ในยุคที่ อี-คอมเมิร์ซ เริ่มเข้ามาแทนที่ค้าปลีกแบบดั้งเดิม แบรนด์ต่างๆ ก็ต้องปรับตัวให้เร็วตามไปด้วยเพื่อความอยู่รอด จนเป็นที่มาของ แบรนด์รุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ ที่เน้นให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้บริโภค (UX) ในรูปแบบออนไลน์ “โดยเฉพาะ”
ซึ่ง Andy Dunn ผู้ก่อตั้ง Bonobos แบรนด์เสื้อผ้าชายรุ่นใหม่มาแรง ให้นิยามว่า ‘Digitally Native Vertical Brands’ หรือ DNVBs
และเราทีมงาน AHEAD ASIA จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ 25 แบรนด์รุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ ที่เลือกเดินสายนี้กัน
#25 Alo Yoga
Alo Yoga ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์เป็นพิเศษ และลบภาพจำของโยคะที่เป็นกิจกรรมเก่าล้าสมัยให้กลายเป็นเทรนด์
ด้วยการใช้คนดังในโลกออนไลน์มาช่วยโฆษณาหรือเป็นพาร์ทเนอร์ ปลุกเร้า และมอบความท้าทายในการใช้สินค้าของพวกเขาให้กับวัยรุ่น
กระทั่งชุดของ Alo Yoga โดนใจคนดังอย่าง Gigi Hadid, Taylor Swift, Hailey Baldwin และกว่าที่ Alo Yoga จะเปิดร้านแห่งแรกขึ้นที่เบเวอร์ลี่ย์ ฮิลล์ส ก็เมื่อปีที่แล้วนี่เอง
ในนั้นยังมีทั้งร้านกาแฟและดาดฟ้าสำหรับคลาสเรียนโยคะด้วย
#24 Away Travel
เกิดขึ้นจากอดีตพนักงาน Warby Parker 2 คน ที่ต้องการสร้างกระเป๋าเดินทางที่มีทั้งคุณภาพและความสวยงาม โดยที่ราคาต้องไม่แพงจนเกินเอื้อม
สุดท้ายลงเอยด้วย Away ที่มีรูปลักษณ์เรียบง่ายและยึดโยงกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง Away ครองใจลูกค้าได้ด้วยฟีเจอร์ต่างๆ เช่นช่องเสียบชาร์จโทรศัพท์มือถือที่ติดตั้งไว้กับตัวกระเป๋า และซิปกันน้ำกันโคลน
Away เปิดร้านสาขาแรกที่โซโห ลอนดอน เมื่อปี 2016 และสามารถระดมทุนได้ถึง 11 ล้านดอลลาร์ จากคนดังอย่าง Jay Z, Andy Dunn (Bonobos) และ Brian Lee (Honest Company)
#23 Birchbox
ตั้งใจทำให้แบรนด์ตัวเองเป็นทางเลือกใหม่
สำหรับสาวๆ ที่ไม่ค่อยมีเวลาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ความงามในห้างสรรพสินค้า รวมถึงไม่ต้องการใช้ของที่มีราคาแพง
Birchbox สร้างโมเดลธุรกิจด้วยการเปิดรับสมาชิก และส่งเครื่องสำอางใหม่ๆ ไปให้ลูกค้าทดลองใช้เป็นประจำ ซึ่งหากลูกค้าพึงพอใจก็สามารถสั่งซื้อตัวเต็มได้เป็นลำดับถัดไป
ในปีก่อตั้ง (2010) พวกเขามีผู้ลงทะเบียนราว 1,200 คน ….แต่ 6 ปีให้หลัง ยอดกระฉูดขึ้นเป็นเกิน 1 ล้านคนแล้ว!!!
#22 Bonobos
เริ่มจากร้านขายกางเกง (2007) ค่อยๆ ขยายสู่ แบรนด์รุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ แฟชั่นเต็มรูปแบบ ด้วยความต้องการจะช่วยให้หนุ่มๆ สามารถแต่งหล่อด้วยการให้คำปรึกษาของทีมงาน (มีชื่อเรียกว่า ‘นินจา’)
แต่ก็มีกิมมิกของการ ‘ไม่ขายหน้าร้าน’
แม้ว่า Bonobos จะเปิดร้านสาขาขึ้นกว่า 30 แห่งทั่วสหรัฐฯ แต่ทั้งหมดถูกเรียกว่า ‘Guideshop’ หรือร้านสำหรับการทดลองใช้สินค้าให้หนุ่มๆ เดินเข้ามาลองถอดลองสวม และรับคำปรึกษาจาก in-store ninja
แต่ถ้าถูกใจอยากได้เป็นเจ้าของ ก็ต้องเปิดอินเทอร์เน็ตขึ้นสั่งซื้อออนไลน์เพียงเท่านั้น
#21 Casper Mattresses
มีแนวทางการทำธุรกิจแบบ ‘ใจกว้าง’ (เรียกว่า ‘ป๋า’ ก็คงได้) ไม่เหมือนใคร
สำหรับ Casper Mattresses ผู้ผลิตชุดเครื่องนอนราคาจับต้องได้
ที่จะให้ลูกค้าสั่งสินค้าที่ต้องการทางออนไลน์ ก่อนนำส่งถึงบ้าน และให้เวลาถึง 100 วันเพื่้อทดลองใช้งานอย่างเต็มที่
หากไม่พึงพอใจในสินค้า บริษัทจะรับกลับโดยไม่ต้องให้ลูกค้าเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม Casper ยังให้ความสำคัญกับความเห็นของผู้บริโภคอย่างมาก
โดยเฉพาะการส่งสินค้า ‘ตัวทดลอง’ ให้ลูกค้าใช้
ซึ่งการรับความเห็นจากลูกค้าโดยตรง ยังทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่นสูงในต้นทุนการผลิตด้วย
#20 Draper James
Draper James โดดเด่นตั้งแต่ชื่อเจ้าของแบรนด์ อย่าง Reese Witherspoon แล้ว
ด้วยความที่ดาราสาวเกิดในเมืองนิว ออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียน่า เมืองทางใต้ของสหรัฐฯ ที่เข้มแข็งด้วยวัฒนธรรม
เธอจึงนำเอกลักษณ์ต่างๆ ของบ้านเกิดมาไว้ในเสื้อผ้าของแบรนด์
และเน้นให้เป็นผลิตภัณฑ์จากบ้านเกิด 100% มีการทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่น โดยไม่เดินตามรอยแบรนด์ไฮ-แฟชั่นอื่นๆ
ส่วนการเปิดร้านสาขา 2 แห่งในเท็กซัสและเทนเนสซี
ก็ตั้งใจทำให้ร้านเป็น ‘แหล่ง Instagram’ ของคนรุ่นใหม่ด้วย
#19 Eloquii
เดิมทีเป็นหนึ่งในไลน์เครื่องแต่งกายของห้องเสื้อสตรี The Limited ก่อนที่บริษัทนี้จะปิดฐานการผลิตไป
แต่พนักงานในส่วนของ Eloquii เลือกแยกตัวมาทำแบรนด์ของตัวเองในปี 2011
เพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับสาวร่างอวบ ไซส์ 14 ไปจนถึง 24 สินค้าจะมีการตัดเย็บอย่างปราณีตและทันสมัย และเน้นไปที่การทำตลาดออนไลน์
ซึ่งแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับคนร่างใหญ่รายอื่นๆ ไม่ให้ความสำคัญนัก เว็บไซต์ของ Eloquii มีทั้งบทความจากบล็อกเกอร์สายแฟชั่น, อีเวนท์, แฟชั่นเซ็ตของสาวพลัสไซส์
กระทั่ง #XOQ กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมใน Instagram
#18 Everlane
นอกจากจะติดในชาร์ต 50 บริษัทนวัตกรรมล้ำสุดของโลกแล้ว
Everlane ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นในซาน ฟรานซิสโก ที่พร้อมเสิร์ฟข้อมูลเชิงลึกในสินค้าให้กับลูกค้าอย่างถึงแก่น ก็อยู่ในลิสต์นี้ด้วย
สมมติ เสื้อแจ็กเก็ตตัวหนึ่งตั้งขายในราคา 88 ดอลลาร์
Everlane จะแจกแจงว่าผลิตใน เวียดนาม
- มีค่าผ้า 14.55 ดอลลาร์
- ซิป และกระดุม 2.48
- ค่าตัดเย็บ 15.5
- ภาษี 2.93
- ค่าขนส่ง 1.75
รวมต้นทุนทุกอย่างแล้วอยู่ที่ 37 ดอลลาร์!!!
ขาดไปก็แค่ชื่อคนตัดเย็บเท่านั้น…
นี่คือแนวทางที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ยิ่งรักในความโปร่งใสตรงไปตรงมาแบบที่พวกเขาเป็น
#17 Glossier
Glossier เริ่มต้นด้วยการเป็นเว็บบล็อก Into The Gloss ซึ่งสร้างสัมพันธ์กับผู้อ่านเป็นเวลานาน
จนเมื่อมีข้อมูลมากเข้าก็ตัดสินใจสร้างสินค้าของตัวเอง และขายทางออนไลน์เต็มรูปแบบ
การเป็นบล็อกเกอร์มาก่อน ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากสาวๆ ที่เคยตามอ่านเป็นจำนวนมาก
การเปิดตัวสินค้าใหม่ (ดินสอเขียนคิ้ว) เมื่อปี 2016 มีลูกค้าเข้าชื่อจองถึงกว่า 1 หมื่นราย
นอกจากนั้นยังเน้นเรื่องหีบห่อสินค้า
บับเบิ้ลสีชมพูสดของ Glossier ยังถูกดีไซเนอร์คนดังอย่าง Jimmy Choo หยิบไอเดียไปใช้ในสินค้าตัวเองมาแล้ว
#16 Harry’s
เข้าแย่งส่วนแบ่งตลาดสินค้ากรูมมิ่งมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์กับ Gillette และ Schick
ด้วยแนวคิดถึงการสร้างมีดโกนหนวดที่มีดีไซน์เฉียบขาดกว่า มีคุณภาพสูง และราคาสมเหตุสมผล
ผู้ก่อตั้งของ Harry’s เล็งเห็นถึงความสำคัญในใบมีดเป็นพิเศษ จึงมีการติดต่อร่วมงานกับผู้ผลิตในประเทศเยอรมนีอย่าง Feintechnik ให้ผลิตใบมีดเฉพาะขึ้นในปี 2013
ก่อนจะเข้าซื้อกิจการของ Feintechnik ในปีถัดมา ในราคา 100 ล้านดอลลาร์
ปัจจุบันวางขายสินค้าใน 3 ประเทศคือสหรัฐฯ, แคนาดา และอังกฤษ
#15 Kopari
กำลังเติบโตทั้งในประเทศและนอกประเทศขึ้นเรื่อยๆ
โดยมีร้านค้าปลีกอย่าง Sephora, Free People และ QVC รับสินค้าไปขาย
พ่วงด้วยคอนเนคชั่นกับเซเล็บ อย่าง Ashton Kutcher ที่เป็นผู้ร่วมทุน และ Mila Kunis, Hillary Duff, Karlie Kloss ที่เป็นลูกค้า
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยการที่ Kopari สร้างเครื่องสำอาง จากวัสดุธรรมชาติ โดยเฉพาะมะพร้าว
Kopari ใช้ประโยชน์จากน้ำมันมะพร้าวปลอดสาร 100% จากฟาร์มในฟิลิปปินส์
ไม่มีการใช้สารเคมี, ซิลิโคน, สารประกอบ GMO และอื่นๆ ที่เป็นอันตราย เช่นเดียวกับมีขั้นตอนการผลิตแบบ Cruelty-Free ไม่ทดลองโดยทำทารุณกรรมสัตว์
#14 M.Gemi
คุณภาพและดีไซน์สวยหรูของรองเท้าหนังอิตาลีนั้นมาพร้อมกับราคาที่สูงลิบเสมอ
แต่ M.Gemi (ก่อตั้ง 2015) ซึ่งทำงานร่วมกับช่างฝีมือในแดนมะกะโรนี
สวนทางกับผู้ผลิตอื่นๆที่ใช้โรงงานในเอเชียที่มีค่าแรงถูกกว่า
แต่ก็ลดต้นทุนได้ด้วยการวางโครงสร้างธุรกิจใหม่ไม่พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง
ผลคือได้รองเท้าหนังอิตาลีที่ครบถ้วนด้วยคุณสมบัติ ราคาจับต้องได้ จนสร้างฐานลูกค้าสุภาพสตรีได้เป็นจำนวนมาก
เห็นได้จากสำรวจว่าพวกเธอมักซื้อรองเท้าใหม่เฉลี่ย 4 คู่ต่อปี!!!
#13 MM.LaFleur
ด้วยแนวคิดว่าทำไมนักธุรกิจหญิงจะต้องแต่งกายด้วยชุดทางการ ละทิ้งความสวยงามทางด้านแฟชั่นไป
MM.LaFleur จึงจับ 2 สิ่งนี้มาผนวกเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นแบรนด์แฟชั่นที่ถูกใจสาวนักธุรกิจทั่วสหรัฐ
ที่สำคัญยังมีบริการส่ง Bento Box บรรจุเสื้อผ้า 4-6 ชิ้นในนั้น (ราคา 110-325 ดอลลาร์) ไปถึงบ้านของลูกค้า ให้ทดลองใส่จริงเป็นเวลา 4 วัน
โดยสามารถเลือกรับสินค้าทั้งหมดหรือชิ้นหนึ่งชิ้นใด พร้อมส่งคืนชิ้นที่ไม่ต้องการกลับมายังบริษัท
ผลคือในปี 2017 ที่ผ่านมา MM.LaFleur โกยรายได้ไปถึง 30 ล้านดอลลาร์
#12 Morphe Cosmetics
ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของกิจการ ทั้งการร่วมงานกับ Influencer เช่น Jaclyn Hill, Kathleen Lights, Jeffree Star และทำโปรโมชั่นผ่านทาง Instagram, Pinterest และ YouTube ของตัวเอง
เน้นจุดยืนของ Morphe Cosmetics (ก่อตั้ง 2009) ว่าให้ความสำคัญแค่ไหนกับพลังในการทำตลาดดิจิทัล
แม้แนวทางการทำธุรกิจจะไม่มีอะไรแปลกใหม่นัก มีหน้าร้านและขายออนไลน์ส่งถึงบ้าน
แต่จุดแข็งของ Morphe คือการสร้างผลิตภัณฑ์ ทั้ง บรัชออน, อายไลเนอร์, ลิปสติก, รองพื้น, ฯลฯ ที่มีคุณภาพ ‘ระดับมืออาชีพเขาใช้กัน’ และยังมีราคาจับต้องได้
#11 MVMT Watches
แบรนด์นาฬิกาและแว่นกันแดดจากลอส แอนเจลิส ก่อตั้งในปี 2013 (เป็นแบรนด์แฟชั่นที่ระดมทุนได้สูงสุดอันดับ 2 ใน Indiegogo คือ 1 ล้านดอลลาร์) ด้วยเจตนารมณ์แน่วแน่ อย่างการเป็น ‘ร้านออนไลน์’ เท่านั้น
MVMT เน้นการจับกลุ่มลูกค้าใน Instagram (ผู้ติดตามกำลังจะถึง 1 ล้านคน)
ขยันสร้างคอนเทนท์ทั้งภาพและวิดีโอ ทั้งยังร่วมงานกับ Influencer อย่างสม่ำเสมอ
จนตอนนี้มีผู้ติดตามใน Facebook อยู่ 3.5 ล้านคน, ขายนาฬิกาออกไปแล้วกว่า 5 แสนเรือน และโกยรายได้ 30 ล้านดอลลาร์ในปี 2015
#10 Outdoor Voices
ทำธุรกิจภายใต้ม็อตโต้ ‘Doing Things’ หรือ “จงใส่ชุดของเราไปทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันของท่านซะ”
ไม่ว่าจะเล่นโยคะ, สเก็ตบอร์ด, พาสุนัขเดินเล่น, ช็อปปิ้ง, เข้าครัวทำกับข้าว ฯลฯ จัดเป็นความแตกต่างจากแบรนด์อื่นที่มุ่งเน้นการทำกิจกรรมในเชิงกีฬา
Outdoor Voices มีเป้าหมายในการสร้างเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายและใช้งานได้ในแทบทุกโอกาส มีการร่วมงานกับคนดังอย่าง Lena Dunham, Gwyneth Paltrow และ Allison Williams
และใช้งานโซเชียลมีเดียเต็มรูปแบบ จนมีอัตราการเติบโตของกิจการประมาณ 30% แบบเดือนต่อเดือนเลยทีเดียว
#9 Parachute
อุตสาหกรรมชุดเครื่องนอนของสหรัฐฯ มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านดอลลาร์
และมีแบรนด์ในตลาดอยู่นับร้อยนับพัน แต่หายากอยู่ไม่น้อยสำหรับแบรนด์ที่พร้อมเสิร์ฟสินค้าคุณภาพสูง โดยไม่ชาร์จราคาอย่างหนักหน่วง
Parachute (2014) คือหนึ่งในนั้น ทั้งยังมีความพิเศษตรงที่การเน้นใช้วัสดุธรรมชาติ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ว่าจะไม่ต้องนอนลงบนเตียงที่ผ่านกระบวนการทางเคมี
ขณะเดียวกันก็มีการทำงานร่วมกับช่างฝีมือจากอิตาลีและโปรตุเกส
เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าระดับคุณภาพชวนทิ้งตัวเมื่อแรกเห็น ทั้งยังนำเสนอบริการทดลองใช้สินค้าเป็นเวลา 30 วัน
หากลูกค้าไม่พอใจ ยินดีรับกลับแบบไม่ตั้งคำถามใดเพิ่มเติม
#8 Perverse Sunglasses
ก่อตั้งในปี 2016 ที่ลอส แอนเจลิส เพื่อมาถมช่องว่างตลาดแว่นกันแดด เพราะ ผู้ก่อตั้ง Toni Ko เห็นว่าระหว่างสินค้าไฮ-เอนด์ กับโลว์-เอนด์ มีระยะห่างกันอยู่มาก
จึงนำเสนอ Perverse ที่เป็นของคุณภาพดีและมีราคาสมน้ำสมเนื้อ เฉลี่ยที่ชิ้นละ 50 ดอลลาร์
Perverse ยังตั้งใจผลิตแว่นกันแดดที่มีดีไซน์ทันสมัยและสีสันฉูดฉาด (แต่ก็ไม่ทิ้งรูปแบบพื้นฐาน) จนสร้างฐานผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการเป็นสปอนเซอร์หลักให้กับเทศกาลดนตรี Coachella และมีคนดังอย่าง Kate Hudson กับ Kendall Jenner สวมใส่
นอกจากนั้น พวกเขายังทำธุรกิจแบบ 1:1:1 ที่จะหักรายได้ 1% ของสินค้า ‘ทุกชิ้น’ เข้าสู่การกุศล
#7 Quay Australia
พร้อมๆ กับการปรากฏอยู่บนใบหน้าของเซเลบริตี้หัวแถวอย่าง Beyonce หรือครอบครัว Kardashians แบรนด์แว่นกันแดดจากเมลเบิร์นอย่าง Quay Australia กำลังขยายกิจการไปทั่วโลกแล้ว
ปัจจุบัน Quay มีวางขายใน 35 ประเทศ และมีบู้ทสินค้ากว่า 2,000 แห่ง
Quay ตั้งใจทำให้สินค้าเป็นการผสมผสานกันระหว่างงานฝีมือระดับสูง ผลิตด้วยความปราณีตในทุกขั้นตอน กับแฟชั่นนำสมัย
ควบคู่ไปกับการปราศจากการกดขี่พนักงานผู้ผลิตอย่างไม่เป็นธรรม และยังมีภาพจำว่าเป็นแว่น ‘สำหรับอีเวนท์กลางแจ้ง’ อีกด้วย
#6 Rockets of Awesome
ไม่ต้องผจญกับรถติด ไม่ต้องเข้าคิวรอจ่ายเงิน ไม่ต้องเสียอารมณ์กับความป่วนของเจ้าตัวน้อยจอมซน Rockets of Awesome ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้ลูกหลาน สามารถนั่งๆ นอนๆ บนโซฟา
และเลือกชมสินค้าที่ส่งมาให้เลือกถึงบ้านได้ ผ่านการลงทะเบียนสมาชิก ซึ่งลูกค้าไม่ต้องรับผิดชอบค่าจัดส่ง ทั้งขาไปและขากลับ
แถมยังเล็งเห็นถึงการเติบโตทางร่างกายของเด็กๆ ที่มีสูง จึงจัดส่งสินค้าให้ถึง 12 ชิ้นใน 1 กล่อง 4 ครั้งต่อปี
จนถึงตอนนี้มีสมาชิกหลัก 1 แสนราย และเข้าชื่อ Waiting List อยู่ถึงกว่า 3,000 ครอบครัว
#5 Rothy’s
โดดเด่นด้วยการรีไซเคิล ขวดพลาสติก, ยางและโฟมเหลือใช้ กลายเป็นรองเท้าผู้หญิงที่กำลังมาแรงในสหรัฐฯ
แถมเพิ่มความพิเศษด้วยโปรแกรมการรับรองเท้าเก่าของลูกค้ามารีไซเคิลใหม่แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย การที่ตลาดรองเท้าสตรีมีขนาดใหญ่ และคู่แข่งนับไม่ถ้วน Rothy’s จากซาน ฟรานซิสโก แจ้งเกิดได้ด้วยจุดแข็งอันยากจะลอกเลียนแบบ ด้วยการเปลี่ยนของเหลือใช้ให้กลายเป็นสินค้า (ด้วยการตัดเย็บแบบ 3 มิติ)
นี่คือกลยุทธ์ที่ตรงใจผู้บริโภคที่รักสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ถึงตอนนี้พวกเขารีไซเคิลขวดพลาสติกไปแล้ว 9,840,000 ขวด และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในทุกวัน
#4 SAXX Underwear
อุตสาหกรรมชั้นในชายไร้ความเปลี่ยนแปลงมาหลายทศวรรษ
แต่การมาของ SAXX ในปี 2006 ทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นกับสินค้าประเภทนี้ ผู้ผลิตจากแวนคูเวอร์ แคนาดา ปรับเปลี่ยนการออกแบบชุดชั้นในเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่คล่องตัว มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ (เช่น BallPark Pouch, Anti-Roll Waistband, Flat Out Seams, Three-D Fit) เข้าช่วย
SAXX แทบไม่ทุ่มซื้อโฆษณาผ่านสื่อ แต่ใช้การบอกปากต่อปากของบรรดาลูกค้าและคนดังในโลกออนไลน์จนถึงวงการกีฬา
รวมถึงการสร้างคอลเล็กชั่น Signature อย่างของ Kevin Love นักบาสเก็ตบอลทีม Cleveland Cavaliers
จนตอนนี้เป็นหนึ่งในแบรนด์ชุดชั้นในชายที่โตเร็วที่สุดในสหรัฐฯ
#3 Stance BrandSocks
ก่อตั้งในปี 2009 โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความแปลกใหม่ ใส่ความสดใสและชีวิตชีวาให้กับอุตสาหกรรมถุงเท้า พลิกโฉมจากถุงเท้าสีพื้นรูปลักษณ์เป็นทางการเดิมๆ น่าเบื่อๆ ให้มีลูกเล่นและความสดใหม่ พร้อมประกาศเจตนารมณ์นี้ผ่านทางสื่อออนไลน์
“เราเปลี่ยนให้ถุงเท้ากลายเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่น่าตื่นเต้นที่สุด ในระยะไม่ถึง 5 ปี”
จนผู้บริโภคจำได้แล้วว่า เมื่อคิดถึง Stance ก็อย่าพูดถึงถุุงเท้าขาวๆ ดำๆ ให้เสียเวลา สินค้าของ Stance มีทั้งคอลเล็กชั่น Muhammad Ali, Stars Wars, Kobe Bryant, Iron Maiden, Slayer, Street Fighter, ฯลฯ
ทั้งยังมีโปรแกรม ‘Canvas’ ที่ให้ลูกค้าสามารถออกแบบเองได้ด้วย
#2 Thirdlove
ความท้าทายหนึ่งของสาวๆ คือการเสาะหาบราที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งความสวยงาม, ใส่สบาย และมีคุณภาพสูง แถมว่ากันว่าหลายคนยังไม่ทราบแน่ชัดด้วยว่าตัวเองควรใส่บราไซส์ไหน
ขณะที่การซื้อออนไลน์ก็มาพร้อมความเสี่ยงของการไม่ได้ลองสวมใส่และตัวเลขไซส์ไม่คงที่ เหล่านี้คือสิ่งที่ Thirdlove (ซาน ฟรานซิสโก, 2013) พยายามตอบโจทย์ไล่ไปทีละข้อ
ทั้งการนำเสนอออปชั่นลองก่อนซื้อ และทำแอพพลิเคชันให้สาวๆ ได้วัดขนาดของตัวเองให้แน่ชัด อันที่จริง แอพคือจุดเริ่มต้นของ Thirdlove จนเมื่อถึงจุดเหมาะสมก็ทำสินค้าออกขายเอง ผสมผสานทั้งเทคโนโลยี, การวิเคราะห์ข้อมูล, การจัดการวัตถุดิบ
จนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ยอดนิยม มียอดขายกว่า 50,000 ชิ้นต่อเดือน และเป็นเจ้าแรกที่ทำบราขนาด 1/2 คัพ
#1 Warby Parker
ก่อตั้งในปี 2010 ที่ฟิลาเดลเฟีย
ด้วยความตั้งใจทำให้แว่นสายตาเป็นหนึ่งในแอ็คเซสซอรี่ที่ผู้คนอยากสวมใส่ และท้าชนแบรนด์ใหญ่ด้วยแนวทางการทำธุรกิจที่แตกต่างอย่างตั้งใจ ไม่สนใจการส่งขายในร้านค้าปลีก ไม่พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง
กลยุทธ์ที่ Warby Parker นำมาใช้คือการ ‘เคาะประตูบ้าน’ (Home-Try-On program)
ให้ลูกค้าได้เข้าเลือกกรอบแว่นที่สนใจ 5 ชิ้นในเว็บไซต์ และบริษัทจะจัดส่งให้ได้ทดลองใช้งานจริงถึงบ้าน เป็นเวลา 5 วันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สุดท้ายตัดสินใจเลือกอันไหนจึงค่อยชำระเงิน และเมื่อสามารถขายได้แล้ว Warby Parker ก็จะบริจาคแว่นตาไปยังผู้ที่ขาดแคลนแบบ 1:1 (ขาย 1 บริจาค 1) ด้วย
“เราเชื่อว่าการซื้อแว่นสักอันควรเป็นเรื่องง่ายและสนุกสนาน มันควรทำให้คุณแฮปปี้และดูดี พร้อมกับมีเงินเหลือในกระเป๋า และเรายังเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการมองเห็น”
AHEAD TAKEAWAY
แบบไหนถึงเข้าข่าย DNVBs
#เข้าถึงแหล่งวัตถุดิบโดยตรง (Direct Sourcing)
ด้วยโมเดลนี้ แบรนด์สามารถลดค่าใช้จ่ายได้โดยเฉลี่ย 2-4% และนั่นอาจหมายถึงเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์
รวมถึงการลดขั้นตอนต่างๆ เพื่อจะได้ปรับการดีไซน์ผลิตภัณฑ์และปริมาณวัตถุดิบให้สอดคล้องกับฟีดแบ็กที่ได้รับง่าย และเร็วขึ้น
#เสริมสร้างประสบการณ์ของแบรนด์แก่ลูกค้า
การฉีกตัวจากรูปแบบเดิมๆของร้านค้าปลีก มาสู่ออนไลน์ ทำให้แบรนด์เหล่านี้สามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้ง่ายและเร็วกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน การบอกต่อประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า ผ่านทาง user-generated content ก็มีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงของแบรนด์ให้มากขึ้นไปด้วย
#รูปแบบการกระจายสินค้าที่ต่างไป
ขณะที่บริษัทอี-คอมเมิร์ซที่เป็น 3rd party ต้องเจองานหนักในการแข่งขันกับ Amazon แบรนด์ในกลุ่ม DNVBs เลือกทางที่ต่างออกไป
นั่นคือการตัดคนกลางออก และเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง (DTC หรือ direct-to-consumer)
ซึ่งเป็นโมเดลที่กำลังได้รับความนิยม และคาดว่าจะมียอดตัวเลขพุ่งแตะหลัก 16,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2020
ด้วยวิธีนี้ ไม่เพียงแต่แบรนด์จะสามารถควบคุมช่องทางในการกระจายสินค้าได้เองแล้ว
ยังสามารถรับฟีดแบ็กจากผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วด้วย
#สร้าง engagement บนโซเชียลมีเดีย
DNVBs นั้น ไม่ใช่แค่จำกัดตัวเองไว้กับการซื้อขายรับส่งสินค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังให้น้ำหนักกับคอมมูนิตี้อย่างมาก
โดยเฉพาะการเผยแพร่คอนเทนท์ต่างๆ รวมถึงบริการ customer service ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกลุ่มมิลเลนเนียลเข้าถึง
และพร้อมมีส่วนร่วมทางใดทางหนึ่ง หากว่าสิ่งนั้น “โดนใจ”
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวนอกเหนือจาก แบรนด์รุ่นใหม่ในโลกออนไลน์
เรายังมีเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ สำหรับทุกคนที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวไปข้างหน้า
สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน