เมื่อโลกหมุนไปข้างหน้าในทุกวัน คนก็ต้องหมุนตามให้ทัน สายลับ AI ที่ CIA เตรียมนำมาใช้อาจยังไม่เกิดขึ้นวันนี้วันพรุ่ง แต่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง ระบบตรวจจับใบหน้า (Facial Recognition) ได้ถูกใช้เรียบร้อยแล้ว จนนับเป็นก้าวใหม่ของวงการผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
กล้องความละเอียดสูงระดับ 4K นับสิบๆ ตัว ถูกติดตั้งทั่วเมืองเซินเจิ้น เพื่อใช้ ระบบตรวจจับใบหน้า ระบุตัวผู้กระทำผิดกฎจราจร ส่วนที่ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เหอหนาน ก็ทำเอาเทคโนโลยีระดับสูงไปเป็นเครื่องมือรักษาความสงบเรียบร้อยเช่นกัน
หมดเวลาแล้วสำหรับการหลบหลังเสา ดักยื่นใบสั่ง หรือพึ่งพาพี่ๆ “จ่าเฉย” ให้มายืนยิ้มเฉยๆ
เพราะถึงเวลาแล้วสำหรับ โปลิศ 4.0 Made In China ที่ไปไกล…ยิ่งกว่าในหนังไซไฟบางเรื่อง
“คนลักลอบข้ามถนนคือปัญหาในจีนมาตลอด และก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ด้วยการสั่งปรับเงินหรือถ่ายรูปคนผิดด้วย แต่การนำเทคโนโลยี ระบบตรวจจับใบหน้า มาผสมผสานกับจิตวิทยา สุดท้าย เราก็ลดจำนวนปัญหานี้ได้ แถมยังป้องกันการทำผิดซ้ำด้วย”
คือคำกล่าวของ Wang Jun ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ Intellifusion ผู้ให้บริการเทคโนโลยีกล้องตรวจจับใบหน้า แก่กรมตำรวจเซินเจิ้น
เกือบ 1 ปีให้หลังของการทดลองใช้เทคโนโลยีกล้องตรวจจับใบหน้ากับผู้ลักลอบข้ามถนน (Jaywalkers) ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี ทางการของเซินเจิ้น จึงมีแผนจะขยายเครือข่ายการใช้งานให้กว้างขึ้นไปอีก
‘ตำรวจอิเล็กทรอนิกส์’ สามารถจับภาพได้ทั้งยวดยานและผู้คนที่ทำผิดกฎหมายจราจรได้เป็นอย่างดี ในเขต
ไม่เพียงแต่การตรวจจับแผ่นป้ายทะเบียนรถ แต่ยังสามารถระบุใบหน้าของคนขับได้ด้วย เพื่อเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกรมตำรวจ ผลคือถนนจำนวน 40 เส้นของเซินเจิ้นอยู่ภายใต้การตรวจตรา และควบคุมอย่างเต็มรูปแบบ
ไม่ว่าคุณจะข้ามถนนนอกทางม้าลาย, ข้ามถนนขณะไฟสัญญาณระบุห้ามข้าม, จะทำตัวเป็นจอมเบียด จอมปาด จอมแทรก หรือแม้กระทั่งขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ (เช่นผู้ขับที่ถูกยึดใบขับขี่ เนื่องจากเมาแล้วขับ หรือใช้ยา) ตำรวจเซินเจิ้น จัดให้ได้หมด
นี่คือความพยายามหนล่าสุดของเทศบาลและตำรวจจีน ในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้าช่วยงานหลวง
นอกเหนือไปจากข่าวฮือฮา เมื่อกลางเดือนก่อน ที่ Facial Recognition สามารถตรวจจับใบหน้าคนร้ายที่ทางการต้องการตัวได้ ท่ามกลางผู้ชมคอนเสิร์ตของ จาง เซียะโหย่ว กว่า 50,000 คน ที่เมืองหนานชาง อันเป็นเครื่องยืนยันว่าระบบนี้สามารถใช้การได้ดีจริง
นอกจากการใช้งานในประเทศแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังถูกส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย เมื่อสตาร์ทอัพอย่าง Yitu Technology ปิดดีลในการขายกล้อง พร้อมซอฟท์แวร์ระบบตรวจจับใบหน้า ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย โดยไม่มีการเปิดเผยตัวเลขมูลค่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ประจานแบบไฮเทค
ปัจจุบัน เขต
เห็นได้จากสำนักงานขององค์กรระดับโลก ทั้ง Tencent, Huawei Technologies และ ZTE เช่นเดียวกับเป็นศูนย์รวมสตาร์ทอัพนับพัน ไม่ว่าจะเป็น DJI, BGI Genomics รวมถึง Intellifusion เจ้าของระบบ Facial Recognition ที่ถูกนำมาใช้ตรวจตราความเรียบร้อยในเมืองนั่นเอง
ตำรวจจราจรของเมืองเซินเจิ้นเริ่มติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วบนท้องถนนมาตั้งแต่ปี 1997 ต่อมาในปี 2001 จึงมีการเพิ่มระบบจับภาพและระบุป้ายทะเบียนรถ
กระทั่งเมื่อ เม.ย. ปีที่แล้ว จึงได้เริ่มใช้วิธี ‘ประจาน’ นำภาพของผู้ลักลอบข้ามถนน ขึ้นแสดงบนจอ LED ที่ติดตั้งไว้ในหลายแยก ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าซึ่งเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกรมตำรวจ ที่นอกจากการระบุภาพผู้กระทำผิดแล้ว ทั้งชื่อสกุลและหมายเลขประจำตัวบางส่วนก็ถูกโชว์ขึ้นด้วย
“กล้องที่มีความละเอียด 7 ล้านพิกเซล มีคุณภาพมากพอที่ใช้จะเปรียบเทียบภาพใบหน้าของผู้ขับที่อยู่หลังบานกระจกหน้ารถ กับฐานข้อมูลที่มี ถ้าใบหน้าผู้ขับถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของตำรวจจราจรแล้ว ระบบของเราก็จะสามารถระบุตัวตนได้ทันที” Wang Jun อธิบาย
Intellifusion ติดตั้งกล้อง Ultra-HD ที่มีความละเอียด 7 ล้านพิกเซล จำนวน 20 ตัวทั่วเมืองเซินเจิ้น และยังมีอีก 20 ตัวที่มีความละเอียด 2 ล้านพิกเซล โดยกล้อง Ultra-HD หรือ 4K นั้นสามารถซูมโดยอัตโนมัติเพื่อให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงสุด และทำให้กล้องอนาล็อก CCTV กลายเป็นของเด็กเล่นไปทันที
อย่างไรก็ตาม คุณภาพที่ดีเยี่ยมก็มาพร้อมราคาค่าตัวที่ไม่เบา Wang Jun เผยว่า Ultra-HD แต่ละตัว มีราคาสูงถึง 4 แสนหยวน (63,400 ดอลลาร์) หรือกว่า 1.9 ล้านบาททีเดียว
Wang Jun เผยต่อว่า กล้องที่ใช้จับภาพรถยนต์ที่กำลังเคลื่อนไหว จำเป็นต้องใช้กล้องที่มีค่าพิกเซลสูงๆ ซึ่งก็คือ Ultra-HD ที่มีการติดตั้งเป็นจำนวน 20 ตัวทั่วเมืองเซินเจิ้นนั่นเอง ขณะที่กล้อง 20 ล้านพิกเซลจะใช้เพื่อจับภาพคนเดินเท้าหรือรถจักรยาน
กล้องทั้ง 40 ตัว ถูกกระจายไปตามแยกที่มีการจราจรคับคั่ง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ถูกติดตั้งในบริเวณที่ต้องการเน้นความปลอดภัยเป็นพิเศษ เช่นโรงเรียน
ต่อให้เกิดเหตุในช่วงค่ำคืน ก็ใช่ว่าคนร้ายจะรอดพ้นการจับภาพไปได้ เพราะกล้องยังมาพร้อมโหมด Night-Vision เสียด้วย
ไม่มีการวิ่งไล่ตามจับ ไม่มีการดักซุ่มหลังเสาไฟ และก็ไม่มีการควักใบสั่งปรับซึ่งหน้า เมื่อระบบสามารถตรวจพบผู้กระทำผิดได้แล้ว (การลงทะเบียนชื่อและใบหน้ากับทางการ เป็นขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับพลเมืองจีน)
จนท. จะ ‘ส่งข้อความ’ ตรงเข้ามือถือเพื่อแจ้งให้ทราบถึงข้อกล่าวหาและบทลงโทษ ซึ่งในข้อความจะระบุชัดถึงชื่อสกุล, หมายเลขประจำตัว และรายละเอียดวันเวลาของการทำความผิด
สายตรวจล้ำยุค
ขณะที่ตำรวจจราจรเซินเจิ้นนำวิธีประจานคนผิดขึ้นจอ LED มาใช้ตั้งแต่ เม.ย. 2017 เมืองใหญ่อย่าง ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ก็เปิดรับเอา AI และ Facial Recognition ไปใช้ในส่วนของงานจราจรแล้วเช่นกัน (ปักกิ่งเป็นเจ้าแรกของโลกที่นำกล้องตรวจจับรอบทิศทาง Surround-Body Camera ไปใช้)
ส่วนตำรวจในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ล้ำถึงขั้นนำ Smart Glasses ที่มีซอฟท์แวร์ตรวจจับใบหน้า ไปให้กับเจ้าหน้าที่ได้สวมใส่ออกปฎิบัติงานแล้ว
จากการเก็บสถิติ พบว่าภายในหนึ่งวัน จราจรเซินเจิ้นเผยผ่านหน้าบัญชี Sina Weibo ว่ามีผู้กระทำความผิดถูกจับกุม 169 ราย โดยมากเป็นคนเดินเท้าและผู้ให้บริการเดลิเวอรี่อาหารที่ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎจราจร รวมถึงรถบางคันที่รุกล้ำไปขับขี่ในเลนที่ถูกสั่งห้าม
แล้วนับจนถึงเดือน ก.พ. ปีนี้ Facial Recognition ที่ถูกติดตั้งมาเป็นเวลา 10 เดือนในย่านฟูเตี้ยน (หนึ่งใน 7 เขตของเมืองเซินเจิ้น) สามารถจับภาพผู้กระทำผิดและนำขึ้นแสดงบนจน LED ได้มากถึง 13,930 รายด้วยกัน ซึ่งเมื่อมีจำนวนมากขนาดนี้ จราจรเซินเจิ้นเลยต้องเปิดเว็บไซต์เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ขึ้นแสดงให้เป็นเรื่องเป็นราว
ไม่แน่ชัดว่าความผิดลหุโทษเหล่านี้ หากเกิดขึ้นเพียง 1-2 ครั้ง ทางการจะลงโทษอย่างไร แต่ระบบจะเก็บข้อมูลเอาไว้ว่าถ้าคนๆ นั้นทำผิดซ้ำ ‘จนถึงระดับ’ ที่กำหนดไว้แล้ว ก็จะถูกตัดคะแนนมารยาททางสังคม Social Credit (เตรียมการใช้เต็มรูปแบบในปี 2020) นั่นเอง
ทั้งหมดทั้งมวล ทำให้ทางการจีนเชื่อมั่นใน Facial Recognition อย่างยิ่ง จนมีแผนจะติดตั้งกล้องให้มากถึง 600 ล้านตัวทั่วประเทศภายในปี 2020
ตรวจจับใบหน้า…อย่างไร?
ในสังคมจีน ใบหน้าของคุณกำลังกลายเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงบัญชีทางการเงิน, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นตัวชี้วัดว่าคุณจะถูกลงโทษหรือเป็นอิสระ
Facial Recognition สามารถระบุตัวตนได้ในระดับ ‘ขั้นกว่า’ ของลายนิ้วมือ เมื่อลายนิ้วมือจะสามารถตรวจเช็คได้แต่เพียงในระยะประชิด
แต่เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าสามารถทำได้ในระยะไกล และพร้อมสำหรับความเร็วในเพียงเศษเสี้ยววินาที
เริ่มต้นด้วยการขึ้นทะเบียนกับทางการ จากนั้นเมื่อระบบต้องการตรวจจับก็จะทำการจำแนก ‘Faceprint’ อันเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่ไม่มีการซ้ำกันทั้งโลก โดยการวัดระยะห่างระหว่างจุดต่างๆ เช่นความกว้างของจมูก ดวงตา หน้าผาก แก้ม
และระบุ ‘จุดสำคัญ’ (Nodal Points) ซึ่งมีมากกว่า 80 จุด สำหรับใช้เพื่อค้นหาผ่านฐานข้อมูลของทางการได้
ระบบที่ถูกใช้เพื่อความปลอดภัยมีความแตกต่างกับ Facial Recognition ซึ่งใช้ใน iPhone X โดยผลิตภัณฑ์ของ Apple จะฉายแสงอินฟราเรดราว 30,000 จุดมายังใบหน้าเพื่อเก็บข้อมูลแบบ 3 มิติ
วิธีนี้จำกัดระยะเพียงไม่เกิน 1 เมตรเท่านั้น ผิดกับระบบตรวจจับใบหน้าผ่านกล้อง Ultra-HD ที่จับได้ในระยะไกลนับสิบๆ เมตร
นอกจากความซับซ้อนในระบบที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับองค์ประกอบต่างๆ เช่นหมวก, แว่นตา หรือหนวดเครา คุณลักษณะอย่างหนึ่งของกล้องตรวจจับใบหน้าคือเมื่อถ่ายภาพได้แล้ว จะมีการแปลงภาพเป็นขาวดำ เพื่อให้ง่ายขึ้นสำหรับคอมพิวเตอร์ในการเชื่อมโยงต่อฐานข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดของ Facial Recognition มีอยู่ประมาณ 0.8 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงระบบอาจตรวจจับคนผิดได้ 8 คนในการสแกน 1,000 ครั้ง
และเคยมีตัวอย่างของการจับคู่โจรปล้นธนาคาร (ใส่หมวกและแว่นกันแดดอำพรางใบหน้า) กับนาย Steven Talley ที่แสดงหลักฐานในภายหลังว่าเขาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด
AHEAD TAKEAWAY
Xie Yukun เจ้าหน้าที่ตำรวจเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน เป็นอีกคนที่ได้ใช้แว่นตาอัจฉริยะสำหรับการตรวจจับใบหน้าผู้ต้องสงสัย
“เราไม่ต้องเข้าประชิดตัวใคร ไม่ต้องขอดูบัตรประชาชน และไม่ต้องเชิญตัวเข้าคุยในออฟฟิศด้วย” Xie Yukun กล่าว “เมื่อเรากำลังค้นหาใครบางคน ก็เพียงแต่ใช้งานแว่นตาที่จะแสดงภาพใบหน้าของคนตรงหน้าได้อย่างชัดเจนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นระบบจะเชื่อมต่อกับฐานข้อมูล และให้ผลลัพธ์ภายใน 2-3 นาที”
แต่แม้จะมีประโยชน์สูงในการค้นหาคนร้าย Facial Recognition ก็ยังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการ ‘ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล’ มากเกินไป หรือไม่
กรณีนี้ Li Yi หัวหน้าสถาบัน Shanghai Academy of Social Sciences ชี้ว่า แง่ดีของการสร้างความปลอดภัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของวินัย มารยาททางสังคม เช่นการเคารพกฎจราจรของชาวจีน อาจเป็นเรื่องสำคัญกว่า
“แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ควรต้องรักษาความสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ให้ดี” เขากล่าว
มาเลเซีย ลงทุนซื้อเทคโนโลยีนี้จาก Yitu Technology ของจีน ไปแล้ว ขณะที่ประเทศซึ่งกำลังเติบโตทางเทคโนโลยีไม่แพ้กันอย่าง อินเดีย ก็เริ่มใช้งานระบบตรวจจับใบหน้าแล้วเช่นกัน
ยังพบว่า Face recognition ช่วยให้ตำรวจในนิว เดลี สามารถค้นพบเด็กๆ ที่สูญหายไปกว่า 3,000 คน ได้ภายใน 4 วัน หลังจากพวกเขาเริ่มต้นใช้งานเมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมาเท่านั้น
ทางการจีน กำลังแผ่ขยายขอบเขตการใช้เทคโนโลยี โดยตั้งเป้าจะติดตั้งกล้องความคมชัดสูงให้ได้มากถึง 600 ล้านตัวภายในปี 2020 ขณะที่ อินเดีย และ มาเลเซีย ก็เริ่มต้นนับหนึ่งไปแล้ว
ไม่อยากเปรียบเทียบแต่ก็เลี่ยงไม่ได้
มีใครตอบได้บ้างว่ากล้องที่หน้าปากซอยบ้านคุณ มันกล้องดัมมี่หรือกล้องจริง… แต่พังไปนานแล้ว กันแน่
เรียบเรียงจาก
Shenzhen police can now identify drivers using facial recognition surveillance cameras
Jaywalkers under surveillance in Shenzhen soon to be punished via text messages
Indian police trace 3,000 missing children in JUST 4 days using facial recognition technology
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า