Nvidia ส่อโดนสอบเข้าข่ายผูกขาดธุรกิจ

Nvidia ผู้ผลิตหน่วยประมวลผลทางด้านกราฟิก (GPU) รายใหญ่จากสหรัฐ ตกเป็นข่าวอาจถูกตรวจสอบกรณีผิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดการค้า ทั้งจากคณะกรรมาธิการการค้าของทั้งสหรัฐอเมริกา (U.S. Federal Trade Commission – FTC) และสหภาพยุโรป (EU) ภายหลังนำโครงการ GeForce Partner Program (GPP) มาใช้กับบริษัทพาร์ทเนอร์อื่นๆ

โครงการ GPP มีขึ้นเพื่อให้ Nvidia สามารถทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาการ์ดจอได้ใกล้ชิดกว่าเดิม โดย Nvidia จะทำหน้าที่ซัพพอร์ต ทั้งเรื่องซอฟต์แวร์, ฮาร์ดแวร์ และบุคลากร ไปจนถึงการทำการตลาด แต่ก็ต้องแลกกับสิทธิพิเศษบางอย่างที่บริษัทเหล่านี้ จะต้องมอบให้กับ Nvidia เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น

กรณีดังกล่าว เคยถูกตั้งข้อสังเกตจากเว็บไซต์ HardOCP ว่าอาจเข้าข่ายผูกขาดธุรกิจ เพราะเงื่อนไขใน GPP ระบุว่าบริษัทที่เข้าร่วมโปรแกรม จะไม่สามารถขายสินค้าของ AMD ที่เป็นคู่แข่งของ Nvidia ได้

ขณะที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์และนักเล่นเกมจำนวนหนึ่ง ก็แสดงท่าทีไม่ยอมรับโปรแกรมนี้ มีการประกาศแบนสินค้าของ Nvidia และพาร์ทเนอร์ผู้เข้าร่วมแล้ว

ล่าสุด มีรายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลกฎทั้ง FTC และ EU ต่างก็เตรียมเริ่มสอบสวน Nvidia ว่าโครงการ GPP นั้น ผิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดการค้าหรือไม่ แม้จะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทั้งสององค์กรก็ตาม

นอกจาก HardOCP ที่มีการตั้งข้อสังเกตดังกล่าว เว็บไซต์อื่นๆ เช่น Kitguru ก็กำลังค้นหาข้อมูลของ GPP อยู่เช่นกัน และมีการเปิดเผยหลักฐานบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยระบุว่า Nvidia ได้สร้างความกดดันให้กับพาร์ทเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดเพื่อให้ใช้การ์ดจอของบริษัทตนบริษัทเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หาก FTC และ EU ยื่นมือเข้ามาจริง การสอบสวนก็จะใช้เวลาค่อนข้างนาน นอกเสียจากว่า Nvidia จะสมัครใจทำตามขั้นตอนเพื่อเปลี่ยนแนวทางที่ถูกกล่าวหา

 

AHEAD TAKEAWAY

ข้อมูลในไตรมาสที่ 3 ของปี 2017 จาก Jon Peddle Research (JPR) สถาบันรายงานสถิติในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ระบุว่า Nvidia นั้น ยังถือส่วนแบ่งในกลุ่มการ์ดจอแยก (Discrete Desktop) ด้วยตัวเลขถึง 72.8% (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สอง 2.5%)

แม้ในไตรมาสที่ 4 ตัวเลขดังกล่าว จะตกลงมาเป็น 66.3% ต่อ 33.7% ของ AMD แล้วก็ตาม ก็ยังถือว่ามีช่องว่างที่ห่างกันมากพอสมควรอยู่ดี

 

ยิ่งเมื่อมีการผลักดันให้ GeForce Partner Program (GPP) นำมาใช้ (โดยอ้างว่า) เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ที่จะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพผ่านการควบคุมดูแลของ Nvidia อย่างพิถีพิถัน แลกกับสิทธิ์พิเศษจากบริษัทพาร์ทเนอร์

คงไม่ต่างอะไรกับการบีบให้ third party ต้องเลือกว่าจะร่วมงานกับ Nvidia ต่อ หรือหักกัน เพื่อไปพึ่งพา AMD แทน

ไม่น่าแปลกที่ FTC และ EU จะเตรียมเข้าตรวจสอบในเรื่องนี้ เพราะหากให้ดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ ทุกอย่างอาจจะสายเกินแก้ไปแล้วก็ได้

เพราะหากมองย้อนกลับไปเมื่อราวๆ 15 ปีก่อนนั้น ในตลาดกราฟฟิกแยก มีผู้เล่นในตลาดอย่างน้อย 5-6 ราย ก่อนจะค่อยๆถอยทัพจากสมรภูมิไปด้วยเหตุผลด้านการขับเคี่ยวทั้งเทคโนโลยีและราคา จนเหลือเพียงแค่ค่ายเขียวและแดง ทำให้ราคาสินค้าในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่สูงมาก

และหากพบว่ามีความผิดจริง ก็น่าจะมีบทลงโทษสถานหนักตามมาเช่นกัน เหมือนที่ Intel เคยโดนคดีลักษณะคล้ายกันนี้มาแล้ว ในปี 2009 โดยในท้ายที่สุดถูกตั้งข้อหาดำเนินธุรกิจไม่เป็นธรรม, ปล่อยข้อมูลอันเป็นเท็จ และผูกขาดการค้า จนโดนปรับเงิน 1,250 ล้านดอลลาร์ และ 1,400 ล้านดอลลาร์ จากทั้ง FTC และ EU ตามลำดับ

 

เรียบเรียงจาก
Antitrust regulators may be looking at how Nvidia is selling graphics cards
FTC & EU Commission Zero in on NVIDIA GPP Calls for Investigation & Complaints

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

Onitsuka Tiger กับแรงบันดาลใจจากปลาหมึก

Next Article
HR Tech

ยกระดับฝ่าย HR ให้ทันโลกดิจิทัลด้วย HR tech และ 10 สตาร์ทอัพหัวแถวในสายนี้

Related Posts