นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัย University of Southern California เตือนไทยเตรียมเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ชะงักงัน ไร้ความเติบโตในทิศทางที่ดีเป็นเวลานาน ตามรอยญี่ปุ่น ที่ตกอยู่ในสภาวะนี้ไปก่อนแล้ว
Romain Ranciere และนักวิจัยอีก 2 คนของ University of Southern California เผยแพร่บทความที่เนื้อหาได้อ้างอิงถึงประเทศไทย ว่าเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับสภาพสังคมที่กำลังขับเคลื่อนไปอย่างน่ากังวล และองค์ประกอบในส่วนต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
รายงานระบุว่า เมื่อราว 20 ปีก่อน ประเทศไทยเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดเกิดใหม่ แต่หลังจากที่มีก้าวกระโดดสูงเกินไปและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จึงมีการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น 10% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประสบปัญหาในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในค่าเงินบาท
ในปี 2017 ที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพียง 1.7% ส่วนอัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นเพียง 0.8% เท่านั้นในเดือนที่แล้ว และยังมีการเผยว่าภายในปี 2022 ไทยจะเป็นชาติกำลังพัฒนารายแรกที่เข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุ เมื่อจากการเผยข้อมูลของ ธปท. พบว่าจะมีประชาชนที่อายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนมากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนของการเพิ่มขึ้นในแง่นี้ยังสูงกว่าประเทศจีนด้วย
“นี่คือภาพเดียวกันกับญี่ปุ่น” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจไทยกล่าว “พวกเขากำลังมีลักษณะของประชากรแบบที่ญี่ปุ่นเคยเป็นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ทั้งยังอยู่ในเส้นทางแห่งอัตราเงินเฟ้อเป็นศูนย์ของญี่ปุ่น มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก รวมถึงยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง”
บทความชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทย มีการดำเนินการบางอย่างในเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งแนวทางนี้เคยทำให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาใหญ่มาแล้ว ขณะที่ ธปท. ก็ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2015 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวคิดอนุรักษนิยมซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ยาก
แม้ว่าไทยจะมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยสามารถทำเงินเพิ่มขึ้น 11.7% ในปีก่อน
แต่ในขณะเดียวกันก็มีการลงโทษสถานหนักกับผอพยพอย่างผิดกฎหมาย มีการกีดกันแรงงานต่างด้าวจากเมียนมาร์และเวียดนาม ซึ่งการปฏิบัติในแง่นี้ทำให้ไทยมีความใกล้เคียงกับญี่ปุ่นมากขึ้นด้วย
รายงานเสริมว่า ไทยควรเพิ่มระดับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องจักรกล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศจะมีความพร้อมในการให้บริการแก่ประชากรสูงวัยเป็นจำนวนมาก
AHEAD TAKEAWAY
เดิมที ประเทศจีนถูกมองว่าจะเดินตามรอยญี่ปุ่น ในสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ชะงักงัน แต่ผลวิเคราะห์ล่าสุดบอกว่าจะเป็นประเทศไทยมากกว่าที่เข้าใกล้กับสภาวะชะลอตัวของญี่ปุ่น
แม้จะเคยเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดเกิดใหม่ แต่ด้วยการบริหารงานและจัดการที่ผิดพลาดบางอย่าง ก็ทำให้ก้าวเดินเป็นไปอย่างติดขัด
ประเด็นสำคัญคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขเพียง 14% จากประชากรทั้งหมดของประเทศ แต่ก็มากเพียงพอจะทำให้ไทยเป็น ‘ชาติกำลังพัฒนารายแรก’ ที่เข้าสู่สภาวะนี้ อันจะมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศในหลายด้าน
น่าสนใจและน่าจับตาดูความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ว่าจะเป็นไปตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หรือไม่
เรียบเรียงจาก
The next Japan is not China but Thailand
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน