จะว่าไปแล้ว ยุคของ หุ่นยนต์ นั้นไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป เพราะมันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราเรียบร้อย
วัดได้จากรายงานของ International Data Corporation หรือ IDC ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายต่างๆในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งในกลุ่มฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพิ่มขึ้นจาก 71,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2015 ไปแตะหลัก 135,400 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 ที่ผ่านมา
จน จอห์น ซานตาเกท ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยของ IDC กล่าวด้วยตัวเองว่า คือยุคทองของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
เพราะการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตที่สูงขึ้น จะส่งผลให้เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคมากกว่าในอดีต
ขณะที่ กลุ่มธุรกิจที่เน้นการใช้งานหุ่นยนต์มากเป็นพิเศษ ก็คือ Healthcare ที่มีการประเมินว่ายอดค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 2019 และ Process Manufacturing (การผลิตแบบต่อเนื่องในอุตสาหกรรม อาหาร, เครื่องดื่ม, เคมีภัณฑ์, ยา ฯลฯ)
อีกตัวเลขที่น่าสนใจ ก็คือ ในทางภูมิศาสตร์ เอเชีย/แปซิฟิก คือภูมิภาคที่มีตัวเลขการใช้งานหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็น 65% ของทั่วโลก
และคาดว่าภายในปี 2019 ตัวเลขค่าใช้จ่ายรวมในโปรเจกต์ต่างๆ จะพุ่งสูงเป็นสองเท่าจากปัจจุบันที่ 46,800 ล้านดอลลาร์
ขณะที่อันดับสอง กลับไม่ใช่สหรัฐ แต่เป็นกลุ่ม EMEA (ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา) ที่ 14,600 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2015
หลังทำความรู้จักกับอุตสาหกรรมนี้ไปแล้ว ในระดับหนึ่ง
เราจะพาคุณไปพบกับ 5 บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ที่ “ล้ำ” จนคุณต้องรู้จัก
#5
Boston Dynamics
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าก้าวหน้าที่สุดในเรื่องเทคโนโลยีการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์
Boston Dynamics ก่อตั้งขึ้นในปี 1992 โดยเป็นการแยกตัวจากแผนกหนึ่งของ MIT และถูก Google X บริษัทลูกของ Alphabet Inc. ซื้อกิจการไปในปี 2013 และเพิ่งถูกซื้อต่อไปโดย SoftBank Group ของ มาซาโยชิ ซอน เมื่อกลางปี 2017
หุ่นยนต์เด่นๆที่พัฒนาโดย Boston Dynamics ประกอบด้วย
Atlas – หุ่นยนต์สำหรับค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 มีจุดเด่นคือการเดินสำรวจได้ทุกแห่ง ไม่ว่าพื้นผิวจะอยู่ในรูปไหน ขณะที่เวอร์ชั่นล่าสุด สามารถทำลังกาหลังจนเป็นที่ฮืฮาในโลกโซเชียล เมื่อเร็วๆนี้
Spot Mini – หุ่นยนต์ขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายสุนัข น้ำหนักเบา อยู่ระหว่าง 25-55 กก.เท่านั้น มีจุดเด่นที่การเคลื่อนไหวที่เงียบกริบ สามารถเปิดประตูได้ และเคลื่อนไหวได้ตามคำสั่งของผู้ใช้งาน จนเคยขึ้นเวที TedTalk เพื่อโชว์ตัวมาแล้ว
Handle – หุ่นยนต์ที่ผสมผสานการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ เข้ากับส่วนขาที่มีล้อติดตั้ง เพื่อให้เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว
#4
ASIMO
Asimo น่าจะเป็นหนึ่งในหุ่นยนต์รูปแบบมนุษย์ ที่ผู้คนรู้จักมากที่สุดในโลก
คำว่า Asimo มีที่มาจาก Advanced Step in Innovative Mobility หรือ “ก้าวที่ล้ำหน้าแห่งนวัตกรรรมการเคลื่อนไหว” ซึ่งพัฒนาโดยทีมวิศวกรของเยอรมนี ให้กับ Honda
แม้จะพัฒนามาแล้วนานกว่าสองทศวรรษ แต่ Asimo ก็ยังเป็นที่ยอมรับในเรื่องของเทคโนโลยี i-WALK ที่ช่วยให้เดินและวิ่งได้อย่างอิสระ รวมถึงเดินขึ้นลงบันไดได้เหมือนมนุษย์
และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็มีการอัพเกรดคุณสมบัติเพิ่มเติมต่อเนื่อง ทั้งระบบบันทึกเสียงเพื่อตอบสนองคำสั่ง ความสามารถใสการจดจำใบหน้าคู่สนทนา
ทั้งหมดนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ Asimo มีความสามารถรอบด้าน รองรับความจำเป็นในการทำงานได้หลากหลายนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ทาง Honda ก็ประกาศหยุดการพัฒนา Asimo อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ปี 2018 เพื่อหันไปเน้นการพัฒนาหุ่นยนต์รูปแบบอื่นๆ เพื่อใช้งาน เช่นการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน หรือการเดินทางแทน
#3
Davinci Surgical System
ในการผ่าตัดสำคัญๆ โดยเฉพาะอวัยวะต่างๆที่มีขนาดเล็ก เช่น ต่อมลูกหมาก ลิ้นหัวใจ หรือนรีเวชวิทยา ซึ่งต้องการความเที่ยงตรงชนิดพลาดไม่ได้ ความนิ่งของเครื่องจักรจึงถูกนำมาใช้ เพื่อสนับสนุนสมองและการตัดสินใจของมนุษย์
นั่นคือที่มาของการสร้างหุ่นยนต์ผ่าตัด Davinci Surgical System ขึ้น เพื่อให้การผ่าตัดแต่ละครั้ง ส่งผลรบกวนต่อร่างกายมนุษย์น้อยที่สุด และชื่อของระบบก็ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ เลโอนาร์โด ดา วินชี หนึ่งในผู้บุกเบิกการศึกษาอนาโตมีของมนุษย์ ที่พัฒนาต่อมาเป็นต้นแบบของหุ่นยนต์ในปัจจุบันนั่นเอง
หนึ่งในตัวอย่างความยอดเยี่ยมที่สามารถผ่าตัดสิ่งเล็กๆได้อย่างแม่นยำของระบบนี้ ก็คือการสาธิตกับผลไม้ที่มีขนาดเล็กและบอบบางอย่างองุ่น ทั้งการลอกผิวด้านนอกออก และเย็บกลับเข้าไปได้โดยไม่ทำให้ตัวผลไม้บอบช้ำ
#2
Amazon Robotics
หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของ Amazon.com คือระบบจัดเก็บในคลังสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยอดเยี่ยม ทำให้บริษัทสามารถบริการลูกค้าได้ตามออร์เดอร์ ไม่ว่าจะมียอดสั่งเข้ามาจำนวนมากแค่ไหน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ
ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับ Amazon Robotics (หรือชื่อเดิมคือ Kiva Systems)
งานของหุ่นยนต์ Kiva คือช่วยขนส่งสินค้าในศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ด้วยวิธีคิดที่ต่างไปจากเดิม คือให้หุ่นยนต์วิ่งไปยกชั้นวางสินค้าที่มี QR code ติดอยู่ด้านใต้ นำมายังพื้นที่บรรจุสินค้าที่มีพนักงานรออยู่ ทั้งหมดนี้มีซอฟต์แวร์ที่ชาญฉลาดคอยสั่งการหุ่นยนต์จำนวนมากอยู่เบื้องหลัง
ระบบนี้เองที่ช่วยลดเวลาและความผิดพลาด จากคลังสินค้าแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้คนจำนวนมากในการเดินไปหยิบสินค้ามาจัด ซึ่งเป็นงานที่เสียค่าแรงมหาศาล ไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นเหตุผลว่าทำไม Amazon ถึงตัดสินใจทุ่มเงินถึง 775 ล้านดอลลาร์ ซื้อ Kiva Systems มาเป็นของตัวเองเลย
#1
MegaBots
หุ่นยนต์ขนาดยักษ์ในหนังสือการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นคือความฝันของเด็กผู้ชายแทบทุกคน แต่น้อยคนนักที่จะทำให้มันกลายเป็นจริงได้
Megabots Inc. สตาร์ทอัพจากสหรัฐ คือผู้ผลักดันให้สิ่งนี้กลายเป็นความจริง และไม่เพียงแค่จุดประกายให้มีการสร้างหุ่นยนต์ขนาดใหญ่เท่านั้น ยังขยายไปสู่การแข่งขันเพื่อทดสอบความแข็งแกร่งของหุ่นยนต์ในรูปแบบของกีฬาด้วย
และเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว การสู้กันของหุ่นยนต์ยักษ์ “ครั้งแรกในโลก” ก็เกิดขึ้นจนได้ โดยเป็นการพบกันระหว่างหุ่นยนต์ของ Megabots กับ Suidobashi Heavy Industry ซึ่งมีการถ่ายทอดสดแบบไลฟ์สตรีมผ่าน YouTube อีกด้วย
นอกจากความยอดเยี่ยมในเชิงวิศวกรรมแล้ว Megabots ยังสปินออฟบริษัทลูกไปสู่ธุรกิจบันเทิง อย่างเช่น ไลฟ์ อีเวนท์, สินค้าเมอร์แชนไดส์ต่างๆ รวมถึงธุรกิจโทรทัศน์ด้วย
AHEAD TAKEAWAY
5 บริษัทที่ว่านี้ เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดง่ายๆด้วย
เหตุผลหนึ่งของการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ คือการที่หลายประเทศเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ (ageing society) และการถดถอยของจำนวนผู้ใช้แรงงานนั่นเอง
เหมือนที่นาย ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตั้งใจที่จะใช้การแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพ เป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานของสมาร์ทซิตี้ ที่มีหุ่นยนต์และเครื่องจักรคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้คน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำเป็นลำดับต้นๆของโลกนั่นเอง
หรือต่อให้เป็นประเทศที่ยังห่างไกลจากสังคมผู้สูงอายุ การนำหุ่นยนต์มาใช้ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ในแง่ลดการใช้แรงงานที่ไม่จำเป็น เพื่อหันไปทำในสิ่งที่สร้างสรรค์มากขึ้นแทน
เหมือนอย่างที่ Amazon ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมองการณ์ไกลนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ลดข้อผิดพลาดต่างๆในการคัดเลือก จัดเรียง และส่งสินค้า
หรือ Alphabet ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งอาจนับเป็นอีกแขนงหนึ่งของหุ่นยนต์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่างๆนั่นเอง
เรียบเรียงจาก
The Multi-Billion Dollar Robotics Market Is About to Boom
Honda stops developing Asimo, its friendly humanoid robot, report says
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า