Mark Zuckerberg CEO และผู้ก่อตั้ง Facebook คาดน่าจะสะสางปัญหาทุกอย่างของบริษัทได้ใน 3-6 เดือนข้างหน้า เริ่มจากการเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อดูแลความปลอดภัยด้านข้อมูลนับพันคน ด้านรัฐบาลอินโดนีเซีย ขู่พร้อมแบนทันที หากพบหลักฐานว่าข้อมูลส่วนบุคคลของคนในประเทศเล็ดรอดออกไป
ในการให้สัมภาษณ์กับ Ezra Klein เจ้าของพ็อดแคสต์ The Ezra Klein Show เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา Zuckerberg วัย 33 ยอมรับว่า Facebook กำลังเจอปัญหารุมเร้าอยู่จริง
ทั้งประเด็น Cambridge Analytica, การเก็บข้อมูลผู้ใช้ผ่านทางแอพพลิเคชัน Facebook Messenger ฯลฯ ส่งผลให้ราคาหุ้นตกอย่างหนัก จนมีการประเมินจาก The New York Times ว่าบริษัทแทบจะสูญเสียมูลค่าทั้งหมด กว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว
บทเรียนอื้อจากเลือกตั้ง ปธน. 2016
Zuckerberg ตอบคำถามของ Klein เรื่องที่ Facebook มีวิธีการจัดการอย่างไรกับข่าวปลอมต่างๆ ที่รัสเซียใช้บอทอัตโนมัติเป็นตัวแพร่ข่าว ว่ากำลังเพิ่มศักยภาพในการคัดกรองและเพิ่มระดับความเข้าใจของแพลตฟอร์มให้ดีขึ้น หลังได้รับบทเรียนจากความผิดพลาด ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016
“มันยากในเมื่อเราไม่ได้เป็นคนแรกที่เข้าใจกลไกที่เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2016 เราไม่เข้าใจเรื่องนี้ รวมถึงวิธีรับมือมากพอ เช่นข้อมูลที่ผิดพลาด หรือการแทรกแซงของรัสเซีย แต่ว่าตอนนี้คุณสามารถเดิมพันได้เลยว่าเรากำลังก้าวไปข้างหน้า”
Zuckerberg เผยต่อว่าเวลานี้ Facebook มีพนักงานด้านความปลอดภัยทางข้อมูลถึงกว่า 14,000 คน และมีแผนจะรับเพิ่มขึ้นอีก “เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถจัดการกับปัญหาแบบที่เราเจอในปี 2016 ได้” ทั้งยังมีการติดตั้งเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ลงในระบบ จนสามารถยับยั้งและลบบัญชีที่มีการแพร่ข่าวปลอมได้กว่า 30,000 ราย ระหว่างการเลือกตั้งที่ฝรั่งเศส
“ในการเลือกตั้งที่เยอรมนี เรามีการทำงานร่วมกับคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งเมื่อคุณได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ก็จะมีความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และอะไรคือสิ่งที่เราต้องมุ่งเน้น” Zuckerberg ระบุ “จากนั้นในการเลือกตั้งย่อยที่อลาบามา เราได้ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อตรวจหาบัญชีปลอมที่พยายามเผยแพร่ข่าวปลอม และเราทำได้สำเร็จก่อนที่จะมีการจัดอภิปรายเลือกตั้งหลายแห่ง”
ตอกกลับ Tim Cook กะล่อน
สำหรับกรณีที่ถูกพาดพิงโดย Tim Cook CEO Apple ว่ากรณีของ Cambridge Analytica ไม่มีทางเกิดขึ้นกับบริษัทของตนเด็ดขาด
เพราะโมเดลธุรกิจของ Apple และ Facebook นั้นอยู่กันคนละระดับ ขอเพียงแค่ผลิตสินค้าให้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องขายข้อมูลของลูกค้าให้ third party (ซึ่งยังมีการกระทบชิ่งไปถึงอีกหนึ่งบริษัท คือ Google ด้วย)
เพราะในอดีตนั้น Steve Jobs อดีต CEO ของ Apple ก็เคยเตือน Zuckerberg ถึงเรื่องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของลูกค้าไว้เช่นกัน
Zuckerberg ตอกกลับความเห็นดังกล่าวไปว่า Cook เป็นพวกปากว่าตาขยิบ อีกทั้ง Facebook ยังทำงานหนักเสมอมาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนสามารถใช้งานได้อย่างไร้ค่าใช้จ่าย
“ผมคิดว่าความเห็นนั้นซึ่งออกไปในเชิงที่ว่า ‘ถ้าคุณไม่ได้จ่ายเงินให้กับเรา เราก็คงไม่อาจใส่ใจอะไรคุณได้’ เป็นอะไรที่กะล่อนเกินไปและไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง ข้อเท็จจริงคือถ้าคุณต้องการที่จะสร้างบริการที่ช่วยเชื่อมต่อทุกคนในโลกเข้าด้วยกัน มันก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่สามารถจ่ายได้ นี่คือเรื่องเดียวกับธุรกิจสื่อที่มีรูปแบบการโฆษณาสนับสนุน แถมเป็นเพียงรูปแบบเดียวที่สามารถสนับสนุนการสร้างบริการนี้ให้เข้าถึงผู้คน”
“การตัดสินใจทั้งหมดของเราขึ้นอยู่กับสิ่งที่มีความสำคัญต่อชุมชนของเรา และมุ่งเน้นด้านการโฆษณาของธุรกิจต่างๆ ให้น้อยลง ถ้าคุณต้องการที่จะสร้างบริการที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในวงคนรวยแล้ว คุณก็จะต้องมีบางอย่างที่ผู้คนสามารถจ่ายได้”
“ผมคิดว่า Jeff Bezos พูดกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ดี ตอนที่เขาเปิดตัว Kindle เมื่อหลายปีก่อน ‘มีบริษัทที่ทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะเรียกเก็บเงินจากคุณมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีบริษัทที่ทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะเรียกเก็บเงินจากคุณน้อยลง’ และ Facebook อยู่ในข่ายของบริษัทที่ทำงานอย่างหนักเพื่อเรียกเก็บเงินจากคุณน้อยลง เป็นบริการฟรีที่ทุกคนสามารถใช้ได้”
“ผมไม่คิดว่านั่นจะหมายความว่าเราไม่สนใจคน ตรงกันข้าม ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการที่เราจะต้องไม่มีอาการสต็อคโฮล์มซินโดรม และปล่อยให้บริษัทที่ทำงานอย่างหนักเพื่อเรียกเก็บเงินคุณมากขึ้น ทำให้คุณเข้าใจว่าพวกเขาแคร์คุณจริง เพราะนั่นฟังดูไร้สาระสำหรับผม”
หวังเคลียร์ปัญหา Facebook ใน 6 เดือน
นอกจากนี้ Zuckerberg ยอมรับว่า Facebook กำลังอยู่ในสถานการณ์ปัญหาอันเป็นผลจากหลายกรณี และอาจผ่านช่วงเวลาสวยงามที่ผู้คนจะมองถึงแต่สิ่งดีๆ ในแพลตฟอร์มของพวกตนมาแล้ว แต่ก็คาดหวังว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาทุกอย่างได้ภายใน 6 เดือนข้างหน้า หรือก่อนที่จะเข้าสู่ปีใหม่ 2019
“ในช่วง 10 ปีแรกของบริษัท ทุกคนจะมองถึงแต่แง่ดี มาตอนนี้ ผู้คนเริ่มมองถึงความเสี่ยงและอีกมุมของบริษัทแล้ว ซึ่งผมคิดว่าเรามีการลงทุนในเรื่องนี้น้อยเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำอะไรเลย” โดยเจ้าตัวระบุว่าภายในปีนี้ Facebook จะเพิ่มพนักงานด้านความปลอดภัยข้อมูลขึ้นเป็นราว 20,000 คน
“เรากำลังพยายามลุยผ่านปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมันอาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ แต่ผมหวังว่าจะสามารถสะสางประเด็นทุกอย่างได้ภายใน 3 หรือ 6 เดือน แม้ว่าความเป็นจริง ในบางเรื่องจะต้องใช้เวลานานกว่านั้นมากก็ตาม ข่าวดีก็คือเราเริ่มลงทุนมากขึ้นมาได้ราวหนึ่งปีแล้ว เราผ่านขั้นแรกของกระบวนการที่อาจต้องใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณสามปี มาแล้ว และหวังว่าภายในสิ้นปีนี้ เราจะทำให้ผู้คนเริ่มหันมาพูดถึงประเด็นเหล่านี้บ้าง”
“เราอยู่ท่ามกลางปัญหาจำนวนมาก และผมคิดจริงๆ ว่าเราควรทำงานได้ดีขึ้นกว่านี้ แต่ผมก็ยังมองโลกในแง่ดี ผมมองว่ามันคือความท้าทายที่เราจะผ่านพ้นมันไปได้” Zuckerberg ทิ้งท้าย
รับฟังการสัมภาษณ์ Zuckerberg ใน The Ezra Klein Show แบบเต็มๆได้ที่นี่
อินโดนีเซียขู่แบน Facebook หากพบละเมิดข้อมูล
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซีย มีแนวคิดจะสั่งแบนการเข้าถึง Facebook ของประชาชนในประเทศ หากพบหลักฐานว่าโซเชียลมีเดียของ Mark Zuckerberg ล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอินโดนีเซียน และไม่สามารถป้องปรามการแพร่กระจายของข่าวปลอมได้ในการเลือกตั้งใหญ่ช่วงต้นปีหน้า
ข้อมูลของผู้ใช้ Facebook จำนวน 50 ล้านราย หลุดมาแล้วในแคมเปญหาเสียงของ Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ซึ่งทำให้ทางการอินโดนีเซียเกิดความกังวลว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นในประเทศตน ส่งผลให้ต้องเพ่งเล็งพฤติกรรมของ Facebook และไม่นานมานี้พวกเขาก็สั่งแบนแอพพลิเคชันส่งข้อความ Telegram มาแล้วด้วย
“ถ้าผมต้องสั่งปิด ผมก็จะทำ” Rudiantara รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของอินโดฯ กล่าว “ผมเคยทำมาแล้ว (กับ Telegram) และผมก็จะไม่ลังเลที่จะทำมันอีกครั้ง”
อย่างไรก็ตาม คำเตือนนี้ไม่ได้จำเพาะสำหรับ Facebook เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่าง Twitter หรือ Google กระนั้น 2 รายหลังก็ตกลงที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอินโดนีเซียแล้วเพื่อตรวจตราคอนเทนท์ในแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีคาดการณ์จำนวนผู้ใช้ Facebook ถึงกว่า 90 ล้านราย
AHEAD TAKEAWAY
หลังจากเจอมรสุมรุมเร้าหนักต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2018 นี่น่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ที่ยาวที่สุดครั้งหนึ่งของ Mark Zuckerberg ที่คงต้องการใช้โอกาสนี้เคลียร์ข้อข้องใจหลายๆเรื่องกับสื่อมวลชน แทนการโพสต์ข้อความบนแอคเคาท์ส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม การจะเรียกความมั่นใจของผู้ใช้งานกลับมาให้ได้ คงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่น่าจะทำสำเร็จในเวลาอันสั้น
ซึ่งคงต้องเริ่มจากการพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆในการเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซีย ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายนปีหน้าก่อน
เพราะหากยังไม่สามารถแก้ไขตรงจุดนี้ได้ การถูกแบนจากอินโดนีเซียที่มีฐานผู้ใช้งานกว่า 90 ล้านราย ก็น่าจะย่ิงส่งผลเสียหายหนักมากยิ่งขึ้นไปอีก
เรียบเรียงจาก
Mark Zuckerberg on Facebook’s hardest year, and what comes next
Indonesia Threatens to Shut Down Facebook If Privacy Breached
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน