อย่าง Stephen Hawking ไปตลอดกาล

อย่างที่ทราบกันดี Hawking ล้มป่วยลงด้วยโรคเซลล์ประสาทสั่งการ (Amyotrophic Lateral sclerosis – ALS) ทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และต้องนั่งรถเข็นไฟฟ้าตั้งแต่อายุได้เพียง 21 ปี

ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อเมื่อ Hawking ใช้ชีวิตมาจนถึงอายุ 76 ปีได้ หลังจากทีมแพทย์ผู้ดูแลประเมินว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2-3 ปีเท่านั้นหลังล้มป่วย

อย่างไรก็ตาม ALS ก็ได้พราก ‘ความสามารถในการพูด’ ไปจาก Hawking เพราะกล้ามเนื้ออ่อนแรงลง จนทั้งไม่อาจเอ่ยปากพูดและขยับตัวได้ ทำได้เพียงขยับนิ้ว, กะพริบตา และขยับแก้มนิดๆ หน่อยๆเท่านั้น

 

ต้องขอบคุณวิทยาการเทคโนโลยีก้าวล้ำ ที่ทำให้การขยับเขยื้อนเล็กๆ น้อยๆ ที่ว่า มากเพียงพอที่จะทำให้โลกได้ ‘ฟัง’ เสียงของศาสตราจารย์ชาวอังกฤษผู้นี้อีกครั้ง

Sam Blackburn กับ Travis Bonifield คือสองคนสำคัญในชีวิตของ Hawking และโลกใบนี้ ในบทบาทผู้บำรุงรักษาดูแลคอมพิวเตอร์ บนวีลแชร์ของ Hawking และพยายามให้ความช่วยเหลือนักฟิสิกส์อัจฉริยะมาโดยตลอด แม้แต่ในช่วงที่อาการของเจ้าตัวแย่ลง จากทีแรกที่สามารถใช้นิ้วกดปุ่มแสดงคำ (ส่งสัญญาณแปลงเสียงผ่านคอมพิวเตอร์) จนถึงวันที่กล้ามเนื้อนิ้วมือไม่สามารถใช้งานได้อีก

ทางออกของทั้งคู่ คือการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวบนแก้มของ Hawking ให้สะท้อนสัญญาณอินฟราเรดไปยังแว่นตา ที่จะส่งไปแปลงเสียงที่คอมพิวเตอร์อีกทอด

แม้จะยากลำบากไม่น้อย แต่ก้นับว่าประสบความสำเร็จด้วยดี ช่วยให้ Hawking สามารถพูดคุยสื่อสารกับคนรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอมา จนอาจกล่าวได้ว่าหากไม่มีพวกเขา ลกก็คงไม่ได้ยิน ‘เสียง’ ของ Stephen Hawking

 

Sam Blackburn (ขวาสุด) กับทีมงาน

 

คุณเข้ามาเป็นช่างเทคนิคของ Stephen Hawking ตั้งแต่ปี 2006 อะไรคือสิ่งแรกที่คุณต้องทำเมื่อเริ่มต้นงานนี้?

Sam Blackburn: ในช่วงแรก มันต้องใช้เวลาเพื่อรองรับระบบแบบทั้งวันทั้งคืน ผมสามารถถูกโทรศัพท์ตามตัวตอนตี 1 ได้ทุกเมื่อเพื่อบอกว่า “ตอนนี้ Stephen พูดไม่ได้แล้ว เราต้องทำอย่างไรกันดี?” ดังนั้นผมจึงต้องทำให้ระบบเพียบพร้อมที่สุด หนึ่งในงานชิ้นแรกๆ ของผมคือการทำให้เซนเซอร์อินฟราเรดติดตั้งลงบนแก้มของเขา เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับตัวเขามากกว่าการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ทั้งหมด การค่อยๆ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับตัวเขาเป็นสิ่งสำคัญ Stephen ร้องขอสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองไม่ได้เพราะสิ่งที่เขาทำไม่ได้ก็คือการเปล่งเสียง ความเข้าใจในเรื่องนี้ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายในการอัพเกรดสิ่งต่างๆ

 

เสียงของ Stephen ค่อนข้างมีเอกลักษณ์มาก ซึ่งคุณบอกว่ามันทำให้เป็นปัญหาในการเก็บรักษาไว้?

SB: หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจที่สุดในออฟฟิศของผมคือกล่องสีเทาเล็กๆ กล่องหนึ่ง ในนั้นมีฮาร์ดแวร์ที่ก็อปปี้เสียงของ Stephen เก็บไว้อยู่ เป็นการ์ดที่เก็บข้อมูลจากช่วงยุค 80 และเป็นหนึ่งในเสียงตัวอย่างของเขา มันต้องใช้โปรแกรมที่พิเศษมากในการเปลี่ยนคำสั่งตัวอักษรให้กลายเป็นเสียงแบบของ Stephen ซึ่งเรามีการ์ดแบบนี้เก็บไว้อยู่เพียง 2 ชิ้นเท่านั้น บริษัทที่สร้างสิ่งนี้ไว้ล้มละลายไปแล้ว และไม่มีใครรู้วิธีการทำงานของมันอีก ผมจึงต้องพยายามอย่างมากในการถอดรหัสของมัน

 

ทำไมคุณถึงไม่อัพเดตมันด้วยเสียงสังเคราะห์ล่ะ?

SB: ไม่ล่ะ มันควรต้องเป็นเสียงดั้งเดิมในตัวเอง ในความเห็นของผม เสียงแบบนี้คือส่งที่ระบุความเป็นตัวตนของ Stephen ได้เป็นอย่างดี ที่จริงมันเป็นเรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนเสียงให้ชัดเจนขึ้น ให้ฟังง่ายขึ้นกว่าเดิม ลดระดับเสียงแบบหุ่นยนต์ๆ ลงไป แต่ผมมองว่ามันก็จะไม่ใช่เสียงของ Stephen อีกต่อไป

 

ที่จริงแล้ว Stephen ใช้วิธีอย่างไรเพื่อสื่อสาร?

SB: เขาเคยใช้คำสั่งที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเจอร์เพื่อพูดคุย ตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว คอมพิวเตอร์จะทำการไฮไลท์คำหรือประโยคในตารางขนาดใหญ่มาให้เขาเลือก เมื่อพบคำที่ถูกต้องแล้วผู้ใช้ก็จะกดปุ่มเลือกคำนั้นๆ แต่เมื่อมันมาถึงจุดที่เขาไม่สามารถใช้มือกดปุ่มอะไรได้แล้ว เขาก็เลยต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบอินฟราเรดที่ติดตั้งลงบนแว่นตา ซึ่งจะสะท้อนการเคลื่อนไหวบริเวณกล้ามเนื้อแก้มของเขาออกมาเป็นคำ

 

แล้วสมมุติว่าถ้าวันหนึ่ง เขาไม่อาจขยับแก้มได้ขึ้นมาล่ะ?

SB: Stephen เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มันทำให้ระดับการสลายตัวในกล้ามเนื้อของเขาเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งในตอนนี้กล้ามเนื้อใบหน้าคือสิ่งเดียวที่เขาสามารถควบคุมได้เป็นอย่างดี แต่ก็โชคร้ายที่มันมีแนวโน้มของการเสื่อมตัวอยู่เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น Stephen ก็ยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าการคาดการณ์

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือความช้าของระบบ อัตราความเร็วของการพูดสำหรับ Stephen ลดลงไปอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 1 คำต่อนาที และในขณะที่ผมพยายามใช้ข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีที่เขาใช้ มันก็มาถึงจุดที่เราควรต้องเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม เรามีการพยายามใช้ระบบตรวจจับดวงตา หรือระบบสแกนสมอง เราพยายามใช้เทคโนโลยีทุกอย่างเข้าช่วย สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือมันไม่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงอะไรเพิ่มเติม ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องโกนศีรษะของเขา

 

เขารู้สึกตื่นเต้นกับเทคโนโลยีใหม่ที่อาจจะถูกติดตั้งให้เขาสื่อสารได้ดีขึ้นหรือเปล่า?

SB: ตัวผมเองคิดว่ามันน่าตื่นเต้นอยู่นะ Stephen ออกจะมีทัศนคติดื้อดึงนิดหน่อยสำหรับอะไรแบบนี้ เขารู้สึกว่าเขาสามารถใช้งานระบบที่มีอยู่แล้วได้ต่อไป ผลคือเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสนทนามาพบเขา มาแสดงถึงเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ความเร็วในการใช้งานระบบที่มีอยู่ก็จะเร็วขึ้นกว่าเดิม

 

Travis Bonifield วิศวกรยอดฝีมือแห่ง Intel

 

คุณกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ช่วยของ Stephen Hawking ได้อย่างไร?

Travis Bonifield: ช่างเทคนิคคนหนึ่งที่ทำงานร่วมกับเขามาก่อนแล้ว ส่งต่องานนี้ให้กับผมในปี 2001 และผมก็ร่วมงานกับเขามาจนถึงตอนนี้ แต่นี่ไม่ใช่งานฟูลไทม์ของผมหรอก ผมเป็นช่างเทคนิคที่คอยดูแลโปรแกรมการใช้งานและชิปเซ็ตคอมพิวเตอร์ของเขา

 

เทคโนโลยีอะไรที่ใช้กับเขา?

TB: คอมพิวเตอร์ถูกสร้างขึ้นจาก 3 ส่วน คือแท็บเลตพีซี Lenovo X220, กล่องดำที่รวบรวมคำสั่งต่างๆ และฮาร์ดแวร์ในการเปล่งเสียง เหล่านี้ถูกประมวลผลด้วย Intel Core i7 ร่วมกับเว็บแคมที่ตรวจจับใบหน้าของ Stephen ซึ่งเขาก็สามารถใช้งาน Skype ในการติดต่อสื่อสารได้ด้วย

ข้างใต้วีลแชร์คือกล่องดำ ในนั้นบรรจุเครื่องขยายเสียง, ตัวควบคุมไฟฟ้า และฮาร์ดแวร์ USB ที่จะรับสัญญาณเซนเซอร์อินฟราเรดจากแว่นตาของ Stephen ส่วนฮาร์ดแวร์ในการเปล่งเสียงอยู่ในกล่องดำด้านหลังวีลแชร์ ซึ่งจะรับคำสั่งจากคอมพิวเตอร์ผ่านทางการเชื่อมต่อพอร์ท USB

 

Stephen ต้องทำอย่างไรเพื่อจะเปล่งเสียง?

TB: ครั้งแรกที่ผมพบกับเขา เขาใช้นิ้วมือในการควบคุม และยังพยายามใช้มือในการขับเคลื่อนวีลแชร์ เขายังเคยแกล้งดันผมไปติดกำแพงด้วย (หัวเราะ) เขาจะใช้งานปุ่มกดที่ถืออยู่ในมือ กดมันด้วยหัวแม่โป้งเพื่อไฮไลท์คำหรือสั่งการคอมพิวเตอร์ เขาจะใช้เวลาประมาณ 1 คำต่อนาทีเพื่อเอ่ยคำ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นกล้ามเนื้อมือของเขาก็เริ่มไม่ทำงาน ทำให้เขาต้องหาวิธีใหม่ในการสื่อสาร เดิมทีเราคิดจะใช้วิธีแปะเซนเซอร์ไว้ที่กล้ามเนื้อหน้าอก ซึ่งเขาดูจะไม่ตื่นเต้นกับมันนัก แต่ต่อมาเราก็ใช้เซนเซอร์อินฟราเรดเชื่อมต่อเข้าที่แว่นตาของเขาแทน มันจะรับสัญญาณมาจากการขยับแก้มของเขา และมันถูกเรียกว่า ‘cheek switch’

 

เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้เขาพูดได้เร็วขึ้นหรือเปล่า?

TB: ไม่กี่เดือนก่อน Stephen ส่งจดหมายถึง Gordon Moore (ผู้ร่วมก่อตั้ง Intel) เพื่อบอกว่า “การพูดของผมช้ามากๆ ในทุกวันนี้ มีทางไหนบ้างไหมที่ Intel พอจะช่วยได้” และตั้งแต่ตอนนั้น เราจะตั้งทีม 2 ทีมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่าเราจะสามารถช่วยเหลือเขาได้อย่างไรบ้าง ทีม XTL หรือ Experience Technology Lab ของเราเป็นฝ่ายที่ดูแลซอฟท์แวร์ตรวจจับใบหน้า ค้นหาวิธีที่จะช่วยให้ Stephen สามารถสื่อสารได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม

 

การที่ Intel เข้าช่วยเหลือเป็นผลมาจากการคุยกันโดยตรงระหว่าง Stephen กับ Gordon Moore ใช่ไหม?

TB: ทั้งคู่พบกันในงานประชุมครั้งหนึ่งเมื่อปี 1997 Gordon พบว่า Stephen ใช้งานเครื่องจักรของ AMD และก็ได้ถามเขาว่า “คุณอยากจะใช้คอมพิวเตอร์ของ Intel หรือเปล่า? เรายินดีมากที่จะสร้างมันเพื่อคุณ รวมถึงให้การดูแลต่อไปด้วย” ซึ่ง Stephen ตอบตกลง นั่นทำให้เราเริ่มต้นการสร้างคอมพิวเตอร์พิเศษสำหรับเขา และเราสามารถสร้างตัวใหม่ให้เขาได้ในทุกๆ สองปี

 

คุณต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นวางบนตักเลยหรือเปล่าตอนที่นั่งเครื่องบินเดินทางมาหาเขา?

TB: ปกติแล้วผมจะสร้างไว้ 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นเครื่องสำรอง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมแพ็คมันลงกระเป๋าเสื้อผ้า แต่ปรากฏว่าสายการบินทำมันหายไป 3 วันกว่าที่จะได้คืน ปีต่อมาผมเลยจัดส่งมันไปก่อนที่ตัวผมจะขึ้นบิน ซึ่งมันก็ถูกกักไว้ที่ศุลกากรเป็นเวลา 3 วันอีก โชคยังดีที่คราวนี้กระเป๋าเสื้อผ้าผมไม่หายไปไหน

 

ถือว่าเทคโนโลยีของพวกคุณประสบความสำเร็จไหม?

TB: คราวนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือการทำงานของฮาร์ดแวร์ทั้งหมดสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงของวันแรก หลังจากการทำงานที่ยาวนานในเรื่องซอฟท์แวร์ ซึ่งเป็นผลจากการปรับแต่งสิ่งต่างๆ ตามที่ผู้ช่วยของ Stephen ต้องการในตลอดหลายปีที่ผ่านมา

มันนับเป็นคอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดเท่าที่เราเคยใช้กับเขา เราพบว่าเมื่อคุณเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นแล้ว แอพพลิเคชันและโปรแกรมทั้งหมดก็ควรจะปรากฏขึ้นทันที เช่นเดียวกับซอฟท์แวร์สังเคราะห์คำพูดของเขาก็ควรจะพร้อมทำงานในทันทีด้วย แต่สิ่งที่เราพบคือการที่แอพพลิเคชันเหล่านี้เริ่มต้นทำงานขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เชื่อมต่อ ผลคือแอพพลิเคชันเสียงของเขาจะเริ่มต้น แต่ค่าความปลอดภัยกลับยังไม่ทำงาน และเราต้องวางการหน่วงเวลาในการเริ่มต้นระบบเอาไว้สัก 5 วินาทีเพื่อให้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์สามารถเริ่มทำงานได้สอดคล้องกันทั้งหมด

 

เมื่อทีมงานของ Intel ที่ดูแลเขาล้วนแต่อยู่ในสหรัฐอเมริกา แล้วใครจะเป็นคนดูแลหากว่าคอมพิวเตอร์เกิดปัญหาขึ้นมา?

TB: Robert Weatherly พนักงานของเราในสาขาที่เมืองสวินดอน ประเทศอังกฤษ เป็นคนที่ประจำการในพื้นที่ เขาสามารถบึ่งรถไปหา Stephen ได้ภายในสองชั่วโมง

 

ครอบครัวของคุณคิดอย่างไรกับการที่คุณได้ทำงานร่วมกับ Stephen Hawking?

TB: ภรรยาของผมเป็นครู เธอมักนำเรื่องราวของผมไปเล่าให้เด็กๆ ในชั้นเรียนฟังอยู่เสมอ โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าสิ่งที่น่าสนใจที่สุดอยู่ตรงที่การทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน ผมแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อการใช้ชีวิตของผู้คน และมันเป็นงานที่ทำให้ผมสนุกอยู่เสมอ

 

 

เรียบเรียงจาก
The man who saves Stephen Hawking’s voice

How Intel Gave Stephen Hawking a Voice

Stephen Hawking’s New PC

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
37
Shares
Previous Article

Google ลั่นพร้อมรับรองความปลอดภัยผู้ซื้อโฆษณา

Next Article

A.I. vs MANKIND เมื่อมนุษย์พ่ายปัญญาประดิษฐ์

Related Posts