Zuckerberg รับข้อมูลตัวเองหลุดด้วย-เตรียมใช้กฎใหม่ EU กับทั่วโลก

Mark Zuckerberg ยอมรับ ข้อมูลส่วนตัวของตนก็หลุดออกไปทาง Cambridge Analytica พร้อมผู้เสียหาย 87 ล้านคนด้วย พร้อมเปรยเตรียมใช้กฎปกป้องข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรป (European Union’s General Data Protection Regulation – GDPR) กับผู้ใช้ Facebook ทั่วโลก ระหว่างขึ้นให้การกับสภาคองเกรส ที่วอชิงตัน ดีซี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

วานนี้ CEO และผู้ก่อตั้ง Facebook ขึ้นให้การกับคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ โดยใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงเช่นเดียวกับวันแรก

พร้อมกล่าวย้ำถึงมาตรการแก้ไขปัญหาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาใช้เวลาตั้งคำถามกับกรณี Cambridge Analytica น้อยลง และตั้งคำถามในหัวข้อที่ครอบคลุมมากขึ้น

Anna Eschoo ยิงคำถามไปยัง Zuckerberg ว่าข้อมูลส่วนตัวของเขาเป็นหนึ่งใน 87 ล้านบัญชีที่รั่วไหลจากแอพพลิเคชันเจ้าปัญหาหรือไม่

“ข้อมูลของคุณถูกรวมอยู่ในข้อมูลที่ขายให้กับบุคคลที่สามที่เป็นอันตรายหรือไม่? ข้อมูลส่วนตัวของคุณ?”

Zuckerberg ตอบเพียงสั้นๆ ว่า “ใช่” โดยไม่ได้เอ่ยรายละเอียดเพิ่มเติม

รายงานระบุว่าไม่มีความแน่ชัดว่า Zuckerberg ได้ติดตั้งแอพ thisisyourdigitallife ลงด้วยตัวเอง หรือข้อมูลของเขาถูกเก็บผ่านทางหนึ่งในคนสนิท

พร้อมกันนี้ Zuckerberg ยังได้ตอบคำถามเกี่ยวกับกฎปกป้องข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรป (GDPR) อันเป็นกฎหมายใหม่ที่จะถูกบังคับใช้ในกลุ่มประเทศ EU เดือน พ.ค. นี้ ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้แนวทางเดียวกัน กับผู้ใช้ Facebook ทั่วโลกที่มีจำนวนกว่า 2,000 ล้านคน

Gene Green ระบุว่า “คุณได้บอกว่า Facebook ตั้งใจจะทำให้การตั้งค่าเป็นแบบเดียวกันสำหรับผู้ใช้ในทุกสถานที่ ผมเข้าใจถูกหรือไม่ว่านอกจากการตั้งค่าแล้ว ยังรวมถึงแนวทางการป้องกันข้อมูลแบบเดียวกันกับในยุโรป?”

Zuckerberg ยืนยันว่าความเข้าใจของ ส.ส. Green นั้นถูกต้องแล้ว

ผู้บริหารวัย 33 กล่าวเสริมว่า “กฎ GDPR มีความสำคัญในหลากหลายส่วน หนึ่งคือการควบคุมภาพรวม ซึ่งนี่คือสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ อย่างที่สองคือการผลักดันให้เกิดความยินยอมและสร้างการควบคุมให้กับสิ่งที่ผู้คนเลือก และเราจะทำมันเช่นกัน เราจะใส่เครื่องมือการตั้งค่าที่ด้านบนของแอพที่ผู้คนเข้าใช้”

ทั้งนี้ GDPR ซึ่งจะถูกบังคับใช้ในวันที่ 25 พ.ค. เป็นกฎที่ว่าด้วยวิธีการรวบรวมข้อมูลผู้ใช้, การแชร์ และการลบข้อมูลตามคำขอของผู้ใช้ สำหรับบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในโลกออนไลน์

 

รับ Facebook ติดตามข้อมูลการใช้เว็บไซต์

Zuckerberg ยังได้ชี้แจงถึงการติดตามข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของผู้ใช้ ว่าเป็นไปเพื่อเป้าประสงค์ 2 ประการ คือการรักษาความปลอดภัย ป้องกันไม่ให้มีการดาวน์โหลดหน้า Facebook ที่เปิดเป็นสาธารณะ และการสร้างกลุ่มเป้าหมายให้กับผู้ซื้อโฆษณา

“แม้ว่าผู้ใช้จะไม่ได้เข้าสู่ระบบ เราก็จะติดตามข้อมูลบางอย่าง เช่นจำนวนหน้าเว็บไซต์ที่พวกเขาเข้าชม นี่คือมาตรการรักษาความปลอดภัยของเรา”

ส่วนประเด็นการที่ Facebook ถูกใช้เพื่อขายสินค้าผิดกฎหมาย เช่นยาที่ไม่มีใบอนุญาตถูกต้องนั้น Zuckerberg รับว่าจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราต่อไป

 

สื่อจวก ส.ว. ไม่ทันเทคโนโลยี

สำหรับการทำหน้าที่ของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมาธิการตุลาการสภาคองเกรส ของเมื่อวันอังคารที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ถูกตำหนิจากสื่อบางเจ้าว่าทำได้น่าผิดหวัง โดยเฉพาะการตั้งคำถามที่แสดงให้เห็นว่าผู้ทรงคุณวุฒิบางรายมีความตระหนักรู้ถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตค่อนข้างน้อย

คำวิจารณ์ต่อ ส.ว. อเมริกัน พุ่งเป้าไปที่การตั้งคำถามที่ ‘พื้นๆ เกินไป’ หลายสิ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ทั้งยังทำให้ Mark Zuckerberg ตอบคำถามโดยต้องพยายามกลั้นหัวเราะไปในคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า Zuckerberg ก็พยายามตอบคำถามแบบหลบเลี่ยงประเด็นในหลายครั้งเช่นกัน และมักใช้วรรคทองของตัวเองซ้ำๆ เช่น Facebook ไม่ได้ขายข้อมูล”, “เนื้อหาทุกอย่างที่คุณแชร์ เป็นของคุณ” หรือ “ผู้คนเลือกที่จะแชร์ข้อมูลด้วยตัวเอง”

 

IG ยังเหนียวแม้ #DeleteFacebook แรงไม่ตก

ด้านแคมเปญ #DeleteFacebook ที่เป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ สืบเนื่องจากคดี Cambridge Analytica นั้น ส่งผลให้บรรดาผู้มีชื่อเสียงหลายรายทยอยเลิกใช้งาน Facebook อย่างต่อเนื่อง ทว่าในส่วนของ Instagram โซเชียลมีเดียในเครือของ Facebook ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

ก่อนหน้าการขึ้นให้การต่อสภาคองเกรสของ Mark Zuckerberg ในสัปดาห์นี้ คนดังในแวดวงต่างๆ ทั้ง Elon Musk, Brian Acton ผู้ร่วมก่อตั้ง WhatsApp, Will Ferrell, Cher, Rosie O’Donnell และ Jim Carrey รวมถึง Steve Wozniak ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ต่างก็ลบบัญชี Facebook ของตัวเองทิ้งไป

อย่างไรก็ตาม บัญชี Instagram ของทั้งหมดยังคงอยู่เป็นปกติ อันแสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียเจ้านี้ไม่ได้รับผลกระทบ แม้จะอยู่ภายใต้การบริหารของ Facebook ก็ตาม

 

AHEAD TAKEAWAY

ถือว่าผ่านไปได้ด้วยดีสำหรับการขึ้นให้การต่อสภาคองเกรสของ Mark Zuckerberg เพราะการชี้แจงประเด็นต่างๆ ก็ไม่ทำให้กลายเป็นปัญหาที่ถูกพอกเพิ่มเติม

ยังมีรายงานว่า มูลค่าหุ้นของ Facebook ขยับขึ้นราว 4.5 เปอร์เซ็นต์ด้วยในระหว่างที่ Zuckerberg เข้าให้การ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประเด็นที่ควรกล่าวถึงเช่นการยอมรับแต่โดยดีของ Zuckerberg ว่าข้อมูลของเขาเป็นหนึ่งใน 87 ล้านบัญชีที่รั่วไหล เป็นการตอกย้ำว่าโซเชียลมีเดียเบอร์ 1 ของโลก มีปัญหาในการจัดการความปลอดภัยผู้ใช้จริง

เป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่าเมื่อ กฎปกป้องข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรป (GDPR) ได้ถูกบังคับใช้ในกลุ่มประเทศ EU แล้ว บวกกับมาตรการต่างๆ ที่ Facebook จะนำมาใช้ ระดับความปลอดภัยของผู้บริโภคทั้งในยุโรปและทั่วโลก จะดีขึ้นขนาดไหน

 

เรียบเรียงจาก
7 takeaways from Mark Zuckerberg’s appearance before the House
Mark Zuckerberg’s personal Facebook profile was part of the Cambridge Analytica leak
Zuckerberg says Facebook will extend European data protections worldwide — kind of
Facebook CEO Mark Zuckerberg Is Grilled on Privacy During Day Two of Congressional Hearings
They Cut Facebook But Don’t Ask These Celebs to Exit Instagram

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
5
Shares
Previous Article

Zuckerberg เปรยทำ Facebook แบบเก็บเงิน-ยันเปล่าดักฟัง

Next Article

ปารีสฟ้อง Airbnb ฐานละเมิดกฎทะเบียนที่พัก

Related Posts