ที่ผ่านมา มีประเด็นถกเถียงในโลกโซเชียลมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงการเสนอให้ทิ้งการเรียน เข้าสู่โลกของการทำงานก่อนคนอื่น เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด
เพราะจากอดีตถึงปัจจุบัน มีตัวอย่างคนประสบความสำเร็จมากมายที่หันหลังให้กับห้องเรียน เพื่อเริ่มธุรกิจของตนเองตั้งแต่อายุน้อย
ยิ่งถ้าเป็นในสาย Tech ด้วยแล้ว ก็ไล่ตั้งแต่ อิวาน สปีเกล (Snapchat), มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (Facebook) รวมถึง ‘ผู้ชายที่เคยรวยที่สุดในโลก’ อย่าง บิล เกตส์ ด้วย (ปัจจุบัน เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon.com คือเจ้าของตำแหน่งคนปัจจุบัน )
ความกล้าได้กล้าเสีย
แน่นอนว่าการเดินทาง สายนี้ต้องมี ความกล้าได้กล้าเสีย ซึ่งเป็นบุคลิกหนึ่งที่ติดตัว เกตส์ มาตั้งแต่เด็ก สังเกตได้จากบอร์ดเกมที่ เกตส์ ในสมัยเด็กโปรดปราน ชื่อว่า ‘Risk’
เกมที่มีเป้าหมายในการครองโลก ด้วยการกระจายกำลังทหารออกไปยึดตามจุดต่างๆให้ได้มากที่สุด
ทำให้การเลือก ‘เป้าหมาย’ ที่จะโจมตีแต่ละครั้ง และ ‘กลยุทธ์’ ในการกระจายกำลังทหารไปประจำตามจุดต่างๆ ในแต่ละตาบังคับให้ผู้เล่นต้องเผชิญความเสี่ยง ที่เกิดจากการตัดสินใจทั้งสิ้น
ซึ่งมันเหมือนกับความเสี่ยงที่เจ้าของกิจการต้องเจอในทุกๆครั้งที่ตัดสินใจเรื่องธุรกิจ ต่างกันที่ในโลกธุรกิจจริงๆนั้น ไม่มีเรื่องแต้มจากการทอยลูกเต๋ามาเกี่ยวข้องเหมือนในบอร์ดเกม
ประสบการณ์เสี่ยงในชีวิตจริง
โดยความเสี่ยงในชีวิตจริงครั้งแรกของ เกตส์ คือตอนตัดสินใจดร็อปจากฮาวาร์ด เพื่อเริ่มต้น Microsoft ร่วมกับ พอล อัลเลน
เพราะพวกเขาเห็นโอกาสทางธุรกิจ ในการเขียนโปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หลังจากเจอเรื่องเกี่ยวกับมินิคอมพิวเตอร์ Altair 8800 บนปกนิตยสารเล่มหนึ่ง
ในตอนนั้นพวกเขาตัดสินใจว่าหากรอจนเรียนจบก่อน คนอื่นอาจจะตัดหน้าทำไปแล้ว
บริหารความเสี่ยงแบบ เกตส์
การเสี่ยงครั้งนี้ของ เกตส์ ได้ผล เมื่อสามารถดีลกับ IBM ในการขายไลเซนส์ระบบปฏิบัติการให้ โดยยังเป็นผู้ถือสิทธิ์ไว้
จนเมื่อธุรกิจคอมพิวเตอร์ เริ่มบูมช่วงกลางยุค 1980s เกตส์ ก็กลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน เมื่อ Microsoft เสนอขาย IPO ในปี 1986 และขึ้นแท่นเป็นชายที่รวยที่สุดในโลก ในปี 1995 เรื่อยมาถึงปลายปี 2017
“ธุรกิจคือเกมการเงิน ที่มีกฎไม่กี่ข้อ แต่เต็มไปด้วยความเสี่ยง”
ถึงจะเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย แต่ “การเสี่ยง” ทุกครั้งของ เกตส์ มีเป้าหมายที่ชัดเจน และผ่านการคำนวณ (calculated risk) มาแล้ว
ตัวอย่างที่เห็นชัด คือการปรับรุ่นของ Windows ที่ไม่เคยพลิกโฉมจากหน้าเป็นหลังมือ
ถึงจะถูกเหน็บว่าขาดไอเดียแปลกใหม่ แต่การบริหารความเสี่ยงในแบบ เกตส์ ก็ช่วยให้ Microsoft รักษาสถานะบริษัทชั้นนำของโลกต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ
เช่นกันกับการตัดสินใจดร็อปเรียน เพื่อก่อตั้ง Microsoft เพราะ เกตส์ รู้ดีว่าสามารถกลับไปเรียนต่อตามความต้องการของพ่อแม่ได้ หากการเสี่ยงครั้งนั้นไม่ประสบผล
วิเคราะห์โอกาสก่อนลงมือ
เมื่อครั้งขึ้นปาฐกถาต่อหน้านักศึกษา 1,700 คนที่มหาวิทยาลัยชิคาโก Gates ยังเตือนว่าหากใครคิดจะพักการเรียนเพื่อทำธุรกิจแบบตน ไอเดียนั้นจะต้อง “โดดเด่น” (very unique) จริงๆ
ทุกครั้งก่อนลงมือ ให้วิเคราะห์น้ำหนักความเสี่ยง และโอกาสในการกลับมาตั้งหลัก ก่อนตัดสินใจลงมือ
ถ้าเห็นว่ายังมีปัจจัยที่อาจทำให้ล้มเหลว ให้ลองทบทวนกลยุทธ์ใหม่ทันที
เรียบเรียงจาก
‘The Life and Business Lessons of Bill Gates’ โดย George Ilian
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า