10 วิธีการสร้างนวัตกรรมง่ายๆ แบบ AHEAD.ASIA

ที่ผ่านมา ผมและทีม AHEAD.ASIA ได้มีโอกาสไปพูดคุย พบปะ สัมภาษณ์ หรือร่วมงานกับผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ผู้บริหารระดับสูง และนักธุรกิจชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

เราจึงคิดว่าในฐานะที่ AHEAD.ASIA ต้องการจะเป็นสังคมเล็กๆที่เป็น Knowledge Hub ทางด้านนวัตกรรม ทั้งนวัตกรรมองค์กร และนวัตกรรมทางธุรกิจ เพื่อให้ความรู้แก่ทุกคนที่สนใจ เป็นส่วนเล็กๆที่ช่วยในการพัฒนาประเทศให้อยู่ได้อย่างมั่นคงในความเปลี่ยนแปลง

เราจึงคิดมาตลอดว่า เราควรมีการสังเคราะห์องค์ความรู้ของเราขึ้นมาบ้าง มากกว่าแค่รับเอา Model ของต่างชาติมาสอนต่อกันเฉยๆ

ดังนั้นผมเลยขออนุญาตเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการคิด 10 วิธีการสร้างนวัตกรรมแบบบ้านๆ ที่ผมลองสังเคราะห์จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผมบ้าง หยิบยืม ดัดแปลงคนอื่นมาบ้าง แล้วเอามาพูดคุยกับทีมงาน จนกลายเป็นบทความนี้ขึ้น

และด้วยความที่เป็นจุดเริ่มต้น ตัวอย่างบางข้อจึงยังเป็นของต่างประเทศอยู่ เราจึงคิดว่าถ้าเพื่อนๆที่อ่านสามารถนำไปลองใช้ หรือช่วยยกตัวอย่างจากสิ่งที่เคยทำสำเร็จแล้วโดยใช้วิธีการเหล่านี้ มาทำให้บทความนี้สมบูรณ์ขึ้นก็ได้โดยการคอมเมนท์ได้หรือคุยกับผมโดยตรงได้ที่ FB : Art Kraiwin

ผมเชื่อจริงๆว่า คนไทยอย่างเราสามารถช่วยกันเขียนเคส หรือทฤษฎีจากความรู้ความสามารถของเราเองได้ครับ

ถ้าพร้อมแล้ว เราไปเริ่มต้นกันที่ 10 วิธีการสร้างนวัตกรรมฉบับ AHEAD.ASIA

 

1

เลียนแบบ – บันดาลใจ

 

 

การเลียนแบบนั้น อาจนำไปสู่นวัตกรรมได้ ในกรณีที่มีการนำมาพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้ดีขึ้นกว่าต้นฉบับ หรือการเลียนแบบจากอุตสาหกรรมอื่นๆ แล้วนำมาปรับใช้

ตัวอย่างคือการที่ Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ Ford เลียนแบบไลน์การผลิตที่เขาเห็นจากโรงฆ่าสัตว์ ที่วัวเข้าไปเป็นตัว แต่ออกมาเป็นชิ้นในระยะเวลาเพียงแค่สั้นๆ เขาจึงคิดกลับกันว่า “รถยนต์”​ซึ่งเริ่มจากเป็นชิ้น น่าจะออกมาเป็นคันได้ในเวลาสั้นๆเช่นกัน เป็นที่มาของไลน์การผลิต ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตจากวันนั้น มาถึงวันนี้

 

2

สอบถาม

อย่าอายที่จะถาม เพราะนอกจากจะได้ข้อมูลใหม่ๆแล้ว ยังทำให้เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ตัวอย่างคือ ครั้งหนึ่งที่ P&G เคยออกนวัตกรรมใหม่ เป็นผงซักฟอกที่มีพลังทำความสะอาดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในประเทศเม็กซิโก

ซึ่งตามรูปการณ์แล้ว น่าจะเป็นนวัตกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ เพราะชาวเม็กซิกันมีรายได้ที่ไม่สูงมากนัก การใช้ผงซักฟอกน้อยลง น่าจะหมายถึงการประหยัดเงินในกระเป๋าของพวกเขาด้วย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับตรงกันข้ามกับที่คิดไว้ เพราะผงซักฟอกที่เป็นนวัตกรรมใหม่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

จนกระทั่งเมื่อพวกเขาไปสอบถามผู้ใช้งาน จึงทราบว่าคนส่วนใหญ่ยังใช้ผงซักฟอกปริมาณเท่าเดิม เพราะการใช้ผงซักฟอกลดลงครึ่งนึง หมายถึงฟองที่น้อยลง ซึ่งสำหรับผู้บริโภคนั้นไม่ว่าจะโฆษณาว่าพลังซักสะอาดขนาดไหน “ฟอง” ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาด เป็นความจริงที่ได้จากการสอบถาม

 

3

สังเกต

หลายครั้งที่การสอบถาม อาจไม่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เพราะผู้ถูกถามอาจไม่พูดความจริง หรือไม่รู้ตัวว่าเขาต้องการอะไร

ตัวอย่างเช่น ตู้เย็นที่มีประตูให้เติมของทางด้านหลังนั้น เกิดจากวิศวกรชาวญี่ปุ่นสังเกตว่า ตู้เย็นที่มีประตูแค่ด้านหน้านั้น ส่งผลเสียหลายอย่าง ทั้งพนักงานเติมของยาก ใช้เวลานาน ทำให้ตู้เสียความเย็นเปลืองค่าไฟ แต่พนักงานที่อยู่ใกล้เกินไปจนลืมที่จะสังเกตเห็นปัญหานี้ และในทาง Design Thinking ยังถือว่าการสังเกต หรือ Observing นั้นถือเป็นหนึ่งในวิธีเข้าใจลูกค้าที่มีพลังที่สุด

ขณะเดียวกัน พลังแห่งการสังเกตอีกเรื่องที่ผมชอบมากคือ “การตลาดถังขยะ” ที่ผมได้ยินจากคุณโจ้ ศิลป์ธรณ์ สันติธรณ์ ผู้บริหารของ อิชิตัน อินโดนีเซีย ผู้มีส่วนสำคัญในการพลิกอิชิตันในอินโดนิเชียให้กลับมาทำกำไรได้ ซึ่งคุณโจ้เล่าว่า

ตอนพัฒนาเพื่อจะออกสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ นั้น การสอบถามอาจไม่ตอบโจทย์ เพราะคนอาจตอบว่าอร่อย ซื้อ แต่เอาเข้าจริงไม่ซื้อ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือตั้งถังขยะไว้ หลังจากจุดที่แจกเครื่องดื่มออกไปซัก 100 เมตร 200 เมตร และ 500 เมตร เพื่อดูว่าผู้บริโภคดื่มหมดไหม เป็นการสังเกตผ่านระบบที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี

 

4

ฟังเสียงบ่น

การฟังเสียงบ่น หรือที่บรรดาสตาร์ทอัพเรียกว่า Pain Point นั้น นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆมานับไม่ถ้วน แม้แต่รุ่นใหญ่อย่าง Bill Gates ยังยืนยันว่า “คำบ่นของลูกค้า มีประโยชน์ในการปรับปรุงธุรกิจมากที่สุด หากรู้จักใช้” ซึ่งการบริหารคำบ่น และใช้ให้เป็นนี่แหละที่สำคัญมาก

เช่นในปี 1996 ที่มณฑลเสฉวนในประเทศจีน เกษตรกรจำนวนมากบ่นว่าเครื่องซักผ้าของ Haier นั้นมีปัญหาอุดตันบ่อยครั้ง พอทีมช่างเข้าไปตรวจสอบเสียงบ่นอย่างละเอียดจึงพบว่า เกิดจากการใช้งานผิดประเภท

เนื่องจากเกษตรกรนำเครื่องซักผ้าไปใช้ล้าง “มันเทศ” ถ้าคนไม่ฉลาด อาจด่าว่าลูกค้าโง่ แต่ผู้บริหาร Haier ฉลาดพอที่จะไม่เห็นเป็นเสียงบ่นที่ไร้สาระ และพิจารณามันอย่างรอบคอบ จนพบว่านั่นคือโอกาสครั้งสำคัญทางธุรกิจ เวลาไม่นานนัก Haier ก็ผลิตเครื่องล้างมันเทศออกมาขาย และผลลัพทธ์ก็คือ พวกเขาสามารถขายหมด 1,000 เครื่องอย่างรวดเร็ว เป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นจากการรับฟังเสียงบ่นอย่างตั้งใจ

 

5

เพิ่มเติม ผสมผสาน

 

 

การผสมผสานสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายสุด ที่อาจนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ iPad ที่ในการเปิดตัว ศาสดาอย่าง Steve Jobs ยังยอมรับเองว่า เป็นการผสมระหว่าง Tablet และ Smartphone และใช้จุดนี้มาเป็นกิมมิกในการเล่าเรื่องด้วยซ้ำ ซึ่งในที่สุด iPad กลายหนึ่งในนวัตกรรมที่นำความสำเร็จมาสู่ Apple

 

6

ลดออก ตัดทอน

ตรงข้ามกับการเพิ่มเติมผสมผสาน การลดออก ตัดทอนบางอย่างก็สามารถนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆได้ เช่น iPod Wheels ที่ทำให้การฟังเพลงง่ายขึ้น เป็นตัวอย่างของตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจนกลายเป็นนวัตกรรมเริ่มต้น ในการนำบริษัท Apple สู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง

ซึ่งในปัจจุบันรีโมททีวีของ Samsumg ก็ตัดทอนปุ่มมากมายให้ง่ายขึ้นคล้ายๆกับ iPod Wheels ซึ่งหากพิจารณาให้ดีการตัดทอนกระบวนการบางอย่างที่เยิ่นย้อออกไป ก็เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้เช่นกัน

 

7

ร่วมมือ

 

 

การร่วมมือระหว่างบริษัทหรือกลุ่มคนต่างๆ ที่ถนัดหรือมีจุดแข็งต่างกัน สามารถนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมมาแล้ว ไม่ว่าจะกรณีคลาสสิกที่ Swatch ผู้ผลิตนาฬิกา ร่วมมือกับ Mercedes ผู้ผลิตรตยนต์ สร้างรถยนต์รูปแบบใหม่คันเล็กน่ารัก

หรือการที่ Adidas ร่วมมือกับ Kanye West ปั้นแบรนด์รองเท้า Yeezy จนโด่งดัง ถึงขนาดขายรองเท้ารุ่นลิมิเต็ด 9 พันคู่หมดในเวลาเพียง 10 นาทีมาแล้ว

 

8

ซื้อ

เพราะของมันต้องมี บางทีการใช้เงินแก้ปัญหาก็เป็นทางเลือก การซื้อเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เป็น White Label มาเลยก็เป็นเรื่องที่ทำได้

หรือบางครั้งถ้ามีเงินเยอะหน่อย อาจใช้การซื้อทั้งบริษัทเหมือนที่ Facebook ซื้อ Instragram และ Oculus VR หรืออย่างที่ Intel ซื้อ Mobileye บริษัทเทคโนโลยีของอิสราเอลที่ทำ “ตา” ให้รถยนต์ไร้คนขับ ด้วยเงินกว่า 15,000 ล้านเหรียญ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้เงิน ที่ไม่ใช่แค่แก้ปัญหา แต่เพิ่มมูลค่าให้บริษัทด้วยนวัตกรรมที่ใช่

 

9

ประกวด แข่งขัน

การจัดการแข่งขันเพื่อหานวัตกรรมใหม่ๆนั้น เห็นมานานแล้ว ตั้งแต่การประกวดแผนธุรกิจในสมัยก่อน จนถึงการจัด Hackathon ที่กลายมาเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน

Hackathon เป็นรวมคำว่า Hack กับ Marathon เข้าด้วยกัน แปลให้เป็นภาษามนุษย์ปกติคือการ Code กันยาวๆ 2-3 วัน เพื่อให้คนจากหลากหลายสาขา และความถนัดมาขลุกและทำงานด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนไอเดีย หรือ โปรเจกต์ ให้กลายเป็น Product หรือ Solution โดยในปัจจุบันนั้นการทำ Hackathon นั้นไม่จำกัดแค่เรื่อง code อีกแล้ว

หลายครั้งที่ผลลัพธ์จากการทำ Hackathon อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวคุณสุดๆเช่นกัน เพราะถ้าคุณเคยใช้ปุ่ม Tag เพื่อนใน Facebook นั่นแหล่ะครับ เป็นนวัตกรรมที่เป็นผลลัพธ์ของ Hackathon

 

10

เปิดเสรี สร้างพื้นที่ ( Open Source )

 

 

เปิดให้ทุกคนสามารถช่วยพัฒนานวัตกรรม และสามารถนำไปใช้ได้อย่างฟรีๆ เป็นการเร่งสปีดและสร้างนวัตกรรมอย่างได้ผล

ระบบปฏิบัติการอย่าง Linux ที่เปิดให้คนทั่วโลกได้ร่วมพัฒนาและสามารถนำไปใช้ได้ฟรี อีกหนึ่งทางเลือก นอกจาก Windows และ Mac OS เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้

แม้จะไม่สามารถทำเงินได้จากนวัตกรรมตรงนี้ แต่ก็เป็นการสร้างระบบนิเวศ ( Ecosystem ) และสามารถไปรอทำเงินจากนวัตกรรมอื่นๆ ได้

เหมือนที่ Elon Musk ไปสร้างธุรกิจโซลาร์เซลล์รอ ในขณะที่เปิดให้คนใช้นวัตกรรมรถไฟฟ้า (EV) ของ Tesla ได้ เพื่อให้ตลาดโต และในระยะยาวนั้นจะส่งผลดีกับการเลิกใช้น้ำมัน ทำให้ Tesla เกิดเร็วขึ้น และธุรกิจด้านพลังงานของเขาก็เติบโตไปด้วยเช่นกัน

และนั่นคือ 10 วิธีการสร้างนวัตกรรมแบบง่ายๆ ที่ผมสังเกต รวบรวม และสังเคราะห์มาจากประสบการณ์ในการทำ AHEAD.ASIA

หากท่านเห็นด้วยไม่เห็นด้วยยังไงสามารถบอกเราได้ และอย่าลืมกด See First เพจ AHEAD.ASIA เพื่อร่วมเป็นสังคมเล็กๆที่รักในการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า กับพวกเรา

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

Tesla ได้เวลาจอดป้าย หรือไปต่อ? [FINAL CUT VER.]

Next Article

นักวิจัย AI จาก 30 ประเทศร่วมต่อต้านโปรเจกต์หุ่นยนต์นักฆ่า

Related Posts