Max Warburton และ Toni Sacconaghi สองนักวิเคราะห์แห่ง Bernstein ระบุสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Tesla ไม่สามารถผลิตและส่งมอบรถรุ่น Model 3 ได้ตามความต้องการของผู้สั่งจองได้ทันเวลา จนกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท เกิดจากระบบกลไกอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่ Elon Musk นำมาใช้ ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Tesla เพิ่งประสบปัญหาขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์บริษัท ภายหลังส่งมอบรถยนต์รุ่น Model 3 ให้ลูกค้าไม่ทันกำหนด จน Musk ต้องเข้ามาดูแลการผลิตด้วยตัวเอง และเร่งจนสามารถผลิตได้ถึงระดับ 2,500 คันต่อสัปดาห์ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2017
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวของบริษัทก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น เมื่อไม่สามารถผลิต Model 3 ได้ 5,000 คันต่อสัปดาห์ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ตามตั้งใจไว้ และต้องลดเป้าหมายลงมาเหลือ 2,500 คันต่อสัปดาห์ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ตามเดิม
สำหรับสาเหตุนั้น สองนักวิเคราะห์แห่ง Bernstein ชี้ชัดว่าการที่ Musk เน้นใช้งานเครื่องจักรเพื่อผลิต Model 3 ในโรงงานที่แคลิฟอร์เนีย ทำให้กระบวนการโดยรวมของ Tesla ซับซ้อนมากเกินไป ไม่สามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้ตรงตามกำหนด
“Tesla ได้พยายามจะเร่งกระบวนการผลิตโดยเครื่องจักรกลอัตโนมัติ เราเชื่อว่าพวกเขามีความทะเยอทะยานมากเกินไปกับระบบเครื่องจักรอัตโนมัติในสายพานการผลิต Model 3 ซึ่งไม่ค่อยมีใครได้เห็นมัน แต่เราทราบว่า Tesla ใช้เวลาในการผลิตสินค้าของพวกเขามากกว่าการผลิตโดยทั่วไปราว 2 เท่าตัว”
“พวกเขาลงทุนกับการใช้หุ่นยนต์ Kuka เป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ใช้มันในการปั๊มชิ้นส่วน, ลงสี หรือเชื่อมโลหะ (แบบที่กระบวนการทั่วไปใช้) เท่านั้น แต่ยัง.ช้มันในขั้นตอนประกอบขั้นสุดท้าย (ติดตั้งชิ้นส่วนลงในรถ) มันเป็นการใช้งานหุ่นยนต์ใน 2 ระดับ นี่คือสิ่งที่ Tesla ดูเหมือนจะมีปัญหา (เช่นเดียวกับการเชื่อมโลหะและการติดตั้งแบตเตอรี่)”
บทวิเคราะห์ระบุว่า ในค่ายผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น จะมีการจำกัดการใช้งานหุ่นยนต์ เพราะ “มีราคาแพง และโดยมากมักไม่สอดคล้องกับคุณภาพ” โดยจะใช้กระบวนการดั้งเดิม เพื่อให้เสร็จสิ้นขั้นตอนบางอย่างก่อน จึงค่อยนำเอาหุ่นยนต์มาเสริมในบางจุด ซึ่งตรงข้ามกับกิจการของ Tesla ที่เน้นให้ความสำคัญกับหุ่นยนต์เกือบจะ 100% ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ผลิตอย่าง Fiat และ Volkswagen เคยพยายามใช้งานหุ่นยนต์เป็นหลักในกระบวนการผลิตแล้ว และต่างก็ล้มเหลว
ลงทุนกับเครื่องจักรไม่ประหยัดกว่า
อีกทั้งบทวิเคราะห์ยังชี้ว่า การลงทุนกับหุ่นยนต์ไม่ได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวให้กับ Musk แต่อย่างใด
“วิธีนี้อาจช่วยให้ Tesla เลิกจ้างแรงงานไปได้ประมาณ 5 คน แต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็ต้องว่าจ้างช่างเทคนิคระดับสูงเข้ามาจัดการกับโปรแกรม และบำรุงรักษาหุ่นยนต์แทน”
Warburton กล่าวเพิ่มเติมว่า Musk ดูจะเลือกทางผิดไปในการบริหาร Tesla ว่าเน้นให้ความสำคัญกับหุ่นยนต์และกลไกอัตโนมัติมากเกินไป
“มีการวิจัยพบว่าระบบอัตโนมัติมักจะขัดกับหลักการของการผลิตดั้งเดิม แต่เหมือน Tesla เลือกจะไม่สนใจมัน หรืออาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาเชื่อว่ามันล้าสมัยไปแล้ว ในยุคที่ระบบเซนเซอร์และคอมพิวเตอร์ต่างๆ พัฒนาขึ้น”
ยิ่งช้า อาการยิ่งหนัก
