วันนี้ หลายคนน่าจะเริ่มคุ้นเคยกับ sharing economy กันบ้างแล้ว
หลังสตาร์ทอัพจำนวนหนึ่ง อย่าง Airbnb หรือ Uber ใช้แนวคิดนี้เป็นตัวตั้งต้น และพัฒนาต่อจนเติบโตเป็นองค์กรระดับโลกอย่างในปัจจุบัน
จากบ้านหรือห้องพัก กับรถยนต์และการเดินทาง ยังมีธุรกิจแบบไหนที่ sharing economy ต่อยอดไปได้อีกบ้าง?
JetSmarter ที่ถูกยกให้เป็น Uber ในภาคอากาศยาน คือหนึ่งในคำตอบนั้น
หรูหราแต่ล้าหลัง
ครั้งแรกที่ Sergey Petrossov มีโอกาสขึ้นเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว เมื่อปี 2009 หนุ่มรัสเซียรายนี้พบว่าในความหรูหราของมันนั้น ยุ่งยากกว่าที่คิด
“มันเป็นธุรกิจมูลค่าหลายพันล้าน ที่อะไรต่อมิอะไรยังเป็นอนาล็อก 100%”
ความอนาล็อกที่ว่าคือผู้ใช้ยังต้องจองเที่ยวบินทางโทรศัพท์ และเซ็นเอกสารจิปาถะอีกสารพัดด้วยปากกาและกระดาษ
ที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายก็สูง เพราะในหนึ่งเที่ยวบิน จะมีผู้โดยสารเพียงแค่หนึ่งหรือสองคนเท่านั้น
ปรับโฉมเที่ยวบินสู่ยุค 4.0
Petrossov ซึ่งเกิดในรัสเซีย แต่มาโตที่ฟลอริด้า ไม่ใช่มือใหม่ในการทำธุรกิจ
เขาลองผิดลองถูกมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ด้วยธุรกิจนำเข้า-ส่งออกยางรถยนต์ ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม
ก่อนขยับมาทำสตาร์ทอัพเกี่ยวกับไลฟ์แชท ในช่วงเรียนที่มหาวิทยาลัยฟลอริด้า ต่อด้วย ed tech ที่ขายซอฟต์แวร์บนคลาวด์ ให้กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในยุโรปตะวันออกและรัสเซีย
เมื่อเริ่มประสบความสำเร็จ เจ้าตัวถึงมีโอกาสได้ใช้บริการเครื่องเจ็ตส่วนตัว และพบว่ายังเป็นธุรกิจที่ล้าหลังอยู่มาก
จนเกิดไอเดียที่จะ “ปรับโฉมเที่ยวบินส่วนตัวใหม่ ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น ในราคาที่ถูกลง”
ไอเดียมา-เดินหน้าลุย
Petrossov เดินสายสร้างคอนเนคชั่นในธุรกิจการบิน และหาทุนผ่านงานเทรดโชว์ต่างๆ ควบคู่ไปกับการจ้างทีมเทคเล็กๆขึ้น ในปี 2012 เพื่อเริ่มเขียนแอพพลิเคชั่นรองรับ
จนในปี 2013 JetSmarter ก็พร้อมออกบิน ในลักษณะเปิดรับสมาชิกเสียค่าบริการรายปี ปีละ 15,000 ดอลลาร์
รูปแบบการให้บริการ คือสมาชิกสามารถเดินทางด้วยเที่ยวบินตามตารางที่วางไว้ หรือจองเที่ยวบินส่วนตัวโดยที่สมาชิกคนอื่นๆสามารถโดยสารไปด้วยได้
หริอถ้าอยากจ่ายเพิ่ม เพื่อเดินทางบนไฟลท์นั้นคนเดียวก็สามารถทำได้
ถึงธุรกิจเที่ยวบินส่วนตัวจะเป็น niche market และโมเดลแบบ sharing economy ที่ JetSmarter นำมาใช้ ก็ยังเป็นเรื่องใหม่
แต่หลังผ่านมาได้ราวสี่ปี JetSmarter ก็มียอดสมาชิกมากถึง 14,000 คน และมีผู้ร่วมลงทุนระดับบิ๊ก อย่างราชวงศ์ซาอุฯ และแร็ปเปอร์/โปรดิวเซอร์ดัง อย่าง Jay-Z
และมีมูลค่าจากการประเมินที่ราวๆ 1,500 ล้านดอลลาร์
เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย
ในทุกการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเก่าหรือไม่ คุณไม่มีทางเลี่ยงปัญหาได้
ย้อนไปเมื่อปี 2017 The Verge สำนักข่าวชั้นนำสายเทคโนโลยี เคยลงบทความที่มีเนื้อหาระบุถึงข้อบกพร่องในเรื่องบริการของ JetSmarter แบบยาวเหยียด
ความน่าเชื่อของบริษัทยิ่งลดลงไปอีก เมื่อ Edward Barsky ประธานบริษัทถูกจับในข้อหามีส่วนร่วมกับการโจรกรรม จนต้องลาออกจากตำแหน่ง แม้ Petrossov จะยืนยันว่าเรื่องที่เกิดไม่ขึั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทก็ตาม
นอกจากปัญหาพวกนี้ Petrossov และทีมงานยังต้องเจอเรื่องยิบย่อยอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่มีประสบการณ์ในการเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารส่วนตัว
ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ JetSmarter ที่จะต้องปรับพฤติกรรมของลูกค้า เหมือนที่ Uber หรือ Airbnb ต้องเผชิญในช่วงแรกๆ
และก็เหมือนกับสตาร์ทอัพชั้นนำหลายๆรายที่ธุรกิจมีเงินหมุนเวียนหลักร้อยล้านดอลลาร์ แต่บริษัทยังไม่ทำกำไร
แต่ Petrossov ก็ให้คำมั่นว่าภายในอีกสองปีข้างหน้า สถานการณ์จะดีขึ้น ถ้าสามารถชักจูงให้ลูกค้าในกลุ่ม business class และ first class ของสายการบินทั่วไป หันมาใช้บริการของ JetSmarter มากขึ้น
ในฐานะของการบริการที่ให้คุณค่าและความคุ้มค่าแก่ผู้ใช้
ไม่ใช่สินค้าที่ตีตราว่าเป็น ‘พรีเมียม’ สำหรับคนเฉพาะกลุ่มเหมือนที่ผ่านมา
“ผมมองว่าในอีกสิบปีข้างหน้า มีโอกาสที่เที่ยวบินระยะสั้น จะมีราคาลดลงถึงระดับที่คนทั่วไปจับต้องได้ อาจจะเหลือแค่เที่ยวละ 500 ดอลลาร์ ซึ่งผมว่ามันถูกมาก ถ้าคุณมองว่าทุกวันนี้ Jay-Z จ่ายค่าโดยสารต่อทริป สูงถึง 60,000 ดอลลาร์”
AHEAD TAKEAWAY
Travis Kalanick ผู้ก่อตั้ง Uber เคยให้สัมภาษณ์ว่า คนกลุ่มมิลเลนเนียล ไม่ได้มีแนวคิดเรื่องการถือครองทรัพย์สิน เท่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ หรือ gen-X
เพราะคนเหล่านี้ มองเห็นถึงความคุ้มค่าในการซื้อสินค้าบางอย่างที่มีราคาสูง แต่ไม่ได้ใช้งานเป็นประจำ (งานวิจัยของ Ernst & Young ในปี 2015 ระบุว่าของเหล่านี้ มีมูลค่าราว 20-30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในครัวเรือน)
ธุรกิจต่างๆที่เคยผลิต/ให้บริการ เพื่อคนกลุ่มนั้นๆจึงต้องปรับตัวตาม และ sharing economy ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกนั้น
ในบ้านเรา ธุรกิจประเภทนี้ นอกจากสตาร์ทอัพระดับโลกและระดับนานาชาติที่เข้ามาเบิกทางไปบ้างแล้ว
ก็ยังมีความพยายามของสตาร์ทอัพสัญชาติไทยใหม่ๆที่นำเสนอบริการ sharing ต่างๆเช่นกัน
อาทิ Drivemate ที่เป็นแพลตฟอร์มให้บริการรถเช่า หรือ Liluna ที่เป็นในลักษณะคาร์พูล ให้ผู้ใช้แชร์ค่าเดินทางกัน ฯลฯ
ซึ่งหลายๆบริการ ก็ยังต้องรอดูในระยะยาว ว่าจะสามารถหาโมเดลธุรกิจที่ให้ผลกำไรและยั่งยืนได้หรือไม่
ในมุมมองของ Petrossov ผู้ก่อตั้ง JetSmarter นั้น มองว่าในยุคของการเปลี่ยนผ่านที่ทุกอย่างยังไม่ชัดเจนนั้น นี่คือโอกาสที่คนรุ่นใหม่จะได้ลองผิดลองถูกกับการเป็นผู้ประกอบการ
(ซึ่งคล้ายกับแนวคิด Regret Minimization ที่ Jeff Bezos ใช้ ในการตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่มั่นคง มาก่อตั้ง Amazon.com)
“ถ้าคุณยังอายุน้อย เท่ากับว่าคุณยังมีเวลาอีกหลายปีที่จะทดลองและแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ผมอยากให้คนที่อยากเป็นผู้ประกอบการลองผิดลองถูกให้มากที่สุด เพราะเมื่อคุณอายุมากขึ้น คุณจะไม่มีโอกาสทำแบบนั้น”
ขณะเดียวกัน เมื่อเผชิญกับปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า อีกคำแนะนำจาก Petrossov ก็คือ “อย่าด่วนถอดใจ”
“ไม่ว่ามันจะยากขนาดไหน ถ้าคุณล้มและพยายามลุกขึ้นตลอดเพื่อเดินหน้าต่อ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะล้มเหลว นอกจากว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะทำให้คุณบาดเจ็บสาหัสทางร่างกาย”
“เพราะถ้าคุณเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเลือก คุณจะหาทางออกได้เอง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”
เรียบเรียงจาก
Meet the 29-Year-Old CEO Who Turned His Hobby Into a $1.5 Billion Business That’s Backed by Jay-Z
AHEAD IDEA คือซีรีส์ที่พยายามนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ หรือแตกต่างจากสตาร์ทอัพทั่วโลก
เพื่อช่วยจุดประกายให้กับคนที่กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจ หรือใช้เป็นแนวทางสำหรับการต่อยอดไอเดียที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น
ติดตาม AHEAD IDEA ตอนใหม่ได้ทุกเย็นวันจันทร์
และอย่าลืมกด like & see first เพจของเรา เพื่อที่คุณจะได้ไม่พลาดข่าวสารและเรื่องราวใหม่ๆเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจในทุกๆวัน