จะดีกว่าไหม หากเราสามารถปลูกเนื้อสัตว์เพื่อบริโภคได้เองในบ้าน เหมือนที่ทำกับพืชผักสวนครัว? นี่คือสิ่งที่ ยูกิ ฮันยู (Yuki Hanyu) นักวิจัยชาวญี่ปุ่น ผู้ได้รับแรงบันดาลใจเรื่องโลกอนาคตจากมังงะ และแอนิเมชั่น เริ่มต้นลงมือทำแล้ว ในชื่อโครงการว่า Shojinmeat Project
โครงการดังกล่าว เป็นผลผลิตจากแนวคิดของ ยูกิ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่ต้องการให้เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เป็นสิ่งที่สามารถปลูกขึ้นได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ แทนที่จะมาจากการทำปศุสัตว์อย่างในปัจจุบัน
เนื้อสัตว์ที่ไม่เบียดเบียนชีวิต
ชื่อของโครงการ “Shojinmeat” มีที่มาจากคำว่า Shojin Ryori หรือ “อาหารจากการอุทิศให้” (Devotion Cuisine) เป็นอาหารเจตามแนวคิดของพุทธนิกายเซน
ซึ่งปรุงง่ายๆจากเต้าหู้ สาหร่ายทะเล ผักผลไม้ตามฤดูกาล และงา แต่ละเว้นกระเทียม เครื่องเทศ และสมุนไพรกลิ่นแรงอื่นๆ โดยการปรุงนั้นทำด้วยความรักและเคารพต่อพืชผักและสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยให้มนุษย์เรามีชีวิตต่อได้
ขณะที่การทำปศุสัตว์ในแบบอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นเรื่องปริมาณเป็นหลักนั้น มีประเด็นเรื่องศีลธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิภาพสัตว์ มลภาวะทางน้ำและอากาศ ของเสียที่เกิดขึ้นที่นำไปสู่มลพิษในน้ำบาดาลและระบบนิเวศใกล้เคียง ไปถึงปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสุดท้าย จะย้อนกลับมาส่งผลเสียต่อมนุษย์เราเอง
และ Shojinmeat ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์จากการปลูกในห้องแล็บ (Cultured Meat) จึงไม่มีการเบียดเบียนชีวิต ซึ่งใกล้เคียงกับแนวคิดของ Shojin Ryori ไม่เพียงแต่จะเป็นทางออกให้กับปัญหาต่างๆในการทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์แล้ว
ยังจะเป็นการรับมือกับปัญหาอาหารไม่เพียงพอต่อการบริโภคในอนาคตด้วย
หลักการของ Cultured Meat
เนื้อสัตว์จากการปลูก (Cultured Meat) คือการต่อยอดวิธีคิดจาก วิศวกรรมเนื้อเยื่อ (Tissue Engineering) หรือการสร้างเนื้อเยื่อในมนุษย์ขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนส่วนที่สูญเสียหรือบาดเจ็บ และไม่สามารถงอกใหม่เองได้ เช่น ผิวหนังแท้ เส้นประสาท กระดูก กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อหัวใจ ฯลฯ
แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีเอกสารบันทึกไว้ว่า วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เคยกล่าวไว้ในปี 1931 ว่าควรเลิกการเลี้ยงไก่ทั้งตัว เพื่อเชือดส่วนอกหรือปีกมาทำอาหาร และใช้วิธีการปลูกเฉพาะส่วนต่างๆที่ต้องการก็พอ
“We shall escape the absurdity of growing a whole chicken in order to eat the breast or wing, by growing these parts separately under a suitable medium.”
(อ้างอิงจากบทความ Fifty Years Hence ในนิตยสาร The Strand Magazine)
กระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เมื่อเทคโนโลยีชีวภาพมีความพร้อมมากขึ้น แนวคิดเรื่อง Cultured Meat จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
และในเดือนสิงหาคม 2013 ก็มีการสาธิตการทานเนื้อสัตว์จากการปลูกครั้งแรกในโลกที่กรุงลอนดอน โดย ฮานนี รอยท์ซเลอร์ (Hanni Ruetzler) กูรูด้านอาหารชาวออสเตรีย ซึ่งยอมรับว่าให้สัมผัสที่คล้ายกับเนื้อทั่วไปมาก
ปัญหาเดียวของเบอร์เกอร์เนื้อชิ้นเล็กๆชิ้นนั้น ซึ่งปลูกโดย ดร. มาร์ค โพสท์ (Mark Post) แห่งมหาวิทยาลัยมาสทริชท์ และปรุงโดยเชฟ ริชาร์ด แม็คกาวน์ (Richard McGeown)
คือราคาที่สูงถึงชิ้นละ 215,000 ปอนด์ หรือราวๆ 8 ล้านบาท!!!
Shojinmeat จากแล็บทดลองสู่บ้าน
จนถึงปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ของเนื้อสัตว์จากการปลูก ยังคงอยู่ที่ราคาเป็นหลัก
ความตั้งใจของ ยูกิ และทีมงาน Integriculture คือหาวิธีที่ทำให้ Shojinmeat Project เป็นโครงการที่สามารถปลูกเนื้อสัตว์ได้ในราคาที่ถูกลง ในระดับที่สามารถผลิตได้จริง
ที่ผ่านมานั้น การรับรู้เรื่องนี้ในญี่ปุ่นยังจำกัด เพราะนอกเหนือจากนักวิจัยกลุ่มไบโอแฮ็กเกอร์ที่คุ้นเคยกันดีแล้ว ก็ยังมีเหล่า “โอตาคุ” ในงาน Comiket ซึ่ง ยูกิ พิมพ์มังงะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปลูกเนื้อสัตว์ไปขาย รวมถึงการทำคลิปวิดีโอแบบ Virtual Reality เพื่อสาธิตหลักการของ Cultured Meat เพื่อเผยแพร่ ด้วยตัวเอง
เพราะเจ้าตัวเชื่อว่า คนเหล่านี้ที่ซึมซับจินตนาการก้าวไกลจากมังงะและแอนิเมชั่น จะมีจิตใจที่เปิดกว้าง พร้อมยอมรับสิ่งใหม่ๆมากกว่าคนรุ่นเก่าที่ยึดถือในขนบเดิมๆ เหมือนที่เขาฝันอยากจะเห็นโลกอนาคตที่แต่ละบ้านสามารถปลูกเนื้อสัตว์ได้เอง ตั้งแต่ชั้นประถม
จนเมื่อเร็วๆนี้ หนุ่มสติเฟื่องชาวญี่ปุ่นก็เกิดไอเดียที่จะทำให้ “การปลูกเนื้อสัตว์” เป็น Open Source ด้วยการมอบเซลล์เพาะเลี้ยง ให้เด็กมัธยมปลายนำกลับไปทดลองปลูกที่บ้าน เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้กลับมาใช้ต่อในงานวิจัย
แม้จะเป็นวิธีที่แหวกแนวกว่าการทำงานวิจัยทั่วไป แต่ก็เท่ากับกระสุนนัดเดียวยิงนกได้ถึงสองตัว
เพราะไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูลจากงานวิจัยเท่านั้น แต่การสร้าง engagement กับคนทั่วไป ทำให้โครงการของ ยูกิ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนกระแสหลัก
ซึ่งจะช่วยกระพือข่าวสารขอมูลเรื่องเนื้อสัตว์จากการปลูกไปสู่คนหมู่มาก และเจ้าตัวก็เชื่อว่าถ้าเด็กนักเรียนทั่วไปสามารถปลูกเนื้อสัตว์ได้ กระแสคัดค้าน หรือหวั่นเกรงในเรื่องความปลอดภัย ก็จะลดลงไปด้วย
อนาคตของ Cultured Meat
ในงาน The 1st Meet up : Foodtech & Biotech ซึ่งร่วมกันจัดขึ้นโดย Singularity University Bangkok Chapter, Ananda Development และ Rise Accelerator ณ Ananda Campus เมื่อ 16 พ.ค. ปีที่แล้ว ยูกิ ยังได้พูดถึงอนาคตของการปลูกเนื้อสัตว์ ว่าเมื่อถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริงแล้ว ก็มีความเป็นไปได้มากมายที่จะเกิดขึ้นตามมา
นั่นหมายถึงเราอาจได้เห็นเกษตรกรปลูกเนื้อสัตว์ที่ดีที่สุด โดยใช้เซลล์จากวัวพันธุ์ดีที่สุด “เพียงตัวเดียว” โดยไม่จำเป็นต้องทำปศุสัตว์ใหญ่โตอีกต่อไป
หรืออาจมีเครื่องทำปฏิกิริยา Bioreactor ที่บ้าน ซึ่งคุณอาจเพียงแค่เติมหัวเชื้อลงไป ก็สามารถผลิตเนื้อออกมาได้ทันทีตามต้องการ ซึ่งอาจถูกนำไปใช้สำหรับการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารได้เช่นกัน
นอกจากนี้ แนวคิดเกี่ยวกับ Tissue Engineering ยังสามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานด้านอื่นๆอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอวัยวะเสริมของมนุษย์ การประยุกต์ไปถึงเรื่องตัดต่อยีน เพื่อออกแบบลูกให้มีลักษณะทางกายภาพตามต้องการ หรือแม้แต่การสร้าง “ร่างใหม่” ของเราขึ้นเพื่อทดแทน เหมือนที่ปรากฏในนิยายหรือภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ด้วย
AHEAD TAKEAWAY
ในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องการหาวัตถุดิบอาหารที่จะมาทดแทนเนื้อจากการทำปศุสัตว์ เริ่มแพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้น
เนื่องจากมีหลักฐานสนับสนุนว่าการทำปศุสัตว์ในรูปแบบอุตสาหกรรมนั้นส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในหลายๆด้าน และยังมีแนวโน้มว่าปริมาณอาหารอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรโลกที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
เราจึงได้เห็นสตาร์ทอัพมาพร้อมกับแนวคิดใหม่ๆเพื่อเป็นทางเลือก สำหรับการแก้ปัญหานี้ ซึ่งมีทั้งเนื้อสัตว์เทียม (สกัดโปรตีนและสารอาหารที่จำเป็นจากพืช เพื่อเจาะกลุ่มผู้ทานมังสวิรัติ) อย่าง Beyond Meat (ได้รับการสนับสนุนจาก ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) และ Impossible Foods
หรือกลุ่มที่เลือกปลูกเนื้อสัตว์จากห้องทดลอง เช่น Memphis Meats, Mosa Meats และ Hampton Creek ซึ่งก็รวมถึง Shojinmeat ของ ยูกิ ฮันยู ด้วย
แต่แน่นอนว่าเมื่อสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มที่จะ disrupt ธุรกิจเดิมๆ เราจึงมักได้เห็นการต่อต้านจากผู้เสียผลประโยชน์ เหมือนที่เมื่อเร็วๆนี้ องค์กรปศุสัตว์สหรัฐอเมริกา (USCA) ยื่นหนังสือคำร้องถึง กระทรวงการเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ให้พิจารณาชื่อเรียกของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใหม่ โดยให้ยุติการใช้คำว่า ‘เนื้อสัตว์’ (Meat และ/หรือ Beef) เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนแก่ผู้บริโภค
และยังน่าจะมีประเด็นอื่นๆให้วิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีกมาก จากผู้ไม่เห็นด้วย ทั้งเรื่องการปนเปื้อน ไปจนถึงการตัดต่อพันธุกรรม ฯลฯ
แต่ทีมงาน AHEAD ASIA ยังเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงนั้น คือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น เพียงแต่อาจต้องอาศัยความพยายามอย่างหนักของคนที่มีความมุ่งมั่นแรงกล้าช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นด้วย
เหมือน อีลอน มัสก์ ที่นำเสนอพลังงานทางเลือกให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่แทนเชื้อเพลิงแบบเดิม
และวันหนึ่ง เราก็อาจจดจำ ยูกิ ฮันยู ในฐานะผู้ผลักดันให้ “การปลูกเนื้อสัตว์เพื่อบริโภคในบ้าน” ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในจินตนาการอีกต่อไป
ขอขอบคุณ Singularity University Bangkok Chapter, Ananda Development และ Rise Accelerator สำหรับงานดีๆครั้งนี้ด้วยครับ
เรียบเรียงจาก
The 1st Meet up : Foodtech & Biotech: Shojinmeat Project Lab growing meat for consumption
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า