นักวิจัย AI จาก 30 ประเทศร่วมต่อต้านโปรเจกต์หุ่นยนต์นักฆ่า

กลุ่มนักวิจัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จำนวน 57 คนจาก 30 ประเทศ ร่วมกันลงชื่อต่อต้านโครงการสร้างหุ่นยนต์นักฆ่า Killer Robots ของมหาวิทยาลัยในประเทศเกาหลีใต้ และยืนยันว่าจะไม่ให้ความร่วมมือกับทีมพัฒนาดังกล่าว เพราะเห็นว่าโครงการนี้จะนำไปสู่การพัฒนาอาวุธล้ำสมัยที่เป็นอันตรายอย่างมากในอนาคต

Killer Robots” เป็นโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ติดอาวุธสำหรับการใช้ในกองทัพและอื่นๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบัน Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) กับ Hanwha Systems บริษัทผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของเกาหลีใต้ โดยได้มีการเปิด ‘ศูนย์วิจัยเพื่อการรวมตัวกันของกองทัพและ AI’ ไปเมื่อ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา

Sung-Chul Shin ประธานของ KAIST ยืนยันว่า “Killer Robots” จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศ โดยระบุว่าเทคโนโลยีที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้พัฒนา จะมุ่งเน้นการสร้างระบบที่สามารถออกคำสั่งและตัดสินใจได้จากฐานของ AI, สร้างอัลกอริธึมสำหรับยานพาหนะใต้ทะเลขนาดใหญ่ที่ไร้กำลังคน, ระบบการฝึกอบรมอากาศยาน AI และระบบ AI ติดตามวัตถุและการจดจำเทคโนโลยี ก่อนจะมีการลบข้อความเหล่านี้ในเว็บไซต์ทิ้งในภายหลัง

ขณะเดียวกัน ก็มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า Hanwha คือผู้ผลิตยุทธภัณฑ์ที่ถูกห้ามใช้ใน 120 ชาติ ภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเกาหลีใต้, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย และจีน ไม่ได้เป็นผู้ลงนามในสัญญาด้วย

อย่างไรก็ตาม รายงานจาก Korea Times ก็เปิดเผยว่าโปรเจกต์นี้ กำลังถูกคัดค้านอย่างหนัก จากนักวิจัย AI ในหลายประเทศ ล่าสุดมีนักวิจัยจำนวน 57 คนจากเกือบ 30 ประเทศ เช่นจาก Cornell University (สหรัฐฯ), University of Cambridge (อังกฤษ), Artificial Intelligence Research Institute (สเปน), University of Freiburg (เยอรมนี), University of Tokyo (ญี่ปุ่น), Nanjing University (จีน), University of Sao Paulo (บราซิล) ร่วมกันลงชื่อต่อต้านโครงการนี้และประกาศว่าจะไม่ให้ความร่วมมือใดใดทั้งสิ้น

“มันมีสิ่งดีๆ มากมายให้คุณทำกับ AI เพื่อช่วยชีวิตคน ซึ่งการร่วมมือกับกองทัพก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่การเปิดเผยถึงเป้าหมายในการสร้างอาวุธอัตโนมัติและการเป็นพาร์ทเนอร์ลักษณะนี้ ทำให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก” Toby Walsh ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรเลีย แกนนำของกลุ่มคัดค้าน กล่าว “มันคือการร่วมมือกันของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง กับพาร์ทเนอร์ที่น่าสงสัยเรื่องจรรยาบรรณ ซึ่งยังคงละเมิดมาตรฐานสากลอยู่ในตอนนี้”

“การพัฒนาอาวุธอัตโนมัติจะสั่นคลอนความปลอดภัยในคาบสมุทรเกาหลีให้เลวร้ายลง ถ้ามันถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าในที่ใดก็ตาม ก็เป็นไปได้ที่มันจะกลายไปเป็นของเกาหลีเหนือ และพวกเขาคงไม่ลังเลที่จะใช้มันกับเกาหลีใต้”

Walsh ยังมีการส่งจดหมายตั้งคำถามไปยัง KAIST โดยตรง แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยการรวมตัวต่อต้านครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการประชุมเรื่องอาวุธอัตโนมัติของสหประชาชาติ (United Nations – UN) ที่เจนีวา ช่วงสัปดาห์หน้า และที่ผ่านมาก็มีกว่า 20 ประเทศที่เรียกร้องให้มีการแบนหุ่นยนต์นักฆ่าอย่างเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ด้าน Sung-Chul Shin ชี้แจงหลังทราบถึงกระแสต่อต้านโครงการ ว่า KAIST ไม่ได้ต้องการสร้างหุ่นยนต์นักฆ่าที่ปราศจากการควบคุมของมนุษย์แต่อย่างใด

“ผมอยากยืนยันให้แน่ชัดว่า KAIST ไม่ได้มีเจตนาที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาวุธอัตโนมัติที่ร้ายแรง และหุ่นยนต์นักฆ่า ในฐานะของสถาบันการศึกษาที่ให้ค่ากับสิทธิมนุษยชนและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างสูง ผมอยากยืนยันอีกครั้งว่า KAIST จะไม่ดำเนินการวิจัยใดใดที่ขัดต่อหลักการ รวมถึงอาวุธอัตโนมัติที่ปราศจากการควบคุมของมนุษย์”

 

AHEAD TAKEAWAY

ในขณะที่หลายบริษัททุ่มวิจัยพัฒนา AI ไปกับรถยนต์ไร้คนขับ, ธุรกิจร้านค้า, อุตสาหกรรมอาหาร, สื่อ และอีกหลายรูปแบบ ก็ยังมีอีกบางแห่งที่ซุ่มวิจัยและพัฒนาอาวุธ AI ‘หุ่นยนต์นักฆ่า’ อยู่เช่นกัน

ก่อนหน้ากรณีของ KAIST มีรายงานว่า Dodaam System ของเกาหลีใต้ สามารถสร้างหุ่นยนต์ Combat Robot ขึ้นมาได้แล้ว โดยมีศักยภาพในการล็อคเป้าโจมตีระยะ 3 ก.ม. และที่ผ่านมามีลูกค้าอย่างกาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่รับไปทดสอบ หรือโดรน The Taranis ของกองทัพอังกฤษ ก็สามารถควบคุมตัวเองได้อย่างสมบูรณ์

แม้ประธานของ KAIST จะยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้กำลังสร้างอาวุธล้ำยุคลักษณะนี้ แต่เมื่อปรากฎชื่อของบริษัท Hanwha อยู่ด้วย จึงนำมาซึี่งกระแสต่อต้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะการพัฒนาอาวุธอัตโนมัติ ยังอาจนำไปสู่สงครามยุคใหม่ ที่อาจถูกยกระดับไปสู่ ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ หรือกลายไปเป็นเครื่องมือของผู้ก่อการร้ายในที่สุด “สิ่งนี้จะมีส่วนช่วยให้เกิดสงครามได้เร็วขึ้น และมีขนาดใหญ่กว่าที่เคยเป็นมา”

“กล่องแพนโดร่ากล่องนี้ หากถูกเปิดขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะปิดลงได้”

 

เรียบเรียงจาก
AI experts call for boycott over ‘killer robots’ project at South Korea university
Scientists call for boycott of South Korean university over killer robot fears
Open Letter to Professor Sung-Chul Shin, President of KAIST

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

10 วิธีการสร้างนวัตกรรมง่ายๆ แบบ AHEAD.ASIA

Next Article
แลร์รี เอลลิสัน

ตามติดชีวิต แลร์รี เอลลิสัน อดีต CEO และผู้ก่อตั้ง Oracle

Related Posts