ผลเสียของการส่งมอบรถล่าช้านั้น จะมีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทโดยตรง เนื่องจากปัจจุบัน Tesla มีหนี้สินอยู่ราว 9.5 พันล้านดอลลาร์ ทั้งจากเงินกู้ และสัญญาเช่าชนิดลงทุน (capital lease) เพื่อนำมาลงทุนในการสร้าง Giga Factory และโครงสร้างอื่นๆ
นั่นหมายความว่า Tesla จำเป็นต้องขายรถให้ได้มากที่สุด เพื่อหมุนเงินกลับมาชำระหนี้ให้ได้ตามกำหนด คิดเป็นเงินเกือบปีละ 500 ล้านดอลลาร์
แต่ความล่าช้าในการส่งมอบรถ นอกจากจะทำให้บริษัทไม่ได้รับเงินสดตามที่กำหนด ยังอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ต้องการจองรถ ที่อาจหันไปซื้อรถจากค่ายอื่นๆแทนก็เป็นได้ จนเป็นที่มาของ ราคาหุ้นที่ตกต่ำลงของ Tesla ในช่วงสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรถยนต์ฟันธงว่า Tesla เตรียมล้มละลายภายในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า
Warburton ทิ้งท้ายว่า “ถ้า Tesla ล้มเหลวในการผลิต หรือพบว่าความต้องการของลูกค้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ไปจนถึงการที่ไม่สามารถทำเงินได้จากสินค้าและเข้าสู่สภาวะปัญหาด้านการเงิน มันก็จะถูกมองเป็นเรื่องแง่บวกสำหรับบรรดาคู่แข่งในยุโรปทันที”
AHEAD TAKEAWAY
เมื่อลองตีความภาพกว้างที่ Tesla กำลังเป็น จะพบว่ามีอยู่ 3 ปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจ
1. การใช้หุ่นยนต์ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ชัดเจนว่า Elon Musk เชื่อมั่นในระบบการทำงานของเครื่องจักรกล จนเจ้าตัวเลือกใช้กระบวนการผลิตรถยนต์ของ Tesla โดยหุ่นยนต์ทุกขั้นตอน
แต่ปัญหาคือหุ่นยนต์ไม่อาจตอบสนองความต้องการของ Musk ได้มากพอ ทั้งซับซ้อน ใช้เวลานาน และไม่คุ้มกับการลงทุน สุดท้ายจึงส่งผลเป็นการผลิตและส่งมอบที่ล่าช้า จนกระทบลูกโซ่เป็นสภาพคล่องที่ติดขัดของบริษัท
2. ยอดผลิตรถยนต์ที่ลดลงในตลาดโลก
นอกจาก Tesla จะมีปัญหาเรื่องการผลิต ในความเป็นจริงยอดผลิตรถยนต์ทั่วโลกก็ลดลงเช่นกัน เห็นได้จากตัวเลขของ Society of Motor Manufacturers and Traders (SMMT) ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ผลิตรถยนต์ในอังกฤษสามารถผลิตรถยนต์รวมกันได้ 145,500 คัน ต่ำกว่าช่วงเดียวกันนี้ของปีที่แล้วอยู่ 4.4 เปอร์เซ็นต์ และนับเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันแล้วซึ่งกำลังการผลิตถดถอย
3. เทรนด์การไม่ใช้รถยนต์ในประเทศพัฒนาแล้ว
ในประเทศพัฒนาแล้ว ภาษีเกี่ยวกับรถยนต์เป็นเรื่องใหญ่ และรัฐมักให้ความสำคัญกับระบบขนส่งมวลชนเป็นพิเศษ ส่งผลให้ผู้คนหันไปใช้ระบบนี้ หรือจักรยานแทน เนื่องจากสามารถเดินทางได้สะดวกกว่า หรือแม้กระทั่ง Ride-Hailing ก็ช่วยเติมเต็มในจุดนี้ ทำให้ความสำคัญของการใช้รถยนต์ค่อยๆ ลดลง
สิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมทำให้ Tesla ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น
หรือแม้แต่ก้าวกระโดดของ SpaceX ที่ประสบความสำเร็จอย่างสวนทางกับ Tesla ก็อาจส่งผลให้ตัวของ Elon Musk แบ่งภาคไม่ถูกได้เหมือนกันว่าควรจะเน้นให้ความสำคัญกับฝั่งไหน จนกระทั่งกลายเป็นผลกระทบแง่ลบกับทาง Tesla โดยปริยาย
AHEADER’S THOUGHT
คำถามที่ตามมาคือ แล้วสุดท้าย Musk จะทำอย่างไรต่อไป? ระหว่างดึงดันใช้หุ่นยนต์ต่อไป หรือยอมถอยหนึ่งก้าวกลับมาใช้คนตามเดิม
ปัญหาคือเมื่อวิเคราะห์จากบุคลิกแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่า Musk จะไม่ถอย
เรียบเรียงจาก
The robots are killing Tesla
Elon Musk ‘may have fallen in love with the wrong thing’ and it’s hurting Tesla, Bernstein says
Number of cars built in UK falls for seventh month in a row
Tesla staggering $1 billion loss — in just three months
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน