Matt Sorum, อดีตมือกลอง Guns N' Roses

อดีตมือกลอง GN’R ขอปฏิวัติวงการเพลงด้วย Artbit

Matt Sorum คือมือกลองที่มีประสบการณ์โชกโชนในแวดวงดนตรีมายาวนาน และเคยมีผลงานร่วมกับวงชั้นนำ อย่าง The Cult, Guns N’ Roses และ Velvet Revolver

แต่ปัจจุบัน Matt หันมาสนใจเรื่องเทคโนโลยีต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของบล็อกเชน และสกุลเงินดิจิทัล

จนเป็นที่มาของ Artbit แพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีกระจายข้อมูลแบบไม่รวมศูนย์ (Distributed Ledger Technology) รูปแบบใหม่ เพื่อเป็นอีกทางเลือกของศิลปินและแฟนเพลง ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆในงาน SXSW 2018 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

 

วันที่ดนตรีมีมูลค่าลดลง

 

 

ในทรรศนะของ Matt ธุรกิจดนตรีในวันนี้ เปลี่ยนไปจากยุคที่เขาเริ่มต้นมาก

สังกัดเพลงไม่มีงบประมาณมากมายเหมือนในอดีต ไม่มีการเซ็นสัญญากับวงดนตรีล่วงหน้าเดือนละ 20-30 วง และให้เงินล่วงหน้าเพื่อทำอัลบั้มอีกต่อไป

นอกจากจะใช้เวลาคัดกรองศิลปินนานขึ้นแล้ว รูปแบบของสัญญาก็เปลี่ยนไปด้วย

จากเดิมที่ถือครองเฉพาะลิขสิทธิ์ในอัลบั้ม เงื่อนไขในสัญญาที่เซ็นกับศิลปินจะเพิ่มเรื่องส่วนแบ่งรายได้จากทั้ง merchandise กับศิลปินด้วย

ขณะที่ตัวเพลงหรืออัลบั้มนั้น เหลือมูลค่าในทางธุรกิจน้อยถึงน้อยมาก เมื่อเข้าสู่ยุคของสตรีมมิ่งอย่างในปัจจุบัน

เพราะผู้บริโภคสามารถเลือกฟังเพลงได้ไม่จำกัด ในราคาเหมาจ่ายรายเดือน หรือแม้แต่ฟรี แลกกับการดูโฆษณาบนแพลตฟอร์มแทน

ส่วนการดาวน์โหลดที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นโมเดลหลักของธุรกิจอยู่ระยะหนึ่ง ก็กำลังจะกลายเป็นอดีตในเวลาไม่กี่ปี

“ผมได้ยินมาว่า iTunes ยังเตรียมจะยกเลิกการดาวน์โหลดเพลงด้วยซ้ำ ต่อไปมันจะเหลือแค่การสตรีมมิ่งแล้ว”

 

ทางเลือกใหม่ใน Artbit

 

 

Matt มีโอกาสพูดคุยกับนักดนตรีรุ่นใหม่ๆที่มาขอคำปรึกษาว่าต้องทำยังไง ถึงจะสร้างคอนเนคชั่นเพื่อประสบความสำเร็จ และมองว่าในยุคนี้ การตระเวนแสดงตามคลับต่างๆ เพื่อหวังให้แมวมองของค่ายเพลงมาเห็น ไม่น่าจะใช่ทางออกที่ดี

ในมุมของ Matt เทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง บล็อกเชน หรือ cryptocurrency ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่า จึงเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม จนได้มาเจอกับ Pablo Martins โปรดิวเซอร์ฮิพ-ฮอพและแร็ปจากบราซิล

และเริ่มต้นผลักดันโครงการเพื่อเชื่อมโยงศิลปินและแฟนเพลงเข้าด้วยกัน จนเป็นที่มาของ ‘Artbit’ แพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมคนทั้งสองกลุ่ม ด้วย smart contract โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลางอย่าง ผู้จัดการวง ค่ายเพลง หรือแม้แต่ธนาคารอีกต่อไป

ภายใต้แพลตฟอร์มนี้ ศิลปินสามารถเลือกได้ว่าต้องการและไม่ต้องการอะไรในการทำ smart contract

เช่น เลือกประเภทของโฆษณาที่จะปรากฎก่อนวิดีโอของตัวเอง (ต่างจากอัลกอริธึมของ YouTube ที่เจ้าของผลงานไม่สามารถควบคุมได้ว่าผู้ชมจะได้เห็นโฆษณาตัวไหน)

และ smart contract ก็จะไม่อนุญาตให้มีการเพิ่มเติมอะไรลงไป นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในสัญญา และเมื่อผลงานชิ้นนั้นถูกนำไปใช้ในทางใดทางหนึ่ง (เช่นดาวน์โหลด) ศิลปินก็จะได้รับค่าตอบแทนผ่านดิจิทัลวอลเลททันที

 

Hashgraph คืออะไร?

จุดเด่นอีกอย่างของ Artbit นั้น ทำงานบนเทคโนโลยีบัญชีระบบกระจายตัวใหม่ที่เรียกว่า Hashgraph ซึ่งเป็นงานวิจัย ในปี 2016 ของ Leemon Baird

และ Matt คุยว่าเหนือกว่าเทคโนโลยีที่มาก่อน อย่าง บล็อกเชน ชนิดเทียบกันไม่ได้

การทำงานของ Hashgraph นั้น ต่างจากบล็อกเชน ตรงที่ บล็อกเชน ทำงานแบบเก็บข้อมูลเป็น Block และเชื่อมต่อกันเป็น Chain แบบสายหลักเส้นเดียว

แต่ Hashgraph ทำงานแบบเก็บข้อมูลเป็น Event และเชื่อมต่อกันเป็น Graph ซึ่งมีการระบุว่าสามารถรองรับธุรกรรมได้ถึง 250,000+ ครั้งต่อวินาที (เฉพาะผลการทดสอบบนเครือข่าย Swirld แต่ยังไม่มีตัวเลขการใช้งานบนเครือข่ายเปิด) เทียบกับ Bitcoin ที่ทำได้ 7 ธุรกรรม ต่อวินาที

 

 

หลักการทำงานของ Hashgraph

 

หลักการทำงานของ Artbit

 

AHEAD TAKEAWAY

ในยุคที่อุตสาหกรรมดนตรีถูก disrupt อย่างในปัจจุบัน

แม้ Spotify จะเข้ามาช่วยให้สถานการณ์โดยรวมกระเตื้องขึ้น แต่ก็ยังไม่มีใครฟันธงว่าโมเดลของมิวสิคสตรีมมิ่ง คือคำตอบสุดท้าย

เพราะแม้แต่การดาวน์โหลดเพลงที่ครั้งหนึ่ง เคยถูกมองว่าใช่ แต่ก็กำลังจะกลายเป็นอดีตในเวลาเพียงไม่กี่ปี

การมองหาทางเลือกใหม่ๆ แทนที่จะหยุดนิ่ง จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แทนที่จะหวังพึ่งพาโมเดลธุรกิจแบบเดียวเหมือนที่ผ่านมา

และบล็อกเชน หรือเทคโนโลยีการกระจายข้อมูลโดยไม่รวมศูนย์รูปแบบอื่นๆ (รวมถึง Hashgraph ที่ Artbit เลือกใช้) ก็น่าจะเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยก่อนหน้านี้ Bjork ศิลปินหัวก้าวหน้าอีกคน ก็ชิมลางไปแล้วด้วยการแจกสกุลเงินดิจิทัลให้กับแฟนเพลงที่ซื้ออัลบัม Utopia ของเธอ

เพราะการที่ทุกคนในเครือข่ายสามารถเข้าถึงตัว database ได้ นั่นหมายถึงช่องทางต่างๆ จะไม่ถูกจำกัดหรือควบคุมโดย gatekeeper ดั้งเดิมอย่างค่ายเพลงอีกแล้ว

และความโปร่งใสก็จะมีมากขึั้น ในทุกๆเรื่องที่เคยเป็นปัญหา เช่น สถานะการเป็นเจ้าของผลงาน การกระจายผลงาน หรือการชำระเงิน ที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวศิลปินมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลางเหมือนที่ผ่านมา

ตัว Matt ก็ให้สัมภาษณ์กับ Digital Trend ว่าที่จริงแล้ว เขายังชื่นชอบการฟังเพลงในรูปแบบเดิมๆอย่างแผ่นเสียง และไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเลือกดาวน์โหลดเพลงเพียงเพลงเดียวเท่าไหร่

แต่ในเมื่อโลกนั้นเปลี่ยนไป จนแม้แต่การดาวน์โหลดยังทำท่าจะกลายเป็นอดีต

ในฐานะนักดนตรี เขาก็พร้อมจะจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่จะมาถึงในอนาคต

 

เรียบเรียงจาก

Guns N’ Roses alum Matt Sorum rocks beyond blockchain to fight labels, YouTube

4 reasons why the music industry needs blockchain tech

 

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
5
Shares
Previous Article

CIA เตรียมใช้สายลับ AI แทนที่มนุษย์

Next Article
สตาร์ทอัพ

กูรูชี้เป้า 8 จุดตายทำสตาร์ทอัพแจ้งดับ

Related Posts