ทุกครั้งที่เอ่ยถึงเทคโนโลยีพลังงานสะอาด โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
ชื่อแรกที่คนในวงการต้องพูดถึงเป็นอันดับแรก ไม่มีตัวเลือกอื่น นอกจาก Tesla Inc. ผู้ผลิตรถยนต์ EV ระดับไฮเอนด์ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้งานจำนวนมาก
แม้แต่คนที่ไม่เคยสัมผัส ก็ยังน่าจะเคยได้ยินชื่อของแบรนด์นี้ หรืออย่างน้อย ก็น่าจะเคยผ่านหู ชื่อ CEO ของบริษัทอยู่บ้าง
เพราะเขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่โด่งดังที่สุดในโลก
Elon Musk
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับเสียงชื่นชม ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมมากแค่ไหน
แต่ในแง่ผลประกอบการนั้น อาการของ Tesla ดูจะมีแต่ “ทรง” กับ “ทรุด” มาโดยตลอด
แมวเก้าชีวิต
Tesla Motors นั้น ไม่ใช่บริษัทที่ Musk เป็นผู้ก่อตั้งด้วยตัวเอง
เขาเริ่มต้นที่นี่ในฐานะนักลงทุน เมื่อเข้าถือหุ้นบริษัทในช่วงระดมทุน Series A round ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ด เพื่อให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ รวมถึงกลยุทธ์ทางการตลาด
ปัญหาของ Tesla ในยุคแรกนั้น คือ Martin Eberhard ผู้ก่อตั้ง เป็นวิศวกรฝีมือดี แต่ขาดคุณสมบัติในด้านการบริหาร
การผลิต Roadster รถยนต์ EV รุ่นเปิดตัวของบริษัท จึงเต็มไปด้วยปัญหา
สุดท้าย Musk จึงต้องสั่งปลดอีกฝ่ายกลางอากาศ และหา CEO มืออาชีพเข้ามาทำหน้าที่แทน
ด้วยเหตุผลที่รวบรัดว่า เขาลงทุนกับบริษัทนี้ไปมาก การเข้ามาควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง เพื่อให้บริษัทดำเนินการต่อได้ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลดีแล้ว
แม้จะประคองให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤตครั้งแรกมาได้ แต่สถานะทางการเงินของบริษัทก็ยังไม่ดีนัก หนักไปทางประคองตัวจากภาวะขาดทุนมาตลอดระยะเวลานับสิบปี
และยังไม่มีวี่แวว ว่าจะทำกำไรเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่
เพราะแม้รายได้ของบริษัท (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยอดจำหน่ายรถยนต์ รองลงมาคือธุรกิจพลังงาน) จะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ขาดทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน
อันเป็นผลจากการลงทุนมหาศาลในด้าน R&D
โดยเฉพาะกับ Giga Factory โรงงานขนาดยักษ์ ขนาดกว่า 10 ล้านตารางฟุตสำหรับผลิตแบตเตอรี่ Li-ion ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla โดยเฉพาะ
มีเพียงมูลค่าของบริษัทในสายตานักลงทุนที่ขยับขึ้นเรื่อยๆ ตามชื่อเสียงของ Musk จนแซงหน้าราคาหุ้นของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะ Mercedes Benz, BMW หรือ Ford
ทั้งที่ในความเป็นจริง บริษัทเหล่านี้ยังมีผลกำไร และให้เงินปันผลตอบแทนแก่นักลงทุนเหล่านั้นด้วยซ้ำ
แต่คนเหล่านี้ก็ยังเชื่อมั่นใน Tesla
เพราะชายที่ชื่อ Elon Musk คนเดียว
สภาพไม่คล่อง
ปัญหาคือเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ความ hype จาก Musk อย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ
ปลายปีที่แล้ว Tesla ประกาศผลประกอบการช่วงไตรมาส 3 ปี 2017 ต่อสาธารณชน ระบุว่าบริษัทขาดทุนถึง 619 ล้านดอลลาร์
ถือเป็นการขาดทุนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท
เนื่องจากไม่สามารถผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่น Model 3 ได้ทันความต้องการของผู้บริโภค
ทั้งที่ Musk ตั้งเป้าไว้ให้ Model 3 เป็นรุ่นที่จะบุกเบิกตลาดสำหรับผู้ใช้รถยนต์ทั่วไป ในราคาที่จับต้องได้ (เริ่มต้นที่ 35,000 ดอลลาร์)
และสร้างความฮือฮาด้วยการมียอดสั่งจองในช่วงแรก พุ่งทะลุเป้าถึงหลัก 375,000 คัน
แต่ด้วยความไม่พร้อมในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่ กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้บริษัทไม่สามารถผลิตเพื่อส่งมอบได้ทัน
เมื่อไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามกำหนด รายได้ที่ควรจะมี เพื่อนำไปชำระหนี้สินก็หดหายไป
ความเชื่อถือถดถอย
ที่ผ่านมา สภาพคล่องของบริษัท ไหลลื่น เพราะได้อานิสงส์จากนักลงทุนที่ยังเชื่อมั่นในตัว Musk
แต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Tesla ก็ต้องเจอกับหมัดเด็ดที่กระทบกับสถานะของบริษัทอย่างจัง เมื่อ Moody’s ประกาศปรับลดความน่าเชื่อถือของ Tesla จาก B2 เป็น B3
หรือระดับสุดท้ายของกลุ่ม “ต่ำและมีการเก็งกำไรสูง”
นั่นแปลว่าสถานะของ Tesla ในสายตาสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เริ่มถดถอยลงแล้ว
หลังจากเจอหมัดตรงจาก Moody’s ไป Tesla ยังเจอหมัดชุดต่อเนื่องตามมา เพราะความมั่นใจที่ลดลงของนักลงทุน ทำให้ราคาหุ้น TSLA ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ลดลง 9% เหลือ 254.06 ดอลลาร์
ถ้านั่นยังไม่ชัดเจนพอ ลองย้อนกลับไปเมื่อตอนต้นปี จะพบว่ามันลดลงถึง 18.5% ในรอบสามเดือนหลังสุด
และหากเทียบกับช่วงที่ราคาหุ้นขึ้นสูงสุด เมื่อปีที่แล้ว ถือว่าตกลงมาถึง 35% หรือเกินกว่า 1 ใน 3 ด้วยซ้ำ
อาการเมาหมัดของ Tesla เป็นเหตุให้ John Thompson หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการลงทุนแห่ง Vilas Capital Management ตัดสินใจแสดงทรรศนะผ่านจดหมายถึงนักลงทุน
โดยพุ่งเป้าไปที่การบริหารการเงินที่ผิดพลาด ไม่สามารถทำกำไรได้เป็นเวลานาน
และนำไปเปรียบเทียบกับ Ford ที่ได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าหุ้นน้อยกว่า
แต่อย่างน้อยปีล่าสุด ยังทำกำไรได้ถึง 7,600 ล้านดอลลาร์ สวนทางกับ Tesla ที่ผลิตรถต่อหน่วยได้น้อยกว่า แต่กลับขาดทุน
พร้อมปิดท้ายว่า Tesla “น่าจะ” ล้มละลายภายใน 3-6 เดือน นับจากนี้
ใช่ว่านักวิเคราะห์ทุกคนจะฟันธงว่า Tesla Inc. ต้องล้ม
Michelle Krebs จาก Autotrader.com มองว่าโอกาสที่ Musk จะเรียกศรัทธากลับคืนมาจากนักลงทุนได้
คือการแก้ไขโปรดักชั่นของ Model 3 ให้ดีกว่าในช่วงหกเดือนหลังสุด “โดยเร็วที่สุด”
เพราะหากปล่อยให้ลูกค้าที่วางมัดจำ 1,000 ดอลลาร์ รอคอยนานเท่าไหร่ โอกาสที่คนเหล่านี้จะหมดความอดทนรอคอย และขอรีฟันด์คืน ก็มากขึ้นเท่านั้น
และนั่นมีแต่จะส่งสัญญาณเชิงลบถึงบรรดานักลงทุนทั้งหลาย ผู้เปรียบเสมือน “เส้นเลือดใหญ่” ของ Tesla โดยตรง
Krebs ยังเสริมอีกด้วยว่าสารพัดไอเดียที่อัดแน่นในหัวของ Musk
ทั้ง Tesla, SpaceX, Neuralink และ Boring Company นั้น ไม่เป็นผลดีสำหรับตัวเขา และบริษัทเหล่านี้เลย
“เขามีวิสัยทัศน์ที่กว้างมากในหลายๆเรื่อง จนเหมือนว่าเยอะเกินไป เพราะสุดท้ายสิ่งที่คนคาดหวังจริงๆ คือการที่เขาผลักดันให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นจริงขึ้นมาได้มากกว่า”
มากกว่าแค่รถยนต์
เหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายคนสนใจว่า Tesla จะ “ล้ม” หรือ “ไม่ล้ม” คืออิทธิพลของบริษัทที่มีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์
แรงกระเพื่อมจาก Tesla ที่มีต่อวงการรถยนต์มากขนาดไหนนั้น เห็นได้จากการที่ทุกวันนี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ “แทบทุกราย” ต้องหันมาพัฒนา EV เพื่อเตรียมป้อนสู่ตลาดในอนาคต
แต่นักวิเคราะห์หลายราย มองว่าสิ่งที่ Musk คิดไว้นั้น ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อป้อนสู่ตลาด ในรูปแบบอุตสาหกรรมดั้งเดิม
แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน (sustainable energy) ขึ้นใหม่ และธุรกิจ EV ก็เป็นเพียงแค่ “ส่วนหนึ่ง” ของแผนการเท่านั้น
หลังจากเมื่อปลายปีก่อน กลุ่มผู้ถือหุ้น Tesla เห็นชอบในการซื้อกิจการของ Solarcity เพื่อดึงผลิตภัณฑ์อย่าง Solar Roof (หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์) และ Powerwall (กล่องเก็บและจ่ายพลังงาน) ให้เข้ามาอยู่ในเครือเดียวกัน
R&D ต่างๆของ Tesla ทั้งการนำแบตเตอรี่ lithium ion มาใช้, Gigafactory ซึ่งจะทำหน้าที่ผลิตแบตเตอรี่ป้อนผลิตภัณฑ์ต่างๆของบริษัท ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายพลังงานทั่วโลก
เป็นไปเพื่อให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีราคาลดต่ำลงจนคนทั่วไปสามารถจับต้องได้ (ซึ่ง Model 3 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่จุดนั้น)
ซึ่งเมื่อไหร่ที่ทำสำเร็จ ไม่เพียงจะทำให้ Tesla เดินหน้าต่อถึงจุดคืนทุน (รวมถึงกำไร) เท่านั้น
ยังจะเป็นตัวจุดประกายให้ทั้งอุตสาหกรรมหันมาดำเนินการในแบบเดียวกัน คือเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม มาเป็น EV
และนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเทคโนโลยีด้านพลังงานอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงของการเกิดมลภาวะ ซึ่งจะส่งผลดีต่อโลกในระยะยาวอีกด้วย
ทางออก
ลำพัง Musk คนเดียว การจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้คงเป็นไปได้ยาก แต่หากเจ้าตัวมีแนวร่วมด้วย การผลักดันให้ความฝันนี้เป็นจริง อาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า
นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่เจ้าตัวถึงวางแผนการสร้างโรงงานของ Tesla ที่เซี่ยงไฮ้ (ปัจจุบัน ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในการเจรจากับรัฐบาลจีนได้)
เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตรถยนต์รุ่นต่างๆของบริษัทแล้ว ยังจะเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรม EV เติบโตเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย ผ่านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ Musk พร้อมเปิดให้อีกฝ่ายนำไปพัฒนาต่อ
และในกรณีที่ Tesla ไปต่อไม่ได้ด้วยกำลังของตัวเองจริงๆแล้ว Musk ก็ยังมีทางเลือกอยู่ดี
หนึ่งในนั้นคือ Apple ซึ่งมีข่าวมาตลอดเรื่องการซื้อกิจการ/เข้าถือหุ้น Tesla เนื่องจากนับแต่หมดยุคของ Steve Jobs แล้ว บริษัทดูจะขาดแรงผลักดันด้านนวัตกรรมอย่างเห็นได้ชัด
เพราะบุคลิกของ Tim Cook นั้น โน้มเอียงไปทาง “ผู้บริหาร” มากกว่าจะเป็น “ผู้ประกอบการ” ขณะที่คุณสมบัติของการคิดค้นสิ่งใหม่ๆนั้น มีอยู่ในตัว Musk และ Tesla มากกว่า
หรือหากไม่ใช่ Apple แล้ว อีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ ก็คือ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ที่สองผู้ก่อตั้ง Larry Page และ Sergey Brin ดูจะมีมุมมองหลายอย่างที่ตรงกันกับ Musk
ในหนังสือของ Ashlee Vance ที่ชื่อ Elon Musk: Tesla, SpaceX, and the Quest for a Fantastic Future เล่าว่าทั้งสามคน รวมถึง George Zachary (นักลงทุน VC ซึ่งเป็นเพื่อนอีกคนของ Musk) มักจะไปรวมตัวกันที่อพาร์เมนต์แห่งหนึ่งในย่านดาวน์ทาวน์ของ พาโล อัลโต เพื่อหารือกันถึงแนวคิดใหม่ๆในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้เป็นประจำ
เฉพาะอย่างยิ่งในรายของ Page นั้น ดูจะสนิทสนมกับ Musk เป็นพิเศษถึงขนาดเคยประกาศว่า ถ้าเขาตายไปจริงๆ จะยกทรัพย์สินทั้งหมดให้กับเพื่อนคนนี้เลยทีเดียว
“You know, if I were to get hit by a bus today, I should leave all of it to Elon Musk.”
และยังเคยกล่าวด้วยว่าโมเดลธุรกิจของ Tesla และ SpaceX นั้น น่าจะ “ทำเงินได้”
นั่นหมายความว่าหากเครื่องยนต์ทางการเงินของ Tesla อาจจะได้รับแรงหนุนทางใดทางหนึ่งจาก Alphabet ในอนาคตก็ได้
เรายังไม่ได้พูดถึง Vision Fund กองทุนของ Masayoshi Son ที่พร้อมให้การสนับสนุนทุกบริษัทที่มีเทคโนโลยีน่าสนใจ
ยิ่งเป็นบริษัทที่แค่ชื่อก็ขายได้อย่าง Tesla แล้ว มีหรือที่ Son และมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย Mohamed Bin Salman จะไม่สนใจ!?!
Elon ผู้ไม่แพ้
ที่ผ่านมา เรามักคุ้นเคยกับเรื่องราวความสำเร็จของ Musk เป็นหลัก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เขาเคย “ล้ม” มาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง
ไล่ตั้งแต่ถูกปฏิเสธโดย Netscape ผู้บุกเบิกเว็บเบราเซอร์
หรือเมื่อร่วมก่อตั้ง PayPal เขากลับถูกสมาชิกคนอื่นๆปลดกลางอากาศ ระหว่างเดินทางไปฮันนีมูน
การถูกทางการรัสเซียปฏิเสธจะขายจรวดให้ ส่วนการทดลองสร้างและยิงจรวดด้วยตัวเอง ก็ล้มเหลวถึง 4 ครั้ง ภายในเวลา 3 ปี ฯลฯ อีกสารพัด
สิ่งสำคัญกว่า คือการที่เขาล้ม และ “ลุก” ขึ้นมาได้ทุกครั้ง
จนมีประโยคที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “If things are not failing, you are not innovating enough.”
หรือ
“หากคุณยังไม่เคยล้มเหลว นั่นแปลว่าคุณยังไม่สร้างสรรค์มากพอ”
ขณะที่สถานการณ์ของ Tesla ในปัจจุบันนั้น เจ้าตัวยังกล้าทวีตภาพและข้อความแบบติดตลกในวัน April’s Fool ได้ นั่นแปลว่ายังมีความมั่นใจพอสมควร ว่า “เอาอยู่”
Elon was found passed out against a Tesla Model 3, surrounded by “Teslaquilla” bottles, the tracks of dried tears still visible on his cheeks.
This is not a forward-looking statement, because, obviously, what’s the point?
Happy New Month! pic.twitter.com/YcouvFz6Y1
— Elon Musk (@elonmusk) April 1, 2018
และอย่างที่ว่าไว้ในหัวข้อก่อนหน้านี้ Musk นั้นมีคอนเนคชั่นที่กว้างขวางพอสมควร
เมื่อไหร่ที่เขาเข็นคนเดียวไม่ไหว พันธมิตรและนายทุนทั้งหลาย ก็น่าจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือในที่สุด
เพราะแม้ Tesla จะเป็นธุรกิจของ Musk แต่การสร้างระบบนิเวศของพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนนั้น ไม่ใช่พันธกิจของเจ้าตัวเพียงคนเดียวอย่างแน่นอน
เรียบเรียงจาก
Tesla shares fall after Moody’s downgrades credit rating
Tesla ‘On The Verge’ of Bankruptcy: Vilas Capital
Tesla posted a record quarterly loss of $619 million as it struggles with Model 3 production
Larry Page says he wants his fortune to go to Elon Musk. Alphabet is the next best thing.
Tesla Factory In Shanghai Facing Delays
7 Ways Tesla Is Changing Everything
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน
นอกจากเพจ AHEAD ASIA คุณยังสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเราได้จากกลุ่ม AHEAD Community ที่จะมีทั้งข่าวสาร ข้อมูล เชิงธุรกิจและนวัตกรรม รวมถึงกิจกรรมอื่นๆมาร่วมสนุก
เพื่อที่เราจะได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน