5 หนังที่คนทำธุรกิจควรดู

ในโลกแห่งความจริง กับสิ่งที่ปรากฏใน ภาพยนตร์ แม้จะต่างกัน แต่หลายครั้ง เราก็สามารถเรียนรู้จากเรื่องราวที่อยู่ในแผ่นฟิล์มได้ ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเสมอ

และนี่คือ ภาพยนตร์ 5 เรื่องที่จะช่วยเปิดมุมมองในการทำธุรกิจของคุณให้กว้างขึ้นจากเดิม

 

Startup.com

 

 

สารคดีเรื่องนี้ออกฉายตั้งแต่ปี 2001 ในยุคที่คำว่า ‘สตาร์ทอัพ’ ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วยซ้ำ

Startup.com บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของ GovWorks สตาร์ทอัพ ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับหน่วยงานรัฐ และเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ธุรกิจเว็บพอร์ทัล ในยุคบูมของธุรกิจดอทคอม จนสามารถระดมทุนได้ถึง 60 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุน อย่าง Hearst Interactive Media, KKR, the New York Investment Fund และ Sapient

แต่สุดท้ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่ดอทคอมแตก ในปี 2000 บริษัทก็เอาตัวไม่รอด และต้องยื่นเรื่องขอล้มละลายในที่สุด

ทำไมต้องดู?: สารคดีเรื่องนี้ ไม่เพียงอธิบายให้เห็นถึงภาพเหตุการณ์ในยุครุ่งเรืองและตกต่ำถึงขีดสุดของธุรกิจดอทคอม

รวมถึงนำเสนอ กระบวนการทำงานต่างๆของการทำสตาร์ทอัพ อาทิ การระดมทุน การสร้างทีม ทักษะการจัดการ และการดูแลธุรกิจให้เติบโตเท่านั้น

ยังเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ในการประคับประคองมิตรภาพให้คงอยู่ ท่ามกลางปัจจัยและปัญหาทางธุรกิจที่เกิดขึ้นด้วย

 

Pirates of Silicon Valley

 

 

ย้อนกลับไปในยุคบุกเบิกของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ระหว่างทศวรรษที่ 70 ถึง 90

ไม่มีความขัดแย้งไหนเป็นที่รู้จักของผู้คนมากกว่า เรื่องราวระหว่าง Steve Jobs และ Bill Gates อีกแล้ว

(อ่านเพิ่มเติม Bill Gates vs Steve Jobs : ยกที่หนึ่ง)

Pirates of Silicon Valley อ้างอิงเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง จากหนังสือ “Fire in the Valley: The Making of the Personal Computer” และออกฉายครั้งแรก ในปี 1999 ซึ่งเป็นช่วงที่ Jobs กลับมาเรืองอำนาจใน Apple พอดี

ทำไมต้องดู?: สะท้อนให้เห็นบุคลิกของ Gates และ Jobs ในช่วงเริ่มก่อตั้งบริษัทของตน ทั้งในส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน รวมถึงเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ทั้งคู่บาดหมางกัน จน Microsoft และ Apple ถูกยกให้เป็น “บริษัทคู่กัด” อยู่นานหลายปี

 

Wall Street

 

 

ภาพยนตร์ซึ่งเป็นที่มาของประโยคคลาสสิค อย่าง “ความโลภเป็นสิ่งดีงาม” (Greed is good) จากปากตัวเอก Gordon Gekko ที่รับบทโดย Michael Douglas เจ้าของรางวัลออสการ์สาขาดารานำชายยอดเยี่ยมในปีนั้น

Oliver Stone เจ้าของผลงานอย่าง Platoon, Born on the Fourth of July, The Doors และ JFK ก็กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ในช่วงเข้าฝักที่สุดของชีวิตพอดี

จนทำให้ Wallstreet กลายเป็นงานขึ้นหิ้งที่เล่าถึงความโลภ และความทะเยอทะยานของมนุษย์ สมความตั้งใจของ Stone ที่สร้างและเขียนบท เพื่ออุทิศให้กับ Lou พ่อซึ่งทำงานเป็นโบรกเกอร์ในยุควิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ ช่วงทศวรรษที่ 30

ทำไมต้องดู?: ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ มีโอกาสที่จะถูกชักจูงหรือโน้มน้าวด้วยเรื่องผลประโยชน์และความโลภ จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด และ Wall Street ก็เป็นเครื่องเตือนใจชั้นดี สำหรับบทเรียนราคาแพงที่ตามมา ชนิดที่ภาคต่ออย่าง Wall Street: Money Never Sleeps ทาบไม่ติดเลยก็ว่าได้

 

The Wolf of Wall Street

 

 

สร้างจากหนังสืออัตชีวประวัติของ Jordan Belfort สุดยอดโบรคเกอร์หนุ่ม ที่ได้รับการขนานนามจากคนในวงการว่า “หมาป่าแห่งวอลล์สตรีท” และเป็นการร่วมงานกันของสองสุดยอดในวงการภาพยนตร์ อย่าง Leonardo Dicaprio และ Martin Scorsese

The Wolf of Wall Street เล่าเรื่องราวของ Belfort ตั้งแต่เริ่มเรียนรู้ชีวิตการทำงาน จุดสูงสุดที่ทำเงินได้อย่างมหาศาล กระทั่งถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงและฟอกเงิน จนถูกจำคุกและห้ามข้องแวะกับตลาดหลักทรัพย์ตลอดชีวิต

ทำไมต้องดู?: Belfort คืออุทาหรณ์ที่ผู้ประกอบการทุกคน “ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง” เพราะแม้จะเก่งกาจขนาดไหน แต่การทำทุกอย่างเพื่อเงิน โดยไม่สนกฏเกณฑ์ หรือเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ คือเหตุผลว่าทำไมเส้นทางสายโบรกเกอร์ของเจ้าตัวถึงจบลงอย่างรวดเร็ว

 

Thank You for Smoking

 

 

ความน่าสนใจของอุตสาหกรรมยาสูบ คือเราทุกคนรู้ว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ผู้ผลิตต่างๆยังสามารถขายสินค้าของตนให้กับผู้บริโภคได้ โดยที่คนเหล่านั้นเต็มใจซื้อด้วย

Thank You for Smoking คือหนังตลกร้าย ว่าด้วยเรื่องของ Nick Taylor (รับบทโดย Aaron Eckhart) ล็อบบี้ยิสต์ของ ‘สถาบันศึกษาด้านยาสูบ’ ซึ่งก่อตั้งโดยนายทุนยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมบุหรี่ เพื่อหาข้อมูลมายืนยันแก่สังคมว่า ‘ผลิตภัณฑ์ของบริษัทไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างที่เข้าใจ’ โดยเฉพาะ

และสิ่งที่ Taylor ต้องทำตลอดทั้งเรื่อง คือคอยหาเหตุผลมาหักล้างข้อมูลต่างๆจากสารพัดองค์กรต่อต้านบุหรี่ ด้วยสกิลด้านการตลาดและการขายระดับสุดยอด

ทำไมต้องดู?: การขาย “สิ่งธรรมดาๆ” หรือ “สิ่งที่ไม่น่าจะขายได้” คือคุณสมบัติที่นักขายทุกคนควรมีติดตัว และสิ่งที่ Taylor ทำในเรื่อง ก็คือการหาข้อมูลในแง่บวกมาหักล้างข้อเสียต่างๆ เพื่อให้การขายบุหรี่นั้นเป็นที่ยอมรับในสังคม ไม่ว่าจะสมควรได้รับหรือไม่ก็ตาม

 

AHEAD TAKEAWAY

แม้หลายสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ (ยกเว้นในกรณีของสารคดี) อาจจะมีการแต่งเติมบางอย่างลงไปบ้าง เพื่อความสนุกสนาน แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราจะมองว่านี่เป็นศาสตร์สำหรับความบันเทิงเพียงอย่างเดียว

ภาพยนตร์หลายเรื่อง (ที่เรานำเสนอเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง) สามารถให้บทเรียนหรือแง่คิดในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการได้เสมอ ไม่ว่าในทางใดทางหนึ่งเสมอ

ขึ้นอยู่กับว่าคุณพร้อมจะเปิดรับหรือไม่ และการมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น ก็เป็นอีกคุณสมบัติสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จด้วย

 

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม และธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD.ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
16
Shares
Previous Article

Masayoshi Son ประกาศตั้งกองทุน Vision Fund สาขา 2

Next Article
Zuckerberg

Timeline : กว่าจะเป็น Mark Zuckerberg

Related Posts