Mike Schroepfer หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) ของ Facebook ยอมรับความเสียหายเรื่องข้อมูลรั่วไหลในกรณี Cambridge Analytica มีมากถึง 87 ล้านราย หรือมากกว่าตัวเลข 50 ล้านคนที่สื่อนำเสนอก่อนนี้ เกือบเท่าตัว พร้อมระบุฐานข้อมูลผู้ใช้ในปัจจุบัน กว่า 2,000 ล้านคน มีความเสี่ยงในการถูกเข้าถึงจากผู้ไม่ประสงค์ดี
ความคืบหน้าล่าสุด กรณี Cambridge Analytica ดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แอพพลิเคชัน thisisyourdigitallife ไปใช้ ในแคมเปญหาเสียงของประธานาธิบดี Donald Trump เมื่อปี 2016 Schroepfer ในฐานะ CTO เปิดเผยข้อมูลใหม่ผ่านบล็อก Newsroom ว่ามีการนำข้อมูลของผู้ใช้ Facebook กว่า 87 ล้านรายไปใช้ ไม่ใช่ 50 ล้านอย่างที่เป็นข่าว ซึ่งตรงกับที่ Mark Zuckerberg CEO และผู้ก่อตั้ง กล่าวไว้ก่อนหน้านี้
“โดยสรุปแล้ว เราเชื่อว่าข้อมูลผู้ใช้งาน Facebook จำนวน 87 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ได้ถูกแชร์อย่างไม่ถูกต้องโดย Cambridge Analytica“
ในบล็อกเดียวกัน ยังเปิดเผยกราฟคาดการณ์จำนวนข้อมูลผู้ใช้ในแต่ละประเทศที่ถูก Cambridge Analytica แชร์ออกไป โดยสหรัฐคือชาติที่ข้อมูลรั่วไหลมากที่สุด ที่จำนวน 70,632,350 คน หรือคิดเป็น 81.6 เปอร์เซ็นต์
ตามด้วย ฟิลิปปินส์ 1.17 ล้านคน, อินโดนีเซีย 1.09 ล้าน, สหราชอาณาจักร 10.8 ล้าน, เม็กซิโก 7.9 แสน, แคนาดา 6.2 แสน, อินเดีย 5.6 แสน, บราซิล 4.4 แสน, เวียดนาม 4.2 แสน และออสเตรเลีย 3.1 แสนคน

Schroepfer เผยเพิ่มเติมว่า Facebook ได้ยกเลิกการค้นหาบัญชีผู้ใช้ โดยหมายเลขโทรศัพท์ หรืออีเมล ไปแล้ว เนื่องจากพบว่าฟีเจอร์นี้ถูกนำไปใช้โดย ‘ผู้ไม่ประสงค์ดี’ เพื่อเข้าถึงข้อมูลบางส่วนที่ปรากฎในหน้าบัญชีส่วนตัวได้
“ที่ผ่านมา คุณสามารถกรอกเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมล เพื่อค้นหาบัญชีผู้ใช้ที่คุณต้องการได้ ฟีเจอร์นี้เป็นประโยชน์ในการค้นหาเพื่อนสำหรับประเทศที่มีความยากในการระบุชื่อเต็ม หรือที่ที่มีคนชื่อซ้ำๆ กันเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นในบังกลาเทศ ฟีเจอร์นี้ช่วยให้การค้นหาดีขึ้น 7%”
“อย่างไรก็ตาม ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้มันไปกับการเจาะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ด้วยการกรอกเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลที่หามาได้ เราจึงเชื่อว่าผู้คนจำนวนมากใน Facebook ถูกเก็บข้อมูลสาธารณะไปด้วยวิธีนี้ และเราได้ปิดการใช้งานฟีเจอร์นี้ไปแล้ว”
ด้านสำนักข่าว Bloomberg ก็เสริมโดยยึดข้อมูลจาก Schroepfer ว่า ข้อมูลของผู้ใช้ Facebook กว่า 2,000 ล้านราย เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าถึงด้วยวิธีดังกล่าว
นอกจากนั้น Schroepfer เผยว่า Facebook เตรียมปรับเปลี่ยน News Feed ในบางจุดอีกครั้ง ในวันที่ 9 เม.ย. นี้ ด้วยการนำข้อมูลการใช้และรับบริการต่างๆ จากแอพที่ผู้ใช้ได้ลงชื่อไว้ มาแสดงอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถลบทิ้งแอพที่ไม่ต้องการได้โดยสะดวก
“หนึ่งในกระบวนการนี้ เราจะบอกให้ผู้คนได้รับทราบว่าข้อมูลของพวกเขาได้ถูกแชร์จาก Cambridge Analytica โดยไม่ถูกต้อง หรือไม่”
AHEAD TAKEAWAY
ไม่ว่าจะ 50 ล้าน หรือ 87 ล้านคน ตัวเลขข้อมูลที่รั่วไหลในกรณี Cambridge Analytica อาจไม่สำคัญ เท่ากับการเผยให้เห็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ของธุรกิจโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ loophole ที่บริษัทประมาท จนเป็นเหตุให้อีกบริษัท หาช่องเจาะเข้าไปสู่ระบบ และดึงออกมาใช้ทำประโยชน์อย่างที่เกิดขึ้นแล้ว
และก็เช่นกัน กว่าที่จะมีการปิดฟีเจอร์ ค้นหาบัญชีผู้ใช้ผ่านเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลที่ลงทะเบียนไว้กับแพลตฟอร์ม ก็น่าจะมีคนเห็นช่องว่างตรงจุดนี้ และนำไปใช้ประโยชน์แล้วเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่มักตั้งค่าไว้เป็นสาธารณะ
Business Insider ระบุว่าด้วยฟีเจอร์นี้ ข้อมูลรายละเอียดต่างๆที่คุณตั้งไว้เป็นสาธารณะ เช่นชื่อสกุล, บ้านเกิด, วันเดือนปีเกิด อาจถูกคัดลอกไปใช้ในทางใดทางหนึ่งแล้ว
แม้จะไม่สำคัญเท่ากับข้อมูลอื่นๆในระดับลึกกว่าเช่นเลขบัตรเครดิต หรือพาสเวิร์ด แต่ก็มากพอจะทำให้ Bloomberg โจมตี Facebook อย่างรุนแรงว่า “นี่คือหลักฐานใหม่ที่บอกว่ายักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียเจ้านี้ ล้มเหลวในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ในขณะเดียวกันกับที่พวกเขาสามารถกอบโกยเงินเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ได้จากข้อมูลเหล่านี้”
และสำหรับ Ahead Asia ก็อยากขอแจมนิยามกับเขาด้วยสักหน่อยว่า “ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ไม่อาจวางใจในความปลอดภัยได้เลยจริงๆ”
เรียบเรียงจาก
Facebook Exposed 87 Million Users to Cambridge Analytica
Facebook drops a bombshell and says most of its 2 billion users may have had their personal data scraped
Facebook Says Data on Most of Its 2 Billion Users Vulnerable
An Update on Our Plans to Restrict Data Access on Facebook
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน