คุณจะทำอย่างไรเพื่อสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมเดียวกันทั้งประเทศ เพิ่มความมีระเบียบวินัย และมารยาททางสังคมให้คนกว่า 1,400 ล้านคน ด้วยมาตรการใด วิธีที่รัฐบาลจีนเลือก คือผลักดันการใช้นโยบายที่เรียกกันว่า ‘Social Credit System’
และเพื่อให้แนวคิดนี้บรรลุผล ทางการจีนจึงมีการใช้งานนวัตกรรมเทคโนโลยีหลายสิ่งเข้าช่วย ให้สมกับเป็นหนึ่งในชาติผู้นำทางเทคโนโลยี ตั้งแต่ Facial recognition, สปายแชท, บังคับการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันของรัฐ ไปจนถึงการใช้หุ่นยนต์ตำรวจ ฯลฯ
ไปดูกันว่า 10 มาตรการที่ทั้งล้ำสมัยและโหดในคราวเดียวกัน เพื่อสังคมในอุดมคติของจีน มีอะไรบ้าง
#1
เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า
แม้รัฐบาลจีนจะยังไม่ได้บังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่อย่างน้อย 16 เมืองทั่วประเทศ มีการติดตั้งกล้อง พร้อมระบบตรวจจับใบหน้า (Facial recognition) ซึ่งสามารถสแกนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ไม่รวมนักท่องเที่ยวจากต่างแดน ด้วยความแม่นยำถึงกว่า 99.8 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อมูลจากสื่อของรัฐ
ระบบตรวจจับใบหน้าจากฝูงชนสามารถใช้งานได้ดี โดยมีข้อพิสูจน์แล้วจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองหนานชาง ซึ่งสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาคดีทางการเงินรายหนึ่งได้ท่ามกลางผู้ชมคอนเสิร์ตของ จาง เซียะโหย่ว กว่า 50,000 คน
เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ สำนักข่าว BBC ทดลองส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เมืองกุ้ยหยาง และพบว่า Facial recognition สามารถระบุตัวตนและเข้าถึงตัวผู้สื่อข่าวรายนี้ ได้ภายในเพียง 7 นาที และในบางกรณีก็ใช้เวลาเพียง 2 นาทีเท่านั้น
#2
จ้างแอดมินกลุ่มแชทให้จับตาสมาชิก
ขณะที่ในสังคมตะวันตก มีความกังวลว่า Facebook, Google หรือบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆลอบเช็กข้อมูลการสนทนาของเราหรือไม่
ในจีนนั้น แทบไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้ เพราะทุกคนต้องรับรู้แล้วเข้าใจได้เลยว่า ข้อความและรูปภาพต่างๆในกรุ๊ปแชทจะไม่มีความเป็นส่วนตัวใดๆเหลืออยู่ เพราะทางการจีนว่าจ้างแอดมินผู้ดูแลกลุ่มแชทในแอพพลิเคชัน ให้จับตาการสนทนาและการระบุคอนเทนท์ใดก็ตามที่หมิ่นเหม่ต่ออาชญากรรม
การจับตานี้ แม้แต่แอพที่ต้องเข้ารหัสเพื่อใช้งาน เช่น WhatsApp ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
รัฐบาลยังได้ออกคำสั่งให้บริษัทเทคโนโลยีเฝ้าตรวจสอบและเก็บบันทึกการสนทนาไว้เป็นเวลา 6 เดือน และต้องส่งรายงานทุกการกระทำที่ผิดกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่
#3
บังคับดาวน์โหลดแอพของรัฐ
ทางการจีนมีการจับตา ชาวอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ มากเป็นพิเศษ
รายงานจาก Open Technology Fund ระบุว่า รัฐบาลจีนมีการบังคับให้ประชาชนอุยกูร์ ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชันของทางการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือ ทั้งรูปภาพ, วิดีโอ, ไฟล์เสียง, อีบุ๊ค และอื่นๆ ได้อย่างสะดวก
แอพมีชื่อว่า ‘Jingwang’ ในภาษาแมนดาริน อันมีความหมายว่า ‘ทำความสะอาดเว็บ’ ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลข้างต้นทั้งหมด เป็นไปเพื่อตรวจตราความปลอดภัย (ตามการกล่าวอ้างของทางการ)
และเมื่อพบข้อมูลเสียงหรือภาพที่เป็นอันตรายแล้ว ก็จะมีการส่งแจ้งเตือนให้เจ้าของโทรศัพท์ลบข้อมูลนั้นทิ้ง อีกทั้งตัวแอพก็จะส่งรายงานถึงเซิร์ฟเวอร์ด้านนอกด้วย
#4
ตรวจสอบการช็อปออนไลน์
Alibaba เคยเผยว่าบริษัทฯ จัดอันดับพฤติกรรมการทำกิจกรรมออนไลน์ของลูกค้าในแพลตฟอร์มของตน ในชื่อว่า Zhima Credit
หลี่ ยิ่งหยุน ฝ่ายเทคโนโลยีของ Zhima Credit เผยเมื่อปีก่อนว่าคนที่เล่นวิดีโอเกม 10 ชั่วโมงต่อวัน จะถูกจัดว่าเป็น ‘คนว่างงาน’ (idle person) ส่วนคนที่มีการสั่งซื้อผ้าอ้อมเด็กจะถูกจัดเป็น ‘ผู้ที่ค่อนข้างมีความรับผิดชอบ’ เมื่อส่วนใหญ่มักจะเป็นพ่อหรือแม่คน
แม้จะมีการชี้แจงเพิ่มเติมในภายหลัง ว่า Zhima Credit ไม่ได้พยายามคัดกรองพฤติกรรมออนไลน์ของผู้ใช้อีกต่อไป
แต่บริษัทก็ได้ข้อมูลจำนวนมหาศาลไปจากผู้ใช้ โดย Wall Street Journal ระบุว่าบริษัทเทคโนโลยีของจีน ซึ่งรวมถึง Alibaba ด้วยนั้น มีหน้าที่ต้องแชร์ข้อมูลกับรัฐบาล เมื่อใดก็ตามที่มีการเรียกร้อง
#5
แว่นอัจฉริยะล่าคนร้าย
นอกจากการติดตั้งกล้องตรวจจับใบหน้าทั่วประเทศแล้ว บางเมืองยังมีการนำแว่นตาอัจฉริยะ Facial recognition glasses มาใช้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับฐานข้อมูล และสามารถระบุตัวคนร้ายได้อย่างแม่นยำ
Wu Fei ซีอีโอของ LLVision Technology ผู้พัฒนาแว่นตาดังกล่าวนี้ เผยว่าเทคโนโลยีสามารถตรวจจับบุคคลที่ต้องการในกลุ่มคนหลักหมื่นคน ในเพียงเสี้ยววินาที หรือ 0.1 วินาทีเท่านั้น
แว่นตานี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากร ตั้งแต่คดีเล็กๆ อย่างการทำผิดกฎจราจร ไปจนถึงคดีใหญ่อย่างการค้ามนุษย์
#6
หุ่นยนต์ตำรวจ
ทางการเจิ้งโจว นำ ‘หุ่นยนต์ตำรวจ’ (The E-Patrol Robot Sheriff) ที่รูปลักษณ์เหมือนหลุดจากหนัง Wall-E มาทำหน้าที่ในสถานีรถไฟ เพื่อตรวจจับใบหน้าผู้ลี้ภัยที่ทางการต้องการตัว ไปจนถึงรายงานความสะอาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย, ตรวจจับสภาพอากาศ และแจ้งเตือนประชาชนหากมีเหตุไฟไหม้หรืออื่นๆ เกิดขึ้น
นอกจากหน้าที่เหล่านั้น หุ่นยนต์ตำรวจตัวแรกของจีน (และน่าจะของโลก) ยังสามารถให้คำตอบพื้นฐานกับผู้โดยสารในสถานีได้ด้วย
#7
เข้มงวดกับกฎจราจร
ตามที่มีการนำเสนอผ่านสกู๊ป โปลิศ 4.0 : หมดยุควิ่งไล่จับโจร ว่าปัญหาการละเมิดกฎจราจรถือเป็น ‘ปัญหาคลาสสิก’ อยู่คู่กับเมืองจีนมาหลายปีดีดัก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องคิดค้นมาตรการใหม่ๆ มาบังคับใช้ และลงเอยที่เทคโนโลยีล้ำๆ อย่าง Facial recognition
นอกจากการระบุตัวตนแล้ว ยังมีการนำภาพผู้กระทำผิด พร้อมชื่อสกุลและหมายเลขประจำตัวบางส่วน ขึ้นแสดงที่จอ LED ซึ่งติดตั้งไว้ในบริเวณนั้น เพื่อการประจานและเสริมสร้างความรู้สึกผิดชอบชั่วดีด้วย
ตำรวจเซินเจิ้น ยังมีการนำข้อมูลผู้กระทำผิดอัพโหลดขึ้นสู่โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ ส่วนที่ฝูโจว ตำรวจจะแจ้งไปยังนายจ้างของผู้ทำผิด ว่าพนักงานของพวกเขามี “พฤติกรรมไม่ดี”
#8
สุ่มตรวจเช็คโทรศัพท์มือถือ
นอกจากการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังทหารในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ดินแดนของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ยังใช้วิธีโบราณอย่างการ ‘เข้าประชิดตัว’ เพื่อความปลอดภัยที่แน่นหนากว่าเดิม
จนท. จะสุ่มตรวจผู้สัญจรไปมาในบริเวณนั้น เพื่อตรวจเช็คทั้งโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป เพื่อค้นหาแอพพลิเคชันที่มีการสั่งห้ามใช้ และแม้กระทั่งข้อความซึ่งถือเป็นอันตรายต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
วิธีการค้นหานี้ได้นำไปสู่การถูกกักตัวและจับกุมชาวอุยกูร์หลายต่อหลายคน
#9
จับตาพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย
เมื่อเดือน มี.ค. ไม่กี่ชั่วโมง หลังลูกชายของหญิงคนหนึ่งในหวูยี่ รีทวีตข้อความแอนตี้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ลงใน Weibo เธอก็ได้รับสายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าสิ่งที่ลูกชายของเธอโพสต์ลงไปนั้น ไม่เหมาะสม และขอให้มีการลบทิ้งโดยทันที
คำสั่งนี้เกิดขึ้น แม้ว่า ชอว์น ฉาง ลูกชายของเธอ จะพำนักและใช้อินเทอร์เน็ตจากแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ก็ตาม
ไม่แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีใดในการสืบค้นและเข้าถึงตัว จากนั้น ชอว์น ฉาง ระบุว่า “บัญชีโซเชียลมีเดียของผมดูเหมือนว่าจะถูกติดตามจากรัฐบาล พวกเขาคงอ่านทุกข้อความที่ผมโพสต์ บางทีผมคงจะอยู่ใน watch list ของพวกเขา”
#10
สร้างซอฟท์แวร์รวบรวมข้อมูลผู้คน
ทางการจีนสร้างซอฟท์แวร์บางตัวขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลผู้คน โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ และหากพบว่าบุคคลนั้นเป็นอันตราย ก็จะขีดเส้นใต้ชื่อเอาไว้ในกลุ่ม ‘เฝ้าระวัง’
Human Rights Watch เผยว่า ซอฟท์แวร์ดังกล่าวมีการเก็บข้อมูลผ่านกล้อง CCTV, การตรวจเช็ค ID และกระทั่งแทรกแซงสัญญาณอินเทอร์เน็ตไวไฟ
ขณะที่หน่วยกำกับส่วนกลาง ‘Integrated Joint Operations Platform’ (IJOP) จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้คน และบ่งชี้ว่าคนๆ นั้นมีอันตรายต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือไม่ หากพบความเสี่ยงก็จะแจ้งเตือนต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต่อไป
กิจกรรมนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่จีนสามารถควบคุมคนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นผู้คัดค้านทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ
AHEAD TAKEAWAY
แนวคิดการใช้ ‘Social Credit System’ โดยทางการจีน ถูกเปิดเผยครั้งแรกตั้งแต่ปี 2014 โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ให้กับชาวจีน และ “การรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจ คือความรุ่งเรือง ส่วนการทำลายทิ้ง คือความน่าละอาย”
แม้โปรแกรมนี้ถูกวางไว้ว่าจะเริ่มต้นใช้งานเต็มรูปแบบในปี 2020 แต่เวลานี้ก็มีการออกมาตรการหลายสิ่งมาเพื่อตรวจเช็คและสลายพฤติกรรมบางอย่างแล้ว
ยังมีการรวบรวมข้อมูลไว้ว่าถ้าชาวจีนไม่พยายามรักษาคะแนน Social Credit ของตัวเองไว้ พวกเขาจะโดนลงโทษด้วยรูปแบบต่างๆ อาทิ
• ขี้นแบล็คลิสต์ หรือถูกตีตราเป็น ‘bad citizen’
• แบนการซื้อตั๋วเครื่องบินและรถไฟ
• แบนการเข้าเรียน (และส่งลูกเรียน) ในสถานศึกษาชั้นนำ
• ตัดช่องทางการได้งานกับบริษัทใหญ่
• แบนการเข้าพักโรงแรมหรู
ในทางตรงกันข้าม หากพฤติกรรมดี คะแนน Social Credit สูง (จัดเป็น ‘good citizen’) ก็จะมีรางวัลให้ด้วยเช่น ลดราคาค่าไฟฟ้า, ได้ดอกเบี้ยธนาคารสูงกว่า หรืองดเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ
ชัดเจนว่าการใช้ระบบตรวจจับใบหน้าหรือรวบรวมข้อมูลดิจิทัลสำหรับจีน มีการเปิดกว้างมากกว่าประเทศอื่นในโลก ซึ่งแน่นอนว่ามีบางส่วนที่มองว่านี่คือการรุกล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินไป
แต่อย่าลืมว่าในโลกเสรี (หรือที่เราคิดว่าใช่) พฤติกรรมคล้ายๆกันแบบนี้ก็มีให้เห็น ทั้งจากภาครัฐ เช่น NSA ของสหรัฐอเมริกาที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เคยนำเรื่องออกมาแฉให้โลกรู้ และเอกชน อย่างบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ไม่ว่าจะ Facebook, Google ฯลฯ ต่างก็รู้และเข้าใจเรายิ่งกว่าที่เราเข้าใจตัวเองด้วยซ้ำ
แต่ในคราวเดียวกัน ก็มีบางส่วนที่เห็นดีเห็นงามกับมาตรการเหล่านี้ เมื่อพวกเขา ‘รู้สึกปลอดภัย’ ภายใต้การสอดส่องดูแลของ ‘Big Brother’
กับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ต้องแลกไปด้วยความไม่เป็นส่วนตัว คุ้มกันหรือไม่
สังคมในอุดมคติของรัฐบาลจีน มีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน
คุณคงต้องตัดสินด้วยตัวเอง
เรียบเรียงจาก
China is building a vast civilian surveillance network — here are 10 ways it could be feeding its creepy ‘social credit system’
China has started ranking citizens with a creepy ‘social credit’ system — here’s what you can do wrong, and the embarrassing, demeaning ways they can punish you
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า