Mark Zuckerberg เปรยอาจปรับให้ Facebook มีระบบแบบจ่ายเงินสำหรับผู้ใช้ และยืนยันว่าไม่มีการลอบฟังเสียงผ่านไมโครโฟนในโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้แต่อย่างใด ระหว่างขึ้นให้การกับคณะกรรมาธิการตุลาการสภาคองเกรส ที่วอชิงตัน ดีซี และโดนสอบสวนเข้มเป็นเวลายาวถึง 5 ชั่วโมง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
สืบเนื่องจากการทำข้อมูลของผู้ใช้ 87 ล้านรายรั่วไหลทาง Cambridge Analytica จนถูกนำไปใช้ประโยชน์ในแคมเปญหาเสียงของประธานาธิบดี Donald Trump เมื่อปี 2016 Zuckerberg ในฐานะผู้ก่อตั้ง Facebook ได้ถูกเรียกตัวเข้าสอบสวนอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรส โดยมีกำหนดขึ้นให้การทั้งเมื่อวานนี้และวันนี้
ในช่วง 2 สัปดาห์หลังสุด Facebook มีการออกแถลงการณ์หลายฉบับ รวมถึงโพสต์ของ Zuckerberg ขอโทษผู้ใช้งาน และในการชี้แจงต่อหน้าคณะกรรมาธิการตุลาการและกองทัพสื่อมวลชน วานนี้ Zuckerberg พร้อมด้วย Sheryl Sandberg COO ของ Facebook ได้เข้าให้การ พร้อมย้ำถึงมาตรการปรับเปลี่ยน Facebook ในหลายกรณี เพื่อเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยในข้อมูลของผู้ใช้
ไม่ปิดโอกาสทำ Facebook แบบเก็บเงิน
Zuckerberg ถูกตั้งคำถามถึงเรื่องโมเดลการทำธุรกิจของ Facebook และวิธีการที่จะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ได้อย่างจริงจัง โดยวุฒิสมาชิกหลายคนจี้ไปที่ประเด็นเรื่องแนวคิดจะทำให้ Facebook มีรูปแบบที่ปราศจากโฆษณา ที่ผู้ใช้จะต้องจ่ายค่าบริการ หรือไม่ และผู้บริหารวัย 33 ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้
“มันจะมีเวอร์ชั่นแบบไร้ค่าใช้จ่ายของ Facebook อยู่เสมอ นี่คือภารกิจหลักของเราในความพยายามเชื่อมต่อทุกคนในโลกเข้าด้วยกัน เพื่อทำสิ่งนั้น เราเชื่อว่าเราจำเป็นต้องให้บริการที่ทุกคนสามารถจ่ายได้” Zuckerberg กล่าวกับสมาชิกวุฒิสภา Orrin Hatch ก่อนจะเผยกับ ส.ว. อีกรายว่าเวอร์ชันเสียค่าบริการเป็นสิ่งที่อาจถูกนำไปพิจารณาในภายหลัง
ขณะที่ Sheryl Sandberg กล่าวว่า “ณ ตอนนี้เรายังไม่มีการกำหนดทางเลือกในระดับสูงสุด ซึ่งนั่นอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องจ่ายเงิน”
ส.ว. Lindsey Graham ยังได้ขอให้ Zuckerberg ระบุชื่อคู่แข่งขันที่ใหญ่ที่สุดของ Facebook เพื่อตอบคำถามว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คของเขากำลังเป็นบริการที่ผูกขาดหรือไม่
ปรากฏว่า Zuckerberg ไม่อาจให้ชื่อใครได้ กระนั้นเมื่อถูกถามว่า Facebook มีอำนาจมากเกินไปหรือเปล่า เจ้าตัวก็ขอคัดค้าน “ชัดเจนว่าสำหรับผม มันไม่เป็นแบบนั้น”
ยันเปล่าดักฟังเสียงผู้ใช้
ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า Facebook รวมถึงแอพพลิเคชันในเครืออย่าง Instagram อาจมีการลอบฟังและบันทึกเสียงของผู้ใช้ ผ่านทางไมโครโฟนในโทรศัพท์มือถือ เพื่อทำให้โฆษณาสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
และเมื่อถูกสมาชิกวุฒิสภาตั้งคำถามประเด็นนี้อีกครั้ง Zuckerberg ยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีการทำแบบนั้น แม้จะสามารถเข้าถึงเสียงได้เมื่อมีคนบันทึกวิดีโอเพื่อนำขึ้นเผยแพร่ออนไลน์ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงไมโครโฟนได้แต่อย่างใด
“เพื่อความชัดเจนในที่นี้ เราอนุญาตให้ผู้ใช้ถ่ายวิดีโอบนอุปกรณ์ของพวกเขาและแชร์วิดีโอเหล่านั้น ซึ่งวิดีโอเหล่านั้นมีเสียง ดังนั้นเราจึงเข้าถึงได้ในขณะที่คุณกำลังบันทึกวิดีโอ และเพื่อทำให้แน่ใจว่าวิดีโอของคุณมีเสียง และผมคิดว่ามันมีความชัดเจนในตัวเองอยู่”
ดึงผู้ใช้ร่วมรายงานแอพดูดข้อมูล
ส่วนในประเด็นการรักษาความปลอดภัยข้อมูลผู้ใช้ Zuckerberg เผยถึงมาตรการเพิ่มเติมล่าสุดว่าจะขอความร่วมมือจากผู้ใช้งาน Facebook เอง ให้ส่งรายงานถึงแอพพลิเคชันต้องสงสัยว่าจะมีการลับลอบเก็บข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด โดยหากพบหลักฐานความผิดจริงก็จะมี ‘รางวัลนำจับ’ ให้ผู้รายงานด้วย
ภายใต้โปรแกรมใหม่ ‘Data Abuse Bounty’ ผู้ใช้ Facebook จะต้องพบข้อมูลด้วยตัวเองหรือมีหลักฐานว่ามีการรวบรวมข้อมูลและนำไปใช้งานโดยหน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นการขายข้อมูล, ขโมยข้อมูล, ใช้งานเพื่อหลอกลวง หรือใช้งานเพื่อผลทางการเมือง
หากข้อมูลที่ได้รับรายงานเป็นความจริง ผู้รายงานจะได้รับรางวัลนำจับ พร้อมกับที่จะมีการแบนแอพดังกล่าวในทันที รวมถึงอาจดำเนินคดีกับผู้ลักลอบใช้ข้อมูลด้วย
รายงานระบุว่า รางวัลนำจับสำหรับผู้ใช้จะขึ้นอยู่กับขอบข่ายความเสียหาย โดยไม่มีการเปิดเผยตัวเลขในตอนนี้ แต่เชื่อว่ารางวัลสูงสุดจะไม่เกิน 40,000 ดอลลาร์
AHEAD TAKEAWAY
ผ่านมาแล้วสองวัน สำหรับ Mark Zuckerberg ขึ้นให้การกับคณะกรรมาธิการตุลาการสภาคองเกรส ที่วอชิงตัน ดีซี
ซึ่งประเด็นหลักๆ ก็คงไม่พ้นเรื่อง “ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้” ที่หลังจากนี้ Facebook คงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกหลายด้าน เพื่อแก้ปัญหาจุดนี้ให้ได้ ตามที่ประกาศไว้
แต่บางที ประเด็นที่น่าคิดที่สุด อาจมาจาก ส.ว. Lindsey Graham ก็ได้ เมื่อเธอตั้งคำถามกับ Zuckerberg ว่าในธุรกิจนี้ มีบริษัทไหนที่ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของ Facebook บ้าง
คำตอบคือไม่มี
และนั่นหมายถึงหาก Facebook ยังไม่แก้ไขข้อบกพร่องที่มี รวมถึงยังไม่สามารถเคลียร์ตัวเองให้โปร่งใสได้ในเรื่องการนำข้อมูลผู้ใช้ไปขาย
เราก็ยังไม่มีทางเลือกใดๆอยู่ดี หากไม่สามารถถอนตัวจากการใช้โซเชียลมีเดีย ที่เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้วได้
เรียบเรียงจาก
The 5 biggest takeaways from Mark Zuckerberg’s appearance before the Senate
Mark Zuckerberg isn’t ruling out a paid version of Facebook
Zuckerberg shoots down conspiracy theory that Facebook taps your microphone
Facebook introduces new ‘Data Abuse Program’ that pays to find apps misusing data
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน