Microsoft Build 2018 คืองานคอนเฟอเรนซ์ของนักพัฒนาที่จัดขึ้นโดยยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเป็นประจำทุกปี โดยนอกจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆแล้ว อีกหนึ่งในไฮไลท์สำคัญ ก็คือการขึ้นเวทีในช่วง Keynote โดย Satya Nadella CEO คนปัจจุบัน
ในปีนี้ Nadella ไม่ได้พูดถึงตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมากนัก เหมือนปีก่อนที่เรียกเสียงฮือฮาด้วย Project Emma หรือ Holo Lens แต่เลือกที่จะนำเสนอมุมมองและโซลูชั่นส์ต่างๆ โดยเน้นหนักที่เทคโนโลยีหลักซึ่งเราเริ่มคุ้นเคยกันแล้ว อย่าง AI และคลาวด์
และนี่คือ 6 ประเด็นหลักที่ทีมงาน AHEAD.ASIA คัดเลือกมาให้คุณโดยเฉพาะ
ใส่ใจข้อมูลส่วนบุคคล
ในสถานการณ์ที่หลายบริษัทด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มโซเชียลมีเดีย กำลังถูกเพ่งเล็งเรื่องการนำข้อมูลผู้ใช้ไปหาประโยชน์ทางการค้า
Nadella เลือกที่จะอธิบายจุดยืนของบริษัทว่า “ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” กับแนวทางการทำธุรกิจแบบนั้น โดยเน้นย้ำคำว่า ‘Human Right’ (สิทธิมนุษยชน) เป็นพิเศษ เห็นได้จากเมื่อช่วงต้นปี ที่บริษัทประกาศว่าจะมีการแสดงข้อมูลให้ผู้ใช้ได้ตรวจสอบว่า Windows 10 ได้เก็บข้อมูลอะไรกลับไปบ้าง
คล้ายกับที่ Tim Cook CEO ของ Apple แสดงความเห็นกรณีข้อมูลผู้ใช้ Facebook 87 ล้านบัญชีรั่วไหลผ่านทาง Cambridge Analytica โดยย้ำว่าผู้ใช้งานคือฝ่ายที่มีสิทธิ์ขาดในการควบคุมการใช้งานข้อมูลต่างๆของตนเอง
ผูกพันธมิตร DJI และ Qualcomm
ในปีนี้ มีการประกาศเรื่องความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ถึงสองราย DJI เจ้าพ่อวงการโดรนจากจีน และ Qualcomm ผู้ผลิตชิปเซ็ตเบอร์ต้นๆของโลก
ภายใต้ความร่วมมือนี้ DJI จะเลือกใช้ระบบคลาวด์ Azure เป็นหลัก ในการเก็บข้อมูล แต่ก็ยังมีออปชั่นให้ผู้ใช้เลือกคลาวด์ของบริษัทอื่นได้ หากว่าต้องการ
แต่เป้าหมายหลักจริงๆของการจับมือกันครั้งนี้ คือ DJI จะปล่อยชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้เดเวลอปเปอร์ทั่วๆไป สามารถสร้างแอพสำหรับโดรน เพื่อใช้ในระบบปฏิบัติการ Windows 10 ได้โดยตรง อาทิ การสั่งให้โดรนบินขึ้นไปตรวจสอบหลังคาที่เสียหาย และส่งข้อมูลกลับมาที่แล็ปท็อปเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ได้ทันที
ส่วนในรายของ Qualcomm ก็เช่นกัน โดยจะมีชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ให้นักพัฒนาที่เป็นคนนอก นำไปสร้างอุปกรณ์ต่างๆ เช่นกล้องที่สามารถจดจำวัตถุได้ คล้ายกับเทคโนโลยี DeepLens camera ของ Amazon
มุ่งหน้าพัฒนา AI เชิงบวก
แม้หลายฝ่ายจะมีความกังวลว่า AI อาจย้อนกลับมาเป็นภัยต่อมนุษย์
แต่ Nadella ยังแสดงความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีนี้ และพูดถึงคณะกรรมการ AETHER (ย่อมาจาก AI and Ethics in Engineering and Research) ที่จะมีบทบาทในการประเมินแนวทางในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ว่า “อะไรที่ทำได้” และ “อะไรที่ควรทำ” รวมถึงวางกฎและขอบเขตในการใช้งานให้กับทีมพัฒนาและวิจัย เพื่อไม่ให้ AI เกิดอคติใดๆขึ้น
พร้อมสำทับว่า “ทางที่เราเลือก สามารถเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคตได้”
นอกจากเรื่อง AETHER แล้ว Nadella ยังพูดถึง Project Brainwave ที่เปิดช่วงทดสอบให้บรรดานักพัฒนาแล้ว พร้อมคุยว่า FPGA ชิปเซ็ตเฉพาะของ Brainwave ซึ่งผลิตโดย Intel จะช่วยให้ AI ทำงานได้เร็วกว่าบริษัทคู่แข่งอื่นๆ (มีการพาดพิงถึงชิป TPU ของ Google ด้วย)
Cortana และ…Alexa!?!
เมื่อต่อต้านไม่ได้ ก็ต้องเข้าร่วม เพราะนับวันผู้ช่วยอัจฉริยะ Alexa ของ Amazon จะมีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันมากขึ้น
ทางเลือกของ Microsoft สำหรับ Cortana คือแทนที่จะแข่งขันกับเจ้าตลาด ก็เลือกเน้นการโปรโมทในฐานะผู้ช่วยอัจฉริยะ “ในเชิงการทำงานและธุรกิจ” (business digital assistant) แทน พร้อมนำเสนอการทำงานร่วมกับ Surface Hub, Microsoft 365 และผลิตภัณฑ์อื่นๆของบริษัทแทน
การกลับมาของ Kinect
โมชั่นคอนโทรลเลอร์ของ Xbox ที่ไม่ได้ไปต่อ หลังถูกถอดจากสายการผลิตเมื่อปีกลาย จะได้กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ ไม่ได้อยู่ในฐานะอุปกรณ์เครื่องเล่นเกม แต่มาในฐานะเครื่องมือทางธุรกิจแทน ในชื่อ Project Kinect for Azure
Nadella ยืนยันว่าการกลับมาครั้งนี้ Kinect จะมีระบบตรวจจับที่ดีกว่าเดิม และอาจใช้สั่งการโดรนเพื่อให้หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ดีขึ้น
ทาง Microsoft ยังไม่มีแผนวางขาย Kinect ตัวใหม่นี้ แต่นักพัฒนาสามารถทำเรื่องขอรับตัฮาร์ดแวร์คิตได้ เพื่อนำไปพัฒนาต่อหรือสร้างอุปกรณ์ของตัวเอง
หนุนสร้างแอพเพื่อผู้พิการ
Nadella ปิดท้ายช่วง keynote ด้วยการประกาศโครงการระยะเวลาห้าปี ของ Microsoft ซึ่งจะสนับสนุนเงินทุน 25 ล้านดอลลาร์ ให้แก่นักวิจัย NGO และนักพัฒนา เพื่อสร้างแอพพลิเคชั่น AI ที่จะมายกระดับการใช้ชีวิตของผู้พิการในทางใดทางหนึ่ง เช่น อาจจับภาพของป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ แล้วส่งข้อความแจ้งเตือนให้เพิ่มความระมัดระวัง
หรือ “เพื่อนำความฉลาดและแพสชั่นในตัวคุณมาใช้ช่วยเหลือคนพิการนับพันล้านคนทั่วโลก” อย่างที่ Nadella กล่าว
AHEAD TAKEAWAY
แม้จะยังอยู่ในสถานะบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก แต่ Nadella ในฐานะ CEO ก็รู้ดีว่า Microsoft ไม่สามารถยึดติดกับอดีตได้อีกต่อไป
เห็นได้จากการเกริ่นในช่วงต้น ว่าทุกวันนี้ แม้แต่ Bill Gates ก็ยังพูดถึงเรื่องหุ้นของ “อดีตคู่ปรับ” อย่าง Apple ก่อนโยงเข้าสู่เรื่องการเปิดกว้างที่จะร่วมมือกับทุกคน เพื่อการก้าวต่อไปข้างหน้า
ไม่ใช่แค่ความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆเท่านั้น แม้แต่ระบบปฏิบัติการ Windows ที่เคยเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท ก็กำลังจะมีสถานะที่เปลี่ยนไป
Nadella อาจไม่ได้พูดประโยคดังกล่าวโดยตรง
แต่ในทุกการสาธิตบนเวที Azure หรือระบบคลาวด์ของ Microsoft แสดงให้เห็นว่านี่คือแพลตฟอร์มในอนาคตของบริษัท หลังผ่านยุคของการผูกขาดของ Windows
และเมื่อไม่อยู่ในสถานะผูกขาดอีกต่อไป
ทางออกของ Microsoft ในยุค Nadella จึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือเทคโนโลยีที่กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน แทนการยัดเยียดให้ใช้อย่างในอดีต
เหมือนที่ Nadella ยกประโยคของ Mark Weiser อดีตหัวหน้าทีมวิจัยของ Xerox PARC ผู้ล่วงลับมาใช้ ระหว่างที่อยู่บนเวที
“The most profound technologies are those that disappear. They weave themselves into fabric of everyday life until they are indistinguishable from it.”
หรือ
“เทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้คนได้ดีที่สุด คือเทคโนโลยีที่แทรกตัวเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้”
เรียบเรียงจาก
Satya Nadella Keynote. -Pt.1-
Big Takeaways from Satya Nadella’s Talk
Why Satya Nadella Is Tearing Up the Windows Business
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน