Mike Schroepfer หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ Facebook ยอมรับต่อรัฐสภาสหราชอาณาจักรว่า Facebook ไม่ได้ศึกษารายละเอียดเงื่อนไข และข้อตกลงในการใช้งานแอพพลิเคชัน ThisIsYourDigitalLife อย่างลงลึกมากพอ จนผู้สร้างแอพสามารถใช้ช่องว่างในระบบ เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ และทำข้อมูลกว่า 87 ล้านบัญชีหลุดไปถึง Cambridge Analytica
Alexander Kogan นักวิจัยแห่ง Strategic Communication Laboratories (SCL) นำแอพทดสอบทางจิตวิทยา ThisIsYourDigitalLife มาใช้บนแพลตฟอร์ม ในปี 2015 ก่อนจะมีการตรวจพบในภายหลังว่า แอพดังกล่าวมีการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้เล่น เช่นที่อยู่, สิ่งที่กดไลค์ หรือข้อมูลเกี่ยวกับเพื่อน ส่งต่อให้กับ Cambridge Analytica บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเมือง เพื่อใช้ในแคมเปญหาเสียงของประธานาธิบดี Donald Trump
วานนี้ Schroepfer เป็นตัวแทนของ Facebook เข้าให้การกับสภาอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในการสืบสวนบริษัทหลายแห่งทั่วโลกถึงแนวทางการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล โดย ส.ส. Jo Stephens ตั้งคำถามว่า Facebook ได้ตรวจสอบรายละเอียดเงื่อนไขและข้อตกลงในการใช้งานแอพของ Kogan ดีเพียงพอหรือไม่ก่อนจะยินยอมให้มีการติดตั้ง และ Schroepfer รับว่าไม่มีการอ่านอย่างละเอียดมากพอ
“เราไม่ได้อ่านเงื่อนไขและข้อตกลงทั้งหมด” Schroepfer กล่าว
Facebook มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในปี 2014 ด้วยการห้ามไม่ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้และเพื่อนในลิสต์ ซึ่ง Schroepfer กล่าวว่าการกำกับดูแลครั้งใหม่นี้รวมถึงการ “ย้ายไปสู่ขั้นตอนการตรวจสอบเชิงรุก ซึ่งถ้านักพัฒนาแอพต้องการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติม พวกเขาจะต้องแจ้งกับทีมของเรา”
อย่างไรก็ตาม Schroepfer ไม่สามารถบอกได้ว่า Facebook ได้อ่านเงื่อนไขการใช้งานสำหรับแอพทั้งหมดที่ได้รับอนุญาต ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายหรือสั่งแบน Kogan ในปี 2015 “ผมไม่สามารถพูดได้ว่าเราไม่เคยอ่านเลย แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่ข้อบังคับที่เราจะต้องอ่าน”
Facebook ระบุว่ามีผู้ใช้ 1,040 คนในสหราชอาณาจักรที่ได้ติดตั้งแอพของ Kogan จนถูกเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเพื่อนในลิสต์ได้ประมาณ 1 ล้านราย และแม้ผู้เสียหายทั้งหมดจะได้รับการแจ้งเตือน พร้อมกับที่ Facebook ทำการตรวจทานแอพทั้งหมดบนแพลตฟอร์มของตนแล้ว แต่ Schroepfer ก็ยอมรับว่าเขาไม่สามารถระบุวันเวลาที่กระบวนการนี้จะเสร็จสมบูรณ์ได้
Schroepfer ยังได้ชี้แจงว่าจะพยายามสร้างความมั่นใจว่าโฆษณาทางการเมืองของอังกฤษจะมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ตามที่ได้ให้สัญญาที่จะทำในสหรัฐอเมริกา โดยจะดำเนินการให้ทันเวลาเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงเดือน พ.ค. 2019
AHEAD TAKEAWAY
เหมือนจะเป็นตลกร้ายที่ย้อนกลับมาเข้าตัว Mark Zuckerberg เองบ้าง เมื่อต้นเหตุแท้จริงของการที่ข้อมูลรั่วไหลไปถึง Cambridge Analytica เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของ Facebook ไม่ได้อ่านเงื่อนไขการให้บริการของแอพพลิเคชั่น ThisIsYourDigitalLife อย่างละเอียดพอ
ที่ผ่านมา มักมีการพูดกันว่าคนส่วนใหญ่ (อาจจะ 99.99%) เป็นฝ่ายยินยอมทำตามเงื่อนไขในการให้บริการ (และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์) ของ Facebook เอง ด้วยการกด OK หลังเลื่อนผ่านๆ ตัวหนังสือจำนวนมหาศาลแบบขอไปที เพราะมันยาว เยอะ ยาก และน่าเบื่อเกินกว่าจะทนอ่าน และทำความเข้าใจจนหมด
ซึ่งกรณีแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เราจะเห็นว่าการทำธุรกรรมแทบทุกเรื่อง (บัตรเครดิต สัญญาต่างๆ) ก็เป็นไปในลักษณะนี้เช่นกัน และมักเป็นผู้บริโภคที่มาค้นพบปัญหาย้อนหลัง แต่ไม่สามารถโวยวายได้ เนื่องจากเซ็นยินยอมไปแล้วนั่นเอง
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็น่าสนใจว่าท้ายที่สุดแล้ว Facebook จะฟ้องเพื่อเอาผิดทางกฏหมายกับ Alexander Kogan และ Cambridge Analytica อย่างที่เคยว่าไว้ได้หรือไม่ ในเมื่อพวกเขาก็ “เซ็นยินยอม” เงื่อนไขของ ThisIsYourDigitalLife ไปแล้วเช่นกัน
และหากเป็นเช่นนั้นจริง คนที่เสียหายที่สุด อาจจะไม่ใช่ Facebook แต่เป็นเจ้าของบัญชี ทั้ง 87 ล้านคนที่รั่วไหลออกไปมากกว่า
หรืออาจรวมถึงเราๆท่านๆในที่นี้ด้วย เพราะเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า Facebook ได้อ่านเงื่อนไขของแอพพลิเคชั่นของนักพัฒนาคนอื่นๆในแพลตฟอร์มแล้ว?
เรียบเรียงจาก
Facebook didn’t read the terms and conditions for the app behind Cambridge Analytica
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน