กลายเป็นปรากฏการณ์แห่งวงการภาพยนตร์โลกและบ้านเรา สำหรับ Avengers: Infinity War ที่คงหาหนังเรื่องไหนมีการเพิ่มรอบฉายพิเศษช่วงตี 3 และ 6 โมงเช้า ได้ลำบาก ส่วนหนึ่ง คงต้องให้เครดิตกับความพิเศษของหนัง คือ มหาวายร้ายอย่าง ‘Thanos’ ผู้สามารถลบจักรวาลได้เพียงดีดนิ้ว
และนี่คือการล้วงลึกทีมผู้สร้าง ที่ปั้นให้ “พี่มันม่วง” กลายมาเป็นศัตรูตัวฉกาจของเหล่าฮีโร่ Avengers แห่งจักรวาล Marvel
พลังของ Machine Learning
การสร้าง Thanos ให้โลดแล่นบนจอเงิน แบ่งออกเป็น 2 พาร์ทหลัก คือการแปลงความเคลื่อนไหวของผู้แสดงอย่าง Josh Brolin ให้เป็นจอมวายร้าย และการสร้างซีนการแสดงของตัว Thanos เอง
งานแรกเป็นหน้าที่ของบริษัทสเปเชียลเอฟเฟกต์ Digital Domain ส่วนอย่างหลังดูแลโดย Weta Digital
Digital Domain ใช้เทคโนโลยี Computer-Generated Imagery (CGI) เข้าช่วย พร้อมกับการติดตั้งเซนเซอร์ไปทั่วลำตัวและใบหน้าของ Brolin เพื่อให้การแสดงของหนุ่มใหญ่วัย 50 สามารถแปลงค่าดิจิทัลมาเป็นตัวละครในเรื่องได้
Kelly Port หัวหน้าฝ่าย visual effects ของ Digital Domain เผยว่า ทีมของเขาใช้ทั้งการสแกนภาพนิ่งและสแกนภาพเคลื่อนไหว ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัย Disney Zurich Research Labs โดยใช้ข้อมูลจากกล้องที่ติดตั้งบนศีรษะ “ที่จริงมันให้ความละเอียดค่อนข้างต่ำ แต่ก็เพื่อการสร้างอารมณ์บนใบหน้า จากนั้นเรานำมันเข้าสู่อัลกอริธึมของ machine-learning เพื่อให้มันกลายเป็นภาพความละเอียดสูง”
“ในการทำซ้ำแต่ละครั้ง คุณต้องสอนเครื่องจักรกลไปด้วย คุณป้อนข้อมูลหรือปรับแต่งบางอย่างเพื่อให้ได้อะไรที่ถูกต้องที่สุด และเมื่อเวลาผ่านไป อัลกอริธึมนี้ก็จะค่อยๆ เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด” ด้วยเทคโนโลยีนี้ Port เผยว่ามันสามารถเก็บรายละเอียดบนใบหน้าได้อย่างน่าทึ่ง เช่นการกระตุกเล็กน้อยในกล้ามเนื้อหน้า หรือการสั่นเทิ้มเล็กๆ
“ความจริง บางสิ่งคุณอาจจะไม่ทันสังเกตเห็น แต่มันสำคัญสำหรับการแสดงอารมณ์ของตัวละคร”
Brolin อีกคน
ขณะที่ Matt Aitken ผู้ซึ่งทำงานร่วมกับ Weta Digital มาเป็นเวลากว่า 24 ปี เผยว่าทีมของเขามีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นกันเพื่อให้ภาพที่ได้ออกมาสมจริงที่สุด
“เราจำเป็นต้องสร้างหุ่นจำลองดิจิทัลแคแร็กเตอร์ของ Thanos ขึ้นมา เขาสูง 8 ฟุต ตัวเป็นสีม่วง และมีคางใหญ่ชนิดหลุดโลก แต่เราก็ต้องสร้างหุ่นจำลองดิจิทัลของ Josh Brolin ขึ้นมาเช่นกัน เพื่อสร้างความเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างกัน”
Aitken กำลังพูดถึง คือนอกจากการแสดงของ Brolin ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนตัวละครนี้โดยตรงแล้ว Weta Digital ยังต้องสร้างแบบจำลองดิจิทัลของ Brolin ขึ้นมาเพิ่มอีกด้วย “เมื่อเรามั่นใจว่าสามารถจับการเคลื่อนไหวของ Josh ได้แม่นยำมากพอ เราก็จะนำท่าทางจากหุ่นของ Josh มาใช้ในบางซีนที่เขาไม่ได้แสดงด้วย”
“เราสามารถเปรียบเทียบการแสดงของหุ่นกับฟุตเทจการเล่นของตัว Josh จริงๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้ถ่ายทอดลักษณะของตัว Josh ออกมาได้อย่างสมบูรณ์”
Port รับว่าคอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญมากกับการสร้าง Avengers: Infinity War ในระดับที่ไม่น้อยหน้าการแสดงของดาราดังแต่อย่างใด
“ในขณะที่เราถ่ายทำแต่ละชอต มันจำเป็นต้องมีความละเอียดสูง เราจึงต้องใช้คอมพิวเตอร์และสร้าง key-frame ขึ้นมา ทีมแอนิเมชันจะใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ แบบชอตต่อชอต”
“จากนั้น เราก็มีทีมตรวจสอบงานแอนิเมชันอีกลำดับ ซึ่งจะเข้าสู่สิ่งที่เฉพาะเจาะจงมากในการลบเหลี่ยมมุมส่วนเกินออกไป โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตาซึ่งคุณจะไม่สามารถภาพได้เยอะนักระหว่างการถ่ายทำ เพราะเราไม่อาจวางเซนเซอร์รอบดวงตาได้มากนัก เช่นเดียวกับรอบริมฝีปาก ฉะนั้นมันจึงสำคัญมากๆ ในการถ่ายทอดท่าทางของ Brolin ออกมาแบบเก็บทุกเม็ด”
จาก Beauty and the Beast ถึง Infinity War
Digital Domain เคยเป็นทีมเทคนิคสำหรับภาพยนตร์เรื่อง Beauty and the Beast มาแล้ว แต่ความแตกต่างสำหรับ Infinity War คือเจตนาของผู้สร้าง ที่ต้องการเน้น ‘การทำงานเป็นทีม’ ในกลุ่มนักแสดง
การถ่ายทำ Beauty and the Beast ในภาพเคลื่อนไหวและโคลสอัพใบหน้า มีการถ่ายแยกโดยเฉพาะ เท่ากับนักแสดงต้องเล่นซ้ำสองครั้ง แต่ Infinity War ไม่ใช่แบบนั้น
“ก่อนหน้านี้เรามีการเก็บภาพใบหน้าเป็นเซสชั่นแยกต่างหาก นักแสดงต้องนั่งลงทำมันอย่างช้าๆ ตามบทพูด และเก็บภาพใบหน้าที่มีความละเอียดสูง ข้อเสียของมันคือการที่คุณต้องแยกตัวออกจากนักแสดงคนอื่นๆ ไม่ได้ทำงานร่วมกัน” Port ชี้แจง
“ผู้กำกับของ Infinity War เชื่อว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากในการให้นักแสดงได้ทำงานร่วมกัน คุณมีการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีรอบๆ ตัวพวกเขา ทั้งบลูสกรีน ทั้งการใส่ motion capture suit ของแต่ละคน ไปจนถึงกล้องที่ศีรษะ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้ทำงานร่วมกันและได้แสดงต่อบทจริงๆ ด้วยกัน”
“ในขั้นตอนนี้ เราจะได้ภาพฟุตเทจที่มีความละเอียดต่ำ และต้องนำมันไปทำให้เป็นภาพความละเอียดสูง ด้วยการทำงานแบบพื้นฐานเช่นการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ระบบสแกนภาพ”
ส่วนกรณีการติดตั้งเซนเซอร์ดอทเล็กๆ บนใบหน้าของ Brolin เพื่อจับความเคลื่อนไหวของสีหน้าอารมณ์นั้น Port ระบุว่าจำนวนการติดตั้งไม่ได้มากนัก “ผมคิดว่ามีสักราวๆ 100 หรือ 150 จุดได้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อย และไม่ใกล้เคียงกับความละเอียดแท้จริงที่เราต้องการ” ดังนั้นจึงต้องมีการทำงานด้านเทคโนโลยีมากเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ฟุตเทจที่มีความละเอียดสูง
เมื่อถูกถามว่าการสร้าง Thanos ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับการสร้าง ‘Beast’ ใน Beauty and the Beast ใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ “ใช่เลย แต่จะพูดว่าเขาไม่มีผมเลยก็ไม่ถูก เขาศีรษะล้าน แต่ก็มีขนบนแขน มีรายละเอียดยิบย่อยบนศีรษะและใบหน้า”
“เพียงแต่มันก็จริงนั่นแหละที่การสร้างตัวละครที่มีเอฟเฟกต์เส้นผมเป็นงานยากมากๆ การที่ตัวละครมีลักษณะแบบนี้ช่วยให้เราเจองานง่ายขึ้นพอสมควร”
อัตลักษณ์ของตัวละคร
นอกจากนี้ ทีม Weta Digital ยังต้องเป็นผู้ปลุกปั้น Dr Strange, Iron Man, Spider-Man และตัวละครใน The Guardians of the Galaxy ให้มาต่อกรกับมหาวายร้ายเพื่อช่วยจักรวาล นั่นจึงจำเป็นต้องมีการ brainstorm ในทีม เพื่อค้นหาความลงตัวด้วย
“ในเนื้อเรื่อง มันมีบางสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายพยายามทำ แต่ล้มเหลว จึงต้องลองทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเราก็ต้องใช้เอฟเฟ็กต์หลายตัวมากๆ เข้าช่วย เพราะพลังแต่ละอย่างล้วนมีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว” Aitken ระบุ
“ในโปรเจ็กต์หนังเรื่องอื่น เราอาจจะเน้นไปที่การสร้างอาวุธให้กับ Iron Man แล้วก็ใช้มันจนจบเรื่อง แต่เรื่องนี้คือความแตกต่าง”
“มันเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่เราได้มีส่วนร่วม” Aitken ทิ้งท้าย “นี่คือการสร้างบางสิ่งบางอย่างจากความเป็นอากาศธาตุ”
AHEAD TAKEAWAY
กว่าที่จะมาเป็นมหาวายร้ายบนจอภาพยนตร์ ก็ต้องรอเวลาถึง 45 ปีด้วยกัน หลังจากปรากฏตัวใน Marvel Comics ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1973
แต่เมื่อ Avengers: Infinity War โกยรายได้ทั่วโลกไปแล้วถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ จากการฉายเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ถึงระดับพันล้านเหรียญได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็ถือว่าเป็นการปรากฏตัว และแจ้งเกิดได้อย่างสวยหรูของ “พี่มันม่วง” อย่างแท้จริง
ส่วนหนึ่งคงต้องยกเครดิตให้กับบทบาทการแสดงของ Josh Brolin ที่ว่ากันว่าต้องเข้าคอร์สเพื่อให้ร่างกายฟิตเปรี๊ยะสำหรับเล่นบทนี้โดยเฉพาะ และที่ขาดไม่ได้ คือการร่วมมือกันของสองทีมสเปเชียลเอฟเฟกต์ Digital Domain กับ Weta Digital ที่สร้างอสูรยักษ์ตัวสีม่วงออกมาได้อย่างแนบเนียน แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของการสร้างภาพยนตร์ในยุคปัจจุบัน จนน่ากลัวว่าวันหนึ่ง เราอาจจะแยกไม่ออกระหว่าง “สิ่งที่เป็นจริง” และ “สิ่งที่ถูกสร้างขึ้น”
เหมือนคลิปวิดีโอของอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ที่ถูกสร้างขึ้นโดย AI และเหมือนตัวจริง จนแทบแยกไม่ออก
จนเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าหากไม่ใช่ “พี่มันม่วง” แต่เป็นหน้าของ Donald Trump หรือ “ลุง” พร้อมกับข้อความบิดเบือนต่างๆในโลกออนไลน์ เราจะจับเท็จจากเรื่องเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นนี้อย่างไร
เรียบเรียงจาก
Avengers: Infinity War and the CG effects
Avengers: Infinity War’s Villain was made in New Zealand
อ่านเพิ่มเติม
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน