นอกจากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), Machine Learning และหุ่นยนต์แล้ว อนาคตของอุตสาหกรรมหลายแขนงยังถูกมองว่าจะมีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เป็นส่วนประกอบสำคัญด้วยเช่นกัน
เพื่อทำความเข้าใจโดรนอย่างลงลึกมากขึ้น นี่คือการวิเคราะห์ของ Greg McNeal ศาสตราจารย์แห่ง Pepperdine University ผู้ร่วมก่อตั้ง AirMap ผู้ซึ่งมั่นใจว่าในอนาคตอันใกล้ โดรนจะเข้าใกล้ตัวพวกเรามากกว่าที่คิด
#1
โดรน ไม่ได้จะมาแย่งงานมนุษย์เสมอไป
งานบางตำแหน่งอาจหายไป แต่ก็อาจถูกแทนที่ด้วยงานที่ดีขึ้น McNeal ยกตัวอย่างของกลุ่มนักวิจัยเกี่ยวกับการสุ่มหาตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจสารปนเปื้อน ซึ่งโดรนจะสามารถรวบรวมข้อมูลได้ด้วยขอบเขตที่กว้างกว่ามนุษย์ ดังนั้นงานระดับล่างลักษณะนี้อาจถูกแทนที่ด้วยการทำงานที่ต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์เข้มขึ้นมากขึ้น บางงานอาจถูกแทนที่โดยคนที่พยายามทำสิ่งต่างๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และนั่นอาจเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำ
#2
โดรนทางการทหารจะมีเพียงเศษเสี้ยว
คาดกันว่ามูลค่าทางการตลาดของโดรนในเชิงพาณิชย์และภาคประชาชน จะเติบโตที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ประมาณ 19% ในช่วงระหว่างปี 2015-2020 ในขณะที่อัตราการเติบโต CAGR สำหรับโดรนทางการทหารจะอยู่ที่ไม่เกิน 5% เท่านั้น
#3
ท้องฟ้าปี 2020 จะมีโดรน 7 ล้านตัว
จากการคาดการณ์ของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ในระหว่างปี 2016-2036 บนน่านฟ้าโลกจะมีโดรนประมาณ 7 ล้านตัวภายในปี 2020 โดยในปีดังกล่าวนี้ ยอดขายโดรนในภาคประชาชนจะอยู่ที่ราว 2.7 ล้านตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่ก้าวกระโดดอย่างมหาศาล จากการที่เวลานี้คาดว่ามีโดรนที่ถูกใช้อยู่เพียง 23,600 ถึง 39,000 ตัวทั่วโลก
#4
ตลาดโดรนจะมีเงินสะพัด 17,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2024
ในตอนนี้ การใช้งานโดรนที่ได้รับความนิยมมีเพียงเรื่องของการถ่ายภาพนิ่งหรือวิดีโอ แต่จากรายงานของ Global Market Insights ระบุว่าการใช้โดรนจะหลากหลายขึ้นมากในอนาคต เช่น เกษตรกรรม, อุตสาหกรรมก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์, สื่อมวลชน และการจัดส่งสินค้า โดยมีตัวอย่างคือ Amazon และ Uber ที่กำลังทดสอบการใช้โดรนส่งของ ถึงมือลูกค้า
#5
โดรนจะช่วยชีวิตคน
มีกิจกรรมหลายประเภทที่จะ ‘ปลอดภัยกว่า’ รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายกว่ามาก หากมนุษย์เลือกใช้โดรนทำงานแทน เช่นการตรวจสอบหลังคาก่อนการซ่อมแซม จากข้อมูลที่มีอยู่ในตอนนี้ พบว่ามีช่างตรวจสอบกระเบื้องหรือวัสดุปูหลังคา เสียชีวิตประมาณ 50 คนต่อปี และได้รับบาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน
AirMap กำลังทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ เช่น Kespry เพื่อส่งโดรนขึ้นทำงานบนท้องฟ้า และคุณสามารถได้รับข้อมูลที่ต้องการในเพียงไม่กี่นาที ขณะที่การใช้แรงงงานคนจะต้องใช้เวลาถึง 45 นาทีเป็นอย่างต่ำ นั่นหมายถึงว่านอกจากความง่ายดายที่จะมีมากขึ้นแล้ว ยังไม่ต้องทำให้มันเป็น ‘งานเสี่ยงชีวิต’ สำหรับใครๆ ด้วย
#6
โดรนส่งอาหารจะมีเพียง 1%
การใช้งานเพื่อจัดส่งอาหารคือสิ่งที่ผู้ประกอบการหลายรายคิดเมื่อพูดถึงเรื่องโดรน แต่ที่จริง มันมีจำนวนน้อยและห่างไกลความเป็นจริงมาก นักวิจัยของ Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2020 จะมีการใช้งานโดรนเดลิเวอรี่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์จากการใช้ทั้งหมด นักวิจัยอาวุโสอย่าง Gerald Van Hoy ได้กล่าวไว้ว่า “โดรนส่งอาหารจะถูกใช้ในวงแคบๆ ระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการให้บริการภายในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ที่ซึ่งการขนส่งไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก”
#7
ข้อบังคับไม่ใช่เรื่องใหญ่
การบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับสตาร์ทอัพที่จะเริ่มต้นการใช้งานสิ่งนี้ กระนั้น McNeal ชี้ว่าหากบริษัทใดใดก็ตามที่คิดจะเติบใหญ่แล้วก็ควรเชื่อว่าถ้าตัวเอง “พัฒนาแนวทาง แสดงให้คนอื่นมองเห็นถึงภูมิปัญญาของแนวคิด แนวทางเหล่านั้นก็จะเอาชนะใจคนได้ มันเป็นเรื่องง่ายๆ แค่นี้ ไม่เกี่ยวว่ารัฐบาลมีกฎเกณฑ์อย่างไร หรืออุตสาหกรรมถูกคุมเข้มแค่ไหน”
“คุณจำเป็นต้องมีแนวทางในการควบคุมที่เข้มงวดเพื่อช่วยให้คุณสามารถรู้ได้ถึงข้อจำกัดที่รัฐบาลมี แม้ว่าพวกเขาจะต้องการทำงานร่วมกับคุณ รวมถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าสู่ตลาดด้วย การใช้โดรนไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนการปกครองท้องถิ่นด้วย”
AHEAD TAKEAWAY
การใช้โดรนในภาคธุรกิจถูกคาดหมายว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากทิศทางการใช้งานในหลายๆ ส่วนตลอดช่วงที่ผ่านมา ก็ล้วนแต่บ่งชี้ว่าจะเป็นไปตามนั้น
ต้นปีที่ผ่านมา ทัวร์นาเมนต์โอลิมปิกฤดูหนาว ‘พย็องชัง 2018’ ที่เกาหลีใต้ มีไฮไลท์ของช่วงพิธีเปิดที่การโชว์ขึ้นบินโดรน Shooting Star ของ Intel ครั้งประวัติศาสตร์ 1,218 ตัว และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทโดรนในจีนก็เพิ่งสร้างสถิติโลก ขึ้นบินโดรนแสดงแสงสีเสียงพร้อมกันถึง 1,374 ลำ
ด้านสหรัฐอเมริกา สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงคมนาคมได้เปิดไฟเขียวให้บริษัทต่างๆ เช่น Uber, Alphabet, FedEx, Intel, Qualcomm ขึ้นบินทดสอบโดรนเพื่อการพาณิชย์ ใน 10 เมืองทั่วประเทศ ทั้งซาน ดีเอโก แคลิฟอร์เนีย, เรโน เนวาดา, บิสมาร์ก นอร์ธ ดาโกตา, เมมฟิส เทนเนสซี, ดูแรนท์ โอกลาโฮมา, เฮิร์นดอน เวอร์จิเนีย, โทพีกา แคนซัส, ราลี นอร์ธ แคโรไลนา, ฟอร์ตเมเยอร์ส ฟลอริดา และแฟร์แบงก์ อลาสกา
มีการคาดการณ์จากฝั่งสหรัฐฯ ว่าโดรนจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 82,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 และจะช่วยเพิ่มงานได้ถึง 100,000 ตำแหน่งด้วย
หากโครงการทดสอบบินครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ย่อมจะนับเป็นก้าวสำคัญของการใช้งานโดรนในแดนลุงแซม รวมถึงจะเป็นจุดที่ทำให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลก สามารถวางใจได้ว่าการใช้เทคโนโลยีนี้มีประสิทธิภาพมากพอ
แต่ก็หวังว่าการใช้โดรนในบริษัทต่างๆ จะไม่เป็นเหมือนรัสเซีย ที่ไปรษณีย์เมืองอูลัน-อูเด (Ulan-Ude) ริเริ่มใช้โดรนราคา 20,000 ดอลลาร์ ให้บริการส่งพัสดุ
เปิดตัวขึ้นบินเป็นทางการวันแรก ถลาเข้าจูบกำแพงกระแทกพื้นพังยับไม่เหลือชิ้นดี
เรียบเรียงจาก
7 Reasons Why Drones are the Future of Business
Are US Airline Pilots Worried About the UAV Drone Traffic?
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน