รถไร้คนขับ

อุบัติเหตุรถไร้คนขับ ใครรับผิดชอบ?

อีกไม่นาน Waymo ก็จะเริ่มให้บริการ รถไร้คนขับ ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบแล้ว หลังได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเครือข่ายขนส่ง (transportation network company) จากรัฐแอริโซนา ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นข่าวอุบัติเหตุที่เกิดกับรถไร้คนขับมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้เสียชีวิต

ทั้งของ Tesla Model X และ Model S ที่เป็นผู้โดยสาร และกรณีของ Uber ที่ชนหญิงวัยกลางคน ขณะกำลังจูงจักรยานข้ามถนนตอนกลางดึก ยังไม่นับกรณีเล็กๆน้อยๆที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง

จนนำมาซึ่งคำถามที่ว่า “รถยนต์ไร้คนขับ” พร้อมแล้วหรือยังที่จะออกวิ่งบนท้องถนน

และใครกันแน่ที่ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น

ผู้ที่อยู่บนรถ (ซึ่งอาจไม่มีพวงมาลัยควบคุม) เจ้าของรถ (ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในรถ ขณะเกิดอุบัติเหตุ) หรือ บริษัทผู้ผลิต

มาดูคำตอบจากมุมมองของผู้ให้บริการประกัน จากกฎเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ในวันที่รถไร้คนขับยังไม่ใช่มาตรฐานใหม่ และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎใด ๆ จากผู้บังคับใช้

3 ปัจจัยหลักเลือกใช้รถไร้คนขับ

ทอม ซูเพอร์ (Tom Super) ผู้อำนวยการฝ่ายประกันทรัพย์สินและอุบัติเหตุของ J.D. Power กล่าวว่า จากการสำรวจนั้น พบว่ามีผู้ใช้งานถึงร้อยละ 48 สนใจจะนั่งรถยนต์ไร้คนขับ หรือเปิดระบบออโต้ไพล็อตของตัวรถ

โดยมีเหตุผลหลักๆสามข้อคือ

  • อัตราการเกิดอุบัติเหตุที่น้อยกว่า เพราะแม้ทุกครั้งที่เกิดจะเป็นข่าว แต่โดยค่าเฉลี่ยแล้ว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถไร้คนขับ ก็ยังมีอัตราส่วนที่น้อยกว่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
  • ความสะดวกสบาย เพราะเมื่อสามารถละสายตาจากการควบคุมรถได้ ผู้ใช้งานก็จะมีเวลาทำอย่างอื่นมากขึ้นขณะอยู่บนรถ
  • อัตราค่าประกันที่อาจถูกลง ในธุรกิจประกันภัยปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูงในหมู่ผู้ให้บริการ โมเดลการลดเบี้ยประกันหากมีการเคลมน้อยครั้งกว่าจึงถูกนำมาใช้ เพื่อดึงดูดผู้บริโภค หากรถไร้คนขับช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้จริง ผู้ใช้ก็คาดหวังว่าจะได้รับการลดหย่อนเบี้ยประกันด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของคนเหล่านี้ ก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไป เมื่อมีข่าวอุบัติเหตุเกิดขึ้น

โดยเฉพาะกรณีของ Tesla (ผู้โดยสารเสียชีวิต) และ Uber (ชนคนเดินถนนเสียชีวิต) ที่มีขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

แนะบริษัทประกันต้องเร่งปรับตัว

ปัจจุบัน นอกจากระบบออโต้ไพล็อตแล้ว รถยนต์หลาย ๆ รุ่น ยังมีฟีเจอร์เสริม

อย่างเช่น ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (lane keeping assistance) หรือ ระบบช่วยควบคุมความเร็วในการขับขี่ให้สอดคล้องกับสภาพของการจราจรอย่างอัตโนมัติ (adaptive cruise control)ซึ่งบริษัทประกันหลายแห่ง ก็เริ่มหันมาลดเบี้ยประกันให้กับผู้ใช้รถที่มีระบบเหล่านี้บ้างแล้ว

และในมุมมองของ ซูเพอร์ นั้น บริษัทประกันต่างๆก็ต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีเหล่านี้ รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ๆที่อยู่ระหว่างพัฒนาด่วย หากสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันมีส่วนช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

แต่สำหรับการให้ประกันรถไร้คนขับแบบ 100% นั้น ซูเพอร์ ก็ยอมรับว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ

หนึ่งคือความถี่ของการเคลมประกัน และตัวเลขที่จะยืนยันว่าค่าเฉลี่ยการเคลมประกันของรถไร้คนขับจะลดลงจริง

และสอง อัตราค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เพราะในปัจจุบัน รถที่มีออโต้ไพล็อต หรือรถไร้คนขับ 100% ยังมีราคาที่สูงกว่ารถทั่วไปบนท้องถนน เมื่อได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมก็ย่อมสูงกว่า (ตัวอย่างง่ายๆ คือกันชนธรรมดา กับกันชนของรถไร้คนขับที่ต้องเชื่อมโยงกับเซนเซอร์ต่างๆ ซึ่งอย่างหลัง จะมีราคาสูงกว่าแน่นอน)

กฏหมายยังไม่ได้ข้อสรุป

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องกฏหมายที่ต้องนำมาพิจารณาควบคู่กันไป เพราะแม้แต่ในสหรัฐที่มีการอนุญาตให้ทดลองใช้งานรถไร้คนขับ แต่ละรัฐก็ยังมีข้อบังคับที่แตกต่างกันไป

และในมุมของ ซูเพอร์ ก็เชื่อว่ากว่าที่ภาพรวมจะเข้ารูปเข้ารอย ก็ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

และอาจต้องอาศัยวิจารณญาณของผู้พิพากษา และคำตัดสินในชั้นศาลในบางคดี เพื่อนำมาเป็นแม่แบบในการร่างกฏหมายต่อไป

AHEAD TAKEAWAYS

จะเห็นได้ว่าในทุกเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้น เราไม่สามารถวัดหรือหาข้อสรุปได้ในทันที โดยไม่นำบริบทแวดล้อมมาพิจารณาประกอบ

กรณีของรถยนต์ไร้คนขับก็เช่นกัน แม้ในทางทฤษฎี เราจะเห็นว่าหุ่นยนต์หรือ AI ที่มีความคิดเป็นเส้นตรง น่าจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้

แต่หลายครั้ง การที่เครื่องจักรคิดเป็นเส้นตรงเกินไป ก็อาจไม่สามารถพลิกแพลงได้ทัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เหมือนกรณีของ Uber ที่ไม่สามารถหลบผู้เสียชีวิตที่ปรากฎตัวกะทันหันในที่มืดได้ทันเวลา

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมบริษัทประกันถึงยังลังเลที่จะเปิดให้บริการประกันอุบัติเหตุสำหรับรถยนต์ไร้คนขับโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับตัวกฏหมายที่ยังไม่สามารถเขียนให้ครอบคลุมได้ทุกเรื่อง เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ ยังเป็นสิ่งที่ใหม่มาก

พูดง่ายๆว่าแม้อนาคตในด้านเทคโนโลยีของรถยนต์ไร้คนขับ จะอยู่ใกล้แค่เอื้อม

แต่ป้จจัยแวดล้อมอื่นๆทางสังคมนั้น อาจยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะไล่ทันนวัตกรรมนี้ได้ทันนั่นเอง

เรียบเรียงจาก

Who pays for autonomous driving fatalities?

Tesla Model S reportedly on Autopilot crashes into fire truck at 65 mph, no injury

อ่านเพิ่มเติม

บิ๊ก Waymo เชื่อไม่มีทางเกิดอุบัติเหตุหนักแบบ Uber

ตำรวจเผยคลิปอุบัติเหตุรถไร้คนขับ Uber ญาติโวยทำไมระบบตรวจไม่พบ

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
สตาร์ทอัพ

กูรูชี้เป้า 8 จุดตายทำสตาร์ทอัพแจ้งดับ

Next Article

50 บริษัทนวัตกรรมล้ำสุดขอบโลก

Related Posts