ผลสำรวจของสำนักข่าว Reuters พบว่าชาวอเมริกัน จำนวน 3 ใน 4 ยังคงวางใจเลือกใช้งาน Facebook เช่นเดิม แม้จะถูกวิจารณ์หนักจากกรณีข้อมูลรั่วไหล ผ่านทาง Cambridge Analytica ก็ตาม
ในรายงาน Global Digital ประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2018 ระบุว่ายอดผู้ใช้งาน (Active Users) ทั่วโลกของ Facebook อยู่ที่ 2,234 ล้านคน ขยับขึ้นจากผลสำรวจเมื่อเดือน ม.ค. ราว 100 ล้านคน โดยประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดคืออินเดีย 270 ล้านคน รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 240 ล้านคน ส่วนสื่อออนไลน์ในอันดับรองลงมา ได้แก่ YouTube และ WhatsApp ซึ่งมีผู้ใช้ประมาณ 1,500 ล้านคน เมื่อเทียบกันแล้ว ก็ยังมีส่วนต่างราว 700 ล้านคนทีเดียว
ด้านโพล Reuters/Ipsos ที่สำรวจจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียอายุ 18 ปีขึ้นไปในสหรัฐฯ จำนวน 2,194 คน (และมีการปรับเพิ่มฐานคะแนนราว 3% เพื่อให้ภาพกว้างขึ้น) ระหว่างวันที่ 26-30 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ยังคงใช้งาน ตามปกติ และมีอีกจำนวนหนึ่งที่เผยว่าใช้บริการมากขึ้นกว่าเดิม และเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ใช้งานน้อยลง หรือลบบัญชีทิ้ง
กลุ่มผู้ถูกสำรวจ 64 เปอร์เซ็นต์เผยว่าตนเข้าใช้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ซึ่งน้อยลงกว่าการสำรวจเมื่อเดือน มี.ค. เพียง 4%
โพลยังสอบถามเรื่องความตระหนักรู้ในความปลอดภัยของการใช้งาน ซึ่งผู้ใช้74% ระบุว่าพวกเขาทราบดีถึงการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ณ ปัจจุบัน และ 78% ยืนยันว่าทราบดีถึงวิธีการปรับเปลี่ยน
ขณะที่ผู้ใช้ Instagram เพียง 60% เท่านั้นที่รู้ถึงการตั้งค่า ณ ปัจจุบันของตน
AHEAD TAKEAWAY
ในจำนวน 87 ล้านบัญชีที่มีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว Mike Schroepfer หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ Facebook เผยเมื่อเดือนก่อนว่า เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้ของสหรัฐอเมริกา กว่า 81 เปอร์เซ็นต์
Cambridge Analytica ลักลอบแชร์ข้อมูลของชาวอเมริกัน (หรือผู้ที่พำนักในสหรัฐฯ) ในแคมเปญหาเสียงของ Donald Trump ถึงกว่า 70 ล้านคน ขณะที่ชาติอื่นๆ ได้รับผลกระทบในสัดส่วนที่น้อยกว่ากันมาก อาทิ ฟิลิปปินส์ 1.17 ล้านคน, อินโดนีเซีย 1.09 ล้าน, สหราชอาณาจักร 1.08 ล้าน หรือเม็กซิโก 7.9 แสน
สิ่งที่เกิดขึ้นยังผลให้ Cambridge Analytica ต้องปิดกิจการลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้บริการอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจล่าสุดของโพล Reuters/Ipsos กลับบ่งชี้ข้อมูลว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาใหญ่โต โดย 3 ใน 4 ยังคงใช้งานตามปกติ หรือแม้แต่ใช้มากกว่าเดิม
กรณีนี้ Michael Pachter นักวิเคราะห์ของ Wedbush Securities ชี้ว่าในความโชคร้ายของ Facebook ก็ยังมีความ ‘โชคดี’ ที่ข้อมูลซึ่งรั่วไหล ถูกใช้ไปเพื่อการทำโฆษณาทางการเมือง ไม่ใช่มุ่งร้ายต่อทรัพย์สินและความปลอดภัยในชีวิตของแต่ละคน
“ผมไม่พบรายงานที่บอกว่ามีผู้ใช้งาน Facebook ได้รับอันตรายจากการละเมิดข้อมูลแม้แต่คนเดียว” Pachter กล่าว “ดังนั้น มันจึงไม่มีใครที่ติดใจเอาความแบบยอมกันไม่ได้”
เรียบเรียงจาก
Most users in US still loyal to social networking giant, poll finds
Three-quarters users as active or more since privacy scandal: Reuters/Ipsos poll
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน