Go-Jek บริการเรียกรถ Ride-Hailing สัญชาติอินโดนีเซีย เตรียมเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดในไทยแล้ว หลังประกาศขยายกิจการจากบ้านเกิด ไปยัง 4 ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัท Ride-Hailing เบอร์ 1 ของอินโดนีเซีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 และประสบความสำเร็จอย่างสูง จนสามารถขยายจากรถจักรยานยนต์ไปเป็นแท็กซี่, รถยนต์ส่วนบุคคล, บริการชำระเงิน, ส่งอาหาร และบริการอื่นๆ ตามคำร้องของลูกค้า เผยว่าจะลงทุนอย่างน้อย 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับการขยายตลาด ไปสู่ 4 ประเทศใหม่ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เพื่ออุดช่องว่างภายหลัง Uber ถอยทัพออกไปด้วยการ ขายกิจการในแถบนี้ให้กับ Grab เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
นอกจากบริการรถจักรยานยนต์แล้ว ยังจะมีการเพิ่มเติมบริการส่วนอื่นๆ ด้วยเช่นจัดส่งของ, ซื้อสินค้า, จัดส่งอาหาร ฯลฯ โดยเบื้องต้น จะเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ให้บริการกับผู้ประกอบการท้องถิ่น แต่ยังไม่ได้ระบุวันเวลาว่าจะเริ่มต้นเมื่อใด
Nadiem Makarim ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง กล่าวว่า “เราเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเราในการขยายสู่ระดับสากล คือการร่วมมือกับทีมท้องถิ่นที่มีพรสวรรค์ ผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์ร่วมกันกับเรา และรู้ว่าจะทำงานอะไรได้ดีที่สุดในประเทศของพวกเขา”
“บทบาทของเราคือการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้บริษัทใหม่ได้รับประโยชน์จากประสบการณ์การดำเนินงานและการพัฒนาของเรา ซึ่งพวกเขาจะสามารถใช้สิ่งต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมาได้ และหาวิธีที่ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมาย”
ในแผนการขยายตลาดครั้งนี้ Go-Jek เล็งจะคว้าเอาอดีตพนักงานของ Uber ที่ไม่พร้อมหรือไม่ยินดีเข้าร่วมงานกับ Grab มาเป็นพันธมิตรด้วย
การขยายตลาดครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรชั้นนำ อย่าง Google และ Temasek รวมเป็นเงินกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือน ก.พ. ซึ่งเมื่อรวมกับเงินทุนเดิมจากทาง Tencent และ JD.com แล้ว ทำให้บริษัท มีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว
AHEAD TAKEAWAY
นี่คือความพยายามอุดช่องว่างบริการ Ride-Hailing ที่ Uber ทิ้งไว้จนทำให้ Grab กลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เจ้าเดียวในแถบเอเชียอาคเนย์ ทั้งที่ตลาดนี้มีแต่จะเติบโตขึ้นไปในทุกวัน คาดการณ์กันว่าจะมีมูลค่าถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2025
ทว่ากับการมาไทย Go-Jek ต้องเตรียมตัวมาให้ดีเป็นพิเศษ เมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าแม้แต่ Grab ก็ยังเจอปัญหาในหลายจุด โดยเฉพาะการต่อต้านของบรรดาผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ท้องถิ่น รวมถึงการที่มีบริษัทผู้ให้บริการส่งของและอาหารหลายเจ้าอยู่แล้ว
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น Ahead Asia มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณโจ้ ศิลป์ธรณ์ สันติธรณ์ Director และ Marketing Director ของบริษัท อิชิตัน อินโดนีเซีย ผู้ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในอินโดนีเซียมาพักใหญ่ และได้ใช้บริการลักษณะต่างๆ ของ Go-Jek อยู่เป็นประจำ ซึ่งคุณโจ้ชี้ว่าจุดแข็งของ Go-Jek คือค่าบริการที่ถูกมากจนน่าตกใจ
“ในฐานะผู้ใช้ทั้งสองแบรนด์ ผมใช้สองแอพแบบต่างกรรมต่างวาระ ถ้าจะพูดถึงสัดส่วนการใช้งานผมใช้ Grab บ่อยกว่าเล็กน้อย คือผมจะใช้ Grab เมื่อต้องการเรียกรถยนต์ ทั้งที่ Go-Jek ก็มี Go-Car นะ และก็เหมือนคนอินโดนีเซียก็จะเป็นเหมือนกัน เวลาไปไหนที่ต้องใช้รถยนต์ ก็จะใช้ Grab“
“ตระกูล Go ต่างๆ ผมใช้ Go-Jek บ่อยสุด วินมอเตอร์ไซค์ที่นี่เขาเรียกกันว่า ojek เวลานึกจะใช้มอเตอร์ไซค์ก็เลยมีเจ้า Go-Jek นี่โผล่ขึ้นมาในมโนสำนึกก่อนเลย คนที่นี่ก็เหมือนกัน ผมใช้บ่อยมากเวลาอยู่ในจาการ์ตา เวลารีบๆ หรือเดินทางระยะสั้น และอีกอย่างคือมันถูกมาก ถูกจนน่าตกใจ ถูกเหมือนไม่มีกำไร เช่น ในระยะไม่เกินสิบนาที บางที 10-20 บาท บางที 5-7 บาท บางทีแต้มสะสมครบได้นั่งฟรี บางทีนั่งฝ่ารถติดไปเป็นครึ่งชั่วโมง เพิ่ง 50 บาท”
“ผมคิดว่าเขาคงเข้าใจว่าเขาอาจสู้เรื่องรถยนต์กับ Grab ได้ไม่มาก แต่เรื่องมอเตอร์ไซค์นี่เขากิน เลยเอาราคามาล่อ เข้าใจว่าคงแทบไม่มีกำไร แต่ก็หวังจะนำคนที่เข้ามาใช้แอพแล้ว ขยับไปใช้บริการส่วนอื่นเพิ่มเติมด้วย ซึ่งสำหรับผมเองก็ได้ผลนะ เพราะของที่เขามีมันก็ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่นี่ ในขณะที่บริการเหล่านั้น Grab ไม่มีให้”
คุณโจ้เผยว่า บริการต่างๆ ที่นอกเหนือจากรับส่งผู้โดยสาร ก็คืออีกหนึ่งจุดแข็งสำคัญของ Go-Jek “ในแอพตระกูล Go ที่ผมใช้บ่อย ก็จะมี Go-Clean กับ Go-Auto คือมาทำความสะอาดบ้านกับล้างรถให้ถึงที่ กำไรเขาอาจอยู่ตรงพวกนี้ ที่ราคาไม่ถูกมากแต่ก็ไม่แพงอยู่ดี เช่น ทำความสะอาดบ้าน 2 ชั่วโมง 230 บาท มาล้างรถให้ 150 บาท”
“ทีมงานบริษัทผม เวลาจะสั่งอาหารก็นึกถึง Go-Food ก่อน หรือส่งของก็ Go-Box, Go-Send แล้วยังมีบริการอื่นๆ อีกเยอะมาก Go-Massage, Go-Glam, Go-Pay, Go-Shop และอีกมากมายที่เหมาะกับคนที่ขี้เกียจขับรถออกจากบ้าน”
เรียบเรียงจาก
GoJek officially announces Southeast Asia expansion to fill void left by Uber’s exit
GoJek Raises $1.5b as Ride-Hailing Market Heats Up: Sources
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจ และต้องการพัฒนาตัวเองเพื่ออยู่ข้างหน้าเสมอ สามารถกด like เพจ AHEAD ASIA เพื่อติดตามเรื่องราวที่มีประโยชน์ และข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน