Facebook แจง Amazon, Google, Twitter ก็เก็บข้อมูลผู้ใช้งาน

David Baser ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ของ Facebook โบ้ยบริษัทสายเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ Amazon, Google หรือ Twitter ก็เก็บข้อมูลผู้ใช้งานเช่นกัน หลังโซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งถูกโจมตีหนักเรื่องนี้ ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

Mark Zuckerberg CEO และผู้ก่อตั้ง ยอมรับว่า Facebook ทำการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ แลกกับการให้บริการแพลตฟอร์มแล้ว ยังติดตามข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ภายนอก ด้วยเหตุผลสองข้อ คือ 1) เพื่อรักษาความปลอดภัย ป้องกันไม่ให้มีการดาวน์โหลดหน้า Facebook ที่เปิดเป็นสาธารณะ และ 2) การสร้างกลุ่มเป้าหมายให้กับผู้ซื้อโฆษณา

ด้าน Baser ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ของ Facebook อธิบายเพิ่มเติมผ่านบล็อก Newsroom ว่าการจัดเก็บข้อมูลของผู้บริโภคในลักษณะดังกล่าว เป็นการดำเนินงานพื้นฐานของทุกธุรกิจเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มโซเชียลมีเดีย

Twitter, Pinterest และ LinkedIn ต่างก็มีปุ่ม Like และ Share ในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ผู้คนแบ่งปันสิ่งต่างๆ บนการให้บริการของพวกเขา” Baser ระบุ

Google มีโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลของตัวเอง และทั้ง Amazon, Google และ Twitter ต่างก็มีฟีเจอร์สำหรับการล็อกอิน บริษัทเหล่านี้ หรือบริษัทอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ล้วนแต่มีการให้บริการกับผู้ซื้อโฆษณา”

“ข้อเท็จจริงคือ เว็บไซต์และแอพพลิเคชันส่วนใหญ่ มีการส่งข้อมูลการใช้งานในลักษณะเดียวกันไปยังบริษัทต่างๆ ในทุกครั้งที่คุณใช้งานพวกเขา”

ส่วนกับการที่ Facebook เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ภายนอก แม้ในช่วงเวลาที่ผู้ใช้ไม่ได้เข้าใช้งาน Facebook นั้น Baser เปรียบเทียบกับ YouTube ว่ามีแนวทางที่ไม่ได้แตกต่างกัน

“เมื่อคุณดูวิดีโอของ YouTube ในเว็บอื่นที่ไม่ใช่ YouTube มันจะมีการส่งข้อมูลไปยัง YouTube ว่าคุณต้องการดูวิดีโอในลักษณะนี้ และ YouTube ก็จะนำมันขึ้นมาแสดงกับคุณ”

 

เริ่มแล้วแจ้งเตือนผู้เสียหายข้อมูลรั่ว

ขณะเดียวกัน ที่ด้านบนสุดของหน้า News Feed ของ Facebook ก็เริ่มมีข้อความแจ้งเตือนปกป้องข้อมูลส่วนตัว และการเตือนให้ผู้ใช้ได้รับทราบ หากเป็นหนึ่งในผู้เสียหาย 87 ล้านรายจาก Cambridge Analytica พร้อมคำอธิบายให้ชัดเจนว่าผู้ใช้ได้สมัครแอพพลิเคชันใดไปบ้าง

การแจ้งเตือนล่าสุดนี้มี 2 รูปแบบ อย่างแรกคือการให้กดปุ่ม Go To Apps And Websites เพื่อปิดการใช้งานแอพที่ไม่ต้องการ โดยสามารถปิดแอพบางอันที่ไม่ใช้ในตอนนี้ หรือเลือกปิดไปทั้งหมด

อีกกรณีหนึ่งคือผู้เสียหายจากแอพ This Is Your Digital Life ซึ่งถูกนำข้อมูลไปแชร์ทาง Cambridge Analytica โดยตรง กลุ่มนี้จะมีการแสดงปุ่ม See How You’re Affected ให้กด เพื่อตรวจสอบว่าตนได้รับผลกระทบอย่างไร และเช่นเดียวกันคือผู้ใช้สามารถปิดการใช้งานแอพที่ไม่ต้องการเพิ่มเติมได้

 

 

AHEAD TAKEAWAY

กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ยูสเซอร์จำนวนมากมองข้ามไปตลอดเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา กระทั่งเกิดเหตุข้อมูลรั่วไหลผ่าน Cambridge Analytica ขึ้น หลายคนถึงเริ่ม “ตื่นตัว” กับเรื่องนี้

ขณะเดียวกัน ก็เป็นการบีบให้ Facebook ต้องหาทางอธิบายกฏข้อบังคับต่างๆที่ “เขียนไว้ แต่ไม่เคยเตือนให้อ่าน” หรือ “เขียนให้ซับซ้อนเข้าไว้ ยูสเซอร์จะได้ไม่อ่าน” ให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้าใจง่ายขึ้นกว่าเดิม

จากบล็อกล่าสุดของ Baser นั้น Facebook มีโครงสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้จากภายนอกอยู่ 4 ช่องทางด้วยกัน โดยหากว่าเว็บหรือแอพนั้นๆ ใช้การล็อกอินผ่านบัญชีของ Facebook แล้ว ข้อมูลก็จะถูกส่งกลับมาที่ FB ด้วย ดังนี้

1) Social plugins เช่นปุ่มไลค์และแชร์ อันทำให้เว็บไซต์อื่นๆ มีความเป็นโซเชียลมีเดียมากขึ้น และให้ผู้ใช้สามารถแชร์เนื้อหาที่ต้องการลงสู่ Facebook
2) Facebook Login ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าสู่เว็บไซต์หรือแอพอื่นๆ ได้ผ่านทางหน้า Facebook โดยตรง
3) Facebook Analytics ช่วยให้เว็บไซต์และแอพต่างๆ สามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคได้ดีขึ้น
4) Facebook ads and measurement tools ช่วยให้เว็บไซต์และแอพต่างๆ แสดงโฆษณาจาก Facebook ทั้งในแพลตฟอร์มของ Facebook และที่อื่นๆ รวมทั้งเพิ่มความเข้าใจในประสิทธิภาพของการลงโฆษณาด้วย

ปัญหาก็คือกฏต่างๆที่ FB ตั้งขึ้น ก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะการบีบให้ผู้ใช้ต้องเปิดเผยข้อมูลหลายๆอย่าง เพื่อแลกกับการใช้งานฟีเจอร์ต่างๆได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่ดี

พูดง่ายๆ คือต่อให้รู้รายละเอียดมากขนาดไหน แต่ก็ไม่มีทางปฏิเสธอยู่ดี

ยกเว้นทำอย่างที่วุฒิสมาชิก Kennedy กล่าวไว้ในการซักฟอกเมื่อเร็วๆนี้ ว่า Facebook มัดมือชกไว้แล้วว่าหากคุณไม่ยอมรับเงื่อนไข ก็ไม่สามารถใช้งานแพลตฟอร์มนี้ได้

 

เรียบเรียงจาก
Facebook points finger at Google and Twitter for data collection
Facebook: Google, LinkedIn, Twitter share your data, too
Hard Questions: What Data Does Facebook Collect When I’m Not Using Facebook, and Why?

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
HR Tech

ยกระดับฝ่าย HR ให้ทันโลกดิจิทัลด้วย HR tech และ 10 สตาร์ทอัพหัวแถวในสายนี้

Next Article
นวัตกรรม และธุรกิจ

10 เรื่องเด่น ของวงการนวัตกรรม และธุรกิจ โดย AHEAD.ASIA

Related Posts